พิพิธภัณฑ์บ้านปราสาทและแหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท


ที่อยู่:
แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท หมู่ 17 ตำบลธารปราสาท อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา 30420
โทรศัพท์:
0-4436-7075 (ชมรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โบราณคดี), 0-4436-7062 (โรงเรียนบ้านธารปราสาท), 089-5817870 , 044-367075 (ผู้ใหญ่เทียม ละอองกลาง)
วันและเวลาทำการ:
วันเวลาราชการ 08.30 – 16.30 น. (ปิดวันจันทร์-อังคาร)
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม (ตั้งกล่องรับบริจาค)
ปีที่ก่อตั้ง:
2539
จัดการโดย:
เนื้อหา:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์บ้านปราสาทและแหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท


ถ้าเราคาดหวังว่าจะมีพิพิธภัณฑ์สักแห่งหนึ่งที่มีการประสานงานที่ดีของหน่วยงานราชการและคนในท้องถิ่น  ชาวบ้านได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว  นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับแหล่งโบราณคดีอย่างใกล้ชิด  โฮมสเตย์บ้านปราสาทคือสถานที่นั้น  พร้อมยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
         
   “กินแบบชาวบ้าน  อยู่แบบชาวบ้าน เรียนรู้วิถีชีวิตคนในท้องถิ่น” นักท่องเที่ยวที่เดินเข้ามาในหมู่บ้านนี้  ถ้าอยากรู้ว่าที่นี่มีอะไร  มีประวัติศาสตร์ยาวนานแค่ไหน  หลุมขุดค้นที่ 1-3 อยู่ตำแหน่งใดของหมู่บ้าน   การขุดค้นทางโบราณคดีทำกันอย่างไร  ชุมชนบ้านเรือนวิถีชีวิตในอดีตเป็นอย่างไร  การเดินเข้ามายังอาคารพิพิธภัณฑ์บ้านปราสาทที่ตั้งอยู่กลางระหว่างทางแยกของถนนในหมู่บ้าน  สามารถอธิบายให้คำตอบเหล่านี้ได้  แล้วจากนั้นเราจะได้ไปสัมผัสในสถานที่จริง
           
อาคารพิพิธภัณฑ์บ้านปราสาทเป็นเรือนไทยประยุกต์  ดูสวยงามร่มรื่น  การจัดแสดงมี 2 ชั้น  ชั้นบนเป็นห้องประวัติศาสตร์บ้านปราสาท  ห้องแสดงเครื่องใช้ประจำวัน  ชั้นล่างเป็นห้องจัดแสดงการจำลองหลุมการขุดค้น และในตู้กระจกมีการจัดแสดงภาชนะดินเผา  เครื่องประดับต่างๆที่มีการฝังไว้กับโครงกระดูก  คุณสุรพล  บุญหมั่น  พนักงานดูแลรักษาโบราณสถานที่อยู่ประจำที่นี่บอกว่าช่วงนี้เปิดให้เข้าชมทุกวันเพราะมีงบประมาณพิเศษมาจ้างคนดูแลเพิ่ม  เนื่องมาจากชาวบ้านอยากให้เปิดทุกวัน  เพื่อไม่ให้คนต้องการเข้าชมเสียความรู้สึกเมื่ออยากชมแล้วพิพิธภัณฑ์ปิด
           
หลุมขุดค้นที่ 1-3 เป็นแหล่งโบราณคดีที่มีลักษณะเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง  เกิดมาจากการขุดแต่งหลุมที่พบโครงกระดูกมนุษย์พร้อมกับมีการฝังภาชนะดินเผาแบบเคลือบโคลนสีแดง  แบบลายเชือกทาบ  มีเครื่องประดับต่างๆ เช่น กำไลเปลือกหอย  ลูกปัด  แหวนสำริด  กำไลสำริด เป็นต้น  การค้นพบโครงกระดูกในแต่ละชั้นดิน  จะมีอายุแตกต่างกัน  ชั้นที่ลึกที่สุดประมาณ 5.50 เมตร  อายุประมาณ 3000 ปี  ชั้นกลางประมาณ 5 เมตร อายุ 2500 ปี  จนถึงชั้นบนสุดพบภาชนะยุคพิมายดำ อายุประมาณ 1000 ปี 
           
ในบอร์ดบรรยายของหลุมขุดค้นที่ 3 ได้แสดงให้เห็นพิธีกรรมในการทำศพเมื่อหลายพันปีมาแล้ว “พิธีกรรมในการฝังศพของหลุมขุดค้นที่ 3  แบ่งเป็น 2 ระยะ  แต่เนื่องจากโครงกระดูกที่พบในระยะที่ 2 มีจำนวนน้อย  จึงขอกล่าวถึงแต่พิธีกรรมในการฝังศพระยะแรกเท่านั้น  ซึ่งมีอายุร่วมสมัยกับหลุมฝังศพระยะแรกของหลุมขุดค้นที่ 1  คือประมาณ 3000-2500 ปีมาแล้ว  แต่ปรากฏว่าพิธีกรรมในการฝังศพค่อนข้างจะแตกต่างกัน  คือศพจะถูกฝังนอนหงายหันศรีษะไปทางทิศตะวันออก (ขณะที่หลุมขุดค้นที่ 1  ฝังหันศรีษะไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้) แขนแนบลำตัว  ส่วนใหญ่ขาเหยียดตรง  ยกเว้นศพเด็ก 3 โครงที่ขาแบะออกเล็กน้อย  และเกือบทุกโครงกะโหลกศรีษะแตก  มีอยู่โครงหนึ่งไม่มีกะโหลกศรีษะ  ภาชนะดินเผาที่ฝังร่วมกับศพมีทั้งแบบภาชนะทรงปากแตรและภาชนะทรงกลม  การตกแต่งผิวเคลือบน้ำดินสีแดงขัดมันบางใบมีลายเชือกทาบ  แต่ภาชนะดินเผาทั้งหมดจะถูกทุบแตกและฝังวางในลักษณะคลุมทับศพ  โดยเฉพาะส่วนล่างของลำตัวลงไป  สำหรับบริเวณเหนือศรีษะมีการวางภาชนะดินเผาทุบแตกบ้างเช่นกันแต่ไม่มากนัก  และบางศพมีภาชนะดินเผาทุบแตกรองใต้กระดูกเชิงกรานด้วย (แตกต่างกับในหลุมขุดค้นที่ 1 คือภาชนะดินเผาที่ฝังร่วมกับศพในหลุมขุดค้นที่ 1  จะเป็นภาชนะสมบูรณ์วางไว้บริเวณเหนือศรีษะและปลายเท้าของศพ) นอกจากภาชนะดินเผาทุบแตกแล้วยังมีสิ่งของที่ฝังร่วมกับศพอย่างอื่นอีก  คือ  กระดูกนิ้วหมูวางอยู่บริเวณข้างกะโหลกศรีษะข้างซ้ายกรือข้างขวาหรือทั้งสองข้าง  มีก้อนดินเทศวางบริเวณข้างศรีษะหรือปลายเท้า  มีเปลือกหอยกาบวางบริเวณเหนือศรีษะหรือลำตัว (ลักษณะที่กล่าวนี้ไม่พบในหลุมขุดค้นที่ 1) อีกทั้งมีแวดินเผาเคลือบน้ำดินสีแดงหรือแวดินเผาสีดำฝังร่วมกับศพ  ในส่วนของเครื่องประดับกลับพบว่ามีเพียงศพเดียว  คือ  โครงกระดูกหมายเลข 6  ที่ใส่เครื่องประดับเป็นกำไลสำริดที่แขนทั้งสองข้างและมีกำไลเปลือกหอยที่แขนขวา  นอกจากนั้นในโครงอื่นๆไม่พบเครื่องประดับอย่างใดทั้งสิ้น”
           
สิ่งที่เป็นจุดเด่นของที่นี่คือการอยู่ร่วมกันของประวัติศาสตร์ที่เหลือให้เห็นเป็นโครงกระดูกมนุษย์  กับร่างกายมนุษย์ปัจจุบันที่ยังเดิน นั่ง  กิน นอน หายใจ อยู่ในบ้านที่อยู่เคียงกันรายล้อม  ภาพเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นด้วยจังหวะเวลาอย่างปกติเป็นธรรมชาติ  ผิดแผกจากที่อื่นที่เรามักจะเห็นประวัติศาสตร์ที่หยุดนิ่งและกันแยกไว้จากผู้คน
            ทุกวันจะมีนักท่องเที่ยวเดินเข้ามา  ส่วนที่มาเป็นหมู่คณะจะมีการจองล่วงหน้า  คุณประนอม  ละอองกลาง  ภรรยาผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ให้รายละเอียด  การเข้าพักโฮมสเตย์คิดราคาคืนละ 300 บาทต่อคน  รวมอาหาร 2 มื้อ  ที่นี่มีแหล่งโบราณคดีที่มีการขุดค้นคือหลุมขุดค้นที่ 1-3  มีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสได้แก่ การทำขนมตามฤดูกาลอย่างเช่นขนมตาล  ขนมสายบัว  ขนมหน้าแฟง  การทอเสื่อกก  การทำพวงกุญแจ  การทำเครื่องดนตรีไทย  เป็นต้น  ส่วนใครที่อยากนั่งรถอีแต๋น  สามารถเช่าและให้พาเที่ยวรอบหมู่บ้าน  ช่วงฤดูกาลทำนาซึ่งที่นี่ทำนาปีละครั้ง  สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกับชาวบ้านได้
           
ในการเข้ามาจัดกิจกรรมกันเป็นหมู่คณะของนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ ที่นี่มีการจัดทำบายศรี  มีอาหารประจำท้องถิ่น  เมนูอาหารเป็นสิ่งที่หามาได้ในหมู่บ้านเช่น  แกงสายบัวที่ได้สายบัวมาจากลำธารในหมู่บ้าน  ผัดหมี่  ส้มตำ  ต้มไก่  ต้มยำ น้ำพริก ในวันเสาร์-อาทิตย์  ทางโรงเรียนได้จัดยุวมัคคุเทศก์ซึ่งเป็นนักเรียนชั้น ป.5-6  ผลัดเวรกันมาประจำที่หลุมขุดค้น  คอยอำนวยความสะดวกพานักท่องเที่ยวเยี่ยมชม      
           
การที่คนในชุมชนบ้านธารปราสาทประสบความสำเร็จในการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม  พบว่าเกิดมาจากองค์กรหรือแต่ละภาคส่วนทำงานกันอย่างลงตัว  แม้ความรับผิดชอบจะแตกต่างกันไป  แต่ก็เอื้อให้กันอย่างพอดี  อย่างกรมศิลปากรมีการขุดค้นทางโบราณคดี  สร้างตัวอาคารคลุมหลุมขุดค้นที่ 1-3  มีการจัดสร้างและดูแลพิพิธภัณฑ์บ้านปราสาทเล่าประวัติของหมู่บ้าน  ทางอบต.บ้านธารประสาทได้ให้งบประมาณในการซ่อมแซมถนนเข้าหมู่บ้าน  โรงเรียนบ้านธารปราสาทได้จัดยุวอาสามัคคุเทศก์ที่ได้รับการอบรมจากกรมศิลปากร  มาประจำอยู่ที่หลุมขุดค้นทุกวันเสาร์-อาทิตย์  คณะกรรมการหมู่บ้านและกลุ่มแม่บ้าน  ดูแลจัดการในเรื่องโฮมสเตย์และการต้อนรับนักท่องเที่ยว  ประกอบกับจิตใจที่ต้อนรับผู้มาเยือนด้วยความเต็มใจ
                 
-----------------------------------------------------
สาวิตรี  ตลับแป้น /ผู้เขียน /ถ่ายภาพ
ข้อมูลจาก  :  สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่ 25   เดือนสิงหาคม  พ.ศ. 2554
----------------------------------------------------
ปีที่ก่อตั้ง  :  พ.ศ.2539
การลงทะเบียนสิ่งของจัดแสดง : มีการลงทะเบียนสิ่งของ
บริหารจัดการโดย : หน่วยงานราชการ
สถานที่ตั้ง  : พิพิธภัณฑ์บ้านปราสาท  หมู่ที่ 5 ตำบลธารปราสาท อำเภอโนนสูง  จังหวัดนครราชสีมา  30160
โทรศัพท์ : โฮมสเตย์  ติดต่อผู้ใหญ่เทียม  ละอองกลาง  089-5817870 , 044-367075
เวลาเปิด-ปิด :  วันเวลาราชการ 08.30 – 16.30 น. (ปิดวันจันทร์-อังคาร)
การเก็บค่าเข้าชม  :  ไม่เก็บค่าเข้าชม
การเดินทาง :พิพิธภัณฑ์บ้านปราสาท  ตั้งอยู่ติดกับแหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท  บ้านปราสาทใต้  ตำบลธราปราสาท  อำเภอโนนสูง  จังหวัดนครราชสีมา  การเดินทางใช้ถนนสายมิตรภาพ(นครราชสีมา-ขอนแก่น) เมื่อถึงกิโลเมตรที่ 44  จะมีทางแยกซ้ายมือ 1.2 กิโลเมตร  เข้าสู่บ้านธารปราสาท
-----------------------------------------
อ้างอิง  : พิพิธภัณฑ์บ้านปราสาท. http://www.museum.msu.ac.th/webMuseum2/
                    museum/nm_banprasat.htm [Accessed  29/08/2011]
เอกสารประชาสัมพันธ์บ้านปราสาท  โฮมสเตย์
ชื่อผู้แต่ง:
-