พิพิธภัณฑ์วัดธรรมจักรเสมาราม


ที่อยู่:
วัดธรรมจักรเสมาราม บ้านคลองขวาง หมู่ 3 ต.เสมา อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา 30170
โทรศัพท์:
089-9460149 (เจ้าอาวาส)
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน 07.00 น. – 18.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
จัดการโดย:

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์วัดธรรมจักรเสมาราม

อดีตกาลของเมืองเสมา เป็นชุมชนโบราณสมัยทวารวดี   มีร่องรอยของความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา คือ “ธรรมจักรศิลา”  ซึ่งเป็นหินทรายแกะสลักในรูปกงล้อ  ตอนล่างมีลายสลักรูปหัวสิงห์   สถิตอยู่เบื้องหน้าพระพักตร์ขององค์พระพุทธไสยาสน์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปโบราณขนาดใหญ่ภายในวัดแห่งนี้ ซึ่งชาวบ้านเรียกขานพระนอนองค์นี้ว่าองค์พ่อใหญ่  และมีความศรัทธาและเลื่อมใสเป็นอันมาก  เวลาที่จะไปสมัครงานหรือทำกิจการงานอะไร  ชาวบ้านมักจะมาบนบานขอพรจากท่าน  การบนบานมีการถวายหัวหมู  ไก่  ไข่  บางคนบนเพลงโคราชมาแสดง ปัจจุบันมีการสร้างศาลาคลุมองค์พระและมีทางเดินไม้ล้อมรอบองค์พระ  โดยกรมศิลปากรเป็นผู้ให้การสนับสนุนและดูแลรักษา
วัดแห่งนี้เป็นที่รู้จักกันดีของนักท่องเที่ยวต่างชาติ  เห็นได้จากมีรถตู้เข้ามาจอด  พร้อมไกด์ทัวร์ชาวต่างประเทศ พาเดินชมองค์พระพุทธไสยาสน์ประกอบคำบรรยาย   ตรงจุดที่ต้อนรับผู้มาเยือนพร้อมดอกไม้ธูปเทียนสำหรับกราบไหว้บูชา  
 
พระอธิการธีระพล  ชินวโร  เจ้าอาวาสบอกว่าธรรมจักรศิลาที่เห็นจัดแสดงในอาคารพิพิธภัณฑ์  ของจริงคืออันที่อยู่ในตู้กระจก  ส่วนที่อยู่ด้านหน้าข้างนอกตู้คืออันจำลอง   มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาเป็นคนจัดสร้างจำลองโดยการถอดแม่พิมพ์จากของเดิม   โดยปกติธรรมจักรศิลาจะตั้งอยู่หน้าพระพักตร์ขององค์พระพุทธไสยาสน์    วัตถุโบราณชิ้นอื่นที่จัดแสดงในอาคารนี้นอกจากธรรมจักรศิลา   เป็นพวกเชิงชาย   ศิวลึงค์   พระพุทธรูปสำริดอีกจำนวนหนึ่ง   แต่ไม่ได้จัดแสดงที่นี่   กรมศิลปากรได้นำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย   เหตุผลหนึ่งคือเพื่อความปลอดภัยจากการสูญหาย  
 
คำว่าเมืองเสมามีคำอธิบายไว้ว่าเป็นชุมชนโบราณแห่งหนึ่งในภาคอีสาน   ซึ่งก็คือบริเวณนี้  เมืองเสมามีผังเมืองเป็นรูปวงรีล้อมรอบด้วยคูน้ำและคันดิน  1  ชั้น  ประกอบด้วยพื้นที่  2  บริเวณ  เรียกว่าเมืองชั้นนอกและเมืองชั้นใน  ภายในเมืองชั้นในมีโบราณสถานจำนวน  6  แห่ง  ส่วนเมืองชั้นนอกมีโบราณสถานจำนวน  3  แห่ง  และบริเวณกลางเมืองชั้นนอกยังปรากฏแนวคูน้ำมีแผนผังรูปสี่เหลี่ยม
 
สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย(สมัยเหล็ก) มีอายุราว  2,000 ปีมาแล้ว  พบหลักฐานการอยู่อาศัยและประเพณีการฝังศพมนุษย์ร่วมกับเครื่องมือเหล็ก  เครื่องประดับและภาชนะดินเผาแบบพิมายดำซึ่งนิยมผลิตในลุ่มแม่น้ำมูลตอนบน
ต่อมาในสมัยทวารวดี   มีอายุราวพุทธศตวรรษที่  13-16  อิทธิพลวัฒนธรรมทวารวดีได้แพร่มาจากภาคกลางของประเทศไทย  คติความเชื่อของพระพุทธศาสนาทำให้เกิดการก่อสร้างสิ่งต่างๆ เช่น  เจดีย์  พระพุทธรูป  ใบเสมา  เป็นต้น    สำหรับองค์พระนอนคาดว่าสร้างขึ้นในสมัยนี้  และการที่ค้นพบศิวลึงค์ที่เป็นความเชื่อของฮินดู   เกิดมาจากยุคต่อมาคือพุทธศตวรรษที่  15-18  ได้รับอิทธิพลขอม  ทำให้พบสิ่งก่อสร้างเป็นศาสนสถานตามแบบศิลปะเขมร
 
ในส่วนขององค์พระ    พระอธิการฯ บอกว่าสิ่งที่ปู่ย่าตายายเห็นจะแตกต่างกับตอนนี้   เมื่อก่อนจะมีการปรักหักพัง   ทางกรมศิลปากรได้มาบูรณะใหม่จึงดูค่อนข้างสมบูรณ์อย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน   ในส่วนใกล้องค์พระที่เป็นแท่งหิน   คือใบเสมา   ซึ่งอยู่ตรงจุดเดิมไม่ได้ย้ายไปไหน    พระอธิการฯได้ชี้ให้ดูคันดินโดยรอบ   ซึ่งคือตำแหน่งที่มีการขุดลงมา   สังเกตได้ว่าบริเวณพระนอนมีลักษณะเป็นแอ่ง  ด้วยสภาพเช่นนี้จำเป็นต้องมีการดูแลเป็นพิเศษ    โดยข้างใต้พื้นไม้นี้มีปั๊มลมไว้สำหรับไล่ความชื้นเวลาฝนตก   เพราะความชื้นเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดการผุกร่อนของหิน    ท่านตั้งข้อสังเกตว่าใบเสมาหินทรายส่วนที่อยู่ด้านนอกตัวอาคารดูจะผุกร่อนน้อยกว่าเพราะได้รับแสงแดด ในช่วงฤดูน้ำหลากเป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่ต้องดูแลกันเป็นพิเศษ   จะต้องสูบน้ำออกถ้ามีน้ำไหลเข้ามา   ทางญาติโยมในหมู่บ้านต่างมีความเป็นห่วง   ชาวบ้านจะมาช่วยกันเอากระสอบทรายมากั้น  ทางวัดก็ดูแลกันอย่างละเอียด       ถ้าพบว่ามีตรงไหนชำรุดก็จะแจ้งไปทางกรมศิลปากรให้ส่งช่างเข้ามาดูแล
 
การจัดงานบุญของวัดนี้มีงานใหญ่ช่วงวันสงกรานต์ จัดกันทุกปี  ลูกหลานคนที่นี่ไม่ว่าอยู่ที่ไหนพอวันที่  13-14  เมษายน  จะต้องกลับมา   การละเล่นมีลิเก   มีการปิดทององค์พระ   ท่านได้เล่าให้ฟังถึงบรรยากาศสงกรานต์ในอดีต  เมื่อก่อนมีรำโทน  เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว  ทุกวันนี้จะมีแต่สาดน้ำกันแล้วไปเล่นที่อื่น    เมื่อก่อนชาวบ้านจะเล่นสงกรานต์กันเป็นอาทิตย์  ตอนเย็นมีรำวงกันไปจนถึงสี่ห้าทุ่ม  สมัยนั้นยังไม่มีไฟฟ้าใช้   เขาจะจุดตะเกียงเจ้าพายุ  หรือไม่ก็ก่อกองไฟเล่นกัน   เดี๋ยวนี้จะไม่มีแบบนั้นแล้ว
 
ชุมชนเสมาเดิมนั้นประกอบอาชีพการเกษตรเป็นส่วนใหญ่   พอเสร็จหน้านา จะหว่านถั่วเขียว   บางคนปลูกผัก   ทอเสื่อ    ปัจจุบันสภาพแวดล้อมในชุมชนเปลี่ยนแปลงมาก   คนหนุ่มสาวมีงานทำมากขึ้น    มีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ใกล้หมู่บ้านหลายแห่ง   ทุกวันนี้คนหนุ่มสาวมาวัดกันน้อยลง  จะมีให้เห็นในกรณีที่เป็นวันพระและตรงกับวันหยุดที่เป็นวันอาทิตย์เท่านั้น    
 
สาวิตรี   ตลับแป้น / ผู้เขียน / ถ่ายภาพ
ข้อมูลจาก :  สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่   16   เดือนมีนาคม   พ.ศ. 2552
ชื่อผู้แต่ง:
-