ห้องไทยศึกษานิทัศน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี


ที่อยู่:
สาขาวิชาศึกษาทั่วไป สำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา 30000
โทรศัพท์:
044-224856, 044-224207
วันและเวลาทำการ:
วันจันทร์-วันศุกร์ 8.30-16.30 น.(11.30 – 12.30 พักเที่ยง)
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
อีเมล:
Jarabee@sut.ac.th
ปีที่ก่อตั้ง:
2536
จัดการโดย:

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล

แม่ญิงต้องต่ำหูก : พัฒนาการของกระบวนการทอผ้าและการเปลี่ยนแปลงบทบาทของผู้หญิงในหมู่บ้านอีสานปัจจุบัน

ชื่อผู้แต่ง: สุริยา สมุทคุปติ์. | ปีที่พิมพ์: 2537

ที่มา: นครราชสีมา : ห้องไทยศึกษานิทัศน์ สำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

แหล่งค้นคว้า: มศก. วังท่าพระ

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของห้องไทยศึกษานิทัศน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

ห้องไทยศึกษานิทัศน์เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ผู้เข้าชมสามารถจับต้องสิ่งของได้   ในการเข้าชมแต่ละครั้งผู้เข้าชมจะได้ความรู้แปลกใหม่จากการจัดนิทรรศการที่สลับสับเปลี่ยนกันไปในโอกาสสำคัญหรือเทศกาลงานประเพณีในเทศกาลต่างๆ บทบาทของห้องไทยศึกษานิทัศน์ที่เป็นมาโดยตลอดคือ  การเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องไทยศึกษาให้กับนักเรียนนักศึกษาและผู้ที่สนใจ

แต่เดิมห้องไทยศึกษานิทัศน์เป็นส่วนหนึ่งของภาควิชาสังคมวิทยา และมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยขอนแก่น เรียกว่า "ห้องปฏิบัติการทางมานุษยวิทยาของอีสาน"การสะสมรวบรวมและจัดแสดง วัสดุทางวัฒนธรรมทั้งหมด เป็นความสนใจทางวิชาการและความประทับใจส่วนตัวของ อาจารย์สุริยา สมุทคุปติ์ ที่มีต่อวัฒนธรรมพื้นบ้านของอีสาน มาตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2525 ซึ่งเป็นปีแรกที่อาจารย์เริ่มทำงานที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่เมื่ออาจารย์ย้ายมาทำงานที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในปี พ.ศ. 2536 จึงทำแบบเดียวกับที่เคยทำ คือ สร้างห้องปฏิบัติการทางมานุษยวิทยาของอีสานขึ้นที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และต่อมาจึงปรับปรุงให้เป็น "ห้องไทยศึกษานิทัศน์" เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจของมหาวิทยาลัย

ห้องไทยศึกษานิทัศน์   เป็นสถานที่รวบรวมและจัดแสดง “วัสดุทางวัฒนธรรมของอีสาน” ที่ชาวบ้านอีสานยังคงผลิตและใช้ประโยชน์ในวิถีชีวิตประจำวัน วัสดุทางวัฒนธรรมที่รวบรวมไว้ในห้องไทยศึกษานิทัศน์มีจำนวนมากกว่า 2,000 ชิ้น และแบ่งหมวดหมู่วัสดุออกเป็น 3 กลุ่มที่สำคัญ ได้แก่  เครื่องจักสานไม้ไผ่ เครื่องมือประมงน้ำจืดและเครื่องมือการเกษตร  วัสดุทางวัฒนธรรมในกลุ่มนี้เป็น “งาน” ที่ผู้ชายอีสานต้องเรียนรู้ในการผลิตใช้ประโยชน์และดัดแปลงจากพ่อและญาติฝ่ายชายมาตั้งแต่เด็ก อาจกล่าวได้ว่าวัสดุทางวัฒนธรรมในกลุ่มนี้เป็นเครื่องแสดงออกถึงความเป็นผู้ชายในบริบททางวัฒนธรรมดั้งเดิมของอีสาน
               
ผ้าทอและเครื่องนุ่งห่ม วัสดุทางวัฒนธรรมในกลุ่มนี้เป็น “งาน” ที่ ผู้หญิงอีสานต้องเรียนรู้ ฝึกหัดและทำเองจนชำนาญมาตั้งแต่เด็ก วัสดุวัฒนธรรมกลุ่มนี้จึงเป็นเครื่องแสดงออกถึงความเป็นผู้หญิงในบริบททางวัฒนธรรมดั้งเดิมของอีสาน
               
เครื่องปั้นดินเผา วัสดุทางวัฒนธรรมกลุ่มนี้เป็น “งาน” ที่ ผู้ชายและผู้หญิงในชุมชนที่มีดินเหนียวเหมาะแก่การผลิตเครื่องปั้นดินเผา ชนิดต่างๆ ต้องร่วมมือกัน ผู้ชายอาจทำหน้าที่ในการขุดและขนดินเหนียวจากพื้นที่ลุ่มริมแหล่งน้ำและหาฟืนสำหรับเผา นอกจากนี้ทั้งชายและหญิงอาจจะต้องช่วยกันขนสินค้าเครื่องปั้นดินเผาออกไป จำหน่ายในตลาดหรือนำไปแลกสินค้าที่จำเป็นอย่างอื่นนอกหมู่บ้าน วัสดุทางวัฒนธรรมกลุ่มนี้จึงเป็นเครื่องแสดงออกถึงความร่วมมือร่วมใจและการ แบ่งงานกันทำตามความเหมาะสมในบริบททางวัฒนธรรมของอีสาน

นอกจากส่วนของการจัดแสดงในรูปของพิพิธภัณฑ์   แล้วยังมีงานโครงการถ่ายทอดภูมิปัญญาพื้นบ้านและศิลปวัฒนธรรม  ลักษณะของโครงการเป็นการกระตุ้นเด็กและเยาวชนให้ตระหนักและหันมาให้ความสนใจกับเรื่องราวในท้องถิ่นของตนเอง  กิจกรรมที่ให้เด็กและเยาวชนได้ทำคือ การส่งภาพเข้าประกวดในหัวข้อที่กำหนดซึ่งจะเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตคนอีสาน  ผู้ที่ได้รับคัดเลือกจะได้มาทัศนศึกษาร่วมกันตามสถานที่ต่างๆ ในจังหวัดนครราชสีมา ได้แก่ หอไตรกลางน้ำ  วัดหน้าพระธาตุ  หอศิลป์ของอาจารย์ทวี  รัชนีกร ศิลปินแห่งชาติ  สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี พ.ศ.2548  การทำกิจกรรมมีการพักค้างคืนหนึ่งวัน   แล้วอีกวันหนึ่งจะต้องวาดภาพส่งเข้าประกวดอีกครั้ง ภาพวาดของนักเรียนทั้งที่เข้ารอบและได้รับรางวัล  ถือเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้  ภาพเหล่านี้กำลังเตรียมจัดแสดงในห้อง  สำหรับผู้เยี่ยมชม  เมื่อได้เห็นภาพที่นักเรียนวาด  จะต้องรู้สึกทึ่งในผลงานและฝีมือของพวกเขา   

คุณจารุวัฒน์ นนทชัย เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป เล่าว่า   จากโครงการดังกล่าว ทำให้เห็นว่านักเรียนส่วนใหญ่มักถูกตีกรอบทางความคิด  อย่างเช่น  เมื่อตั้งหัวข้อว่า  มหัศจรรย์ภูมิปัญญากับวิถีวัฒนธรรมคนอีสาน  เด็กจะมองว่าเป็นเรื่องของการละเล่น  เรื่องของประเพณี  เช่น งานบุญบั้งไฟ  ในภาพจะมีคนฟ้อนรำ  มีแห่นางแมว ทั้งที่ความจริงเรื่องใกล้ตัวอย่างเรื่องการทอผ้า  ลายผ้า  ต่างเป็นมหัศจรรย์เหมือนกัน  ในการทำโครงการนี้  คุณจารุวัฒน์ยังมีความต้องการที่จะเน้นให้โอกาสกับเด็กๆ ที่อยู่นอกเมืองมากขึ้น

ส่วนการจัดแสดงนอกจากการจำลองภาพวิถีชีวิตในสถานที่เปิดโล่ง  ยังมีส่วนจัดแสดงสิ่งของในตู้กระจก มีทั้งเครื่องใช้พื้นบ้านของคนอีสานและพวกเครื่องใช้พื้นบ้านของต่างประเทศ  ได้แก่  ประเทศญี่ปุ่น  ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นต้น  ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เข้าชมได้เปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างกับเครื่องใช้พื้นบ้านของประเทศไทย

ในการนำชมของคุณจารุวัฒน์  ได้ให้เกร็ดความรู้เรื่องกระติ๊บและก่องข้าว  ภาชนะทั้งสองนี้ใช้สำหรับใส่ข้าวเหนียวเหมือนกัน  ความแตกต่างอยู่ที่รูปทรง  ถ้าเป็นกระติ๊บจะเป็นทรงกระบอกอย่างที่เห็นกันทั่วไป  แต่ถ้าเป็นก่องข้าวจะมีการสานและทำเป็นรูปทรงที่ประณีตกว่า  บางอันจะเป็นทรงกรวย  บางอันจะมีขาเป็นรูปกากบาท  อีกอันหนึ่งคือภาชนะสำหรับใส่ดอกไม้ถวายพระของคนอีสานเรียกว่า ขันกะหย่อง  ปัจจุบันไม่ค่อยมีใครใช้  สิ่งของจัดแสดงอื่นๆ ที่มีอยู่ในนี้ยังมีอีกเช่น  หม้อข่า  ไหปลาร้า  เชี่ยนหมาก  ข้องใส่ปลา  บ้องปูน  หมวกใบลาน  เครื่องเล่นพื้นบ้าน ฯลฯ เนื่องจากเครื่องใช้พื้นบ้านที่นำมาจัดแสดงที่นี่  ส่วนใหญ่ทำด้วยไม้ไผ่  ดังนั้นจึงอยู่ได้ไม่นาน โดยเฉพาะชิ้นที่ถูกมอดกิน   วิธีการแก้ปัญหาคือ การจ้างชาวบ้านให้จักสานทำขึ้นมาใหม่  

ข้อเด่นของห้องไทยศึกษานิทัศน์อีกประการหนึ่งคือ  การให้ความสำคัญกับการจัดนิทรรศการในเรื่องที่น่าสนใจอยู่เป็นประจำ  หัวข้อที่จัดได้แก่ นิทรรศการบุญบั้งไฟ นิทรรศการว่าวไทย นิทรรศการผ้าไทย  นิทรรศการกับดักจักสาน เป็นต้น  ที่ยังตั้งแสดงอยู่กลางห้องคือ เรื่องภาพเก่า  เมื่อไม่นานมานี้มีการจัดนิทรรศการเรื่องว่าว  ซึ่งเราจะเห็นมีว่าวแขวนอยู่ที่ผนังห้องอยู่หลายตัว ในจังหวัดบุรีรัมย์มีงานมหกรรมว่าวอีสาน  จัดกันเป็นประจำในเดือนธันวาคมของทุกปี  ว่าวของแต่ละภาคจะมีลักษณะแตกต่างกันออกไป  ที่เรารู้จักกันดีคือ ว่าวจุฬาและว่าวปักเป้า  แล้วยังมีว่าวอีกหลายชนิดที่แสดงเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น  เช่น  ว่าวอีลุ้มของอีสาน  ว่าววงเดือน ว่าวนก ว่าวควายของภาคใต้  ในงานนี้เรายังจะได้เห็นว่าวต่างประเทศเข้าร่วมอีกหลายประเทศ  ว่าวของจีนเป็นว่าวสายรูปมังกรต่อกันเป็นร้อยตัว  ส่วนของมาเลเซียเป็นว่าววงเดือนที่มีลวดลายสวยงามมาก  ถ้าเป็นว่าวมาจากทางยุโรป  อเมริกา  ความแตกต่างจะอยู่ตรงวัสดุที่ทำมาจากวัสดุสังเคราะห์

นิทรรศการที่กำลังจัดเตรียมในครั้งต่อไปคือ เรื่องหน้ากาก  โดยการสรรหารวบรวมหน้ากากทั้งของพื้นบ้านประเทศไทยและหน้ากากของต่างประเทศ  อาทิเช่น ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย เป็นต้น   


การบริหารจัดการห้องไทยศึกษานิทัศน์ขึ้นอยู่กับสำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี    ในการทำงานขณะนี้ยังมีข้อจำกัดอยู่ที่บุคลากร  ปัจจุบันผู้ที่รับผิดชอบงานนี้โดยตรงมีคุณจารุวัฒน์เพียงคนเดียว  ซึ่งต้องดูแลทั้งส่วนจัดแสดงและส่วนของโครงการที่ต้องเข้าพื้นที่  สิ่งที่อยากทำในลำดับต่อไปคือ การทำป้ายอธิบายสิ่งของที่จัดแสดง  ส่วนของข้อมูลและการจัดทำทะเบียนสิ่งของนั้นมีอยู่แล้วทั้งหมด 
 


สาวิตรี  ตลับแป้น /ผู้เขียน /ถ่ายภาพ
สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่  9   เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2553
ข้อมูลจาก:  http://soctech.sut.ac.th/ge/genew/thai.php [10/08/2010]
 
ชื่อผู้แต่ง:
-