พิพิธภัณฑ์เกวียน


ที่อยู่:
ร้านดินดำ บ้านด่านเกวียน ต.ด่านเกวียน อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา 30190
โทรศัพท์:
081 6608214, 088 582 0388 ติดต่อ อ.เปรมจิต
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อนัดหมายล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์เกวียน

พิพิธภัณฑ์เกวียนก่อตั้งขึ้นโดยทุนส่วนตัวของอาจารย์วิโรฒ ศรีสุโร อาจารย์ทางด้านสถาปัตยกรรม แม้ถิ่นกำเนิดของอาจารย์จะเป็นคนภาคใต้แต่อาจารย์กลับสนใจและ ชื่นชอบในงานช่างและภูมิปัญญาท้องถิ่นของภาคอีสาน ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นนิสิตผู้ช่วยอาจารย์แสงอรุณ รัตกสิกรสอนที่วิทยาลัยเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อศึกษาจบจึงไปเป็นอาจารย์สถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเป็นผู้ก่อตั้งคณะศิลปะประยุกต์และการออกแบบผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีในเวลาต่อมา  ผลงานที่สร้างชื่อให้อาจารย์ ได้แก่ งานออกแบบโบสถ์วัดศาลาลอย โคราช ได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น สมาคมสถาปนิกสยามฯ  งานตกแต่งเจดีย์พิพิธภัณฑ์อาจารย์ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร  ปัจจุบันอาจารย์ได้เสียชีวิตแล้ว แต่ยังทิ้งมรดกทางวัฒนธรรมให้กับผู้ที่สนใจศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่พิพิธภัณฑ์เกวียน 
 
พิพิธภัณฑ์อยู่ในบริเวณเดียวกับร้านดินดำ ร้านขายเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงของด่านเกวียน ถ้าไม่สังเกตให้ดีจะไม่ทราบว่าภายในเป็นพิพิธภัณฑ์เกวียน เพราะป้ายพิพิธภัณฑ์อยู่ด้านใน  ที่นี่มีเนื้อที่กว้างขวางกว่า 8 ไร่ และเป็นที่พักอาศัยของท่านเจ้าของด้วย อาจารย์วิโรฒ เก็บสะสมข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้านอีสานและเกวียน มาตั้งแต่ยังเป็นนิสิตจุฬาฯ  เกวียนที่มีอยู่ในปัจจุบันมีกว่า 60 เล่ม โดยเป็นเกวียนที่มาจากหลายพื้นที่ หลายภูมิภาค ซึ่งมีคุณลักษณะแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรม การใช้งาน และสภาพภูมิประเทศ
 
เกวียนบรรทุกข้าว ซึ่งภาคกลางนิยมเรียก กระแทะ(ใช้ควายลากตัวเดียว) เป็นเกวียนขนาดเล็ก และยังมีขนาดใหญ่ซึ่งมีเส้นรอบวงล้อไม่ต่ำกว่า 7 เมตร  เกวียนเดินทาง เช่นเกวียนวัวอีสาน มักจะมีรูปแบบที่เคลื่อนไหวได้คล่องตัว เบา มีชิ้นส่วนที่บอบบางแต่แข็งแรง มักมีประทุนกันแดดซึ่งสานด้วยไม้ไผ่ พ่นด้วยน้ำเปลือกกระโดน แล้วทาด้วยดินจนสามารถป้องกันฝนได้ ส่วนเกวียนทางภาคเหนือ มักเรียกว่า “ล้อ” ซึ่งจะแตกต่างไปจากเกวียนอย่างเห็นได้ชัด เช่น ล้อไม่มีชิ้นส่วนที่เรียกว่า “ปะแหรก” (อีสานเรียกแพด) ตัวเพลาจะเจาะผ่านดุมทั้ง 2 ข้างออกมาแล้วเจาะใส่หลัก ส่วนเกวียนจะใช้ปะแหรกเป็นตัวยึดดุมกับไม้ขวางทางทั้งหน้าหลัง ส่วนเกวียนภาคใต้มีทั้งล้อและเกวียน แต่ส่วนใหญ่นิยมใช้ล้อเพราะสามารถบรรทุกน้ำหนักได้ดี โดยเฉพาะล้อที่อ.ท่าศาลา นครศรีธรรมราช มีความหนาและบึกบึนมาก เพราะต้องวิ่งบนทรายริมทะเล ใช้ควายตัวเดียว
 
เกวียนนับเป็นยานพาหนะคุ่ทุกข์คู่ยากของคนไทยมาช้านาน หากแต่เมื่อสังคมเกษตรกรรมได้นำเข้าเทคโนโลยีเข้ามามากขึ้นเพื่อผ่อนเบาภาระแรงงานซึ่งหากได้ยาก และการเดินทางที่ใช้รถยนต์ เกวียนจึงถูกเบียดตกไปจากสังคมไทยมาเกือบครึ่งศตวรรษ เหลือเพียงชิ้นส่วนที่ถูกแยกสลาย บ้างก็นำมาล้อมาประดับตามรั้วบ้าน บ้างก็ดัดแปลงชิ้นส่วนต่าง ๆ ทำเป็นชิงช้าสำหรับนั่งเล่น ผู้ที่สนใจเรื่องราวของเกวียนและต้องการเห็นเกวียนในแบบต่าง ๆ ที่แสดงออกถึงภูมปัญญาของผู้ประดิษฐ์ซึ่งมีความหลากหลายตามแต่พื้นที่ สามารถขอเข้าชมได้ที่พิพิธภัณฑ์เกวียนแห่งนี้ อย่างไรก็ตามเพื่อความสะดวกผู้ที่ต้องการเข้าชมกรุณาติดต่อล่วงหน้า ที่อาจารย์เปรมจิต ศรีสุโร 
 
ข้อมูลจาก: สำรวจภาคสนามวันที่ 18 ตุลาคม 2550
ชื่อผู้แต่ง:
-