หอวัฒนธรรมนิทัศน์วัดหนองแวง (พระมหาธาตุแก่นนครอนุสรณ์สาธุชน)


ที่อยู่:
593 วัดหนองแวง ถ.กลางเมือง ต.ในเมือง จ.ขอนแก่น 40000
วันและเวลาทำการ:
ทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น.วันเสาร์–อาทิตย์ มีมัคคุเทศก์น้อยมานำชม
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2539
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของหอวัฒนธรรมนิทัศน์วัดหนองแวง (พระมหาธาตุแก่นนครอนุสรณ์สาธุชน)

วัดหนองแวง เป็นวัดที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นและชัดเจนที่สุดในจังหวัดขอนแก่นนั่นก็คือมี พระมหาธาตุแก่นนคร เป็นพระมหาธาตุที่สามารถเข้าไปศึกษาหาความรู้จากพิพิธภัณฑ์ หรือดูศิลปะพื้นบ้านของชาวอีสานทั้งความคิด ความเชื่อ และวัฒนธรรมได้ที่นี่

พระมหาธาตุแก่นนคร หรือ พระธาตุเก้าชั้น เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กก่ออิฐถือปูน เรือนยอดทรงเจดีย์ (จำลองแบบจากพระธาตุขามแก่น) ฐานกว้าง 50 x 50 เมตร องค์พระธาตุกว้าง 40 x 40 เมตร ความสูงขององค์พระธาตุฯ 80 เมตร มีพระจุลธาตุ 4 องค์ ตั้งอยู่ 4 มุมและมีกำแพงแก้วพญานาค 7 เศียรล้อมรอบ เป็นศิลปะสมัยทวาราวดี ผสมผสานศิลปะอินโดจีน ทรงเจดีย์เป็นลักษณะแบบชาวอีสานตากแห จัดสร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในพ.ศ. 2539 และในโอกาสครบรอบ 200 ปี เมืองขอนแก่น 

วัดหนองแวง เดิมชื่อวัดเหนือ ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2332 โดยท้าวเพียเมืองแพน เจ้าเมืองคนแรกที่บ้านบึงบอน (บึงแก่นนคร) พ.ศ.2354 ท้าวจามมุตร ท้าวเพียเมืองแพน เจ้าเมืองคนที่ 2 ได้ย้ายเมืองไปอยู่บ้านดอนพันชาติ เขตเมืองมหาสารคาม บ้านบึงบอนจึงกลายเป็นเมืองเก่าตั้งแต่นั้นมา ภายในองค์พระธาตุมีเรื่องราวที่น่าสนใจดังนี้

ชั้นที่ 1 เป็นหอประชุมมีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่บนบุษบกตรงกลางและพระประธาน 3 องค์อยู่ตรงกลาง บานประตูหน้าต่างแกะสลักภาพนิทานเรื่องจำปาสี่ต้น โดยเฉพาะบานประตูแกะสลักภาพ 3 มิติและมีจิตรกรรมฝาผนังวาดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เมืองขอนแก่น ฮีตหรือจารีตประเพณีควรปฏิบัติเมื่อถึงเวลาเช่นประเพณีทั้ง 12 เดือน คองเจียงหรือการปฏิบัติตัวให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมของสังคมและรู้หน้าที่ของตัวเอง และคะลำคือ การทำผิดจากที่สังคมยอมรับแบบต่างๆ นอกจากนี้ยังมีจุดทำบุญใส่บาตรพระประจำวันเกิด และให้เช่าเครื่องรางของขลังตลอดจนหนังสือประวัติของวัดหนองแวงด้วย เรียกว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ความรู้ที่เล่าผ่านภาพ

ชั้นที่ 2 เดิมตั้งใจจะทำเป็นหอพักสำหรับผู้มาปฏิบัติธรรม แต่ท่านเจ้าอาวาสพระวิสุทธิกิตติสาร พระเทพวงศาจารย์ บอกว่าจะเป็นการไม่เหมาะสม ที่จะให้คนขึ้นไปเดินหรือนอนอยู่เหนือพระพุทธรูปและพระบรมสาริริกธาตุ จึงได้งดไป และนำมาจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ความรู้แทน การจัดแสดงในชั้นนี้ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของชาวอีสาน เรื่องประวัติศาสตร์ก็จะมีคัมภีร์ใบลานที่รวบรวมนิทานพื้นบ้านต่างๆ ไว้ มีภาพที่แสดงถึงลักษณะบ้านเรือนต่างๆ ของอีสาน เช่น เรือนตูบ เรือนตูบต่อเล้า เรือนเหย้า เรือนเกย อีกส่วนหนึ่งจัดแสดงเครื่องมือทำการเกษตรของชาวอีสาน เช่น เครื่องมือทำนา ไถ คาด เครื่องมือจับสัตว์น้ำ ถัดไปเป็นตู้จัดแสดงเงินเก่า ทั้งเงินฮางซึ่งเป็นเงินอีสานโบราณ และพดด้วง ตาชั่งโบราณ ตู้จัดแสดงโบราณวัตถุ เช่น เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง ไห บาตรพระ 

อีกส่วนหนึ่งจัดแสดงกี่ทอผ้าของชาวอีสานที่สมัยโบราณผู้หญิงทุกบ้านต้องทอผ้าเป็น แต่ละส่วนเป็นตัวแทนสภาพความเป็นอยู่แบบพื้นบ้านดั้งเดิมของชาวอีสาน เช่น ตู้ยาสมุนไพร อาวุธโบราณ โหล่ ปืน ธนู ตู้เครื่องดนตรีอีสานเช่น แคน ที่เป็นเอกลักษณ์ ตู้วิวัฒนาการการใช้ไฟฟ้าของอีสาน ตั้งแต่การจุดด้วยกระบอกจุดไฟ กระบองหรือขี้ไต้ และตะเกียงแบบต่างๆ ต่อมามีตู้จัดแสดงสิ่งของที่ใช้ในพิธีกรรม งานประเพณี สัตว์ในตำนานอีสานทำด้วยไม้ มุมพื้นบ้านจัดแสดงที่แขวนคอสัตว์เลี้ยงมีกระดึงแบบต่างๆ ทั้งใหญ่เล็ก และเครื่องมือจับสัตว์หัตถกรรมที่ทำด้วยมือต่างๆ เช่น เครื่องดักจับนก สุ่มดักปลา โบม ส่ายข้าวเหนียว กระบุงใส่ของ นอกจากเรื่องราววิถีชีวิตแล้ว ยังมีเรื่องศิลปะที่ผสมผสานกับวัฒนธรรมด้วย นั่นคือบานประตูหน้าต่างของชั้นนี้เขียนลวดลายและภาพแกะสลักนิทานเรื่องสังข์ศิลป์ชัย

ชั้นที่ 3 เป็นหอปริยัติ บานประตูหน้าต่างเขียนลวดลายและภาพแกะสลักนิทานเรื่องนางผมหอม ชั้นที่ 4 เป็นหอปฏิบัติธรรม ภายในมีพิพิธภัณฑ์ของเก่าบานประตูหน้าต่างภาพพระประจำวันเกิด เทพประจำทิศและตัวพึ่ง-ตัวเสวย และรูปปั้นพระเกจิอาจารย์ดังหลายท่าน ชั้นที่ 5 เป็นหอพิพิธภัณฑ์ มีบริขารของหลวงปู่พระครูปลัดบุษบา สุมโน อดีตเจ้าอาวาสวัดรูปที่ 6 บานประตูหน้าต่างแกะสลักภาพพุทธชาดก ชั้นที่ 6 เป็นหอพระอุปัชฌายาจารย์ บานประตูหน้าต่างแกะสลักนิทานชาดกเรื่องเวสสันดร ชั้นที่ 7 เป็นหอพระอรหันตสาวก บานประตูหน้าต่างแกะสลักนิทานเรื่องพระเตย์มีใบ้ ชั้นที่ 8 เป็นหอพระธรรม เป็นที่รวบรวมพระธรรม คัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนามีพระไตรปิฏก ฯลฯ บานประตูแกะสลักรูปพรหม 16 ชั้น ชั้นที่ 9 เป็นหอพระพุทธ ตรงกลางมีบุษบก เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า บานประตูแกะสลักภาพ 3 มิติ รูปพรหม 16 ชั้น และสามารถชมทัศนียภาพของตัวเมืองขอนแก่นได้ทั้ง 4 ด้าน โดยเฉพาะทางด้านทิศตะวันออกสามารถมองเห็นบึงแก่นนครและเมืองขอนแก่นได้จากมุมนี้

ในการจัดแสดงนิทรรศการภายในทั้งหมดนั้น ทางวัดหนองแวงเป็นคนจัดเองทั้งหมดทั้งทะเบียนสิ่งของจัดแสดงและค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยในส่วนของใบลานนั้นจะมีทางกรมศิลปากรมาช่วยจัด แต่ละชั้นก็จะมีพระสงฆ์ที่บวชอยู่ในวัดหนองแวงครบ 2 ปีขึ้นไป แบ่งหน้าที่กันดูแล ปกติแล้วจะมีผู้สนใจเข้าชมพิพิธภัณฑ์มากในแต่ละวัน เพราะมากราบไหว้พระบมราสีริกธาตุแล้วก็เดินขึ้นไปชั้นบนเพื่อชมวิวทิวทัศน์ของเมืองขอนแก่นด้วย 

สำรวจวันที่ 25 เมษายน 2552

ชื่อผู้แต่ง:
-