ความลับกระจ่าง! เพชรบูรณ์เฮ เผย"จารึกลานทอง"ถูกเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ฯ เกือบ 50 ปี!

ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 17 ม.ค.ว่า นายวิศัลย์ โฆษิตานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า จากการขุดพบจารึกลานทองจำนวน 3 แผ่น ที่เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์วัดมหาธาตุเมื่อปี 2510 โดยจารึกลานทองทั้ง 3 แผ่นซึ่งถือเป็นหลักฐานทางโบราณคดีชิ้นสำคัญที่มีความเก่าแก่เท่าที่มีการค้นพบ นอกจากจะมีการบ่งบอกถึงอายุของเมืองเพชรบูรณ์แล้วยังมีตัวอักษรคำว่า เพชรบุระ ซึ่งเป็นการเขียนและการสะกดเมื่อราว 600-700 ปีที่ผ่านมา แต่ที่ผ่านมาข้อมูลขาดหายไปโดยมีความพยายามติดตามสืบค้นกันอย่างต่อเนื่องว่าถูกเก็บรักษาไว้ที่ไหน เพราะที่ผ่านมาชาวเพชรบูรณ์ได้เห็นเพียงแค่รูปภาพที่ค่อนข้างจะเลือนรางที่ถูกส่งต่อกันมาเป็นทอดๆ


“จนล่าสุดได้ทราบแล้วว่าจารึกลานทองทั้ง 3 แผ่นถูกเก็บรักษาอยู่ที่ห้องห้องมหรรฆภัณฑ์พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติซึ่งขณะนี้ทางจังหวัดเพชรบูรณ์ร่วมกับเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมศิลปากรเพื่อขอถ่ายบันทึกภาพเก็บเป็นข้อมูลและจะนำกลับมาจำลองพร้อมจัดแสดงที่หอโบราณคดีเพชรบูรณ์อินทราชัยเพื่อให้ทุกคนได้เห็นว่ามีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร”พร้อมทั้งระบุวา ในอนาคตหากสถานที่จัดแสดงมีระบบการรักษาความปลอดภัยที่ดีแล้ว ก็อาจจะทำเรื่องขอคืนจารึกลานทองรวมทั้งโบราณวัตถุต่างๆของเมืองเพชรบูรณ์ มาเก็บรักษาพร้อมจัดแสดงที่จ.เพชรบูรณ์
 
ทั้งนี้ สำหรับจารึกลานทองเมืองเพชรบูรณ์ตามประวัติค้นพบ ทางกรมศิลปากรขุดพบในพระเจดีย์องค์ใหญ่วัดมหาธาตุเมื่อปี พ.ศ.2510  และได้ทำการอ่านจารึกทั้ง 3 แผ่นเรียบร้อยแล้ว โดยจารึกลานทองคำแผ่นที่ 1 กล่าวถึงการสร้างเจดีย์ ในวันศุกร์เดือน 7 ปีกุน(ราวพ.ศ. 1926) และผู้ใดพบจารึกนี้ก็ขอให้ช่วยกันจรรโลงพระพุทธศาสนาต่อไป ส่วนจารึกลานทองคำแผ่นที่ 2 กล่าวถึงพระเจ้าเพชบุรเป็นผู้สร้าง สำหรับจารึกลานทองคำแผ่นที่ 3 กล่าวถึงพระยาอีกคนหนึ่งว่า " พ่อพระยาลัก สัตตกูร"
 
ข้อมูลจาก
มติชนออนไลน์ วันที่ 17 มกราคม 2559

เผยแพร่เมื่อ: 19 มกราคม 2559