โดย:
วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555
ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: 8/4/2546
ที่มา: มติชนรายวัน
แหล่งค้นคว้า: ศมส.
โดย: ศมส.
วันที่: 13 มีนาคม 2555
ชื่อผู้แต่ง: ทีมข่าวศิลปวัฒนธรรม | ปีที่พิมพ์: ปีที่ 1 ฉบับที่ 5 (ตุลาคม 2546)
ที่มา: หนังสือพิมพ์ "สุรนารายณ์" มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
แหล่งค้นคว้า: มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
โดย: ศมส.
วันที่: 13 มีนาคม 2555
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
รีวิวของพิพิธภัณฑ์ช้างโบราณ
อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา คือหนึ่งในห้าของชุมชนที่ได้รับคัดเลือกให้ใช้นามพระราชทานจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เนื่องในพระมหามงคลวโรกาส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฉลองศิริราชสมบัติครบ 50 พรรษา จากสุขาภิบาลท่าช้างจึงมาเป็นอำเภอเฉลิมพระเกียรติในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2539คุณวริฒธิ์ธรณ์ ธนาวุฒิพรกุล นักวิชาการประชาสัมพันธ์เทศบาลตำบลท่าช้าง ได้พูดถึงการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์โครงกระดูกซากช้างโบราณแห่งนี้ว่า เหมือนกับการให้เกียรติและให้ความสำคัญกับพื้นที่ในอาณาบริเวณนี้ว่าเป็นแหล่งที่มีการค้นพบซากช้างโบราณ ซากดึกดำบรรพ์พืชและสัตว์อื่นๆจำนวนมากมาย เฉพาะซากช้างโบราณที่ค้นพบจากบ่อดูดทรายริมแม่น้ำมูลของที่นี่ในตำบลท่าช้างและตำบลช้างทองก็ 8 สกุลใน 38 สกุล นอกจากนี้ยังพบสัตว์ชนิดอื่นๆรวมเกือบ 50 ชนิด เช่น ยีราฟคอสั้น ม้าฮิปปาเรียน 3 นิ้ว แรดโบราณ กวางแอนติโลป ฮิปโปโปเตมัส หมูใหญ่ฮิปโปโปเตเมดอน เต่าขนาด 2-3 เมตร จระเข้ ตะโขง เอป รวมทั้งซากพืชโบราณ ไม้กลายเป็นหิน เป็นต้น
การค้นพบซากช้างโบราณพบในระดับความลึก 7-12 เมตร ส่วนจัดแสดงในตู้กระจกปิดของอาคารนี้ ในสายตาของคนทั่วไป คือ ชิ้นส่วนโครงกระดูกที่แยกออกเป็นชิ้นๆ มีเพียงบางชิ้นเท่านั้นที่มองออกว่าเป็นฟันกราม งา ซากกะโหลก ซึ่งอาจจะมองผ่านๆไป แต่สำหรับนักชีววิทยา นักธรณีวิทยา ผู้เชี่ยวชาญซากช้างโบราณที่ได้ศึกษาวิวัฒนาการสิ่งมีชีวิตบนโลก จัดว่าที่นี่คือแหล่งการค้นพบที่โดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
จากหลักฐานในอดีต เดิมทีอำเภอเฉลิมพระเกียรติเป็นชุมชนโบราณริมแม่น้ำมูล เรียกว่าหมู่บ้านท่าช้าง มีความเจริญในระดับเมืองท่าของมณฑลนครราชสีมา เป็นเมืองขนถ่ายสินค้าจากเรือกลไฟ ต่อมามีการสร้างทางรถไฟสายแรกจากกรุงเทพฯมาที่นครราชสีมาในสมัยรัชกาลที่ 5 และในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้สร้างทางรถไฟขยายมาจากนครราชสีมาจนถึงอุบลราชธานี เมืองท่าตำบลท่าช้าง จึงได้กลายมาเป็นสถานีรถไฟท่าช้างที่มีการตั้งชุมชนหนาแน่น
การค้นพบซากดึกดำบรรพ์ครั้งแรกอย่างเป็นทางการของที่นี่ ประมาณ พ.ศ. 2464 ได้มีชาวบ้านท่าช้างได้นำไม้กลายเป็นหินจากลำน้ำมูลไปถวายรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงแนะนำให้ราษฎรเก็บรักษาไว้ในท้องถิ่น ทางกรมรถไฟหลวงแห่งกรุงสยามจึงนำไม้กลายเป็นหินประดับไว้บนอนุสรณ์สถาน ณ สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำมูล ตรงจุดที่เรียกว่า “สะพานดำ”(ห่างจากสถานีรถไฟท่าช้าง 500 เมตร)
ในปี พ.ศ. 2529 ธุรกิจบ่อดูดทรายได้เริ่มขึ้น โดยนายสมศักดิ์ ศรีหัตถผดุงกิจ เริ่มทำในพื้นที่เล็กๆ ที่บ้านหนองบัวรี ตำบลท่าช้าง และต่อมาใน พ.ศ. 2530 นายแสง มณีเพชร อดีตสมาชิกสภาจังหวัดนครราชสีมาได้ดำเนินการดูดทรายในพื้นที่ติดต่อกันด้วย จากคำบอกเล่าของนายแสง มณีเพชร การดูดทรายจะกระทำในระดับความลึกไม่เกิน 15 เมตร แต่ที่ระดับความลึก 7-12 เมตร พบกระดูก ฟันกราม ขากรรไกรขนาดใหญ่ งาช้างและกระดูกสัตว์อื่นๆหลายชนิดเป็นจำนวนมาก โดยตะกอนในหน้าตัดจะเป็นทรายละเอียด ทรายดาน ทรายกรวด ส่วนขอนไม้จะพบตั้งแต่ระดับ 4-6 เมตรลงไป ซากกระดูกทั้งหลายจะทิ้งไว้ในบ่อหรือนำมากองไว้บนผิวดิน ตามความเชื่อของพระบางรูปแนะนำไม่ให้เก็บไว้ในบ้าน บางส่วนจึงนำไปเก็บไว้ที่วัด แต่ในระยะเวลา 3-5 ปี ซากกระดูกเหล่านั้นก็ค่อยๆผุพังสลายตัวและหมดสภาพไปจากการทำปฏิกิริยากับอากาศและความชื้น
ต่อมานายสมศักดิ์ ศรีหัตถผดุงกิจ ได้ขยายกิจการ โดยซื้อที่ดินฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำมูลด้านทิศตะวันตก เป็นบ่อกว้างและลึกเกือบ 40 เมตร พื้นที่ผิวหน้าของบ่อ 60-70 ไร่ ได้พบซากดึกดำบรรพ์พืชและสัตว์จำนวนมากมาย บางส่วนนำขึ้นมา ได้เก็บไว้ในห้องเก็บของ วางเป็นกองกระดูกกองใหญ่ มีการจุดธูปเทียนบูชาขอขมา
ต่อมา นายนเรศ สัตยารักษ์ นักธรณีวิทยาจากกรมทรัพยากรธรณีและ ดร.ประเทือง จินตสกุล ได้ไปสำรวจไม้กลายเป็นหินที่บ่อทราย และพบกองกระดูกดังกล่าว จึงได้แนะนำแหล่งพบแก่ ดร.วราวุธ สุธีธร ผู้เชี่ยวชาญไดโนเสาร์และสัตว์มีกระดูกสันหลังของฝ่ายโบราณชีววิทยา กรมทรัพยากรธรณี ซึ่งต่อมาได้นำซากบางส่วนไปวิเคราะห์ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญชาวฝรั่งเศสคือ ศาสตราจารย์ ดร.จอง จาคส์ เจเจ้(Prof.Dr.Jean-Jacgues Jaeger) และ ดร. เยาวลักษณ์ ชัยมณี ต่อมาได้มีผู้เชี่ยวชาญซากช้างโบราณ ชาวญี่ปุ่นคือ ดร.ฮารุโอะ เซกูซา (Dr.Haruo Saegusa) และคณะ กับศาสตราจารย์ ดร. โยชิกาซุ ฮาเซกาวา(Prof.Dr.Yoshikazu Hasegawa)และคณะได้ทำการศึกษา นับตั้งแต่ พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา พบว่าแหล่งซากช้างโบราณของ 2 ตำบล จำแนกได้ในเบื้องต้นถึง 8 สกุลใน 38 สกุลของซากช้างโบราณที่ค้นพบทั่วโลก
รายละเอียดคร่าวๆของซากช้างโบราณที่ค้นพบ ได้แก่ ช้าง “กอมโฟเธอเรียม” (Gomphotherium) หรือช้าง 4 งา มีชีวิตอยู่ระหว่าง 25-13 ล้านปีก่อน ช้าง “ไดโนเธอเรี่ยม”(Deinotherium) ช้างงาจอบ มีชีวิตอยู่ระหว่าง 25-1.7 ล้านปีก่อน ช้าง “สเตโกโลโฟดอน”(Stegolophodon) เป็นช้างบรรพบุรุษของวงศ์ปัจจุบัน มีงา 1 คู่ มีชีวิตอยู่ระหว่าง 25-5 ล้านปีก่อน ช้าง “สเตโกดอน”(Stegodon)เป็นช้างที่วิวัฒนาการมาเป็นช้างปัจจุบัน มีชีวิตอยู่ระหว่าง 5-0.01 ล้านปีก่อน ช้าง “เอลลิฟาส”(Elephas) เป็นช้างสกุลเดียวกับช้างเอเชีย หรือช้างไทยปัจจุบัน มีชีวิตอยู่ในช่วงปี 1.8-0.01 ล้านปีก่อน
แม้จะมีการนำมาดูแลเก็บรักษาไว้อย่างดีอย่างในพิพิธภัณฑ์ คุณวริฒธิ์ธรณ์ ได้ชี้ให้ดูผงที่อยู่รอบๆโครงกระดูกบางชิ้นในตู้กระจก ถึงจะมีการนำไปเคลือบน้ำยา แต่บางชิ้นได้มีการแตกสลายตัวข้างในอยู่ก่อนแล้ว การจัดพิพิธภัณฑ์นี้ช่วงแรกได้รับการดูแลแนะนำจาก ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ตู้จัดแสดงจะแบ่งเป็นสองส่วนคือ ส่วนที่เป็นชิ้นส่วนโครงกระดูกชิ้นเล็ก กับส่วนที่เป็นชิ้นใหญ่อย่างกระดูกขากรรไกรล่าง งาของสัตว์ตระกูลช้าง ความโดดเด่นของพิพิธภัณฑ์ที่นี่คือ เกือบทั้งหมดเป็นของแท้ จะมีเฉพาะ “เอปโคราช”ที่จัดแสดงในตู้แยกออกมากลางห้อง ชิ้นนี้เป็นของจำลอง โดยของจริงอยู่ที่กรมทรัพยากรธรณี การค้นพบเอปโคราช ถือเป็นการค้นพบที่สำคัญระดับโลก เพราะถือเป็นการพบซากดึกดำบรรพ์เอปที่เป็นญาติใกล้ชิดกับอุรังอุตังมากที่สุดเป็นครั้งแรก ซากกรามที่พบมีลักษณะเหมือนกรามของเอปปัจจุบันมากที่สุด สามารถใช้ศึกษาวิวัฒนาการของมนุษย์ ซึ่งจัดเป็นเอปขนาดใหญ่เช่นเดียวกัน การพบเอปโคราช อาจสันนิษฐานได้ว่าเอปปัจจุบัน มีกำเนิดในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แสดงให้เห็นว่าพื้นที่บริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย มีศักยภาพสูงในการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ชนิดใหม่ๆ และอาจเป็นแหล่งกำเนิดและวิวัฒนาการของเอปปัจจุบัน
ในห้องจัดแสดง ได้จัดทำป้ายอธิบายขนาดใหญ่ มีภาพวาดช้างโบราณจำลองให้เห็นทั้งตัว ผู้เข้าชมจะได้ทราบว่าช้างโบราณมีรูปร่างหน้าตามีงวงมีงาเป็นอย่างไร จะได้เปรียบเทียบกับช้างในปัจจุบัน และมีบอร์ดให้ความรู้ประวัติการพบซากช้างโบราณ ถิ่นกำเนิดและการแพร่กระจายของช้างโบราณ วิวัฒนาการของช้าง แผนที่ตำบลท่าช้างและตำบลช้างทอง แสดงตำแหน่งบ่อทรายที่พบซากช้างโบราณ ภาพอนุสรณ์สถาน ร.6 ที่ท่าช้าง
ปัจจุบันทางเทศบาลตำบลท่าช้าง ได้ให้ กศน.ตำบลท่าช้างเข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมกันในตัวอาคาร เพื่อเป็นศูนย์การเรียนชุมชน ทาง กศน.จะช่วยดูแลห้องจัดแสดง การจัดห้องจึงเอื้อประโยชน์ต่อกัน ภายในนี้จึงมีทั้งพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด และเครื่องคอมพิวเตอร์ให้บริการ
----------------------------------------------------
สาวิตรี ตลับแป้น /ผู้เขียน /ถ่ายภาพ
สำรวจภาคสนาม วันที่ 23 สิงหาคม 2555
----------------------------------------------------
การเดินทาง : อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อยู่ห่างจากตัวเมืองนครราชสีมาเพียง 18 กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 3 กิโลเมตร การเดินทางจากตัวเมืองนครราชสีมา ไปตามทางหลวงหมายเลข 226 ทางที่จะไปจังหวัดบุรีรัมย์ ไม่เกินครึ่งชั่วโมงก็ถึงอำเภอเฉลิมพระเกียรติ
ถ้ามาทางรถประจำทางมาลงที่สถานีขนส่งนครราชสีมา แล้วขึ้นรถประจำทางที่จะไปอำเภอจักราช รถจะผ่านหน้าที่ว่าการอำเภอเฉลิมพระเกียรติ
การเดินทางโดยรถไฟ มีรถไฟจากกรุงเทพฯ มาลงที่สถานีท่าช้าง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ
-----------------------------------------------
อ้างอิง : ข้อมูลการสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 23 เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2555
เอกสารข้อมูล “ซากดึกดำบรรพ์ช้างโบราณ”จัดทำโดย เทศบาลตำบลท่าช้างอำเภอเฉลิมพระเกียรติ
จังหวัดนครราชสีมา
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
ธรรมชาติวิทยา ฟอสซิล โครงกระดูก ช้างโบราณ
พิพิธภัณฑ์ปลาน้ำจืด (สวนสัตว์นครราชสีมา)
จ. นครราชสีมา
สวนทุ่งลุงพี
จ. นครราชสีมา
พิพิธภัณฑ์สุนัขทหาร
จ. นครราชสีมา