ข่าวสารพิพิธภัณฑ์

ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล เปิดเมืองมโหสถ ประตูสู่นครวัด แซะปม(ไม่)ย้ายพิพิธภัณฑ์ปราจีนบุรี

ตกเป็นข่าวต่อเนื่องเกือบหนึ่งสัปดาห์เต็มๆ สำหรับกรณี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (พช.) ปราจีนบุรี ที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาทวงถามถึงโครงการย้ายพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวจากอำเภอเมืองไปยังอำเภอศรีมโหสถ เนื่องจากที่ตั้งปัจจุบันมีปัญหาหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นอุทกภัย ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำแทบทุกปี เพราะอยู่ใกล้แม่น้ำปราจีนบุรี   ไหนจะเรื่องโลเคชั่นอันซับซ้อน เพราะอยู่หลังศาลากลางจังหวัดหลังเก่า ซึ่งย้ายตัวเองออกไปยังศูนย์ราชการบนถนนสุวินทวงศ์แล้ว เหลือเพียงพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวในรั้วเดียวกับสำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี จึงมีผู้เข้าชมน้อยอย่างน่าใจหาย   นอกจากนี้ โบราณวัตถุชิ้นสำคัญส่วนใหญ่ ขุดได้จากเมืองโบราณในอำเภอศรีมโหสถ ได้ชื่อต่อมาว่า เมืองมโหสถ ประเด็นนี้ การประชุมร่วมกันระหว่างท้องถิ่นกับกรมศิลปากรตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2557 เกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ทว่าเรื่องกลับเงียบหาย จนผ่านมาถึง 3 อธิบดี   ล่าสุด อธิบดีกรมศิลปากรคนปัจจุบัน ได้ออกมายืนยันว่าจะไม่ย้าย เพราะการย้ายเท่ากับการยุบ ซึ่งเป็นเรื่องยากในระบบราชการ ส่วนปัญหาอื่นๆ มั่นใจว่าป้องกันแก้ไขได้ จึงอาจปรับปรุงศูนย์ข้อมูลเมืองมโหสถเป็นแหล่งเรียนรู้แทน   ชาวบ้านจึงเตรียมล่า 5,000 รายชื่อ เรียกร้องอีกครั้ง ส่อเค้าบานปลายไม่สิ้นสุด ในขณะที่ท้องถิ่นยังมีปมคาใจ ชาวสยามประเทศไทยผู้เกาะขอบเวที ก็ยังงงๆ ว่าเมืองโบราณที่ไฝว้กันอยู่นั้น สำคัญอย่างไร?   ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง เป็นหนึ่งในกูรูผู้ศึกษาเมืองโบราณแห่งนี้อย่างลึกซึ้ง เป็นนักวิชาการคนแรกในประวัติศาสตร์โลกที่กล้าฟันธงว่าชื่อลึกลับนาม"สังโวก" ในจารึก คือ "เมืองมโหสถ" ในปัจจุบัน เป็นเมืองที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ส่งเครื่องสัมฤทธิ์ล้ำค่ามาถวายรอยพระพุทธบาท และเป็นเมืองท่าของนครวัด แห่งอาณาจักรขอมโบราณ! คลิกอ่านข้อมูลเพิ่มเติม   ข้อมูลจาก มติชนออนไลน์ วันที่ 12 ธันวาคม 2558

เปิดพิพิธภัณฑ์เพิ่มมูลค่าผ้าทอนาหมื่นศรี

บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด เห็นความสำคัญของไหมไทยซึ่งถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรม และได้สานต่อโครงการพัฒนาชุมชนด้านผลิตภัณฑ์ไหมไทยพื้นบ้านอย่างต่อเนื่อง เพื่ออนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาที่ผสมผสานวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมล้ำค่าของคนไทยให้เป็นมรดกสู่ลูกหลาน โดยหลังดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาการทอผ้าไหมไทยลายโบราณ ให้แก่สมาชิกกลุ่มทอผ้านาหมื่นศรี อ.นาโยง จ.ตรัง ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2557 เมื่อเร็วๆ นี้ ได้เปิด “พิพิธภัณฑ์และศูนย์จำหน่ายสินค้าวิสาหกิจผ้าทอนาหมื่นศรี” เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้พัฒนาทักษะ และส่งเสริมการทอผ้าไหมลายโบราณให้สามารถสร้างรายได้ที่ยั่งยืนแก่ชุมชน และอนุรักษ์ลวดลายภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป“ ปิยพรรณ จิราธิวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส สำนักนโยบายองค์กรสัมพันธ์และภาพลักษณ์ บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด เผยว่า กลุ่มเซ็นทรัล กรุ๊ป เริ่มก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้ในชุมชนนาหมื่นศรีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ดำเนินการจัดเก็บสต๊อกเส้นด้ายให้มีมาตรฐานมากขึ้น อาทิ มีการจัดทำชั้นจัดเก็บแยกสีเส้นด้ายให้สะดวกต่อการค้นหา เป็นต้น ในปี พ.ศ. 2558 ฟื้นฟูผ้าทอลวดลายมรดก ที่ชาวบ้านนิยมทอเมื่อครั้งอดีตทั้ง หมด 32 ลาย อาทิ แก้วชิงดวง, ครุฑกับนกการเวก, แก้วกุหลาบ, ช่อมาลัย, ช่อลอกอ ฯลฯ และจัดตั้งพิพิธภัณฑ์และศูนย์จำหน่ายสินค้าวิสาหกิจผ้าทอนาหมื่นศรี เพื่อเผยแพร่ความเป็นมาของชุมชนนาหมื่นศรี ที่มีการสานต่อการทอผ้าที่มีเอกลักษณ์จากรุ่นสู่รุ่นมายาวนาน รวมทั้งนักท่องเที่ยวได้เห็นความสำคัญและคุณค่าผ้าทอนาหมื่นศรีมากขึ้นด้วย หัวหน้ากลุ่มทอผ้านาหมื่นศรี อารอบ เรืองสังข์ อายุ 56 ปี เล่าว่า ผ้าทอนาหมื่นศรีมีความผูก พันกับวิถีชีวิตของชาวบ้านมานานกว่า 200 ปี โดยชาวบ้านทอผ้าขึ้นใช้ 3 ครั้งตลอดชีวิตคือ ผ้าพาดใช้ในวันแต่งงาน ผ้าตั้งใช้สำหรับห่มนาคเวลาลูกชายบวช และผ้าพานช้างสำหรับวางบนพานและพาดขึ้นไปบนหีบศพก่อนเผา มีการทอเป็นตัวอักษรเรียงเป็นบรรทัด เป็นคำกลอนหรือโคลงประวัติผู้ตาย มีคติสอนใจให้ยึดมั่นในคุณความดี เป็นมรณานุสติ เมื่อเผาศพแล้วเจ้าภาพตัดแบ่งผ้าพานช้างออกเป็นชิ้น ๆ ถวายพระใช้เป็นผ้าเช็ดปาก เช็ดมือ หรือแจกญาติ พี่น้อง ในส่วนของตัวเองสืบทอด การทอผ้าต่อจากคุณยาย และตั้งกลุ่มทอผ้าขึ้นเพื่อทอผ้าจำหน่ายเป็นอาชีพเสริม ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเริ่มทอผ้าไหมเนื่องจากลูกค้าถามถึงมาก ซึ่งถือว่ายากมากต้องใจเย็นและใช้เวลานานกว่าการทอผ้าฝ้ายหลายเท่า   ข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2558   

"หนังสุชาติ ทรัพย์สิน"ศิลปินแห่งชาติเสียชีวิตแล้ว

เมื่อวันที่ 7พ.ย.58 ครอบครัวของนายสุชาติ ทรัพย์สิน หรือที่รู้จักในนาม “หนังสุชาติ” ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดงพื้นบ้านประเภทหนังตะลุง ได้ถึงแก่กรรมลงด้วยโรคชราด้วยวัย 77 ปี ที่บ้านพัก ที่ตั้งอยู่ในบริเวณพิพิธภัณฑ์หนังตะลุง เลขที่ 6 ซอยศรีธรรมโศก 3 ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งช่วงเย็นวันเดียวกันนี้ลูกหลานจะเคลื่อนศพออกจากบ้านพักไปทำพิธีรดน้ำศพและบำเพ็ญกุศล ที่ศาลา 100 ปี วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารนครศรีธรรมราช หลังจากนั้นจะรอขอพระราชทานเพลิงศพอย่างสมเกียรติ ในฐานะศิลปินแห่งชาติผู้ทำนุบำรุงและรักษาศิลปะการแสดงพื้นบ้านของภาคใต้โดยเฉพาะหนังตะลุง   นายหนังสุชาติ ทรัพย์สิน นั้นเกิดเมื่อ วันที่ 2 ก.ค.2481 ในอำเภอท่าศาลา และชีวิตในวัยเด็กได้ผูกพันกับหนังตะลุงมาโดยตลอดจนกระทั่งมีคณะหนังตะลุงเป็นของตัวเอง โดยการแสดงหนังตะลุงของศิลปินแห่งชาติรายนี้จะเน้นการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมการแสดงหนังตะลุงแบบดั้งเดิมทั้งหมด จะไม่น้ำเครื่องดนตรีสากลมาผสมกล่าวคือ ไม่นำเครื่องดนตรีสากลเข้ามาประกอบในการแสดง ยังคงใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้าน ได้แก่ โหม่ง ฉิ่ง ทัก กลองตุ๊ก และปี่ ขณะทำการแสดงจะเน้นศิลปะด้านการเชิดรูปหนัง และการขับบทกลอนตามทำนองกลอนที่ใช้เฉพาะฉากเฉพาะตอน ตามแบบอย่างของหนังตะลุงยุคโบราณ     นอกจากนั้นหนังสุชาติ ทรัพย์สิน ยังได้อนุรักษ์วิธีการทำตัวหนังตะลุง และสร้างพิพิธภัณฑ์หนังตะลุงขึ้นในพื้นที่บ้านของตัวเองเพื่อแสดงเรื่องราวความเป็นมาของหนังตะลุงในหลายภูมิภาคของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา จนกระทั่งในปี 2549 ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงพื้นบ้านหนังตะลุง จากกรมส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ปฏิบัติตนในการธำรงไว้ซึ่งการอนุรักษ์ศิลปะการแสดงแขนงนี้มาจนตลอดชีวิตจนเป็นที่รู้จักในระดับสากล และยังได้รับรางวัลอีกมากมาย โดยที่พิพิธภัณฑ์นั้นจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาชมการแกะสลักรูปหนังตะลุงอย่างไม่ขาดสาย ข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2558 

เสวนา เรื่อง สถาปัตยกรรมแบบตะวันตกในพระบรมมหาราชวังสมัยรัชกาลที่ 5

พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสครบรอบ 105 ปี แห่งวันคล้ายวันสวรรคต วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2558 จึงขอเชิญชวนบุคคลทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรมเสวนา เรื่อง สถาปัตยกรรมแบบตะวันตกในพระบรมมหาราชวังสมัยรัชกาลที่ 5 ในวันเสาร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ณ ห้องประชุม พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กิจกรรมแบ่งเป็น งานเสวนา เวลา 10.00 - 11.30 น. และทัศนศึกษาภายในพระบรมมหาราชวัง เวลา 13.00 – 16.00 น. ผู้ร่วมกิจกรรมทัศนศึกษาภายในพระบรมมหาราชวัง ต้องลงทะเบียนร่วมงานเสวนาในช่วงเช้าด้วยเท่านั้น ค่าลงทะเบียนร่วมกิจกรรมท่านละ 250 บาท(รวมอาหารกลางวันและอาหารว่าง) จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรม: 40 คน ติดต่อสำรองที่นั่ง: 1.   โทร 0-2225-9420, 0-2225-9430 ต่อ 0 หรือ 245 ได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9.00 - 17.00 น. 2.   ข้อความทางเฟซบุ๊ก www.facebook.com/qsmtthailand   ข้อมูลจาก Facebook- Queen Sirikit Museum of Textiles วันที่ 13 ตุลาคม 2558

วอด! ไฟไหม้พิพิธภัณฑ์แม่สะเรียง

เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 58 ร.ต.อ.บัญชา ปิ่นประยูร ร้อยเวรสอบสวน สภ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ได้รับแจ้งเมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. ว่า เกิดเหตุเพลิงไหม้พิพิธภัณฑ์แม่สะเรียง หมู่ 1 ต.แม่สะเรียง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน จึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบตามลำดับ ก่อนได้เดินทางไปยังที่เกิดเหตุพร้อมด้วย พ.ต.อ.จักร อ่อนนิ่ม ผกก. สภ.แม่สะเรียง, พ.ต.ท.พงษ์ศักดิ์ พิทักษ์เมธี รอง ผกก.สส.สภ.แม่สะเรียง และกำลังอีกจำนวนหนึ่ง   ที่เกิดเหตุพบเพลิงกำลังโหมไหม้อาคารพิพิธภัณฑ์อย่างรุนแรง โดยมีรถดับเพลิงของเทศบาลตำบลแม่สะเรียงและเทศบาลตำบลเมืองยวมใต้ ตลอดจนรถน้ำของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 36 และ อบต.ใกล้เคียง ระดมฉีดน้ำสกัด แต่ก็ไม่สามารถสกัดเพลิงได้ เนื่องจากตัวอาคารตลอดจนข้าวของภายในพิธภัณฑ์เป็นไม้ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี เจ้าหน้าที่ใช้เวลาระดมฉีดน้ำนานประมาณ 30 นาทีเพลิงจึงสงบ แต่อาคารพิพิธภัณฑ์ก็เหลือเพียงเถ้าถ่าน ค่าเสียหายไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท   ในขณะที่เพลิงกำลังไหม้ทำให้การจราจรติดขัดอย่างหนัก เนื่องจากที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์เป็นสามแยกใหญ่เข้า-ออกตัวอำเภอ ติดกับทางหลวงหมายเลข 108 และเป็นชุมทางในแต่ละอำเภอ การเดินรถจะมาบรรจบกันที่สามแยกที่เป็นทางวันเวย์ด้วย   สำหรับสาเหตุการเกิดเพลิงไหม้อยู่ระหว่างการตรวจสอบที่เกิดเหตุจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ และต้องรอผลจากกองพิสูจน์หลักฐานจังหวัดก่อน        สำหรับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2547 โดยใช้งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 9 ล้าน 6 แสน 3 หมื่นบาท และยังมีพระพุทธรูปหินอ่อนขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มากราบไหว้บูชา        ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 นายเดชา สัตถาผล นายอำเภอแม่สะเรียง ใช้งบประมาณจากงบของอยู่เย็นเป็นสุข จำนวน 8 ล้านบาทมาปรับปรุงเพิ่มเติม เพื่อเป็นการรองรับนักท่องเที่ยว   ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 11 ตุลาคม 2558  

เปิดกรุโชว์ผ้าในราชสำนัก

เมื่อวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม แถลงข่าวการจัดนิทรรศการ “วิจิตรภูษา ศิลปากร” ว่า เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ 12 สิงหาคม 2558 กระทรวงวัฒนธรรม มอบหมายให้กรมศิลปากรจัดนิทรรศการพิเศษผ้าไทย เรื่อง “วิจิตรภูษาพัสตราภรณ์” เพื่อสำนึก ในพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงใยและพระราชทานพระราชดำริต่อเรื่องผ้าไทย ทั้งทรงเป็นต้นแบบการใช้ผ้าไทยให้เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย กรมศิลปากร ได้รวบรวมผ้าชิ้นเยี่ยมที่มีคุณค่า และหาชมได้ยาก จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศ 20 แห่ง ที่มีห้องจัดแสดงผ้า อาทิ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เชียงใหม่ ร้อยเอ็ด อุบล ขอนแก่น สงขลา มาจัดแสดง ซึ่งประกอบด้วย ผ้าในราชสำนัก ผ้าปักไทย ซึ่งเป็นการสืบทอดการจัดทำชุดเครื่องแต่งกายโขน ตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ อีกทั้งยังมีผ้าทอมือชิ้นเยี่ยมแบบต่างๆ ทั้งแบบพื้นบ้านพื้นเมือง และของกลุ่มชาติพันธุ์ ตลอดจนเครื่องแต่งกายละครของครูนาฏศิลป์ จากสำนักการสังคีต จำนวนทั้งสิ้น 183 รายการ มาจัดแสดง ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันที่ 14 ส.ค. - 4 พ.ย. นี้ รวมจำนวน 83 วัน        นายบวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า การจัดนิทรรศการ “วิจิตรภูษา ศิลปากร” นั้น ได้มีไฮไลต์จัดแสดงผ้าชิ้นสำคัญ ที่เก็บอยู่ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นำออกมาให้ประชาชนได้ชมอย่างใกล้ชิดครั้งแรก ได้แก่ ฉลองพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงเครื่องทรง ฉลองพระองค์ของพระมหากษัตริย์ เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ในระดับต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีการแสดงผ้าเขียนทอง ทอด้วยเส้นไหม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว อายุกว่า 100 ปี ซึ่งมีการประเมิลมูลค่าไว้สูงถึง จำนวน 10 ล้านบาท และรัฐบาลประเทศญี่ปุ่น ได้ขอยืมไปจัดแสดงฉลองความสัมพันธ์ครบรอบ 130 ปี ไทย - ญี่ปุ่น ด้วย ซึ่งในการจัดแสดงได้คำนึงถึงการรักษาคุณค่าของผ้าทั้งหมด โดยจะต้องมีการควบคุมแสงไฟที่ใช้ส่องกระทบตัวผ้า อุณหภูมิของห้องจัดแสดง ขณะเดียวกัน ตนยังได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จัดมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด โดยมีการติดกล้องวงจรปิดรอบพื้นที่ และเพิ่มเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยดูแลตลอด 24 ชั่วโมง        ขณะเดียวกัน ภายในนิทรรศการยังได้มีการจัด งาน Creative Fine Arts 2015 : เศรษฐกิจสร้างสรรค์จากทุนทางวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ 2558 วันที่ 14 - 16 ส.ค. นี้ “ในช่วงการจัดงาน Creative Fine Arts 2015 กรมศิลปากรได้จัดกิจกรรม ยลวังหน้ายามเย็น เยือนพิพิธภัณฑ์ยามค่ำ หรือไนท์มิวเซียม โดยการเปิดให้ชมพระที่นั่งส่วนหน้า ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ประกอบด้วย พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ตำหนักแดง และโรงราชรถหลวง ตั้งแต่เวลา 16.30 - 20.00 น. เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้มีโอกาสเข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ พร้อมรับชมการแสดงนาฏศิลป์และดนตรี จากสำนักการสังคีต ด้วย” นายบวรเวท กล่าว   ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 7 สิงหาคม 2558

“มิวเซียมสยาม” ปรับโฉมใหม่!! ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับคนทุกวัย

สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) ก้าวสู่ปีที่ 11 จับมือเครือข่ายพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ทั่วไทย ร่วมยกระดับพัฒนาการเรียนรู้ปรับรูปแบบการให้บริการ พัฒนากิจกรรม และนิทรรศการที่หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ความสนใจและความต้องการของคนรุ่นใหม่ หวังดึงวัยรุ่นและขยายกลุ่มผู้ใช้บริการให้ครอบคลุมทุกระดับ ตั้งเป้าเดินหน้าเปลี่ยนทัศนคติสร้างค่านิยมใหม่ “มิวเซียม คัลเจอร์” ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย   “ราเมศ พรหมเย็น” ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ เผยว่า มิวเซียมสยามมีแผนที่จะปรับปรุงครั้งใหญ่ ด้วยการนำเสนอนิทรรศการโฉมใหม่ที่ท้าทายความคิด จัดกิจกรรม และการบริการต่างๆ ให้เกิดศักยภาพมากยิ่งขึ้น   ​ “…นอกจากการปรับพื้นที่และมีการปรับเปลี่ยนนิทรรศการในรูปโฉมใหม่แล้ว ก็จะมีการปรับรูปแบบของกิจกรรมต่างๆ เช่นเดียวกัน โดยจะจัดให้มีกิจกรรมที่สอดรับกับกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ มากยิ่งขึ้น เพราะเยาวชนหรือคนรุ่นใหม่เหล่านี้คือกำลังหลักสำคัญในอนาคตของประเทศ ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็มีนโยบายที่ต้องการให้เรานำเสนอนิทรรศการและกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นทุนทางวัฒนธรรมให้มากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะกระตุ้นให้เยาวชนของเรานั้นสามารถที่จะนำทุนทางปัญญา หรือทุนทางวัฒนธรรมไปต่อยอด และนำไปใช้ในอนาคตได้”   นอกจากภารกิจในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ให้สอดรับกับความต้องการที่หลากหลายของคนรุ่นใหม่แล้วในพื้นที่ชั้นในของ กทม.แล้ว อีกหนึ่งบทบาทที่สำคัญของ สพร. นั่นก็คือ “การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้” ให้เกิดขึ้นทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทย ด้วยการ “พัฒนาแหล่งเรียนรู้” ยกระดับการจัดการและพัฒนาเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับความสนใจและความต้องการของผู้ชมมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้อง “กระตุ้นความสนใจ” ให้ผู้ชมเห็นความสำคัญของพิพิธภัณฑ์ผ่านกลยุทธ์ที่หลากหลาย ทั้งกิจกรรมหรือนิทรรศการต่างๆ ที่มีเสน่ห์และรสนิยมตรงกับความสนใจ โดยใช้สื่อใหม่ๆ ที่ทันสมัยและเข้าถึงกับผู้ชมทุกช่วงอายุและเพศวัย เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามาใช้ประโยชน์ในเชิงพื้นที่ และให้เกิดการหมุนเวียนทางความรู้    “...ถึงตรงนี้ทัศนคติใหม่ๆ ที่ดีก็จะเกิดขึ้นกับพิพิธภัณฑ์ และทัศนคติเหล่านี้ก็จะเป็นตัวเพิ่มพูนหรือขยายผลไปสู่เป้าหมายต่อไปในอนาคต พิพิธภัณฑ์เครือข่ายและกลุ่มผู้มาใช้บริการก็จะถูกยกระดับและพัฒนาไปพร้อมๆ กัน ตรงนี้เองจะช่วยสร้างให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้และเกิด Museum Culture ขึ้นในสังคมไทย” ผอ.ราเมศ กล่าวสรุป   ข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันที่ 17 สิงหาคม 2558

‘สิรินธรทันตพิพิธ’ พิพิธภัณฑ์ฟันแห่งแรก

  คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดพิพิธภัณฑ์ฟันแห่งแรกของไทย ซึ่งทันสมัยที่สุดในเอเชียภายใต้ชื่อ “สิรินธรทันตพิพิธ” ให้ประชาชนเข้าชมฟรี   เนื้อที่ 620 ตารางเมตร บนอาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา คณะทันตแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ถูกแปรสภาพเป็น สิรินธรทันตพิพิธ พิพิธภัณฑ์ความรู้เกี่ยวกับฟัน แบ่งเป็น 5 โซน โดดเด่นที่สุด คือ โซนทันตแพทยศาสตร์ยุคแรกเริ่มในทวีปเอเซีย บอกเล่าเรื่องราววิวัฒนการ การรักษาฟันในอดีตของจีน อินเดีย และไทย ชี้ให้เห็นว่าปัญหาปวดฟัน ฟันผุ เหงือกอักเสบ มีทุกยุคทุกสมัย แต่วิธีการรักษาแตกต่าง ชาวจีนนิยมฝังเข็ม ตามจุด ริมฝีปาก ขากรรไกร บรรเทาความปวด ขณะที่ชาวอินเดียนิยมใช้เครื่องมือเจาะฟันดูดหนองแล้วใส่สมุนไพรอย่างชะเอม สะเดา ขจัดแบคทีเรีย ส่วนคนไทยนิยมถอนฟัน ตัดปัญหาโดยผลัดกันกับเพื่อน และเชื่อเคี้ยวหมาก ช่วยแก้ฟันผุ ทำให้ยุคต้นรัตนโกสินทร์ ความสวยงามของสตรีและชายไทยมาจากฟันดำเงา และมีฟันปลอมสีดำทำจากกะลา จนกระทั่งมีศาสตร์รักษาฟันแบบตะวันตกเข้ามา ในสมัยรัชกาลที่ 3 ถนนเจริญกรุง จึงกลายเป็นย่านทันตกรรม นอกจากนี้ยังมีโซนที่ สะท้อนความก้าวหน้าของการเรียนหมอฟัน โซนทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อดีตสู่ปัจจุบัน ที่เน้นการสอนผ่านซิมแลป หรือหุ่นยนต์ฝึกทักษะทันตแพทย์ให้ชำนาญ ทั้งการอุดการถอน จากนั้นเข้าสู่โซนหน่วยทันตกรรมพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ที่สะท้อนการช่วยเหลือเพื่อสังคม ใช้สื่อระบบ 3มิติ ทำให้เห็นการรักษาฟันในถิ่นทุรกันดาน ขณะที่โซนห้องทันตสุขภาพสำหรับทุกคน เน้นสร้างความสนุกสนานให้กับเด็ก จดจำผ่านวิธีการแปรงฟันให้ถูกวิธี ผ่านการ์ตูนแอนนิเมชั่น สอนให้รู้ปัญหาฟันผุไม่ได้เกิดจากแมลงกินฟัน แต่เป็นคราบจุลินทรีย์ แบคทีเรีย ที่เกาะตามซอกฟัน   ทั้งนี้ ความรู้เรื่องฟันเหล่านี้ พร้อมจะถ่ายถอดผ่านพิพิธภัณฑ์ฟัน “สิรินธรทันตพิพิธ” ให้ประชาชนเข้าชมฟรีได้ ในวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 09.00-16.30 น. คลิกดูลิงค์วิดีโอสิรินธรทันตพิพิธ   ข้อมูลจาก สำนักข่าวไทย วันที่ 5 สิงหาคม 2558