พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาสาวะถีแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมมีชีวิต

             ชื่อของบ้านสาวะถี ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น คงจะเป็นที่คุ้นหูใครหลายคน เพราะหมู่บ้านแห่งนี้มีอัญมณีอันเลอค่า นั่นก็คือภาพจิตรกรรมฝาผนังที่มีอายุกว่า 100 ปี ซึ่งเป็นจิตรกรรมแบบพื้นบ้านภาคอีสานที่เป็นเรื่องราวของวรรณกรรม เรื่อง “สังข์ศิลป์ชัย” หรือ “สินไซ” ในภาษาแบบชาวบ้าน และกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมของเมืองขอนแก่น และนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบงานด้านวัฒนธรรม เพราะภาพจิตรกรรมฝาผนังเหล่านี้จะเชื่อมโยงเอาคนที่อยากรู้และสนใจเรื่องเล่าต่างๆ เข้าไปในหมู่บ้านไม่ขาดสาย
 
              โดยเฉพาะภายในวัดไชยศรี ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งภาพจิตรกรรมดังกล่าว ทำให้วัดไชยศรี ซึ่งมีพระครูบุญชยากร เจ้าอาวาสและเจ้าคณะตำบลอยู่ที่วัดแห่งนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้หากใครเคยไปเยือนที่แห่งนี่ก็จะได้พบเห็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ซึ่งรวบรวมเอาของเก่าของโบราณในหมู่บ้านไปตั้งไว้ที่วัดแห่งนี้ แต่มาถึงวันนี้มีการย้ายสิ่งของมีค่าเหล่านั้นไปอยู่ที่โรงเรียนบ้านสาวัตถีราษฎร์รังสฤษฏิ์ ตามความต้องการของผู้อำนวยการโรงเรียนและทำพิธีเปิดไปเมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา
    
              “เรื่องพิพิธภัณฑ์เป็นแค่สถานที่แสดงของเก่าที่คนทั่วไปและคนในเมืองมาพิพิธภัณฑ์ก็เพื่อมาดูของเก่า แต่ของเก่าที่เรารวบรวมไม่ใช่ของเก่าธรรมดา แต่เป็นของเก่าที่ชาวบ้านที่มีอยู่อยากจะมีส่วนร่วมในการเอามาให้โดยไม่ได้ซื้อหามา ซึ่งตอนแรกที่จะทำพิพิธภัณฑ์นั้น อาตมาตั้งใจเอาไว้เลยว่าจะต้องไม่ซื้อและสิ่งที่มีอยู่ในพิพิธภัณฑ์มันต้องมีเรื่องเล่าของมัน และพอทำมันกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ มีคนมาศึกษาดูงานและเด็กๆ เข้ามาดู แค่เด็กๆ เข้ามาดูนี่ก็คือการพัฒนาแล้ว เพราะอย่างน้อยเขาก็สนใจจะมาเรียนรู้” พระครูบุญชยากร เจ้าอาวาสวัดไชยศรี คนที่ริเริ่มทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขึ้นมาในชุมชนเป็นคนแรก กล่าว
    
              เมื่อถามถึงสาเหตุหลักที่ย้ายพิพิธภัณฑ์จากวัดไชยศรีมาอยู่โรงเรียนบ้านสาวัตถีราษฎร์รังสฤษฏิ์นั้น พระครูบุญชยากร ก็ชี้แจงว่า พิพิธภัณฑ์ที่วัดนั้นผุพังเพราะสร้างแบบชั่วคราวจากไม้ไผ่ และย้ายมา 2 ครั้งแล้ว หากย้ายเป็นครั้งที่ 3 คงจะลำบากมาก พอดีกับโรงเรียนสาวัตถีประถมแห่งนี้ มีอาคารเก่าเพราะจำนวนนักเรียนที่ลดน้อยลง ผู้อำนวยการโรงเรียนจึงตัดสินใจนำเอาอาคารเรียนหลังเดิมที่พระครูบุญชยากร เคยเล่าเรียนมาทำเป็นพิพิธภัณฑ์ของชุมชน
   
              ขณะที่ รศ.ดร.โสวิทย์ บำรุงภักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาพระพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น บอกว่า ในฐานะคนที่ติดตามเรียนรู้และสนใจเรื่องสินไซ ทำให้ได้มารู้จักบ้านสาวะถีแห่งนี้ และสำหรับคำว่าพิพิธภัณฑ์ก็แค่สถานที่แต่พิพิธภัณฑ์ที่ยิ่งใหญ่คือพิพิธภัณฑ์ในหัวใจของเรา ทำอย่างไรที่คนในชุมชนจะเข้ามาใช้พิพิธภัณฑ์อย่างแท้จริง ไม่ใช่เปิดแล้วปิดเลยเพราะไม่มีใครสนใจ หากลูกหลาน เด็กนักเรียน หรือแม้แต่นักศึกษา และผู้สนใจเข้ามาเยี่ยมชมก็จะทำให้พิพิธภัณฑ์มีชีวิตขึ้นมา เพราะได้ใช้ประโยชน์มหาศาล
   
              “การเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งนี่คือการอนุรักษ์แล้วจากนั้นเราจะฟื้นฟูต่อไปอย่างไรและจะส่งต่อด้วยการสืบสานรูปแบบไหน ต้องอาศัยการจัดการที่ดี ซึ่งนั่นหมายถึงหากโรงเรียนพาเด็กมาเรียนรู้สิ่งที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ เรียนรู้ทีละอย่าง ให้ทำการบ้านให้หาคำตอบ โดยไปสอบถามพ่อแม่ถึงสิ่งที่อยู่ข้างใน ทั้งอุปกรณ์ทำกิน อุปกรณ์หาปลา รูปภาพสินไซและอื่นๆ ให้พวกเขาได้สงสัยและหาคำตอบเอง แค่นี้ก็จะเป็นการทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้รับใช้ชุมชนและสังคมอย่างแท้จริง” รศ.ดร.โสวิทย์ เสนอแนะเพื่อให้พิพิธภัณฑ์มีชีวิต
     
              ส่วน ผศ.ดร.ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์ ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น บอกว่า ถือเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งของชาวชุมชนที่สามารถมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านเป็นของชุมชนได้ เพราะในละแวกนี้ไม่มีพิพิธภัณฑ์ที่ไหนและไม่มีใครทำได้ การที่ชุมชนสาวะถีสามารถจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ได้ถือเป็นความสำเร็จของชุมชน ซึ่งต่อไปคือจะต้องทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้รับใช้สังคมอย่างแท้จริง แขกไปใครมาต้องพามาแวะเวียนและเรียนรู้จากที่นี่ ที่นี่ก็จะกลายเป็นห้องรับแขกของชุมชนไปด้วยและทำให้มันไม่ตาย
    
              เช่นเดียวกับ นายทศพร ศรีสมาน ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดขอนแก่น แสดงความคิดเห็นว่า พิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่แล้วจะเปิดวันนี้พรุ่งนี้ปิดเพราะไม่มีใครเข้าเยี่ยมชน แต่มั่นใจว่าพิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาสาวะถีแห่งนี้คงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะอย่างน้อยจิตวิญญาณของชาวสาวะถีก็อยู่ที่แห่งนี้แล้ว และจะต้องช่วยกันหนุนเสริมให้มันมีชีวิตและสนองตอบความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง พร้อมกับเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ให้คนข้างนอกเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ด้วย
    
              นี่คือแนวทางและคำแนะนำในวันเปิดพิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาสาวะถี ที่บ้านสาวะถี ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น ซึ่งต่อจากนี้ไปที่นี่จะกลายเป็นห้องรับแขกอีกแห่งหนึ่งของชาวเมืองขอนแก่น ทั้งนี้เพราะพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวได้รวมเอาอุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ ที่ชาวชุมชนสาวะถีใช้ประโยชน์ในอดีตมาเก็บรวบรวมไว้ให้ลูกหลานได้เรียนรู้สืบต่อไป แถมวัตถุสิ่งของแต่ละอย่างก็มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจที่คนในชุมชนสามารถเป็นคนถ่ายทอดให้นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมได้รับรู้เอง
    
              โดยภายในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งนี้แบ่งออกเป็น 3 ห้อง ห้องแรกจะเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ของคนในอดีต ห้องที่สองเป็นอุปกรณ์และเครื่องมือเกี่ยวกับการทอผ้า และห้องที่สามจะเป็นเรื่องราวของสินไซวรรณกรรมสองฝั่งโขง ที่กลายเป็นหัวใจของคนที่นี่ และอนาคตข้างหน้าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คงจะสามารถตอบโจทย์ความอยากรู้อยากเห็นของประชาชนและนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ นั่นหมายถึงการจะทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่ใช่แค่ที่เก็บของเก่าเหมือนพิพิธภัณฑ์ทั่วไปเท่านั้น
    
              “การจะทำพิพิธภัณฑ์ให้มีชีวิตได้จะต้องมีอยู่ 3 หัวใจหลักด้วยกัน คือ สถานที่ต้องดีเป็นระเบียบ สะอาด และสวยงาม สองวัตถุสิ่งของที่มีอยู่ต้องเล่าเรื่องที่มาของวัตถุได้ และสามการบริหารจัดการจะต้องดี ชุมชนจะต้องมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและเป็นเจ้าของร่วมกัน บ้าน วัด โรงเรียน จะต้องสอดคล้องประสานกันเพื่อให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้อยู่ได้” พระครูบุญชยากร กล่าวเสริม ก่อนที่จะมีพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อย่างเป็นทางการ โดยมีชาวชุมชนสาวะถีเป็นประจักษ์พยานจำนวนมาก
 
ข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2559
 

เผยแพร่เมื่อ: 08 กุมภาพันธ์ 2559