พิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ วัดบัว


ที่อยู่:
วัดบัว ถ.เกษตร ต.โนนสูง อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา 30160
โทรศัพท์:
0-4437-9138, 08-1967-1455
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน กรุณาแจ้งล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2542
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติวัดบัว จ.นครราชสีมา

ชื่อผู้แต่ง: สุทธิคุณ กองทอง,ชาญณรงค์ พรดิลกรัตน์ | ปีที่พิมพ์: 10/06/2548

ที่มา: คมชัดลึก

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์​เฉลิมพระ​เกียรติ'วัดบัว'​แห่ง​แรก อ.​โนนสูง

ชื่อผู้แต่ง: ศุภชัย อรชร | ปีที่พิมพ์: 30 กรกฎาคม 2554

ที่มา: บ้านเมือง

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ วัดบัว

วัดบัวสร้างมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2429  ตั้งอยู่ในหมู่บ้านบัว  ใกล้กับสระบัวขนาดใหญ่มีดอกบัวหลวงจำนวนมาก  จึงได้เรียกหมู่บ้านนี้ว่า  “บ้านบัว”  ครั้นเมื่อสร้างวัดจึงได้ตั้งชื่อวัดให้สอดคล้องกับหมู่บ้านว่า  “วัดบัว” 
 
อาคารพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติวัดบัว  สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2542  เปิดเป็นทางการเมื่อวันที่  10  พฤศจิกายน  พ.ศ.2545  พระครูปทุมสารคุณ  เจ้าอาวาสปกครองวัดบัวมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2500 ท่านมีความประสงค์จัดตั้งพิพิธภัณฑ์เพื่อจัดแสดงโบราณวัตถุ  ศิลปวัตถุของวัดและสิ่งของที่ชาวบ้านนำมาถวาย   ทั้งนี้เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เนื่องในมหามงคลสมัยที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ  6  รอบ
 
อาคารพิพิธภัณฑ์เป็นอาคารสองชั้น  ส่วนจัดแสดงที่เปิดให้เข้าชมอยู่บริเวณชั้นล่าง  พระครูปทุมสารคุณในวัย  80 ปี  ได้เป็นผู้นำชมพิพิธภัณฑ์ด้วยตนเอง  สิ่งของส่วนใหญ่มาจากการสะสมมาตั้งแต่เด็กๆ  ของท่าน  ของสะสมช่วงแรกเป็นพวกพระเครื่อง  จุดประสงค์ในการสะสมของท่านก็เพื่อให้ลูกหลานได้ดูได้ศึกษา  ท่านกล่าวว่าถ้าไม่สะสมจะไม่ได้เห็นอย่างทุกวันนี้
 
หลวงพ่อได้นำชมพิพิธภัณฑ์เริ่มจากตู้ที่มีกระดึงแขวนคอช้าง  ปลอกแขนสำริด  เครื่องมือยุคเหล็กอายุประมาณ  3000 ปี   ขวานหิน  เสาหลักเมือง  ชุดน้ำชาสมัยฮ่องเต้   เทียนพรรษาอันใหญ่  ผู้ที่เดินติดตามหลวงพ่อได้บอกว่า  เป็นเทียนพรรษาที่ใหญ่ที่สุดในโลก  เคยลงหนังสือพิมพ์มาแล้ว   ก่อนนี้เคยมีคนจะนำไปเก็บไว้ที่ศาลากลาง  แต่ทางวัดไม่อนุญาตให้นำไป  เพราะคิดว่าเก็บไว้ที่นี่จะดีกว่า   ที่วางอยู่กับพื้นหน้าเทียนพรรษามีไม้กลายเป็นหินที่มองออกว่าเป็นต้นตาล  ส่วนอันที่ปิดทองไว้ท่านบอกว่าเป็นตาไม้สัก  
 
ในส่วนที่จัดแสดงในตู้กระจก   อันที่น่าสนใจมากคือเทวรูปแบบฮินดูขนาดเล็กอายุนับพันปี  ได้แก่  เทวรูปนางอุมา   นกหัสดีลิงค์  และพระพุทธรูปองค์เล็กในปางต่างๆ  โบราณวัตถุนอกจากนี้ได้แก่  ขอเสลี่ยงคานหามที่ใช้กันในสมัยโบราณ  มีป้ายเขียนไว้ว่าอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่  18  เป็นศิลปะแบบเขมร   วัตถุโบราณอีกชิ้นที่น่าพิศวงคือ  แหวนโบราณ   ใกล้กันมีแม่พิมพ์แหวนในสภาพสมบูรณ์   การที่ของทั้งสองสิ่งยังคงอยู่ด้วยกันมานับพันปีเป็นสิ่งชวนคิดและเพิ่มจินตนาการเป็นอย่างมาก   ลักษณะของตัวเรือนแหวนที่มีขนาดใหญ่ชวนคิดว่าคนในสมัยนั้นจะมีรูปร่างใหญ่โตขนาดไหน   หลวงพ่อท่านบอกว่าเขาพูดกันว่าคนโบราณสูงแปดศอก   
 
อีกหนึ่งในสิ่งของสะดุดตาที่จัดแสดงในตู้กระจกอีกด้านคือ  กะลาตาเดียว  สิ่งนี้ถือเป็นของหายาก  ให้สังเกตตรงช่องของกะลามะพร้าวจะเห็นว่ามีช่องที่ทะลุได้เพียงช่องเดียว   สำหรับผู้ที่มีเก็บไว้ถือเป็นสิริมงคลทำให้เจริญรุ่งเรือง  ใกล้กันมีสร้อยปะคำ  ทุกเส้นทำมาจากหินอัญมณี   ถือว่าเป็นอีกสิ่งที่ดูตื่นตาตื่นใจ
 
ในการสะสมสิ่งของมีค่าเป็นจำนวนมากมาย   ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าท่านน่าจะเคยเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ หลายแห่ง   ท่านเล่าให้ฟังท่านเคยไปประเทศอินเดีย   ศรีลังกา  จีน การได้เดินชมพิพิธภัณฑ์ไปกับท่าน  สิ่งที่ท่านย้ำอยู่เสมอ  ท่านต้องการเก็บสิ่งมีค่าเหล่านี้ให้ลูกหลานได้ดู   ได้ศึกษา  นอกจากจะได้ความรู้  ยังได้ความเพลิดเพลินจากเรื่องราวที่เป็นภูมิหลังของสิ่งของแต่ละชิ้น   สำหรับคนที่นิยมและชื่นชอบพระเครื่อง  ที่นี่มีอยู่เป็นจำนวนมากทั้งของใหม่และของเก่า
 
เมื่อเดินชมสิ่งจัดแสดงโดยรอบแล้ว   ให้เดินเข้าไปในห้องด้านใน   ภายในตู้ไม้ติดกระจกเราจะเห็นพระพุทธรูปโบราณหลายองค์   หลวงพ่อท่านบอกว่าเป็นของโบราณที่พบในโบสถ์หลังเก่า   ในส่วนที่วางบนชั้นด้านนอกเป็นพระพุทธรูปที่จัดทำขึ้นเป็นรุ่นเฉลิมพระเกียรติ    
 
สำหรับผู้ที่ต้องการเข้าชมจะต้องติดต่อล่วงหน้า  เพราะไม่มีเจ้าหน้าที่มาประจำ  โดยปกติจะเปิดให้ชมเฉพาะชั้นล่าง  ส่วนชั้นบนมีสิ่งของคล้ายกันแต่ส่วนใหญ่จะเป็นของใหม่  อาทิ หม้อไห  หีบเหล็ก  ไม้ตะพด  กิ่งกัลปังหา  เงินโบราณ  พระพุทธรูป  ตู้เก็บพระไตรปิฎก  หลวงพ่อหยิบของสิ่งหนึ่งที่น่าพิศวงมาก    เป็นรังนกเก้าชั้น   พยายามคาดเดากันว่าเป็นรังนกอะไร   แต่ยังหาคำตอบกันไม่ได้ในเวลานั้น
 
พื้นที่ส่วนหนึ่งของวัดยังมีสวนป่า  ใช้เป็นสถานปฏิบัติธรรมมีศาลาขนาดใหญ่   และมีศาลาไม้เป็นหลังขนาดเล็กสำหรับให้แต่ละคนนั่งวิปัสสนา   ใกล้กันมีศาลาพื้นไม้กระดานเรียงยาว   สำหรับให้ชาวบ้านได้เข้ามาสวดมนต์พร้อมกับพระสงฆ์ในช่วงเวลาประมาณหกโมงเย็นของทุกวัน   ด้านหลังวัดติดกับลำคลองที่เรียกว่าลำเชียงไกร   ในพื้นที่จำนวน  27  ไร่ของวัดมีสระน้ำขนาดใหญ่หนึ่งสระ   ท่านบอกว่าอยากจะสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์อีกหลังหนึ่งให้เป็นลักษณะของศาลากลางน้ำ  
   
สาวิตรี   ตลับแป้น / ผู้เขียน / ถ่ายภาพ
ข้อมูลจาก :  สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่   25   มีนาคม  พ.ศ. 2552
ชื่อผู้แต่ง:
-