ข่าวสารพิพิธภัณฑ์

นิทรรศการ "พม่าระยะประชิด"

มิวเซียมสยาม ชวนมาประชิดพม่า ใน “พม่าระยะประชิด” นิทรรศการเกาะติดชีวิตเพื่อการสลายมโน ภายใต้แนวคิด Guest (’s) House พื้นที่เล็กๆ แห่งความเข้าใจ ที่การได้รู้จักคนอื่น จะทำให้เราเข้าใจตัวเองมากยิ่งขึ้น   โดยนิทรรศการจะตีแผ่เรื่องราวชีวิตของคนพม่าในประเทศไทย ผ่านโซน Guest’s House เพื่อให้ผู้ชมได้เข้าใจถึง ที่มา-ที่เป็นอยู่-ที่ไป บอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นและเหตุผลของการออกเดินทาง ตลอดจนนำเสนอกลยุทธ์การดำเนินชีวิตในประเทศไทย และสะท้อนประสบการณ์การทำงาน การวางแผนชีวิตในอนาคต นอกจากนี้ยังมีโซน Guess House ที่นำเสนอแง่มุมทางวัฒนธรรมที่ทั้งสองชาติมีรากฐานร่วมกัน โดยมุ่งเน้นให้คนไทยได้รู้จัก “เพื่อนบ้าน” ในมุมมองใหม่ๆ และเปิดใจยอมรับความหลากหลายในสังคม   นิทรรศการ “พม่าระยะประชิด” เปิดให้เข้าชมทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์) ตั้งแต่ 15 มีนาคม จนถึง 31 กรกฎาคม 2559 เวลา 10.00 - 18.00 น. ที่ มิวเซียมสยาม (ท่าเตียน) เข้าชมฟรี!!   สอบถามเพิ่มเติม โทร. 02-225-2777 หรือ www.facebook.com/museumsiamfan   ข้อมูลจาก Facebook-MuseumSiam วันที่ 9 มีนาคม 2559

ลบภาพเรือนจำนครปฐมทำพิพิธภัณฑ์

เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ที่วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม พร้อมนายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร เดินทางมาสักการะพระร่วงโรจนฤทธิ์ จากนั้นได้ตรวจเยี่ยมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ และพื้นที่เรือนจำกลางจังหวัดนครปฐมเดิม สำหรัจัดสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์แห่งใหม่ และได้ร่วมประชุมหารือกับ นายชาติชาย อุทัยพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม และพระพรหมเวที (สุเทพ ผุสฺสธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร และผู้เกี่ยวข้อง โดยนายวีระกล่าวภายหลังการประชุมว่า จังหวัดนครปฐมมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แสดงถึงความเป็นศูนย์กลางแห่งพระพุทธศาสนา ที่เจริญรุ่งเรืองมานานถึง 1,200-1,300 ปี ทั้งสถาปัตยกรรม และโบราณวัตถุสมัยทวารวดี โดยเฉพาะองค์พระปฐมเจดีย์ ดังนั้นกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.)มีแนวคิดที่จะนำเสนอไปสู่การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เพราะมีความโดดเด่นทั้งด้านคุณลักษณะ สถาปัตยกรรม อารยธรรม ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างยาวนาน ซึ่งขณะนี้ตนได้มอบให้กรมศิลปากรร่วมกับทางจังหวัดนครปฐมไปศึกษารายละเอียดและจัดทำข้อมูลแล้ว   รมว.วัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาแม้ว่าแนวคิดการนำเสนอพระปฐมเจดีย์สู่มรดกโลกจะมีข้อขัดแย้งกับประชาชนในพื้นที่บางส่วนที่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากเมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการนำเสนอแล้ว พื้นที่การค้า การก่อสร้างอาคาร ตลอดจนที่อยู่อาศัยบางส่วนจะต้องถูกจำกัดด้วยการบริหารจัดการใหม่ จึงขอชี้แจงว่าการขึ้นทะเบียนมรดกโลกนั้นไม่ได้หมายความว่าจะไปสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน แต่เป็นเพียงการจัดระเบียบพื้นที่ใหม่เพื่อให้เกิดความเรียบร้อย ดังนั้นตนจึงมอบแนวทางไปยังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ไปสร้างความเข้าใจกับประชาชน โดยเฉพาะการได้ประโยชน์จากการเป็นแหล่งมรดกโลกทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว   นายวีระ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการหารือถึงการย้ายพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์ไปจัดสร้างใหม่ในพื้นที่เรือนจำกลาง นั้น ขณะนี้ได้มอบให้กรมศิลปากรออกแบบแล้ว ซึ่งจะเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่รวมโบราณวัตถุสมัยทวารวดีที่ยิ่งใหญ่ มีความทันสมัยที่สุดในประเทศ โดยจะใช้งบประมาณปี 2561 ในการดำเนินการ คาดว่าจะใช้เวลาสร้างแล้วเสร็จอย่างน้อย4ปี ซึ่งระหว่างนี้ได้สั่งให้กรมศิลปากร เร่งปรับปรุงพิพิธภัณฑ์เดิมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของสถานที่ ทั้งการติดแอร์ การจัดทำป้ายให้ความรู้ การจัดทำคิวอาร์โคด รวมถึงให้มีการประชาสัมพันธ์กับนักท่องเที่ยวอย่างเข้มข้น ขณะเดียวกันทางผู้ว่าฯ ยังขานรับนโยบายในการประสานงานพาเด็กและเยาวชน จากสถานศึกษาเข้ามาศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภายในพิพิธภัณฑ์ให้มากขึ้นด้วย   พระพรหมเวที กล่าวว่า จากการหารือ ได้เสนอให้วธ.และผู้ว่าฯ สนับสนุนการจัดสร้างอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 4,5 และรัชกาลที่ 6 เพื่อเทิดพระเกียรติและยกย่องบูรพพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณและมีพระราชศรัทธาต่อองค์พระปฐมเจดีย์อีกทั้งยังสร้างศรัทธาให้คนในพื้นที่ ขณะเดียวกันทางวัดยินดีสนับสนุนการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เพียงแต่ให้ทางจังหวัดหารือกับทุกภาคส่วนในพื้นที่เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง และหลังจากที่กรมศิลปากรทำการย้ายโบราณวัตถุภายในพิพิธภัณฑ์เสร็จสิ้นแล้ว ทางวัดจะขอใช้พื้นที่เดิมเป็นสำนักงานการศึกษาบาลีของพระสงฆ์และสามเณรต่อไป อย่างไรก็ตาม ได้ฝากให้ทาง วธ.ช่วยกันสร้างศรัทธาของประชาชนในการให้วัดเป็นที่พึ่งจิตใจเช่นเคยเนื่องจากเกิดกระแสความขัดแย้งที่เกิดขึ้น จึงไม่อยากให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาในพระพุทธศาสนา   ข้อมูลจาก เดลินิวส์ วันที่ 7 มีนาคม 2559

สิงคโปร์เปิดพิพิธภัณฑ์อาเซียน

สิงคโปร์เปิดตัวพิพิธภัณฑ์อาเซียน มูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์ โดยจัดแสดงงานศิลปะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยใหม่ ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 จนถึงปัจจุบัน ราว 800 ชิ้นจากสิงคโปร์และประเทศในภูมิภาคอาเซียน   ผู้บริหารระดับสูงของพิพิธภัณฑ์ นายชง เซียค ชิง กล่าวว่า ในฐานะเป็นพิพิธภัณฑ์แรกของโลกที่อุทิศให้กับศิลปะร่วมสมัยของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ หวังจะกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับศิลปะ ตั้งแต่ประวัติศาสตร์จนถึงเรื่องราวเบื้องหลังศิลปะ และจากการค้นพบศิลปะเหล่านี้   นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังเผยให้เห็นเรื่องราวเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโลก จนถึงเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเราเอง    ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์อาเซียนประกอบไปด้วยอาคารที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ 2 อาคาร ได้แก่อาคารที่เคยเป็นศาลฎีกาและศาลากลาง มีขนาดใหญ่เทียบเท่าสนามฟุตบอล 9สนาม   ขณะที่บริเวณด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์ยังคงอนุรักษ์ไว้แบบเดิม แต่ภายในของอาคารได้รับการปรับปรุงใหม่เกือบทั้งหมด และได้มีการใช้จ่ายในการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไป 532 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 13,200 ล้านบาท   ข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2558

รวบพิพิธภัณฑ์จัดกิจกรรมเสริมความรู้ทั่วประเทศรับเด็กปิดเทอม

      บูรณาการศูนย์การศึกษา-พิพิธภัณฑ์ครั้งใหญ่จัดโครงการ "ปิดเทอมนี้ สนุกคิด สนุกเรียนรู้ สู่อนาคต" ผุดกิจกรรมเด็ดช่วงปิดเทอมทั่วประเทศ รับนโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ห้ามพลาดค่ายวิทยาศาสตร์ 1 วัน-กิจกรรมฝึกทำหุ่นยนต์-เรียนรู้ดูแร่ดูหิน-กล้องโทรทรรศน์ราคาประหยัดดูสุริยุปราคา วาดฝันขั้นต่อไปให้ไทยเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงพิพิธภัณฑ์               คณะกรรมการบูรณาการด้านพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ จับมือ 18 พันธมิตรเปิดตัวโครงการ "สานพลังพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้สู่สังคมไทย" โครงการบูรณาการศูนย์การศึกษาและพิพิธภัณฑ์ครั้งใหญ่แห่งยุค พร้อมเปิดตัวโครงการย่อยเฟสแรกกระตุ้นเด็กคิดวิทยาศาสตร์ช่วงปิด" เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 59 ณ อุทยานการเรียนรู้ทีเคพาร์ค ชั้น 8 ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยมี พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน               นายราเมศ พรหมเย็น ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ กล่าวว่า โครงการสานพลังพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้สู่สังคมไทย เกิดจากการที่รัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญในการยกระดับคุณภาพพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ของประเทศ อันจะเป็นการส่งเสริมคุณภาพเยาวชนและประชาชนทุกระดับในการพัฒนาอาชีพ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการบูรณาการด้านพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง เป็นประธาน และให้ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้จำนวน 18 หน่วยงานเป็นคณะทำงาน               ภายใต้แนวคิดหลัก คือ การบูรณาการความร่วมมือ โดยมีเป้าหมายสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ การส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนให้สอดคล้องกับนโยบาย ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ของรัฐบาล โดยใช้ประโยชน์จากพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้รูปแบบต่างๆที่เหมาะสม, การส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทย โดยพัฒนาและจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ในพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ เพื่อจูงใจให้นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติเข้ามาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ และการส่งเสริมให้คนไทยมีจิตสำนึกรู้รักสามัคคี มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว จากการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ และความเป็นมาของชาติไทย               สำหรับโครงการย่อยที่จัดขึ้นเป็นงานแรกคือโครงการ “ปิดเทอมนี้ สนุกคิด สนุกเรียนรู้ สู่อนาคต” ที่เป็น 1 ใน 5 โครงการบูรณาการด้านพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้นำร่อง โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้โดยตรงจากพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ที่เป็นคลังความรู้ในช่วงปิดเทอมปีการศึกษา 2558 ภาคเรียนที่ 2 ซึ่งในครั้งนี้มี 9 หน่วยงานมาร่วมจัดกิจกรรม ได้แก่ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.), พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ กองทัพอากาศ, องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ , องค์การสวนพฤกษศาสตร์, ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา, สำนักหอสมุดแห่งชาติ, กรุงเทพมหานคร, สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และสำนักงานอุทยานการเรียนรู้               โดยจะแบ่งกิจกรรมออกเป็น 6 กลุ่มหลัก ได้แก่        กลุ่มที่ 1 ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวน 5กิจกรรม        กลุ่มที่ 2 ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์ (6 กิจกรรม)        กลุ่มที่ 3 ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านความคิดสร้างสรรค์ (5 กิจกรรม)        กลุ่มที่ 4. ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม (1 กิจกรรม)        กลุ่มที่ 5 ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (3 กิจกรรม)        กลุ่มที่ 6 ส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน และทักษะชีวิต (4 กิจกรรม)               สำหรับกิจกรรมน่าสนใจที่แต่ละหน่วยงานนำมาจัดแสดงก็มีด้วยกันหลากหลายรูปแบบ เริ่มจากองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ที่นำชุดของเล่นสำหรับการเข้าค่ายวิทยาศาสตร์ 1 วันมาเรียกน้ำย่อยซึ่งน่าจะเป็นสวรรค์ของเด็กๆหลายๆคนได้เลยทีเดียวเพราะภายในประกอบไปด้วยโมเดลดาว แผนที่ดาว และของเล่นประลองปัญญาต่างๆ อัดแน่นมากว่า 20 ชิ้น นอกจากนี้ยังมีกรวยฝืนกฎ ที่ไม่ยอมไหลลงไปตามความลาดเอียงของรางโลหะแต่กลับกันยังสามารถเคลื่อนที่ขึ้นไปยังที่สูงได้เองแบบอัตโนมัติ               หน่วยงานต่อมาอย่างสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ก็ได้นำแว่นส่องปรากฏการณ์สุริยุปราคามาจัดแสดง พร้อมด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ผลงานการประดิษฐ์คิดค้นของนักเรียนโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ที่สามารถประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์อย่างง่ายในราคาไม่ถึง 500 บาทเพื่อให้สำหรับการสังเกตสุริยุปราคา               ด้านศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาก็ได้นำแผนที่ดาวมาแจกให้กับเยาวชนที่สนใจ แต่ที่ได้รับความสนใจยิ่งกว่าคือหุ่นยนต์เก็บของที่พัฒนาขึ้นด้วยกลไกง่ายๆ ให้ผู้สนใจได้มาลองบังคับและสัมผัสด้วยตัวเอง เช่นเดียวกับกรมทรัพยากรธรณีที่ขนบรรดาหินสีและแร่ต่างๆ มาจัดแสดงเพื่อให้เด็กๆ ได้รู้จักจากการสัมผัสด้วยของจริงส่วนองค์การสวนสัตว์และองค์การสวนพฤกษศาสตร์ แม้จะยกสัตว์และป่าของจริงมาจัดแสดงไม่ได้แต่ก็นำแผ่นความรู้และวิดีโอเชิญชวนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์มาจัดแสดงแทน               พร้อมกันนี้ยังได้ช่องทางสำหรับอัพเดทข้อมูลกิจกรรมได้แก่ เว็บไซต์สำหรับอัพเดทกิจกรรมทั้งหมดสามารถดูรายละเอียดได้ที่ www.okmd.or.th/MLICThailand หรือ www.facebook.com/MLICThailand สอบถามเพิ่มเติมได้ที่เบอร์ 02-105 6524 ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559

พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาสาวะถีแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมมีชีวิต

             ชื่อของบ้านสาวะถี ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น คงจะเป็นที่คุ้นหูใครหลายคน เพราะหมู่บ้านแห่งนี้มีอัญมณีอันเลอค่า นั่นก็คือภาพจิตรกรรมฝาผนังที่มีอายุกว่า 100 ปี ซึ่งเป็นจิตรกรรมแบบพื้นบ้านภาคอีสานที่เป็นเรื่องราวของวรรณกรรม เรื่อง “สังข์ศิลป์ชัย” หรือ “สินไซ” ในภาษาแบบชาวบ้าน และกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมของเมืองขอนแก่น และนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบงานด้านวัฒนธรรม เพราะภาพจิตรกรรมฝาผนังเหล่านี้จะเชื่อมโยงเอาคนที่อยากรู้และสนใจเรื่องเล่าต่างๆ เข้าไปในหมู่บ้านไม่ขาดสาย                 โดยเฉพาะภายในวัดไชยศรี ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งภาพจิตรกรรมดังกล่าว ทำให้วัดไชยศรี ซึ่งมีพระครูบุญชยากร เจ้าอาวาสและเจ้าคณะตำบลอยู่ที่วัดแห่งนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้หากใครเคยไปเยือนที่แห่งนี่ก็จะได้พบเห็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ซึ่งรวบรวมเอาของเก่าของโบราณในหมู่บ้านไปตั้งไว้ที่วัดแห่งนี้ แต่มาถึงวันนี้มีการย้ายสิ่งของมีค่าเหล่านั้นไปอยู่ที่โรงเรียนบ้านสาวัตถีราษฎร์รังสฤษฏิ์ ตามความต้องการของผู้อำนวยการโรงเรียนและทำพิธีเปิดไปเมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา                    “เรื่องพิพิธภัณฑ์เป็นแค่สถานที่แสดงของเก่าที่คนทั่วไปและคนในเมืองมาพิพิธภัณฑ์ก็เพื่อมาดูของเก่า แต่ของเก่าที่เรารวบรวมไม่ใช่ของเก่าธรรมดา แต่เป็นของเก่าที่ชาวบ้านที่มีอยู่อยากจะมีส่วนร่วมในการเอามาให้โดยไม่ได้ซื้อหามา ซึ่งตอนแรกที่จะทำพิพิธภัณฑ์นั้น อาตมาตั้งใจเอาไว้เลยว่าจะต้องไม่ซื้อและสิ่งที่มีอยู่ในพิพิธภัณฑ์มันต้องมีเรื่องเล่าของมัน และพอทำมันกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ มีคนมาศึกษาดูงานและเด็กๆ เข้ามาดู แค่เด็กๆ เข้ามาดูนี่ก็คือการพัฒนาแล้ว เพราะอย่างน้อยเขาก็สนใจจะมาเรียนรู้” พระครูบุญชยากร เจ้าอาวาสวัดไชยศรี คนที่ริเริ่มทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขึ้นมาในชุมชนเป็นคนแรก กล่าว                    เมื่อถามถึงสาเหตุหลักที่ย้ายพิพิธภัณฑ์จากวัดไชยศรีมาอยู่โรงเรียนบ้านสาวัตถีราษฎร์รังสฤษฏิ์นั้น พระครูบุญชยากร ก็ชี้แจงว่า พิพิธภัณฑ์ที่วัดนั้นผุพังเพราะสร้างแบบชั่วคราวจากไม้ไผ่ และย้ายมา 2 ครั้งแล้ว หากย้ายเป็นครั้งที่ 3 คงจะลำบากมาก พอดีกับโรงเรียนสาวัตถีประถมแห่งนี้ มีอาคารเก่าเพราะจำนวนนักเรียนที่ลดน้อยลง ผู้อำนวยการโรงเรียนจึงตัดสินใจนำเอาอาคารเรียนหลังเดิมที่พระครูบุญชยากร เคยเล่าเรียนมาทำเป็นพิพิธภัณฑ์ของชุมชน                   ขณะที่ รศ.ดร.โสวิทย์ บำรุงภักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาพระพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น บอกว่า ในฐานะคนที่ติดตามเรียนรู้และสนใจเรื่องสินไซ ทำให้ได้มารู้จักบ้านสาวะถีแห่งนี้ และสำหรับคำว่าพิพิธภัณฑ์ก็แค่สถานที่แต่พิพิธภัณฑ์ที่ยิ่งใหญ่คือพิพิธภัณฑ์ในหัวใจของเรา ทำอย่างไรที่คนในชุมชนจะเข้ามาใช้พิพิธภัณฑ์อย่างแท้จริง ไม่ใช่เปิดแล้วปิดเลยเพราะไม่มีใครสนใจ หากลูกหลาน เด็กนักเรียน หรือแม้แต่นักศึกษา และผู้สนใจเข้ามาเยี่ยมชมก็จะทำให้พิพิธภัณฑ์มีชีวิตขึ้นมา เพราะได้ใช้ประโยชน์มหาศาล                   “การเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งนี่คือการอนุรักษ์แล้วจากนั้นเราจะฟื้นฟูต่อไปอย่างไรและจะส่งต่อด้วยการสืบสานรูปแบบไหน ต้องอาศัยการจัดการที่ดี ซึ่งนั่นหมายถึงหากโรงเรียนพาเด็กมาเรียนรู้สิ่งที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ เรียนรู้ทีละอย่าง ให้ทำการบ้านให้หาคำตอบ โดยไปสอบถามพ่อแม่ถึงสิ่งที่อยู่ข้างใน ทั้งอุปกรณ์ทำกิน อุปกรณ์หาปลา รูปภาพสินไซและอื่นๆ ให้พวกเขาได้สงสัยและหาคำตอบเอง แค่นี้ก็จะเป็นการทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้รับใช้ชุมชนและสังคมอย่างแท้จริง” รศ.ดร.โสวิทย์ เสนอแนะเพื่อให้พิพิธภัณฑ์มีชีวิต                     ส่วน ผศ.ดร.ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์ ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น บอกว่า ถือเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งของชาวชุมชนที่สามารถมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านเป็นของชุมชนได้ เพราะในละแวกนี้ไม่มีพิพิธภัณฑ์ที่ไหนและไม่มีใครทำได้ การที่ชุมชนสาวะถีสามารถจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ได้ถือเป็นความสำเร็จของชุมชน ซึ่งต่อไปคือจะต้องทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้รับใช้สังคมอย่างแท้จริง แขกไปใครมาต้องพามาแวะเวียนและเรียนรู้จากที่นี่ ที่นี่ก็จะกลายเป็นห้องรับแขกของชุมชนไปด้วยและทำให้มันไม่ตาย                    เช่นเดียวกับ นายทศพร ศรีสมาน ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดขอนแก่น แสดงความคิดเห็นว่า พิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่แล้วจะเปิดวันนี้พรุ่งนี้ปิดเพราะไม่มีใครเข้าเยี่ยมชน แต่มั่นใจว่าพิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาสาวะถีแห่งนี้คงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะอย่างน้อยจิตวิญญาณของชาวสาวะถีก็อยู่ที่แห่งนี้แล้ว และจะต้องช่วยกันหนุนเสริมให้มันมีชีวิตและสนองตอบความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง พร้อมกับเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ให้คนข้างนอกเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ด้วย                    นี่คือแนวทางและคำแนะนำในวันเปิดพิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาสาวะถี ที่บ้านสาวะถี ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น ซึ่งต่อจากนี้ไปที่นี่จะกลายเป็นห้องรับแขกอีกแห่งหนึ่งของชาวเมืองขอนแก่น ทั้งนี้เพราะพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวได้รวมเอาอุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ ที่ชาวชุมชนสาวะถีใช้ประโยชน์ในอดีตมาเก็บรวบรวมไว้ให้ลูกหลานได้เรียนรู้สืบต่อไป แถมวัตถุสิ่งของแต่ละอย่างก็มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจที่คนในชุมชนสามารถเป็นคนถ่ายทอดให้นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมได้รับรู้เอง                    โดยภายในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งนี้แบ่งออกเป็น 3 ห้อง ห้องแรกจะเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ของคนในอดีต ห้องที่สองเป็นอุปกรณ์และเครื่องมือเกี่ยวกับการทอผ้า และห้องที่สามจะเป็นเรื่องราวของสินไซวรรณกรรมสองฝั่งโขง ที่กลายเป็นหัวใจของคนที่นี่ และอนาคตข้างหน้าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คงจะสามารถตอบโจทย์ความอยากรู้อยากเห็นของประชาชนและนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ นั่นหมายถึงการจะทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่ใช่แค่ที่เก็บของเก่าเหมือนพิพิธภัณฑ์ทั่วไปเท่านั้น                    “การจะทำพิพิธภัณฑ์ให้มีชีวิตได้จะต้องมีอยู่ 3 หัวใจหลักด้วยกัน คือ สถานที่ต้องดีเป็นระเบียบ สะอาด และสวยงาม สองวัตถุสิ่งของที่มีอยู่ต้องเล่าเรื่องที่มาของวัตถุได้ และสามการบริหารจัดการจะต้องดี ชุมชนจะต้องมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและเป็นเจ้าของร่วมกัน บ้าน วัด โรงเรียน จะต้องสอดคล้องประสานกันเพื่อให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้อยู่ได้” พระครูบุญชยากร กล่าวเสริม ก่อนที่จะมีพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อย่างเป็นทางการ โดยมีชาวชุมชนสาวะถีเป็นประจักษ์พยานจำนวนมาก   ข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2559  

พิพิธภัณฑ์ฝรั่งเศสคืนรูปสลักโบราณที่สูญหายไปนาน 130 ปี ให้กัมพูชา

       พิพิธภัณฑ์กีเมต์ของฝรั่งเศสได้ส่งคืนรูปสลักเศียรพระหริหระ ที่เป็นการรวมพระวิษณุ และพระศิวะไว้ในองค์เดียว เมื่อวันเสาร์ที่ 16 ม.ค. 59 ตามคำร้องขอของกัมพูชา โฆษกกระทรวงวัฒนธรรมระบุ               “ส่วนเศียร และองค์ของรูปสลักถูกแยกออกจากกันมานานกว่า 130 ปี เมื่อทั้งสองส่วนกลับมาติดกันอีกครั้ง เหมือนกับว่าเรากำลังเชื่อมต่อจิตวิญญาณมรดกของชาติ” โฆษกกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว               เจ้าหน้าที่กัมพูชาคนเดิมยังกล่าวว่า เศียรของรูปสลักถูกเคลื่อนย้ายออกไปจากปราสาทใน จ.ตาแก้ว ช่วงอาณานิคมฝรั่งเศส และขนส่งไปยังยุโรปในปี 2429               ทางการกัมพูชากำลังไล่ตามค้นหางานศิลปะ และรูปสลักที่สูญหายเพื่อกู้คืนชิ้นงานที่มีค่าทางประวัติศาสตร์เหล่านี้               พิพิธภัณฑ์ในสหรัฐฯ ยังได้ส่งคืนรูปสลักโบราณจำนวนหนึ่งให้แก่กัมพูชาในช่วงไม่กี่ปีมานี้ หลังมีการเจรจาต่อรอง และการต่อสู้ทางกฎหมาย               โฆษกกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า รูปสลักพระหริหระที่ได้รับการบูรณะแล้วจะนำไปจัดแสดงต่อสาธารณชนในพิธีที่จัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติในวันพฤหัสบดีที่ 21 ม.ค. 59 และรูปสลักเต็มองค์อาจถูกนำไปจัดแสดงที่ฝรั่งเศสในอนาคต   ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 19 มกราคม 2559

ความลับกระจ่าง! เพชรบูรณ์เฮ เผย"จารึกลานทอง"ถูกเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ฯ เกือบ 50 ปี!

ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 17 ม.ค.ว่า นายวิศัลย์ โฆษิตานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า จากการขุดพบจารึกลานทองจำนวน 3 แผ่น ที่เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์วัดมหาธาตุเมื่อปี 2510 โดยจารึกลานทองทั้ง 3 แผ่นซึ่งถือเป็นหลักฐานทางโบราณคดีชิ้นสำคัญที่มีความเก่าแก่เท่าที่มีการค้นพบ นอกจากจะมีการบ่งบอกถึงอายุของเมืองเพชรบูรณ์แล้วยังมีตัวอักษรคำว่า เพชรบุระ ซึ่งเป็นการเขียนและการสะกดเมื่อราว 600-700 ปีที่ผ่านมา แต่ที่ผ่านมาข้อมูลขาดหายไปโดยมีความพยายามติดตามสืบค้นกันอย่างต่อเนื่องว่าถูกเก็บรักษาไว้ที่ไหน เพราะที่ผ่านมาชาวเพชรบูรณ์ได้เห็นเพียงแค่รูปภาพที่ค่อนข้างจะเลือนรางที่ถูกส่งต่อกันมาเป็นทอดๆ “จนล่าสุดได้ทราบแล้วว่าจารึกลานทองทั้ง 3 แผ่นถูกเก็บรักษาอยู่ที่ห้องห้องมหรรฆภัณฑ์พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติซึ่งขณะนี้ทางจังหวัดเพชรบูรณ์ร่วมกับเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมศิลปากรเพื่อขอถ่ายบันทึกภาพเก็บเป็นข้อมูลและจะนำกลับมาจำลองพร้อมจัดแสดงที่หอโบราณคดีเพชรบูรณ์อินทราชัยเพื่อให้ทุกคนได้เห็นว่ามีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร”พร้อมทั้งระบุวา ในอนาคตหากสถานที่จัดแสดงมีระบบการรักษาความปลอดภัยที่ดีแล้ว ก็อาจจะทำเรื่องขอคืนจารึกลานทองรวมทั้งโบราณวัตถุต่างๆของเมืองเพชรบูรณ์ มาเก็บรักษาพร้อมจัดแสดงที่จ.เพชรบูรณ์   ทั้งนี้ สำหรับจารึกลานทองเมืองเพชรบูรณ์ตามประวัติค้นพบ ทางกรมศิลปากรขุดพบในพระเจดีย์องค์ใหญ่วัดมหาธาตุเมื่อปี พ.ศ.2510  และได้ทำการอ่านจารึกทั้ง 3 แผ่นเรียบร้อยแล้ว โดยจารึกลานทองคำแผ่นที่ 1 กล่าวถึงการสร้างเจดีย์ ในวันศุกร์เดือน 7 ปีกุน(ราวพ.ศ. 1926) และผู้ใดพบจารึกนี้ก็ขอให้ช่วยกันจรรโลงพระพุทธศาสนาต่อไป ส่วนจารึกลานทองคำแผ่นที่ 2 กล่าวถึงพระเจ้าเพชบุรเป็นผู้สร้าง สำหรับจารึกลานทองคำแผ่นที่ 3 กล่าวถึงพระยาอีกคนหนึ่งว่า " พ่อพระยาลัก สัตตกูร"   ข้อมูลจาก มติชนออนไลน์ วันที่ 17 มกราคม 2559

พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติตลอดปี 2559

เนื่องในมหามงคลวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมายุครบ 7 รอบ 84 พรรษา วันที่ 12 สิงหาคม 2559 พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (Queen Sirikit Museum of Textiles-QSMT) จึงจะจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในโอกาสสำคัญนี้ หลายๆ รูปแบบตลอดทั้งปี 2559   ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ รองราชเลขานุการในพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้กล่าวว่าปีนี้เป็นอีกหนึ่งปีที่พวกเราจะได้ร่วมเฉลิมฉลอง ในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระ บรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระ ชนมายุครบ 7 รอบ 84 พรรษา ด้วย การเผย แพร่พระราชกรณียกิจที่พระองค์ทรงทำมาตลอดกว่า 60 ปี ซึ่งมีมากมาย และโครงการในพระราชดำริต่างๆก็ล้วนแต่เป็นคุณประโยชน์ต่อชุมชน ด้วยพระองค์ท่านทรงหยิบยกงานในชนบท มาสู่สังคมเมืองและนานาชาติจึงเป็นโอกาสที่พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ จะประชาสัมพันธ์แผนงานเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ผ่านนิทรรศการและกิจกรรมต่างๆ ซึ่งนอกจากจะทำให้ประชาชนทั่ว ไปได้รู้จักพิพิธภัณฑ์ผ้าฯมากขึ้นแล้ว ยังเป็นการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาคนไทยและชาวต่างชาติ   ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ได้กล่าวถึงกิจกรรมแรกที่จะจัดขึ้น “QSMT Celebration” การออกร้านจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และการสาธิตการทำงานต่างๆ อาทิ งานปักพัสตาภรณ์โขนพระราชทาน,การมัดย้อม, การทอผ้า รวมทั้งจำหน่ายอาหารโครงการฟาร์มตัวอย่าง พร้อมชมนิทรรศการเครื่องโขน ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-11 ม.ค. ที่พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ จากนั้นในเดือนมิถุนายน จะจัดแสดง “เรือนยอดบรมมังคลานุสรณ์” ในงานศิลป์แผ่นดิน ครั้งที่ 7 ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ส่วนเดือนสิงหาคม จัดนิทรรศการ Fit For a Queen แสดงการเตรียมฉลองพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการโดยเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเยือนสหรัฐอเมริกาและประเทศในทวีปยุโรป อย่างเป็นทางการ ในปี 2503 เป็นเวลานานถึง 9 เดือน ซึ่งชุดฉลองพระองค์ทั้งหมดออกแบบและตัดเย็บโดย มร.ปิแอร์ บัลแมง จากห้องเสื้อบัลแมง โอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จฯเปิดนิทรรศการในวันที่ 2 ส.ค.ที่พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ และมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จะจัดนิทรรศการส่งเสริมศิลปาชีพ “จากขุนเขาสู่ศิลปาชีพ” โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จฯเปิดงานในวันที่ 11 ส.ค. ที่หอสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระ บรมราชินีนาถ และงานใหญ่ปิดท้ายปีในเดือนพฤศจิกายน คือ การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และเดือนธันวาคม จัดงาน Silk Festival 2016 งานแสดงแบบเครื่องแต่งกายที่ตัดเย็บจากผ้าไทยของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ที่ออกแบบโดยดีไซเนอร์ไทยชื่อดัง เดิมทีเคยจัดขึ้นที่ลานคำหอม พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จ.สกลนคร และไม่ได้จัดมาเป็นเวลาหลายปี พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ จึงจะย้อนอดีตจัดขึ้นอีกครั้งเพื่อสืบสานพระราชปณิธานในการอนุรักษ์ผ้าไทยของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยจะยกรูปแบบการจัดงานนี้ มาจัดที่สวนอัมพร เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนไทย และนักออกแบบรุ่นใหม่รู้จักนำผ้าไทยมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันมากขึ้น   ข้อมูลจาก ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 12 มกราคม 2559

ปรับลุคใหม่ให้มิวเซียม

ถ้ามีใครชวนไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ หลายคนอาจร้องยี้เพราะนึกภาพว่า มีแต่ความน่าเบื่อ ในขณะที่อีกหลายคนอาจสนใจถ้าเป็นพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศ แต่ในปีที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์หลายแห่งโดยเฉพาะในเอเชียดำเนินการปรับปรุงและสร้างใหม่เพื่อดึงดูดให้มีผู้เข้าชมมากขึ้น   พิพิธภัณฑ์แห่งแรกที่ขอพาไปชมคือ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติสิงคโปร์ เพื่อนบ้านอาเซียนของเรา ที่นี่เองที่นักเดินทางจะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของประเทศเล็กๆ แห่งนี้เมื่อ 191 ปีก่อน จากหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ จนกลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของอาเซียนและเอเชีย พิพิธภัณฑ์ประกอบด้วย 4 แกลเลอรีที่สะท้อนชีวิตของชาวสิงคโปร์ได้เป็นอย่างดี   เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์ซึ่งตั้งอยู่บนตึกโบราณแห่งนี้ได้เปิดแกลเลอรี “สุพรีมคอร์ต” หลังจากปิดปรับปรุงไประยะเวลาหนึ่ง การปรับปรุงนี้ใช้งบประมาณไปถึง 530 ล้านเหรียญสิงคโปร์เลยทีเดียว แกลเลอรีนี้จะเปิดให้ผู้เข้าชมได้เห็นคอลเลคชั่นของงานศิลปะของย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก พื้นที่ของที่นี่จะประมาณ 64,000 ตารางเมตร หรือเทียบเท่าพิพิธภัณฑ์มูเซอร์แซในปารีสและพิพิธภัณฑ์เดลปราโด้ในกรุงมาดริด ประเทศสเปน   งานปรับปรุงแกลเลอรีนี้ทำโดยสตูดิโอที่มีชื่อเสียงของปารีส ซึ่งเชี่ยวชาญในการออกแบบพิพิธภัณฑ์และงานปรับปรุงตึกที่มีคุณค่างทางประวัติศาสตร์ ทำให้ส่วนภายในของส่วนนี้ยังคงได้รับการรักษาไว้เป็นอย่างดี แต่ในขณะเดียวกันก็มีการเพิ่มแสงสว่างเข้าไปได้อย่างเหมาะเจาะ   สำหรับในปีนี้ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติสิงคโปร์จะมีนิทรรศการสำคัญๆ หลายครั้งด้วยกัน เช่น Artist and Empire ในเดือนตุลาคม โดยจะร่วมมือกับ Tate Britain ของลอนดอน ซึ่งจะมีการนำวัตถุโบราณที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์อังกฤษมาจัดแสดงด้วย นอกจากนี้ ในครึ่งปีหลังจะมีการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการวางกรอบความทันสมัยของสิงคโปร์และประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจัดร่วมกับสถาบันปอมปิดูร์ของปารีส   นิทรรศการที่กล่าวมาเป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น เซี้ยก ชิง ซีอีโอของพิพิธภัณฑ์ฯ กล่าวว่า พิพิธภัณฑ์วางแผนที่จะจัดงานที่ให้ความสำคัญของประวัติศาสตร์ศิลปะเอเชียในกรอบของความเป็นสากลที่เพิ่มขึ้น   “พิพิธภัณฑ์ของเราจะไม่พอใจกับการที่มีการแสดงศิลปะแวะเวียนมาแสดงเท่านั้น แต่จะเน้นไปที่การวิจัยของพิพิธภัณฑ์ในเรื่องต่างๆ และวิธีการนำเสนอประวัติศาสตร์ศิลปะของสิงคโปร์และประเทศอื่นในภูมิภาคในบริบทของโลก”   คราวนี้เรามาเยี่ยม พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยหมินเซิงปักกิ่ง ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์เอกชนที่ใหญ่ที่สุดของจีนและเปิดให้เข้าชมเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์เป็นแห่งที่ 3ที่ใช้ชื่อ หมินเซิง โดย 2 แห่งแรกอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ ธนาคารไชน่าหมินเซิงเป็นผู้ให้งบประมาณ 200 ล้านหยวนในการสร้าง พิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ที่ด้านเหนือของพิพิธภัณฑ์ Art Center and the Pace ในกรุงปักกิ่งบริษัท Pei Zhu ซึ่งได้รับรางวัลมากมายเป็นผู้ออกแบบพิพิธภัณฑ์นี้ โดยเปลี่ยนโรงงานเก่าพื้นที่ 35,000 ตารางเมตรให้เป็นพิพิธภัณฑ์ได้อย่างสวยงาม   ส่วน พิพิธภัณฑ์ศิลปะจังหวัดโออิตะ บนเกาะคิวชูเป็นพิพิธภัณฑ์ที่สร้างใหม่แห่งแรกของจังหวัดในญี่ปุ่นเพราะที่อื่นเป็นการบูรณะพิพิธภัณฑ์เก่า ตัวตึกมีส่วนประกอบของไม้ไผ่และอุปกรณ์จากไม้ไผ่ซึ่งแสดงถึงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นของญี่ปุ่นเอง ชิกูระ บัน ผู้ออกแบบ กล่าวว่า การออกแบบของเขาไม่ได้เน้นที่ความสวยงามของพิพิธภัณฑ์เท่านั้น แต่รวมถึงประโยชน์การใช้สอยได้จริงด้วย   ด้าน เรียลนิอิมิ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์กล่าวว่า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็น “สนามเด็กเล่นของหัวใจ” เขากล่าวว่า “เราเตรียมอุปกรณ์และเชื้อเพลิง แต่คนในจังหวัดและผู้เข้าชมเป็นผู้ที่จุดไฟ ในพิพิธภัณฑ์ของเรา คนดูเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์ที่สุด”   พิพิธภัณฑ์แห่งนี้สร้างการตระหนักถึงพันธสัญญาที่มีต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ไว้บนหลังคาและที่พื้นมีปั๊มดูดพลังงานความร้อนจากใต้พื้นดินมาใช้ด้วย   จังหวัดโออิตะนั้นมีชื่อเสียงเรื่องน้ำพุร้อน ถึงแม้ว่าชั้นที่ 3 ของพิพิธภัณฑ์จะแสดงงานของศิลปินที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดโออิตะ เช่น ทานูระ ชิกูเดน ศิลปินสมัยเอโดะ หรือจิตรกรฟูกูดะ เฮอิฮาชิโร จิตรกรภาพวาดสมัยใหม่ พิพิธภัณฑ์ก็ยังคงให้ความสนใจกับศิลปะยุโรปด้วย โดยจะเห็นได้จากลูกบอลลูนดอกไม้ที่ติดอยู่ที่พื้นซึ่งเป็นศิลปะของมาแซล วันเดอร์ส นักออกแบบชาวดัชท์   ข้อมูลจาก กรุงเทพธรกิจออนไลน์ วันที่ 4 มกราคม 2559  

Night at the Museum 6 ตอน I Hear ได้ยินไหม?

'มิวเซียมสยาม' ชวนคุณมาเปิดใจฟังมหกรรมการเรียนรู้สุดสร้างสรรค์ส่งท้ายปี ที่จะทำให้คุณได้สัมผัสและเรียนรู้คุณค่าของ “การฟัง” ในเทศกาลเที่ยวพิพิธภัณฑ์ตอนกลางคืน Night at the Museum 6ตอน I Hear ได้ยินไหม?   เมื่อมิวเซียมสยามกลายเป็น “อาณาจักรประสบการณ์แห่งการฟัง” ที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์โลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผ่านกิจกรรมท้าทายโสตประสาท อาทิ โซน “หูเขา หูเรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” ลองสวมบทแม่ทัพด้วยการฟังเสียงแรงสั่นสะเทือนผ่านพื้นดินเพื่อประเมินจำนวนข้าศึกแบบยุคโบราณ โซน “กลองขอฝน” เผยตำนานการตีกลองกบขอฝน ส่งสารถึงเทวดาของคนยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ลืมความง่ายดายของการส่งไลน์แล้วมาลองเคาะสัญญาณมอร์สส่งรหัสลับสุดยอดในโซน “ฟังมอร์ส ถอดรหัส” และโซน “I HEAR รามา” เปิดสตูดิโอพากย์เสียง ให้คุณทดลองเป็นพระเอก นางเอก นางร้าย หรือตัวฮา มาลองดูว่าจะมันส์ปากขนาดไหน   และมาฟังเสียงของไฮไลท์โชว์ที่ไม่ซ้ำกันในแต่ละวัน ประเดิมด้วยมินิคอนเสิร์ตจากสาวน้อยเสียงมหัศจรรย์ “อิมเมจ” สุธิตา ชนะชัยสุวรรณ ที่จะมาเผยไต๋ทีเด็ดความสำเร็จจากการฟัง โชว์สุดพิเศษกับเสียงที่เราคุ้นเคย โดย “ทีมพากย์โดราเอม่อน จากช่อง 9 การ์ตูน” และร่วมขับขานบรรเลงเสียงของอาเซียนกับ “วงกอไผ่” แล้วตบท้ายด้วยโชว์ที่จะชวนคุณปิดตา เปิดประสบการณ์หูสู่โลกแห่งจินตนาการกับ “ทีมสะบัดลาย” จากเวที Thailand's Got Talent   เต็มอิ่มกับกิจกรรมแล้วอย่าลืมแวะชิม 'อาหารเสียง' แค่เพียงได้ยิน กลิ่นก็โชยมา ไม่ว่าจะเป็น ป็อบคอร์น ข้าวไข่เจียว บะหมี่เกี๊ยว ไอศกรีม และอีกมากมาย งานนี้เด็กมาได้ผู้ใหญ่มาดี จะมากับแฟนใหม่ เพื่อนเก่า หรือเหมาทั้งครอบครัวก็สนุกกันได้ทั้งคืน   ร่วมกระตุกต่อมหู กระตุ้นต่อมใจให้กลับมาประสานกันใหม่ แล้วคุณจะรู้จักการฟังอีกครั้ง ในเทศกาล Night at the Museum 6ตอน I Hear ได้ยินไหม? วันที่ 18 – 20 ธันวาคมนี้ เวลา 16.00 – 22.00 น. ที่ มิวเซียมสยาม (ท่าเตียน) เข้าร่วมงานฟรี!!   สอบถาม โทร. 02-225-2777 ต่อ 410 หรือ www.facebook.com/museumsiamfan   คลิกดูรายละเอียดเพิ่มเติม   ข้อมูลจาก มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ 

ตั้ง "เครือข่ายรักษ์ป่าลุ่มน้ำลาว เชียงราย" เป็นพิพิธภัณฑ์จัดการน้ำแห่งที่ 10

มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิด "พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ เครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำลาว อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย" ณ ศูนย์ประสานงานเครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำลาว อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 58 โดยมีส่วนราชการจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่ร่วมงาน โดยมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานในพิธี        นายสุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า โครงการตามแนวพระราชดำริฯ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีอยู่มากมายให้คนไทยน้อมนำไปใช้กับพื้นที่ของตัวเองเพราะนอกจากจะเป็นแนวทางแก้ปัญหาที่ได้ผล ทุกโครงการยังมีการสอดแทรกคำสอนให้คนรู้จักการจัดการและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน        "คนเราถ้าไม่มีดิน น้ำ ป่า มีแต่เงินก็ไปไม่รอด เราถึงต้องใส่ใจทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนของตัวเอง โครงการจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริฯ ก็เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ทำให้ชุมชนหันมาดูแลจัดการตัวเองโดยไม่ต้องรอคอยความช่วยเหลือจากรัฐฯ เพราะเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนรู้จักการใส่ใจทรัพยากรที่อยู่รอบตัว รู้จักมองปัญหา แล้วนำแนวทางของพระองค์ผ่านโครงการตามแนวพระราชดำริมาปรับใช้ แล้วลงมือทำด้วยความร่วมมือร่วมใจของชุมชนผ่านแผนงานแบบง่ายๆ และขยายผลออกไปยังชุมชนข้างเคียง" ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าว        นายอินแหลง ไทยกรณ์ ประธานเครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำลาว กล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ชุมชนในพื้นที่ต้นน้ำแม่ลาว ในอดีตประสบปัญหานายทุนเข้าสัมปทานเหมืองแร่ดีบุก ตัดต้นไม้ใหญ่ ทำให้สายน้ำแม่โถซึ่งเป็นต้นน้ำแม่ลาวมีสีแดงขุ่น ไม่สามารถใช้อุปโภค บริโภคได้ ชุมชนจึงรวมตัวกันเป็น “กลุ่มคนรักษ์ป่า” เมื่อปี 2548เพื่อช่วยกันหาแนวทางอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำแม่ลาวร่วมกัน และได้ขยายเครือข่ายเป็น 10 หมู่บ้านพร้อมพัฒนาเป็น “เครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำลาว" ในปี 2550        จนถึงปี 2554 สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่ายฯ โดยการให้ข้อมูล ความรู้ ถ่ายทอดการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการฟื้นฟูป่า ทั้งการใช้แผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม, ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS), เครื่องระบุพิกัด (GPS) ประกอบกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ก็ได้เข้ามาร่วมกับชุมชนในการสำรวจและฟื้นฟูป่าต้นน้ำ รวมทั้งเก็บข้อมูล จัดทำแผนที่เครือข่าย จนชุมชนสามารถขอคืนพื้นที่ทำกิน 20% ของพื้นที่ติดกับป่าไม้ ได้ป่าที่ถูกบุกรุกกลับคืนมากว่า 2,000 ไร่ได้สำเร็จเมื่อประมาณ 3ปีที่ผ่านมา        นอกจากนี้ นายอินแหลง ยังเผยด้วยว่าปัจจุบัน เครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำลาวได้ขยายผลการขับเคลื่อนงานจัดการน้ำชุมชนจนครอบคลุมพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่ลาวกว่า 2.5 แสนไร่ ใน 41 ชุมชน 4 รวม 291 ลำห้วย ผ่านการสร้างฝายภูมิปัญญา 2,528 ฝาย, การสร้างแนวกันไฟป่าต้นน้ำเครือข่าย ระยะทางรวม 103.58กิโลเมตร, การตั้งหน่วยเฝ้าระวังภัยพิบัติเครือข่าย ร่วมกันดูแลรักษาป่าต้นน้ำ รวมถึงการสร้างกลุ่มเยาวชน “ละอ่อนฮักน้ำลาว” เพื่อเป็นผู้ช่วยงานเครือข่ายฯ ในด้านการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการทรัพยากร ควบคู่กับการปลูกต้นไม้เสริมป่า        "หลังจากเราน้อมนำแนวพระราชดำริมาปฏิบัติ คู่กับการสนับสนุนองค์ความรู้วิทยาศาสตร์โดย สสนก.และมูลนิธิ ทำให้ป่าต้นน้ำของเรากลับมาอุดมสมบูรณ์ดังเดิม ชาวบ้าน 14 ชุมชน กว่า 2,800 คนก็ได้รับประโยชน์ เพราะทำการเกษตรได้ผล เพราะนอกจากมีน้ำที่ดีเรายังได้ปรับเปลี่ยนแนวคิดจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว มาเป็นรูปแบบ ไม้ 3อย่าง ประโยชน์ 4 ประการตามแนวพระราชดำริที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตชุมชน จนชาวบ้านมีรายได้ตลอดปีด้วย"        ด้วยความสำเร็จดังกล่าว มูลนิธิฯ จึงตั้งให้เครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำลาว จ.เชียงราย เป็น “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ” แห่งที่ 10 เพื่อเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้จากความสำเร็จ ของการจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ให้ผู้ที่สนใจสามารถเรียนรู้การน้อมนำแนวพระราชดำริ และแนวทางการทำงาน ไปปรับใช้กับพื้นที่ของตนเอง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของท้องถิ่นต่อไป   ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 15 ธันวาคม 2558