พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน บ้านแฝก-บ้านโนนสำราญ (หมู่บ้านวัฒนธรรมไหม)


ที่อยู่:
บ้านแฝก-บ้านโนนสำราญ บ้านโนนสำราญ หมู่ 4 ตำบลสามเมือง อำเภอสีดา จังหวัดนครราชสีมา 30430
โทรศัพท์:
084-8974864
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2537
ของเด่น:
ผ้าไหมและวิถีชีวิตชุมชน ผ้าไหมโบราณเก็บไว้แต่ละบ้าน นำมาจัดแสดงเฉพาะกิจเวลามีคนสำคัญมาเยี่ยมชม
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 14 สิงหาคม 2556

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน บ้านแฝก-บ้านโนนสำราญ (หมู่บ้านวัฒนธรรมไหม)

การทอผ้าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น อันเกิดมาจากการฝึกฝนและพรสวรรค์ของผู้ทอ ผ้าไหมทอมือคือเครื่องแต่งกายสวยงาม  เจ้าของผลงานมีความภาคภูมิใจ ที่อำเภอสีดา บ้านแฝก-บ้านโนนสมบูรณ์ มีหมู่บ้านผ้าไหม แม่บ้านทั้งสองหมู่บ้านยังทอผ้ากันอยู่เป็นกิจวัตร  สร้างรายได้งามเลี้ยงครอบครัวได้ตามอัตภาพ
 
มื้อกลางวันแม่บ้านจะนำอาหารมาล้อมวงรับประทานด้วยกัน  บางคนยังไม่ยอมวางมือจากโฮงมัดหมี่ผ้าไหม  วงสนทนาสนุกสนาน  ภายในอาคารมีกี่ทอผ้าหลายตัวตั้งวางเรียงกัน มีผืนผ้าที่กำลังทอหลากหลายลวดลายสีสัน มีทั้งผ้าหางกระรอก  ผ้ามัดหมี่  ผ้าลายขอทบเชือก  ลวดลายเอกลักษณ์ของที่นี่
 
การทอผ้าในปัจจุบันจะซื้อเส้นไหมมาทอ คนที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมก็มีอยู่ ไหมเส้นยืนจะได้มาจากบริษัท  ส่วนไหมเส้นพุ่งจะใช้ของหมู่บ้าน  สมาชิกกลุ่มแม่บ้านคุณสุภาภรณ์ หมุยแฮบัว ให้สัมภาษณ์ไปพร้อมกับการมัดหมี่ ตอนนี้คนที่อายุไม่ถึง 30 ที่ทอผ้ามีอยู่ประมาณ 5 คนจากสมาชิกกลุ่มทอผ้า 168 คน  วิถีชีวิตตามปกติในหน้าแล้งว่างจากทำนาไปบ้านไหนจะได้เห็นคนทอผ้ากัน 
 
การรวมกลุ่ม “กลุ่มทอผ้าไหมบ้านแฝก-โนนสำราญ”เป็นการนำผ้าไหมที่แต่ละคนทอมาฝากขาย  โดยจะมีร้านค้าอยู่ที่อาคารถัดไป มีการเก็บเงินเป็นกองกลางเข้ากลุ่มเป็นแต่ละชิ้นงานตามที่ตกลงกัน  สำหรับคนที่ทอเก่งฝีมือดี  ผ้าไหมจะขายได้ชิ้นละ 5000-6000 บาท เมื่อถามถึงผ้าไหมโบราณ คุณสุภาภรณ์บอกว่าเมื่อวานนี้ได้ต้อนรับท่านผู้ว่าฯ ท่านมาตรวจเยี่ยม ได้มีการนำผ้าไหมโบราณของย่ายายมาจัดแสดง รวมกันนับร้อยผืน วางโชว์แล้วรีบเก็บบ้านใครบ้านมัน เพราะกลัวหาย
 
คุณละมุล  แก้วนอก ประธานกลุ่มทอผ้าไหมบ้านแฝก-บ้านโนนสำราญ บอกว่าจุดเริ่มต้นของการจัดกลุ่ม เกิดมาจากการส่งผ้าไหมเข้าประกวดที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ เมื่อประมาณยี่สิบปีก่อน ได้รับมาหลายรางวัล การรวมกลุ่มกันจึงเป็นโอกาสให้ได้ขายสินค้า  ปัจจุบันมีคนทอผ้ามากขึ้น ต่างกับเมื่อก่อนที่เป็นการทอไว้ใช้เอง
 
สมาชิกกลุ่มมีทั้ง 2 หมู่บ้านคือ บ้านแฝกและบ้านโนนสำราญ  มีหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยทั้งในด้านสำนักงานเกษตรอำเภอสีดา สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์  ส่วนใหญ่เป็นการพัฒนาอบรมเพิ่มศักยภาพ ที่นี่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมเรื่อยๆ เป็นชาวต่างชาติ  ตามคำแนะนำจากทางบริษัทที่กรุงเทพฯ ชักชวนมา  เขาจะมาดูวิถีชีวิต การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การสาวไหม การทอผ้า
 
นอกจากทอผ้าขายแล้ว ชาวบ้านยังมีอาชีพเสริมจากการรับจ้างสาวไหม โดยบริษัทจิม ทอมป์สัน จะนำรังไหมมาจ้างสาวไหม และจ้างให้มัดหมี่  รายได้จากการสาวไหมคิดให้เป็นค่าจ้างต่อกิโลกรัม  ในการทอผ้าสมาชิกกลุ่มบางคนจะมาทอที่นี่ บางคนติดทีวีหรือต้องทำงานบ้านไปด้วยก็ทอที่บ้าน บางคนก็ทอทั้งสองที่
 
ทางคุณละมุลเอง มีการเก็บรักษาผ้าไหมโบราณไว้ ผ้าไหมหางกระรอกจำนวนหนึ่งได้ให้ไว้กับพิพิธภัณฑ์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา  อาจารย์เขาทำวิจัยเรื่องนี้ ถามถึงการดูแลรักษาผ้าไหมผืนงาม ตามที่มีคนสงสัยกัน คุณละมุลได้ให้ความกระจ่างว่า ผ้าที่วางทิ้งไว้นานๆ บางคนเข้าใจว่ามีมดแมลงมากัด หรือบางคนก็ว่าผ้าไหมมันกินตัวเอง  แท้ที่จริงแล้วน่าจะมาจากผ้าผืนนั้นมีการฟอกกาวที่ไม่สะอาด ฟอกกาวออกไม่หมด ทำให้ผ้าไหมชำรุด ขาด  ถ้าผ้าผืนนั้นรีบฟอกกาวออกให้สะอาด  ผ้าไหมผืนนั้นจะเก็บไว้ได้ยาวนาน  การซักผ้าไหมไม่ควรซักเครื่อง ถ้าไม่มีน้ำยาซักผ้าไหมโดยเฉพาะให้ใช้แชมพูสระผม เวลารีดอย่าให้ผ้าแห้งสนิท จะทำให้รีดยาก ให้รีดพอหมาดๆ
 
เมื่อถามว่าผ้าไหมลายอะไรที่ทออยากที่สุด คุณละมุลบอกว่า ถ้าเป็นขั้นตอนการทอ ลายลูกแก้วทอยาก ต้องใช้ถึง 5 ตะกรอ ต้องใช้เท้าเหยียบให้ขึ้นลาย  ผ้าที่มีหลายขั้นตอนยุ่งยากอีกอย่างคือ ผ้ามัดหมี่ ต้องมีการมัดย้อมหลายครั้ง มัดลาย โกรกทับสี
 
ผ้าไหมของที่นี่ใช้ทั้งสีธรรมชาติและสีเคมีย้อมผ้า  สีธรรมชาติได้มาจากเปลือกไม้ ได้แก่ เปลือกต้นฉำฉา  เปลือกต้นประดู่  เปลือกต้นมะขามเทศ เป็นต้น ผ้ามัดหมี่ของที่นี่สีไม่ฉูดฉาด เนื้อผ้าแน่น
 
กับข้อสงสัยว่าผู้หญิงทอผ้า แล้วหลังทำนาผู้ชายทำงานอะไร คุณละมุลตอบว่า ผู้ชายจะเข้าไปเป็นแรงงานในกรุงเทพฯ เพราะผู้ชายที่นี่จะไม่ทอผ้า เขาถือว่าผิด เดี๋ยวไปหากินหว่านแหหาปลาจะไม่ดีไม่หมาน(คือทำให้โชคไม่ดี) แต่ตอนนี้เริ่มเปลี่ยนไป เวลาเมียรับจ้างสาวไหม  อยู่ด้วยกันต้องช่วยกัน ไม่อย่างนั้นเพื่อนบ้านจะทำได้เร็วกว่า
 
ในงานประเพณีงานบุญได้จัดที่วัดบ้านแฝก   ชาวบ้านจะแต่งผ้าไหมกันทุกคน ถ้าใครไม่แต่งจะถูกมองว่าแตกต่าง  คนที่ไม่ได้ทอใส่เองจะไปซื้อหามาจากเพื่อน งานบุญก็มีเข้าพรรษา  ออกพรรษา งานบุญเทศน์มหาชาติ งานวันวิสาขบูชา
 
เป็นข้อสังเกตว่า การส่งสินค้าให้กับลูกค้าหรือการขายผ้าไหมในร้านผ้าไหมในร้านของกลุ่ม ไม่ได้มีการติดฉลากสร้างแบรนด์ของตนเอง  ขึ้นอยู่กับว่าลูกค้าจะซื้อเอาไปทำอะไร สำหรับผู้ที่ต้องการเรียนทอผ้า ทางกลุ่มยินดีสอน  ยินดีให้คำแนะนำ  แต่ถ้าให้ไปสอนที่อื่นจะต้องมีค่าใช้จ่าย สำหรับผู้เรียนกว่าจะทอเป็น ถ้าตั้งใจ มีใจรัก มีความอดทนและมีความสามารถทางด้านนี้ ใช้เวลาประมาณเดือนครึ่ง 
 
สำหรับผู้ที่ต้องการผ้าไหมผืนงาม  ติดกับอาคารทอผ้ามีร้านผ้าไหมของชุมชน มีให้เลือกหลายแบบ ทั้งผ้าพันคอ ผ้าซิ่น เสื้อสำเร็จรูป  ราคาขายในร้านนี้ไม่แพง  แล้วเรายังได้เห็นผืนผ้าที่กำลังทอจากไหมทีละเส้นกว่าจะได้เป็นผ้าไหมสักผืน  สามารถเข้าไปพูดคุยกับช่างทอผ้าได้อย่างเป็นกันเอง
 
----------------------------------------------------
 
สาวิตรี  ตลับแป้น /ผู้เขียน
ข้อมูลจาก  :  สำรวจภาคสนาม วันที่ 14 มีนาคม 2556

 
----------------------------------------------------
 
การเดินทาง : จากกทม.ไปตามถนนมิตรภาพ ตามทางหลวงหมายเลข 2  ระยะทางห่างจากจังหวัดนครราชสีมาประมาณ 87 กิโลเมตร  ไปตามทางที่จะไปจังหวัดขอนแก่น  จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 202 ไปยังอำเภอสีดา  บ้านแฝก-บ้านโนนสำราญจะสังเกตได้ชัดเจน จากซุ้มประตูทางเข้าหมู่บ้าน
ชื่อผู้แต่ง:
-
คำสำคัญ:
ไม่มีข้อมูล
คำสำคัญ: