พิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดปริยัติไพศาล


ที่อยู่:
บ้านพะงาดเหนือ ตำบลขามสมบูรณ์ อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา 30260
โทรศัพท์:
090-3702598 ผู้ใหญ่บ้าน
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2554
ของเด่น:
เครื่องมือทอผ้า เครื่องมือทำนา บอร์ดประวัติบ้านพะงาด
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 27 สิงหาคม 2556

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดปริยัติไพศาล

พิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดปริยัติไพศาล ตั้งอยู่ภายในวัด เป็นเรือนไม้หลังเล็กมองเห็นได้ชัดเจนผ่านกำแพงวัด ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์ของคนบ้านพะงาด จัดแสดงวิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณี  บอกเล่าประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ “โฮมพี่โฮมน้อง”ชาวบ้านที่นี่เขาล้วนเป็นเครือญาติพี่น้องกันทั้งหมด
 
ประวัติความเป็นมาของชุมชนพะงาด ตำบลขามสมบูรณ์ ย้อนไปได้ 100 ปีประมาณ พ.ศ.2446 นางสิงห์ เสาร์ทองหลาง คนโคราช ได้พาครอบครัวย้ายมาจากบ้านตะหนอด อยู่ห่างไปประมาณ 3 กิโลเมตร  มาสร้างบ้านเรือน ทำนา
 
ต่อมาในปีพ.ศ.2448 มีชาวอีสานอีกกลุ่มหนึ่งได้พาครอบครัวอพยพมาจากบ้านเปือย บ้านนาเชือก อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม มาขออยู่ด้วย มีนายสอน ภักดีแก้ว และนายศิลา คำมะปะนา เป็นผู้นำ  ผู้เฒ่าทั้งสองได้พาชาวบ้านสองหมู่บ้านมาหักล้างถางป่า สร้างบ้านแปงเมืองเป็น “บ้านโคกพะงาด”ทำมาหากินด้วยการทำนา ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม พึ่งพาธรรมชาติตามภูมิปัญญาดั้งเดิมของวิถีชาวอีสาน พริกบ้านเหนือ เกลือบ้านใต้ มีอะไรก็แบ่งปันกันกินเช่นญาติพี่น้อง  โดยมีนายสิงห์ เสาร์ทองหลาง เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ดูแลทุกคนให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ความผูกพันยิ่งแน่นแฟ้นขึ้นเมื่อลูกหลานของผู้เฒ่าทั้งหลายแต่งงานเกี่ยวดองกันระหว่างสามตระกูล รวมทั้งตระกูลอื่นที่เข้ามาเป็นเขยเป็นสะใภ้ บางครั้งทำให้สับสนในการนับญาติ
 
ส่วนที่มาของชื่อหมู่บ้าน “พะงาด”มาจากบริเวณนี้มีต้นพะงาด ชาวอีสานเรียกว่าต้น “เหมือดแอ่”เป็นไม้ยืนต้นทรงพุ่มสูงประมาณ 2-3 เมตร ใบหนาคล้ายใบมะนาว เปลือกลำต้นมีสีดำปนเทา ขึ้นอยู่ตามที่โคกทั่วไป ต้นพะงาดมีคุณประโยชน์หลายอย่างเช่น นำมาตากให้แห้งแล้วป่นรวมกับพริกป่น  จะช่วยให้เก็บรักษาไว้ได้นาน นอกจากนี้เมื่อนำใบพะงาดมาต้มย้อมเส้นไหมร่วมกับสีธรรมชาติอื่นๆ จะช่วยให้สีเข้มขึ้น  นิยมนำมาต้มกับครั่งเพื่อย้อมเส้นไหมให้มีสีเข้ม ทำให้ติดทนนาน
 
คุณศศิธร ภักดีแก้ว ประธานกลุ่มแม่บ้านพะงาดเหนือพัฒนา  นำชมพิพิธภัณฑ์พร้อมกับอุ้มหลานตัวน้อยที่ติดคุณยาย  พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เกิดขึ้นมาได้จากการที่ได้พูดคุยกับพัฒนากรของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครราชสีมา ทางหมู่บ้านได้เข้าประกวดในโครงการนครชัยบุรินทร์  เป็นโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเส้นทางสายไหมของกลุ่มอีสานตอนล่าง ซึ่งประกอบด้วย นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์  ได้รับรางวัลชมเชย  จึงได้งบประมาณมาจัดทำพิพิธภัณฑ์ชุมชน  จัดทำป้ายหมู่บ้าน และสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ
 
ชาวบ้านที่นี่จะทำนา ว่างจากทำนาก็ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทำกันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งของที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์  มุมด้านหนึ่งมีเครื่องมือในการทำนา ไถ คราด  และอุปกรณ์จับปลา  ขณะที่อีกมุมหนึ่งเป็นเครื่องมือในการทอผ้า  ได้แก่ อักสำหรับกวักเส้นไหมไหมจากกง ไนกรอหลอด  โฮงแก้หมี่  นมสาว และชั้นวางกระด้งสำหรับเลี้ยงตัวไหม ฟีมทอเสื่อกก  การเป็นหมู่บ้านทอผ้าถือเป็นจุดเด่นของที่นี่  ผลิตภัณฑ์กลุ่มทอผ้าไหมนี้มีมากมาย  เป็นผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมหางกระรอก เคยได้รับรางวัลการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ได้รับมาตรฐานตรานกยูงพระราชทานในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ "นกยูงเงิน" และ "นกยูงสีน้ำเงิน"
 
ความสามารถในการจักสาน จัดว่าเป็นภูมิปัญญาอีกอย่างหนึ่งของการนำวัสดุในท้องถิ่นมาใช้เป็นเครื่องมือประกอบอาชีพและใช้สอยในครัวเรือน เป็นไซดักปลา อีแงบ หมวกจักสาน กระบุง กระจาด กรงนก เพนียดดักนกเขา ตรงชั้นวางของกลางห้องมีพวกเครื่องใช้สมัยก่อน ได้แก่ ขันหมากโบราณ เคียวเกี่ยวข้าว มีดซอยยา  แอบยา พวงสาว ตะเกียงเจ้าพายุ ตะเกียงแก๊ส กล่องข้าวเหนียว น้ำเต้าสำหรับใส่น้ำดื่ม ลูกคิด กาน้ำชา  ไม้เก็บตะกอและกระสวยไม้
 
ส่วนที่เห็นเป็นไหสามใบ ใกล้กับหุ่นสวมชุดพื้นบ้าน เป็นอุปกรณ์ประกอบการแสดงพื้นบ้าน เซิ้งสาวไหมบันเทิง ประมาณสองปีก่อนได้มีการเปิดหมู่บ้านท่องเที่ยววัฒนธรรม  เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวไหม (Thai Silk Village) เพื่อให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไหมไทย ที่ให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสวิถีความเป็นอยู่แบบดั้งเดิมแบบไทยๆ ควบคู่ไปกับประเพณีและวัฒนธรรมการทอผ้า  การจัดงานในวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554 ใช้วัดนี้เป็นสถานที่จัดงาน มีนายปิติธรรม ฐิติมนตรี  รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน และแขกผู้มีเกียรติ สื่อมวลชน ส่วนราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และองค์กรเครือข่ายต่าง ๆ ร่วมงาน ภายในงานมีการแสดงเซิ้งสาวน้อยเก็บใบหม่อน
 
งานประเพณีที่ยังปฏิบัติสืบเนื่องมาคือ งานบุญบั้งไฟ การเลี้ยงผีกลางบ้าน  การจัดงานบุญและพิธีกรรมต่างๆใช้วัดเป็นสถานที่จัดงาน  ด้านการแต่งกายสมัยก่อนผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่น ผ้าฝ้าย ผ้าไหมมัดหมี่ลวดลายต่างๆ  ผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติอื่นๆที่หาได้ในท้องถิ่น ได้แก่ แก่นขนุน เปลือกเพกา เป็นต้น ในงานบุญต่างๆ รวมถึงวันพระ  ชาวบ้านจะนิยมนุ่งซิ่นผ้าไหมไปทำบุญที่วัด
 
เมื่อถามถึงคนที่มาเยี่ยมชม คุณศศิธรบอกว่า ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศ  เขาจะมีไกด์พาเข้ามาดูวิถีชีวิตชาวบ้าน  ตามปกติคุณศศิธรก็จะทอผ้าจำหน่ายตามคำสั่งซื้อของลูกค้า  แต่ช่วงนี้เลี้ยงหลานจึงไม่ค่อยได้ทอ  ได้ทราบว่าผ้าทอที่ลูกค้ามาซื้อเขาส่งขายต่างประเทศ  สมาชิกกลุ่มแม่บ้านทอผ้ามีประมาณ 40 คน มี 18 คนทอผ้าส่งประจำ ส่วนใหญ่อายุ 40-50 ปี  การทอผ้าเป็นการสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและยังได้ดูแลพ่อแม่ที่แก่เฒ่าด้วย  คนที่ทอเก่งมากมี 2-3 คน เขาจะมีรายได้ 30000-40000 บาทต่อเดือน
 
หน่วยงานที่เข้ามาช่วยเหลือ นอกจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครราชสีมาแล้ว ยังมีเกษตรอำเภอ  เขามาตั้งแต่ปี พ.ศ.2525 ช่วยในเรื่องการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม  สำหรับผู้ที่อยากทราบเรื่องราวประวัติความเป็นมาของบ้านพะงาด  ในพิพิธภัณฑ์ได้จัดทำบอร์ดขนาดใหญ่มีภาพประกอบ  เป็นการจัดนิทรรศการให้ผู้เข้าชมได้รับข้อมูลอย่างละเอียด
 
----------------------------------------------------
 
สาวิตรี  ตลับแป้น / ผู้เขียน
ข้อมูลจาก  :  สำรวจภาคสนาม วันที่ 14 มีนาคม 2556
 
----------------------------------------------------
 
การเดินทาง: จากกทม.ไปตามถนนมิตรภาพ ทางหลวงหมายเลข 2 ที่จะมุ่งหน้าไปขอนแก่น ถึงทางแยกบ้านบัววัด ให้เลี้ยวซ้ายตามถนนหมายเลข 2160 จะถึงอำเภอคง ระยะทางประมาณ 18 กม. วัดปริยัติไพศาล บ้านพะงาด อยู่ใกล้กับ กศน.ตำบลขามสมบูรณ์ ศูนย์การเรียนชุมชน
 
-----------------------------------------------
 
อ้างอิง 
ข้อมูลการสัมภาษณ์เมื่อวันที่  14  เดือนมีนาคม  พ.ศ. 2556
 
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอคง.(2554).เปิดหมู่บ้านท่องเที่ยววัฒนธรรมไหม.ค้นเมื่อ 19 พฤษภาคม 2556,จากhttp://www3.cdd.go.th/khong/index.php?option=com_content&view=article&id=88:2011-09-23-04-30-53&catid=1:2010-08-02-15-00-37&Itemid=5
 
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอคง.(2554).เปิดหมู่บ้านท่องเที่ยววัฒนธรรมไหม.ค้นเมื่อ 19  พฤษภาคม 2556,จาก http://www3.cdd.go.th/khong/index.php?option=com_content&view=article&id=86%3A2011-09-02-06-56-41&catid=1%3A2010-08-02-15-00-37&Itemid=5&limitstart=2
 
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครราชสีมา.(2555).ชุมชนพะงาด ตำบลขามสมบูรณ์.ค้นเมื่อ 19 พฤษภาคม 2556,จาก http://www.cddkorat.com/index.php/2012-04-27-01-39-38/645-2012-04-27-01-34-58
 
 
ชื่อผู้แต่ง:
-