พิพิธภัณฑ์พื้นเมืองวัดท่าไห


ที่อยู่:
วัดท่าไห ต.ท่าไห อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี 34150
โทรศัพท์:
0-4522-2059
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2543
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์พื้นเมืองวัดท่าไห

บ้านท่าไห เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่มีประวัติยาวนานมาตั้งแต่ช่วง 200 กว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งบรรพบุรุษดั้งเดิมของคนที่นี่ เป็นไพร่พลผู้ที่ติดตามพระวอ พระตา จากเวียงจันทน์ ที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากในเขตจังหวัดหนองบัวลำภูและอุบลราชธานีในปัจจุบัน หมู่บ้านแห่งนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำชี ว่ากันว่าชื่อหมู่บ้านตั้งตามท่าขึ้นจากน้ำที่มีต้นไม้ใหญ่เรียกว่า ต้นไฮ ต่อมามีผู้มีความรู้ด้านปั้นไหมาปั้นไหใต้ต้นไฮ จึงเรียกว่า "ท่าไห" 

ชาวบ้านท่าไหจะนำดินจากริมแม่น้ำชีมาปั้นถ้วยชาม โดยเฉพาะไหซึ่งเมื่อผลิตแล้ว จะนำไหที่ได้ไปแลกกับข้าวเปลือกที่หมู่บ้านอื่น เช่น กันทราลักษณ์ ศรีษะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ  ไห 1 ใบ แลกข้าวได้จำนวน 2 หมื่น หรือ 24 กิโลกรัม หรือขายไหให้กับหมู่บ้านอื่น เช่นบ้านท่าศาลา ริมน้ำชี ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ชำนาญในการหาปลา ก็จะซื้อไหจากบ้านท่าไหเพื่อนำไปใส่ปลาทำปลาร้า 

ไหกลายเป็นตัวกลางที่ทำให้เราเห็นความสัมพันธ์ระหว่างหมู่บ้านในอดีต การเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของหมู่บ้านท่าไหกับบ้านอื่น ๆ ในอุบลราชธานีหรือใกล้เคียงในอดีต และยังทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วย เมื่อปัจจุบันการปั้นไหเริ่มสูญหายไปจากหมู่บ้าน ด้วยเหตุผลที่ท่านเจ้าอาวาสวัดท่าไหกล่าวไว้คือ "เดี๋ยวนี้มันยาก กว่าเขาจะได้เงินใช้ที 3 เดือน ไปเอาดินมา หาฟืนมา  และก็ปั้นไห กว่าจะได้เผาสามเดือน ฟืนก็หายาก ทีนี้เขาไปทำอาชีพอื่น มันไม่ทันกินว่างั้น อย่างเขาไปขับแท็กซี่ สามล้อ ถ้าเขาออก เย็นเขาก็ได้ วันหนึ่งได้ ไหมันจะค่อยหมดไปๆ…" 

การที่อาชีพหรือภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้านค่อย ๆ สูญสลายไป รวมถึงข้าวของบางอย่างที่ชาวบ้านเห็นว่าเก่าแล้วหรือไม่ใช้งานแล้วก็ขายให้กับคนนอกไป ทำให้ท่านเจ้าอาวาสคิดจะตั้งพิพิธภัณฑ์ โดยเริ่มลงมือสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่ปี 2543 แล้วเสร็จ ปี 2548 เมื่อชาวบ้านทราบว่าทางวัดจะจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ จึงเริ่มบริจาคข้าวของต่าง ๆ ให้ รวมถึงเงินทุนสนับสนุน นอกจากนี้นี้ครูจากโรงเรียนวัดท่าไห ได้เข้ามาช่วยคิดเรื่องจัดแสดงและทำทะเบียน ซึ่งได้คำแนะนำเบื้องต้นจากเจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี 

อาคารพิพิธภัณฑ์เป็นอาคารไม้สองชั้น สถาปัตยกรรมคล้ายสิมอีสาน ภายในมีวัตถุที่จัดแสดงหลายชิ้นน่าสนใจ อาทิ ฮางลิน หรือ รางลินที่ทำด้วยไม้แกะสลักเป็นรูปนาค ชาวบ้านใช้ฮางลินเป็นที่รองรับน้ำเวลาสรงน้ำเพื่อไหลมาสู่พระภิกษุที่นั่งอยู่ ตุ้มดักปลาขนาดใหญ่ กระต่ายขูดมะพร้าว เครื่องกินหมาก โฮงกระบอง เครื่องทองเหลือง เตารีด เหรียญกษาปณ์และธนบัตรต่างประเทศ กระบวย เกวียน และที่ขาดไม่ได้คือ ไหของบ้านท่าไหที่ตั้งเรียงรายจำนวนมากอยู่ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ 

"ไหของที่นี่ใส่ปลาร้าแล้วมันอร่อย ลักษณะข้างในนี้จะมีปลา ข้างนอกนี้ขังน้ำไว้ไม่ให้หนอนลงแมลงวันลง เวลามันไข่มันจะไม่เข้า ใส่น้ำนี่ มันจะหอมอุบ ในสมัยโบราณ ปลาร้านี่สามปีเขาถึงจะเอามากิน สามปีนี้ปลามันจะไม่มีโรคมีภัยมีอะไร มันจะตายหมดใช่ไหม สามปีมันจะอยู่ข้างในนี้หอม" ชาวบ้านคนหนึ่งเล่าให้เราฟัง
ท่านเจ้าอาวาสบอกว่า การจัดแสดงยังไม่เสร็จเรียบร้อย เนื่องจากติดภาระกิจการทำสวนป่าของวัด จึงละงานพิพิธภัณฑ์ไว้ชั่วคราว แต่ถ้ามีผู้สนใจ ก็ยินดีเปิดให้เข้าชม
 
ข้อมูลจาก: สำรวจภาคสนาม วันที่ 9 มกราคม 2549
ชื่อผู้แต่ง:
-