พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านตำบลสัมฤทธิ์


ที่อยู่:
ตั้งอยู่ในที่เดียวกับอนุสรณ์สถานวีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์ หมู่ที่ 1 บ้านสัมฤทธิ์ตะวันออก ต.สัมฤทธิ์ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา 30110
โทรศัพท์:
081-0709592 ติดต่อกำนันบุญ
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน เวลา 09.00 – 16.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านตำบลสัมฤทธิ์

ทันทีที่เลี้ยวจากถนนมิตรภาพเข้ามายังบ้านสัมฤทธิ์   ข้าวนาปรังเขียวขจีในฤดูแล้ง  สลับกับบางแปลงที่เก็บเกี่ยวแล้ว  มีกองฟางกองสูงขึ้นหลายกอง   บางบ้านมีแปลงผักกำลังงอกงาม   อีกทั้งได้เพลินตากับทิวของต้นจานที่ออกดอกสีแสดสะพรั่งเต็มต้น   บางกลีบดอกกระจายร่วงลงมายังความสวยงามให้กับพื้นดิน
 
ผู้นำชมพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านตำบลสัมฤทธิ์ในวันนี้คือ  บุคคลสำคัญของหมู่บ้าน  2  ท่านคือนายบุญ  หนากลาง  อดีตกำนันตำบลสัมฤทธิ์และนายเทอดไท  บ่มทองหลาง  อดีตผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านสัมฤทธิ์หมู่ที่  1    ก่อนการเดินมายังพิพิธภัณฑ์   กำนันบุญได้แวะกราบไหว้สักการะศาลย่าบุญเหลือที่ตั้งอยู่เยื้องไปทางด้านหน้าอาคารพิพิธภัณฑ์  ใกล้กันมีรูปปั้นจำลองเหตุการณ์วีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์ของเหล่าวีรชน    กำนันบุญได้เล่าให้ฟังถึงการบุกเบิกสถานที่แห่งนี้  เริ่มจากการตั้งเป็นศาลเล็กๆ เป็นการรำลึกถึงและสดุดีวีรกรรมของย่าบุญเหลือหรือนางสาวบุญเหลือที่ได้ร่วมสร้างวีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์มาพร้อมกับท่านท้าวสุรนารี   ต่อมาในปีพ.ศ.2531 ชมรมคนรักคุณย่าได้รวบรวมเงินมาสร้างศาลใหม่ตรงที่เดิม  ภายในศาลมีรูปปั้นย่าบุญเหลือ  วีรกรรมของท่านคือการพลีชีพด้วยการจุดไฟทำลายเกวียนที่บรรทุกดินระเบิด    ในการต่อสู้กับกองทัพเวียงจันทน์   จนกระทั่งตนเองถูกระเบิดตาย
 
ความผูกพันของย่าบุญเหลือกับชาวบ้านตำบลสัมฤทธิ์มีความแนบแน่นด้วยศรัทธา   จากเรื่องราวทางไสยศาสตร์ที่เกิดขึ้นหลายครั้งเรียกว่าเล่าขานกันไม่จบง่ายๆ  
 
ช่วงวันที่  3-5  มีนาคม ของทุกปี  ที่นี่จะมีการจัดงานสดุดีวีรกรรมท้าวสุรนารี  นางสาวบุญเหลือและวีรชน  ในงานจะมีการแสดงแสงสีเสียงเล่าถึงวีรกรรมคุณหญิงโมและนางสาวบุญเหลือที่ได้ช่วยบ้านเมืองพ้นภัย   การแสดงหลักอย่างอื่นจะมีการเล่นเพลงโคราช  ลำตัด  ลิเก  ดนตรี  และจะมีการทอดผ้าป่าเพื่อนำเงินที่ได้มาจากการจัดงานมาใช้ในการดูแลในส่วนของพิพิธภัณฑ์และส่วนอื่นๆ โดยรอบ
 
ส่วนของตัวอาคารพิพิธภัณฑ์   ผู้มีส่วนช่วยผลักดันในเรื่องงบประมาณคือนายกร  ทัพรังสี   ซึ่งเป็นรัฐมนตรีในยุคนั้น  สิ่งของที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ได้มาจากชาวบ้านช่วยกันบริจาค   ในการจัดแต่งทางกรมศิลปากรได้เข้ามาช่วย  สิ่งของเป็นพวกเครื่องมือพื้นบ้านจำพวกหม้อไหดินเผา    บางชิ้นทำมาจากสำริด  อุปกรณ์ทำนา  ถังใส่น้ำที่เรียกว่ากระบุ๋ม  อุปกรณ์จับปลา  เครื่องมือทอผ้า  อาวุธสมัยก่อน  หีบเหล็ก   และยังมีสิ่งของมีค่าจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้นำมาจัดแสดง  เป็นพวกเครื่องทอง  เงินก้อน  ของมีค่าเหล่านี้คนเฒ่าคนแก่ได้บริจาคมาก หลังจากมีการจดบันทึกไว้ก็มีการนำไปเก็บไว้ที่ตู้เซฟ
 
ในการพาเดินชมสิ่งของจัดแสดง  กำนันบุญได้รำลึกถึงความหลังว่า   อุปกรณ์ทำนาอย่างที่มองเห็นเป็นพัดขนาดใหญ่สองอันวางอยู่ข้างกัน   กำนันเคยใช้มาก่อนในการพัดข้าว   กำนันจึงสาธิตวิธีใช้ให้ดูอย่างทะมัดทะแมงด้วยการจับด้ามพัดไว้ทั้งสองมือแล้วออกแรงโบกสลับกัน   ส่วนของมีค่าประเภทลูกปัดหรือเครื่องประดับ   เมื่อก่อนมีชาวบ้านพบอยู่ในดิน  ตอนนี้จะไม่ค่อยมีแล้ว   เนื่องจากพวกซื้อของเก่ามากว้านซื้อไปหมด  ผู้ช่วยฯเสริมว่าบริเวณนี้ไม่ต่างจากแหล่งโบราณคดีบ้านปราสาทที่อยู่ฝั่งตรงข้ามถนนห่างจากที่นี่ไปประมาณ  5  กิโลเมตร   แถวนี้ขุดลงไปก็เจอโครงกระดูกและวัตถุโบราณเช่นเดียวกัน   บางทีไม่ต้องขุดแค่น้ำฝนไหลผ่านเป็นทางน้ำก็มีกระโหลกและโครงกระดูกโผล่ขึ้นมาให้เห็น   เคยมีคนพบโครงกระดูกสองร่าง   ซึ่งชาวบ้านได้นำไปประกอบพิธีทางศาสนา
 
กำนันบุญออกความเห็นต่อแผนงานในอนาคตของพิพิธภัณฑ์  ปัจจุบันมีความพร้อมในเรื่องสถานที่    ถ้ามีงบประมาณจะสามารถพัฒนาได้มากกว่านี้   เนื่องมาจากยังมีพื้นที่เหลืออีกมาก   ด้านบุคลากรคงต้องให้อีกหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยทั้งกรมศิลปากร   อบต.   ถ้าได้พัฒนาให้ดีกว่านี้จะดีกับการท่องเที่ยว  เพราะหมู่บ้านนี้ใกล้กับแหล่งโนราณคดีบ้านปราสาท   ตามเส้นทางนี้ประมาณสิบกว่ากิโลเป็นทางลัดผ่านหลายหมู่บ้านไปบรรจบกับเส้นทางหลักไปยังปราสาทหินพิมาย   ไทรงาม   แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงและรู้จักกันดี   
 
สาวิตรี   ตลับแป้น / ผู้เขียน / ถ่ายภาพ
ข้อมูลจาก :  สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่   16   เดือนกุมภาพันธ์   พ.ศ. 2552
ชื่อผู้แต่ง:
-