พิพิธภัณฑ์หลวงปู่ธีร์ วัดมิ่งเมืองพัฒนาราม


ที่อยู่:
หมู่ 4 ต.ภูเวียง อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น 40150
โทรศัพท์:
043-291016,043-291839
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน 8.00 - 17.00น. กรุณาแจ้งล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2537
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

"พิพิธภัณฑ์หลวงปู่ที" ใน สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม นำเที่ยวขอนแก่น.

ชื่อผู้แต่ง: หน่วยสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม จังหวัดขอนแก่น | ปีที่พิมพ์: 2541

ที่มา: ขอนแก่น: หน่วยสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม จังหวัดขอนแก่น

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์หลวงปู่ธีร์ วัดมิ่งเมืองพัฒนาราม

พิพิธภัณฑ์หลวงปู่ธีร์ ก่อตั้งโดยพระมงคลวราจารย์ ฉายา เขมจารี (หลวงปู่ธีร์) อดีตเจ้าอาวาสวัดมิ่งเมืองพัฒนาราม และที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอภูเวียง เพื่อเป็นสถานที่เก็บรักษาวัตถุสิ่งของที่ ชาวบ้านนำมาถวาย “พระมงคลวราจารย์” หรือ “หลวงปู่ธีร์ เขมจารี” อดีตเจ้าอาวาสวัดมิ่งเมืองพัฒนาราม เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังทางด้านเครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคลศักดิ์สิทธิ์ ท่านมีนามเดิมว่า ธีร์ คำใสขาว เกิดเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2453 ท่านได้เข้าสู่เส้นทางพระพุทธศาสนา บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ 16 ปี และศึกษาพระธรรมอย่างลึกซึ้งเรื่อยมา ดูแลและเป็นเจ้าอาวาสมาหลายวัด จนในที่สุด พ.ศ. 2500 เมื่อท่านอายุได้ 47 ปี หลวงปู่ธีร์ได้มาสร้างวัดแห่งใหม่ในบริเวณป่าไม้ของชุมชนตั้งชื่อว่า วัดภูเวียงวนาราม ต่อมา พ.ศ. 2505 ได้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า วัดมิ่งเมืองพัฒนาราม จนถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2520 ได้รับการยกเป็นวัดพัฒนาตัวอย่างจากกรมการศาสนา ได้พัฒนาวัดสร้างถาวรวัตถุ กุฏิ อุโบสถ ศาลาการเปรียญ อาคารเรียน กำแพงวัด และพิพิธภัณฑ์ ตามลำดับ 

ในยามว่างของหลวงปู่ธีร์ ท่านมักจะชอบสะสมพระเครื่อง ทั้งพระรุ่นเก่า พระใหม่ พระบูชา พระพุทธรูปเทวรูปปางต่างๆ โดยเก็บสะสมไว้จนนับไม่ถ้วน รวมไปถึงของเก่าของโบราณวัตถุต่างๆ มากมาย เช่น ระฆัง ฆ้อง หม้อ จาน ถ้วย โถ โอ ชาม ขันหมาก ถาด ไหดิน หิน เงินทอง สำริด จนต้องมีการสร้างเก็บไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ในที่สุด 

หลวงปู่ธีร์ เขมจารี ได้ละสังขารด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2549 พิพิธภัณฑ์หลวงปู่ธีร์ จึงเปรียบเสมือนหลักฐานและสิ่งรำลึกถึงหลวงพ่อ สมัยก่อนตอนท่านยังมีชีวิตอยู่พิพิธภัณฑ์ แห่งนี้เปิดให้เข้าชมได้ แต่มาถึงปัจจุบันถูกปิดไว้ เพราะไม่มีผู้ดูแล เพราะเคยมีประวัติของสูญหายมาแล้ว จึงได้เพียงแต่เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมที่ติดต่อมาล่วงหน้าเป็นบางโอกาสเท่านั้น 

ตัวอาคารของพิพิธภัณฑ์เป็นสถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีลักษณะคล้ายกับโบสถ์ ประดับด้วยลวดลายปูนปั้นที่สวยงาม มีกำแพงล้อมรอบ ภายนอกอาคารพิพิธภัณฑ์จัดแสดงหลักศิลาผิวเกลี้ยงไม่มีลวดลายและใบเสมา มีการจัดวางไว้อย่างเป็นระเบียบ ลักษณะการจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ ประกอบด้วยพื้นที่จัดแสดง 4 ส่วน พื้นที่ส่วนหน้า ด้านทิศเหนือจัดแสดงกระติบข้าวและไซขนาดใหญ่ ซึ่งชาวบ้านร่วมมือร่วมใจทำเพื่อถวายแก่หลวงปู่ธีร์ พื้นที่ส่วนหลัง ด้านทิศใต้เป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนา ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ และเทวรูปในศาสนาพราหมณ์ ตู้แสดงไม้เท้าและดาบ รูปจำลองของพระธาตุพนม เปลือกหอย และหิน พื้นที่ส่วนกลางทางด้านตะวันออก ที่กลางห้องมีตู้แสดงกระดูกไดโนเสาร์กลายเป็นหิน โต๊ะแสดงหินและไม้สลักรูปวัว ส่วนผนังรอบห้องกรุด้วยตู้กระจกแสดงพระพุทธรูปและเทวรูป หินบดยา หัวกระโหลกสัตว์ เครื่องปั้นดินเผา คันฉ่อง พระพิมพ์ดินเผา เครื่องโลหะ และเครื่องเคลือบดินเผา พื้นที่ส่วนกลางด้านทิศตะวันตก ที่กลางห้องมีตู้แสดงพระพุทธรูป แบบจำลองศิลาจารึกสุโขทัย เครื่องปั้นดินเผา กระดานชนวน ไม้สลัก และรูปจำลองหลวงปู่ธีร์ 

ส่วนผนังรอบห้องจัดแสดงมีตู้กระจกแสดงเงินตรา เครื่องโลหะ เครื่องปั้นดินเผา และเครื่องเคลือบดินเผา สิ่งของวัตถุที่จัดแสดงบางชิ้นมีชื่อผู้บริจาคพิมพ์หรือเขียนบนกระดาษติดไว้ บางประเภทมีป้ายอธิบาย ระบุเฉพาะชื่อของวัตถุสิ่งของนั้น

ผู้ชมกลุ่มเป้าหมายของพิพิธภัณฑ์ที่หลวงปู่ธีร์ตั้งใจไว้ในช่วงแรกคือ บุคคลทั่วไปและนักเรียนนักศึกษาทุกระดับชั้นแต่ไม่มีการบันทึกจำนวนผู้ชมไว้เลย ตลอดจนขาดเอกสารแนะนำในการชม พระครูสารพัฒนาธร ท่านเจ้าอาวาสวัดมิ่งเมืองและผู้ดูแลรับผิดชอบคนปัจจุบัน ท่านก็ไม่สามารถให้คำอธิบายหรือบอกที่มาของสิ่งของแต่ละชิ้นได้เช่นกัน เพราะไม่มีเอกสารหรือการจดบันทึกไว้ จึงทำให้ไม่ทราบข้อมูลและถ่ายทอดให้ฟังได้

น่าเสียดายที่พิพิธภัณฑ์ดีๆ มีสิ่งของจัดแสดงมากมายอย่างนี้ต้องปิดเอาไว้ วัดทั่วไปในปัจจุบันประสบปัญหาการระวังดูแลโบราณวัตถุอันมีค่าที่อยู่ภายในวัดจึงไม่สามารถเปิดให้ทุกคนเข้าชมได้ หากใครสนใจเข้าชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ต้องติดต่อล่วงหน้า 

สำรวจวันที่ 9 เมษายน 2552

ชื่อผู้แต่ง:
-