ศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้านปักธงชัย โรงเรียนปักธงชัยประชานิรมิต


ที่อยู่:
ต.เมืองปัก อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา 30150
โทรศัพท์:
0-4444-1080
วันและเวลาทำการ:
เปิดจันทร์-ศุกร์ 08.30-16.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2531
จัดการโดย:

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้านปักธงชัย โรงเรียนปักธงชัยประชานิรมิต

การเรียนรู้ที่ไม่ได้จำกัดอยู่กับเนื้อหาในหนังสือและการเรียนในห้องเรียน  สิ่งนี้คือทิศทางการให้การศึกษากับเด็กนักเรียนโรงเรียนปักธงชัยประชานิรมิต  การจัดทำหลักสูตรชุมชน  มุ่งให้เด็กๆได้รู้จักท้องถิ่นของตนเอง  ความพยายามจัดทำด้วยความร่วมมือของเหล่าอาจารย์ด้วยการเข้าหาภูมิปัญญาชาวบ้านในท้องถิ่น
 
ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน  บนอาคารเรียนที่  1  เกิดขึ้นมาในปีพ.ศ.2531   ตอนนั้นเริ่มจากมุมเล็กๆ ภายในห้องของหมวดสังคมศึกษา   จนกระทั่งในปีพ.ศ.2533  สิ่งของที่ได้มาเริ่มมีมากขึ้นจึงได้ย้ายมาใช้ห้องใหญ่อีกห้องหนึ่งในอาคารเดียวกัน   แล้วทำพิธีเปิดศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้าน  อำเภอปักธงชัย  โดยหลวงพ่อเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา   ในตอนนั้นคือ  พระราชสีมาภรณ์  มากล่าวโอวาทและเจิมป้ายเปิดศูนย์

จุดประสงค์ในการการจัดทำ  เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน  ส่งเสริมให้เกิดความภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน  โดยการดำเนินงานอยู่ในความรับผิดชอบของหมวดสังคมศึกษา
 
อาจารย์สุทน  พุทธรักษา  ได้เล่าถึงที่มาของสิ่งของที่มีอยู่เป็นจำนวนมากนับพันชิ้น   สิ่งของส่วนใหญ่ได้มานานแล้วจากการบริจาคของบรรดาผู้ปกครองนักเรียน   ครูอาจารย์และคนในท้องถิ่น  อาจารย์บอกว่าสมัยนี้ไม่ค่อยได้มา  เพราะสิ่งของเหล่านี้ปัจจุบันเป็นเงินเป็นทอง   เขาจะนำไปขายกันในตลาดค้าของเก่า   ในเรื่องการสะสมสิ่งของเริ่มเก็บรวบรวมกันจริงๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527
 
สิ่ง¬ของในห้องนี้แบ่งออกเป็นหมวดหมู่ได้  11  ชนิด ได้แก่  เตารีด  ตะเกียง  เครื่องปั้นดินเผา  เครื่องลายคราม  เครื่องทองเหลือง  เครื่องจักสาน  คัมภีร์ใบลาน  พระเครื่อง  เงินตรา  อวัยวะสัตว์  กระพรวน
ในการจัดแสดงสิ่งที่โดดเด่นเมื่อก้าวเข้ามาในห้องคือ  แผ่นไม้แกะสลักหน้าบันของวัดตะคุ  เมื่อมีการสร้างโบสถ์หลังใหม่ได้มีการนำออกไปวางทิ้งไว้   ทางโรงเรียนจึงเก็บมาซ่อมแซม   ความเก่าแก่ของหน้าบันอันนี้คาดว่านับร้อยปี  ถ้าย้อนไปดูประวัติของอำเภอปักธงชัยได้พบว่าในช่วง  200 ปีที่ผ่านมา  ชุมชนที่นี่เป็นชุมชนไทย-ลาว  มีชาวบ้านอยู่อาศัยกันที่นี่มานานแล้ว
 
ถ้าใครต้องการชมหน้าบันไม้แกะสลักกับโบสถ์เก่า   อาจารย์สุทนแนะนำให้ไปที่วัดโคกศรีสะเกษและวัดพรหมราช   ทั้งสองแห่งอยู่ไม่ไกลจากที่นี่นัก   นอกจากจะเป็นวัดเก่าแก่แล้ว   ทั้งสองแห่งยังมีพิพิธภัณฑ์ให้ชมให้ศึกษากันด้วย
ในจำนวนสิ่งของภายในห้อง  เมื่อถามว่าชิ้นไหนเก่าแก่ที่สุด  อาจารย์สุทนชี้ไปที่หม้อดินเผาที่ได้มาจากบ้านปราสาท  อำเภอโนนสูง  อาจารย์เล่าว่าตอนนั้นญี่ปุ่นยังไม่มาบุกเบิกการขุดค้น   พวกครูได้ไปเที่ยวในหมู่บ้าน  ชาวบ้านเขาค้นพบของพวกนี้ตรงบริเวณใต้ถุนบ้านเขา   มีครูบางคนขอซื้อมา  ปรากฏว่าหลังจากได้มาเก็บไว้ที่บ้าน   เขาบอกว่านอนไม่ค่อยหลับ   จึงนำหม้อเหล่านั้นมาบริจาคที่นี่   สำหรับโบราณวัตถุที่ค้นพบที่บ้านปราสาท    มีอายุประมาณสองพันปี     เรื่องความเก่าแก่และที่มาของสิ่งของขณะนี้กำลังช่วยกันจัดทำรายละเอียดเพื่ออธิบายสิ่งของแต่ละชิ้น
 
ถ้าเป็นสิ่งของมีค่าและหายากที่มีอยู่ในนี้   อาจารย์สุทนพาไปที่ตู้เก็บเหรียญและเงินตรา   ที่โดดเด่นคือเหรียญรัชกาลที่  5   เป็นเหรียญที่ระลึกในช่วงที่พระองค์เสด็จประพาสยุโรป   อีกตู้หนึ่งคือตู้เก็บพระเครื่อง   ในตู้มีพระพุทธรูปขนาดเล็กแกะสลักจากไม้   อีกตู้หนึ่งที่แสดงเอกลักษณ์ของอำเภอปักธงชัยคือผ้าไหม   ซึ่งจะมีตัวไหม  เส้นด้าย  อุปกรณ์การทอ  และผ้าไหม
 
ในเรื่องการจัดการวัตถุสิ่งของภายในศูนย์วัฒนธรรมแห่งนี้  มีอาจารย์อู่ทอง  โนนสูงเนิน เป็นผู้ดูแล    อาจารย์เคยไปสัมมนาเรื่องพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่จัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร   เมื่อกลับมาจึงเกิดประกายความคิดในการจัดทำพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นระบบ   รวมไปถึงการสร้างหลักสูตรท้องถิ่น    ด้วยการไปลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูลศิลปะและวัฒนธรรม  ภูมิปัญญาชาวบ้าน   วิถีชีวิตของคนในชุมชน   จากนั้นให้นักเรียนไปเก็บข้อมูลภาคสนามบ้าง   ให้รู้ว่าชุมชนของตนเองเป็นอย่างไรในด้านเกี่ยวกับวัฒนธรรม  บุคคลสำคัญ  ประเพณี  ความเชื่อ  
 
อาจารย์อู่ทองได้เล่าถึงสิ่งที่พบเห็นในชุมชนในบริเวณวัดโคกศรีสะเกษและวัดนกออก    มีของเก่าหลายอย่างที่ชาวบ้านเขาทิ้งกัน   แต่ก็มีบางบ้านที่ยังอนุรักษ์ของเดิมไว้  อย่างบ้านเรือนยังมีคนแขวนกระดิ่งเอาไว้ตรงประตูบ้าน  ลักษณะของบ้านจะเป็น  2-3  ระดับ  บ้านแบบนี้มีให้เห็นอยู่บ้าง   คนที่อาศัยในบ้านเป็นคนแก่   บางคนน่าจะอายุถึง  90 ปีแล้ว  ถ้าให้ดูภาพรวมของสถานการณ์ตอนนี้   บ้านเรือนเปลี่ยนไปเยอะ  รวมไปถึงวัดที่มีการรื้อสร้างใหม่  สิ่งของแบบพื้นบ้านพวกกระบุงตะกร้ายังมีให้เห็นอยู่  ถ้าเป็นของเก่าที่มีราคาเขาจะนำไปขายกับพวกซื้อของเก่ากันหมด      เมื่อถามถึงที่มาของชื่อวัดนกออก   อาจารย์อู่ทองบอกว่าเท่าที่มีคนบอกมา  นกออกนี้ตัวใหญ่   มีลักษณะผสมกันระหว่างนกอินทรีกับนกแร้ง   ไข่ของมันจะมีขนาดใหญ่มาก   

การจัดเก็บและแสดงสิ่งของในศูนย์ฯนี้  ทางโรงเรียนกำลังพยายามจัดทำ  อย่างเช่นการลงทะเบียนสิ่งของแต่ละชิ้น   สิ่งที่ต้องการจะทำอีกคือ การขยายห้องให้กว้างกว่านี้    แล้วจัดแสดงสิ่งของให้ดูเป็นหมวดหมู่  แต่ยังติดขัดตรงงบประมาณที่จะนำมาจัดทำ   
 
ในการจัดกิจกรรมของที่นี่   จะทำในโอกาสพิเศษในวันอนุรักษ์มรดกไทย   การจัดนิทรรศการในโอกาสพิเศษต่างๆ ของโรงเรียน    เมื่อไม่นานมานี้ก็มีการจัดนิทรรศการเงินตรา   มีทั้งของในประเทศและต่างประเทศ   เมื่อก่อนนี้มีการนำสิ่งของไปจัดแสดงที่งานประจำปีของอำเภอปักธงชัย   แต่ตอนนี้ไม่ได้นำไปเพราะประสบปัญหาว่าสิ่งของที่นำไปจัดแสดงเกิดการชำรุด
 
การได้มาเยี่ยมชมที่ศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้านโรงเรียนปักธงชัยประชานิรมิต    สิ่งหนึ่งที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนคือความตั้งใจและความพร้อมของบุคลากรในหมวดสังคมศึกษา    ที่มีความกระตือรือร้นและใส่ใจกับผู้มาเยือน    แสดงให้เห็นว่าโรงเรียนที่เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ใกล้ตัวของนักเรียนที่สุด      มีศักยภาพเป็นอย่างมากในการพัฒนาให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ของชุมชนที่สามารถเชื่อมโยงหลายหน่วยงานและองค์กรในท้องถิ่น
 
สาวิตรี   ตลับแป้น / ผู้เขียน / ถ่ายภาพ
ข้อมูลจาก :  สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่   17   เดือนธันวาคม  พ.ศ. 2551
ชื่อผู้แต่ง:
-