พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีไทยโบราณ


ที่อยู่:
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อาคารสุรพัฒน์ 4 เลขที่ 111 ถ.มหาวิทยาลัย ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา 30000
โทรศัพท์:
044-224851, 044-224414
วันและเวลาทำการ:
เปิดในวันและเวลาราชการ
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2547
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีไทยโบราณ

หากย้อนอดีตไปในวิถีชีวิตของผู้คน  เกษตรกรรมคือทุกสิ่งที่มาพร้อมกับความรุ่งเรืองทางอารยธรรมของชนชาตินั้นๆ  คันไถของชาวนาได้ไถไปบนผืนดิน  ฤดูกาลแล้วฤดูกาลเล่า  กังหันลมที่หมุนตามแรงลมสูบน้ำเข้าแปลงนา  เรือขุดทำจากต้นไม้บรรทุกผลผลิตล่องไปตามลำน้ำ  เกวียนเทียมวัวบรรทุกข้าว  เกวียนเทียมช้างบรรทุกไม้  ภาพอดีตเหล่านี้เคลื่อนไหวด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง  ด้วยฝีมือของชาวบ้าน
 
ด้วยความตั้งใจของดร.ทวิช จิตรสมบูรณ์  พิพิธภัณฑ์นี้ให้ใช้คำว่า “เทคโนโลยี” เพื่อเป็นการเน้นให้เห็นความแตกต่างจากการนำเสนอของพิพิธภัณฑ์อื่น  การที่อุปกรณ์แต่ละชิ้นสามารถนำมาใช้  จนสร้างอารยธรรมของชนชาติมาจนถึงทุกวันนี้  อุปกรณ์แต่ละชิ้นล้วนมีพัฒนาการ  มีการศึกษาเรียนรู้ลองผิดลองถูก  ผ่านมือคนใช้งานมานับร้อยนับพันปี  แต่น่าเสียดายว่าความรู้ทางช่างมีการบันทึกไว้น้อยมากในหน้าประวัติศาสตร์  
 
พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีไทยโบราณ  อยู่ในภารกิจสำคัญของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี  ทางด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม  โดยขึ้นตรงกับคณะวิศวกรรมศาสตร์   โดยได้วิเคราะห์อุปกรณ์ของคนไทยโบราณ และได้ข้อสรุปว่า  อุปกรณ์เครื่องใช้ไม้สอยของไทยโบราณนั้นอยู่ในหลักการต่างๆ เช่น  หลักการยกตัวของปีกเครื่องบิน(Airfoil…กังหันลมโบราณ) การจรวด (Rocket…บั้งไฟ และตะไล) กลไกเปลี่ยนอาการโยกมาเป็นอาการหมุน(Crank mechanism…เครื่องสีข้าวโบราณ) ฟันเฟืองทุ่นแรงแบบก้างปลา(Helical gear…เครื่องหีบอ้อย) การจุดระเบิดในกระบอกสูบ (Piston engine…ตะบันไฟ) สมองช่วยจำ(Read only memory…ตะกรอยกเส้นด้ายทอผ้าลายขิด) เครื่องมือช่าง(Carpentry…สว่านแบบมือรูด  แบบสีซอ) การโลหะ(Metallurgy...สำริด เหล็ก)  
 
นั่นจึงเป็นแรงบันดาลใจให้  รศ.ดร.ทวิช  จิตรสมบูรณ์  ขับรถตระเวนไปเกือบทั่วทุกจังหวัดของประเทศไทย  นับตั้งแต่ปีพ.ศ.2547  เพื่อติดตามรวบรวมสิ่งของมีค่าในทางวิศวกรรมของประเทศไทย  การรวบรวมมีทั้งการขอรับบริจาคและการใช้เงินซื้อ  สิ่งของหายาก บางชิ้นอาจารย์ทวิชต้องไปอธิบายและขอร้องหลายรอบกว่าที่เจ้าของจะใจอ่อนยอมให้มา  ปัจจุบันที่นี่มีอุปกรณ์จัดแสดงนับพันชิ้น
 
ถ้าใครได้เข้ามาชมกับตาตัวเอง     ความรู้สึกธรรมดากับความเป็นพื้นบ้านที่เคยมีจะเปลี่ยนไป  เพราะที่นี่มีอุปกรณ์หลายชิ้นที่ดูโอฬารตระการตา  เกวียนสภาพดีสวยงามนับสิบเล่มตั้งเรียงกัน  เกวียนแต่ละเล่มต่างมีเอกลักษณ์ทั้งรูปทรงและภาพวาดลงสีสดใส  เล่มที่ต้องตกตะลึงคือเกวียนล้อโตที่ใช้ช้างลาก  เกวียนนี้ใช้ประโยชน์ในการบรรทุกไม้  ส่วนเกวียนขนาดปกติใช้วัวลากใช้บรรทุกข้าว และใช้เป็นพาหนะพาสมาชิกในครอบครัวไปตามที่ต่างๆ
ถัดไปอีกด้านหนึ่งเป็นเรือมาด  จัดแสดงไว้บนคานไม้  มีอยู่ลำหนึ่งที่มีขนาดใหญ่มาก  ลำนี้มีผู้บริจาคมา  อาจารย์ทวิชบอกว่าต้องใช้ผู้ช่วยนับสิบคนกว่าจะย้ายเรือลำนี้มาตั้งแสดงได้  กรรมวิธีการขุดเรือนี้น่าทึ่งเมื่ออ่านดูป้ายที่เขียนคำอธิบาย  เรือลำนี้น้ำหนักประมาณ 500 กิโลกรัม  บรรทุกข้าวเปลือกได้ประมาณ 1 ตัน  แต่คนใช้สามารถพายเรือได้อย่างสบายโดยใช้ใบพายอันเดียวเท่านั้น  เรือมาดลำนี้ขุดมาจากต้นไม้ใหญ่ต้นเดียว  การขุดเริ่มจากใช้ไฟเผาน้ำมันลนไม้จากด้านล่าง  ไอน้ำมันจะซึมเข้าไปในเนื้อไม้  ทำให้เนื้อไม้นิ่ม  ง่ายต่อการขุดด้วยขวานโยน      
 
กังหันลมทำด้วยไม้  สมัยก่อนมีใช้เป็นจำนวนมากนับหมื่นตัวแถวจังหวัดฉะเชิงเทรา  ตอนที่อาจารย์ทวิชไปได้มา  เหลือเป็นตัวสุดท้ายอยู่ที่ร้านขายของเก่า  กังหันลมแบบนี้ใช้เทคโนโลยีต่างจากกังหันลมของตะวันตก  อาจารย์ทวิชอธิบายหลักการทำงานของกังหันตัวนี้ว่าเทคโนโลยีที่ใช้ทำใบพัดเป็นเทคโนโลยีชั้นสูง  ใช้แรงแบบเดียวกับปีกของเครื่องบิน
 
ยังมีเครื่องมืออีกหลายชนิดที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง  เช่น บั้งไฟของคนอีสาน  คนที่ได้มาเรียนรู้จึงจะทราบว่าคนสร้างมีความชาญฉลาดมาก  อีกอันหนึ่งคือ ตะไล  หรือดอกไม้เพลิงโบราณก็เช่นเดียวกัน
 
อุปกรณ์หลายชิ้นตามสายตาคนทั่วไปอาจจะดูธรรมดา  แต่เมื่อได้รู้อย่างลึกซึ้งจากการเข้าชมที่นี่  ความเข้าใจเดิมจะเปลี่ยนไป  ตัวอย่างเช่นคันไถ  การที่หัวคันไถส่วนที่มีคมสามารถไถลงไปในดิน  การออกแบบนั้นต้องมีความรู้และมีความพอดีกับดินแต่ละชนิด  ถ้ามีความผิดพลาดจะทำให้กินแรง  ทำให้ควายไม่ยอมเดิน  หรือจะเป็นเครื่องหีบอ้อยที่ตั้งเรียงกันหลายสิบอัน  เครื่องมืออันนี้ใช้กลไกของฟันเฟือง  ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทางวิศวกรรมสาสตร์  นอกจากรูปทรงจะแปลกแตกต่างกันในแต่ละอันแล้ว  ความแตกต่างของฟันเฟืองจะบอกถึงประสิทธิภาพความนุ่มนวลในเวลาใช้งานด้วย  
 
เครื่องมือชิ้นใหญ่ที่น่าสนใจยังมีอีกเช่น  เครื่องบดงา  เครื่องสีข้าว  นอกจากนี้ยังมีประเภทที่จัดวางอยู่บนชั้น ได้แก่ อุปกรณ์ทอผ้า  อุปกรณ์ดักสัตว์  อุปกรณ์จับปลา  ถังน้ำ  กระโบม กระต่ายขูดมะพร้าว  เป็นต้น  และมีเครื่องมือชิ้นเล็กจำนวนหนึ่งถือเป็นของหายากจัดแสดงอยู่ในตู้กระจก  เป็นพวกกบไสไม้ขนาดเล็ก  สิ่ว สว่านแบบต่างๆ ในสมัยโบราณ   
นอกจากนี้ยังมีความพยายามต่อยอดความรู้จากสิ่งเหล่านี้  โดยอาจารย์ทวิชได้ให้นักศึกษาสร้างเครื่องสีข้าวโดยประยุกต์จากของเดิม  แต่ใช้วัสดุแบบใหม่  ผลปรากฏว่ายังทำให้ใช้งานได้ไม่ดีเท่าของเดิม  แต่ถือว่าเป็นการเรียนรู้อีกก้าวหนึ่ง  ในมุมมองของอาจารย์ทวิช  เกี่ยวกับอุปกรณ์ไถนาที่มีเครื่องจักรเข้ามาแทน   อาจารย์มองว่าไม่ได้ทำลายภูมิปัญญาดั้งเดิมแต่ “...มันเป็นวิวัฒนาการทางสังคมมนุษย์  ลองดูให้ดี  มันเอาความรู้นี้ไปใช้  หางไถนี่  รูปลักษณ์ก็ไม่ต่างไปจากนี้นะครับ  เครื่องนวดข้าวสมัยใหม่ก็เป็นอย่างนี้...”
 
ทุกวันนี้อาจารย์ทวิชยังคงติดตามรวบรวมสิ่งของอยู่  ด้วยความตั้งใจที่จะเก็บรักษาให้เป็นความรู้ต่อผู้เข้าชม  สิ่งที่อาจารย์ฝากถึงคนที่มาเยี่ยมชมที่นี่และคนที่รู้จักที่นี่  อาจารย์อยากได้ความรู้ในการบำรุงรักษาให้อุปกรณ์เหล่านี้อยู่ได้อย่างยาวนาน  เพราะทำด้วยไม้เป็นส่วนใหญ่  นอกจากนี้อาจารย์ทวิชยังต้องการทราบว่าในบันทึกเก่าๆ มีหน้าประวัติศาสตร์ยุคใดสมัยใดบ้าง  ที่พอจะมีบันทึกถึงอุปกรณ์เหล่านี้  ทั้งนี้เพื่อให้ได้เรื่องราวและคำอธิบายที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น    
 
สาวิตรี  ตลับแป้น /ผู้เขียน /ถ่ายภาพ
ข้อมูลจาก  :  
สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่  29 มิถุนายน พ.ศ. 2553
http://thaiboran.sut.ac.th/newweb/index.php [Accessed 20/08/2010]
ชื่อผู้แต่ง:
-