พิพิธภัณฑ์วัดพรหมราช


ที่อยู่:
วัดพรหมราช หมู่ 8 ต.ตูม อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา 30150
โทรศัพท์:
044-441929, 089-8429536 (เจ้าอาวาส)
วันและเวลาทำการ:
กรุณาแจ้งล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2530
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์วัดพรหมราช

พิพิธภัณฑ์วัดพรหมราช    เป็นความตั้งใจและยึดมั่นนับจากอดีตเจ้าอาวาสวัดพรหมราช คือพระสีหราชสมาจารมุนี (โอภาส  นิรุตติเมธี)  เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา (พระธรรมวรนายก)  ที่ริเริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2530   อาคารเดิมจะเป็นพิพิธภัณฑ์และห้องสมุดใช้พื้นที่ร่วมกัน   ส่วนอาคารพิพิธภัณฑ์หลังใหม่ในปัจจุบัน   สร้างขึ้นในราวปีพ.ศ. 2544  โดยได้งบประมาณสนับสนุนมาจากกองทุนพัฒนาชุมชนและงบประมาณของวัด   ในการจัดแสดงมีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมามาช่วยดูแลในเรื่องข้อมูล
 
ปัจจุบันผู้สืบทอดเจตนารมย์คือ  พระครูโกศลธรรมวิบูล   เจ้าอาวาสคนปัจจุบัน  ท่านได้เล่าถึงความสนใจของท่านต่อการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์  ท่านบอกว่าความสนใจของท่านคือความผูกพันที่มีต่อที่นี่  ตอนนี้อยู่ในช่วงการทำรายละเอียดคำอธิบายสิ่งของแต่ละชิ้นที่จัดแสดง   เจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากรมาช่วยทำบ้าง  วัตถุสิ่งของในพิพิธภัณฑ์นี้ส่วนใหญ่ได้มาจากการบริจาคของชาวบ้าน  ขณะที่บางส่วนมีคนนำมาขายในราคาถูก   ท่านบอกว่ารับซื้อไว้เพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้
 
ปัจจุบันยังมีการขุดพบวัตถุโบราณในละแวกใกล้เคียงวัด   ตัวอย่างเช่น  ไหขนาดใหญ่ที่จัดแสดงอยู่ด้านหน้า   ชาวบ้านขุดพบห่างจากวัดไปประมาณหนึ่งกิโลเมตร แล้วนำมาบริจาควัด  พระครูโกศลธรรมวิบูลท่านตั้งข้อสังเกตว่าทางด้านทิศตะวันตกของวัด    ในอดีตน่าจะเป็นชุมชนโบราณ  
 
นอกจากพวกไหที่ชาวบ้านขุดค้นพบ  ห่างออกไปเพียง   200-300  เมตร  ยังพบแท่นหินสลัก  แบบโบราณ   ถ้าเจอของในลักษณะนี้  ตามความเชื่อของชาวบ้าน   การเก็บวัตถุโบราณที่ทำจากศิลาแลงเอาไว้ที่บ้านเป็นสิ่งไม่ดี   ดังนั้นเขาจะนำมาถวายวัด    สำหรับวัตถุโบราณที่ชาวบ้านเอามาขาย  ท่านบอกว่าส่วนใหญ่จะเป็นถ้วยชามที่ค่อนข้างชำรุด    มาถึงทุกวันนี้ก็ยังมีคนค้นพบวัตถุโบราณอยู่    นอกจากชาวบ้านที่พบของเหล่านี้โดยบังเอิญแล้ว    ยังมีพวกขุดของเก่า    พวกนี้จะมีอุปกรณ์เหมือนค้นหาวัตถุระเบิด  พวกนี้จะตระเวนไปตามแหล่งที่มีการค้นพบวัตถุโบราณ
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จัดแสดงสิ่งของในอาคาร 2  ชั้น   เมื่อเดินเข้าไปจากด้านหน้าพิพิธภัณฑ์  ผู้เข้าชมจะสะดุดตากับหน้าบันเก่าของวัดแกะสลักจากไม้   ตรงกลางห้องมีธรรมาสน์เก่าตั้งอยู่   ท่านบอกว่าแต่เดิมอยู่ในสภาพใช้การไม่ได้   บรรดาพระสงฆ์ของวัดนี้ช่วยกันซ่อมจนใช้การได้   ใช้ในการเทศน์มหาชาติที่รู้จักกันดีในเรื่องมหาเวสสันดรชาดก   
การจัดแสดงสิ่งของบริเวณชั้นล่างในตู้กระจกเป็นพวกเครื่องถ้วยเบญจรงค์    เครื่องลายคราม   กระโถน   กระปุก   หม้อไหต่างๆ  อาวุธโบราณ    ที่ดูสวยงามแปลกตาคือชุดกระปุกลูกจัน   ท่านบอกว่าน่าจะอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่  16-18  และดูเหมือนจะเป็นที่ใส่แป้งจากที่เห็นใส่ไว้ข้างใน   ตู้กระจกที่จัดแสดงวัตถุสิ่งของเหล่านี้   ทางวัดเป็นผู้สั่งทำ   ตัวท่านเองมีความสนใจเรื่องพิพิธภัณฑ์    ในเวลาท่านไปต่างประเทศอย่างเช่นอินเดีย   เมื่อมีโอกาสท่านจะไปเดินดูพิพิธภัณฑ์
 
ส่วนที่ตั้งแสดงไว้ยังมีพวกไม้กลายเป็นหิน   ที่ได้มาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา    ใกล้กันยังมีสัตว์สตัฟฟ์อย่างเสือลายเมฆ   นกเงือก    รังต่อ   ส่วนที่เป็นเครื่องมือพื้นบ้านที่เราไม่คุ้นตาคือ   เครื่องบดยาขนาดใหญ่สูงเท่าตัวคน เป็นของเจ้าอาวาสวัดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ   แต่เดิมท่านเคยเป็นเณรที่วัดนี้    ใกล้กันมีหินบดยา   และมีดหั่นยา
ส่วนจัดแสดงชั้นบน   ภายในห้องกระจกด้านซ้ายมือคือห้องที่เก็บรวบรวมพระพุทธรูปทั้งแบบโบราณและแบบที่เห็นกันในปัจจุบัน   สำหรับชาวพุทธที่มองสัญลักษณ์อันเป็นตัวแทนของพระพุทธองค์ด้วยศรัทธาอันอบอุ่นแล้ว  สิ่งที่เพิ่มมาปรากฏต่อสายตาคือ  ความรู้สึกละลานตาต่อศิลปะการสร้างองค์พระพุทธรูปในแต่ละช่วงของยุคสมัย   ตรงมุมด้านหนึ่งมีกล่องใส่คัมภีร์ใบลานมีสีสรรลวดลายวิจิตร คัมภีร์ใบลานเหล่านี้    เป็นตำรายาสมุนไพรและตำราเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา
 
หลังจากชื่นชมศิลปะอันล้ำค่าทางพระพุทธศาสนาแล้ว  สิ่งที่จัดแสดงนอกห้องพระพุทธรูปบริเวณชั้นบนก็มีความน่าสนใจเช่นเดียวกัน   อย่างเช่น  แท่นหินแกะสลักที่มีความเก่าแก่นับพันปี   ตู้แสดงเงินตราสมัยโบราณ   เครื่องปั้นดินเผา  เชี่ยนหมาก   เป็นต้น
 
หลังการเยี่ยมชมวัตถุสิ่งของที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์    แนะนำให้เดินชมบริเวณโดยรอบของวัด  มีโบสถ์หลังเก่าหรือสิมที่มีอายุนับร้อยปี  ทางวัดได้อนุรักษ์เอาไว้   แล้วเห็นกิจกรรมของทางวัดที่เชื่อมโยงกับชุมชน  วัดพรหมราชมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก  ลานปฏิบัติธรรม  ห้องสมุด  ท่านเจ้าอาวาสบอกว่าช่วงนี้กำลังทำการปรับปรุงห้องสมุด  ในการดำเนินงานปัจจุบันอยู่ในโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน  ซึ่งชาวบ้านในชุมชนและหน่วยงานส่วนท้องถิ่นและทางราชการต่างให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี   
 
สาวิตรี   ตลับแป้น / ผู้เขียน / ถ่ายภาพ
ข้อมูลจาก :  สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่   24   เดือนธันวาคม  พ.ศ. 2551
ชื่อผู้แต่ง:
-