พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดโพธิ์ศรี


ที่อยู่:
บ้านดู่ ตำบลเมืองปัก อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา 30150
โทรศัพท์:
089-8126472 คุณสตราวุฒิ คำสุข
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน (แจ้งล่วงหน้าก่อนเข้าชม)
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2546
ของเด่น:
เรือนครัว เรือนอยู่ไฟ เครื่องใช้ทางการเกษตร ผ้าไหมบรรพบุรุษ พระพุทธรูป
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 29 สิงหาคม 2556

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดโพธิ์ศรี

สำหรับชุมชนไทยเวียง อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา การมีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นคือมิติทางวัฒนธรรมที่จะบอกเล่าเรื่องราวถิ่นฐานเดิม รากเหง้าของวัฒนธรรมประเพณี รวมถึงความสามารถในการทอผ้าไหมที่ปัจจุบันกลายมาเป็นอาชีพหลักของชาวบ้าน  เป็นสิ่งที่ชุมชนมีความภาคภูมิใจ
 
คุณสตราวุฒิ คำสุข ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ ครั้งยังเป็นเด็กเขามักจะใกล้ชิดคลุกคลีกับผู้เฒ่าผู้แก่ ในแต่ละวันของการจับกลุ่มสนทนา มีหลายครั้งที่ต่างรำลึกถึงความหลัง เล่าสู่กันฟังในเรื่องราวของอดีต ข้อมูลต่างๆ คุณสตราวุฒิได้ซึมซับสนใจและรวบรวมไว้กับตัว  ประกอบกับได้ลงมือทำด้วยตนเอง เขาทอผ้าเป็นตั้งแต่อายุ 9 ขวบ มาถึงวันนี้สามารถทอได้ทุกลาย
 
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดโพธิ์ศรีจัดแสดงอยู่ชั้นล่างของกุฏิพระ  แบ่งออกเป็นสองห้อง  สิ่งของเครื่องใช้ทั้งหมดคือ อดีตของคนไทยเวียงที่นี่  ด้วยสายตาเราอาจจะมองว่าสิ่งของนั้นแยกออกจากกัน แต่ในสายตาของคุณสตราวุฒิ  สิ่งของทุกชิ้นสามารถเชื่อมโยงเป็นเรื่องเดียวกัน  ห้องด้านในเมื่อกวาดตามองไปเราจะเห็นมุมผ้าไหม อุปกรณ์ทอผ้า หุ่นชายหญิง ผู้ชายนุ่งโสร่ง ผู้หญิงนุ่งซิ่น ตู้เชี่ยนหมาก ขัน พานรอง ฆ้อง พระพุทธรูป หีบโบราณ
 
ที่มาของคนไทยเวียง ย้อนไปได้ตั้งแต่สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี  คนไทยเวียงอพยพมาจากเวียงจันทน์ มาพร้อมกับพระแก้วมรกต  การมีรากเหง้าทำให้คนที่นี่ยังสืบสานวัฒนธรรมประเพณีไว้  อาชีพแต่ดั้งเดิมมาคือการทอผ้าหางกระรอก ปัจจุบันมีการฟื้นฟูอัตลักษณ์เรื่องการแต่งกาย ภาษาถิ่น การละเล่นต่างๆ
 
คุณสตราวุฒิเล่าว่า สมัยรุ่นทวดขึ้นไป วิถีชีวิตชาวบ้าน หลังการทำนา ผู้หญิงปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ผู้ชายจักสาน พอถึงหน้าแล้งไม่มีอาหารจะบริโภคในครัวเรือน มีก็แต่ผ้าไหมที่ทอเอาไว้เก็บอยู่ในหีบเป็นจำนวนมาก  จึงนำผ้าไหมไปแลกของกับคนจีนในตลาด  คนจีนเขาก็นำผ้าไหมไปจำหน่าย  ต่อมาผ้าไหมติดตลาด ชาวบ้านปลูกหม่อนเลี้ยงไหมไม่ทันและไม่พอแก่ความต้องการ เขาก็จะหาซื้อเส้นไปมาให้ทอ อย่างทอได้ 6 ผืน เจ้าของเส้นไหมจะได้ผ้า 4 ผืน ชาวบ้านจะได้ 2 ผืน ทำอย่างนี้เรื่อยมาจนมาถึงรุ่นยาย  คนทอผ้าเริ่มมีทุนจึงซื้อไหมมาทอเองแล้วส่งขาย แล้วแต่จะมีการสั่งซื้อ  เมื่อส่งขายก็แล้วแต่เขาจะเอาไปขาย  จึงไม่มีชื่อเสียง  การทอผ้าไม่มีการกักตุนผ้าไหมไว้ที่บ้านเหมือนแต่ก่อน ถ้าทอไว้จะถือว่านอนทุน
 
แล้วมาเกิดเหตุผิดพลาดช่วงปี พ.ศ.2544-2545 ช่วงนั้นขายผ้าเป็นพับ ไม้นึงประมาณ 50-60 หลา ชาวบ้านถูกโกง พ่อค้าเขาจ่ายเช็คมา  แรกๆก็ขึ้นเงินได้  พอครั้งที่สี่เช็คเด้ง ชาวบ้านโดนโกงคิดรวมกันประมาณ 3 ล้านบาท จึงได้คิดมารวมตัวกันตั้งกลุ่ม ใช้ชื่อกลุ่มว่า “กลุ่มกิจกรรมทอผ้าไหม ”สิบกว่าปีผ่านไป บ้านดู่เริ่มมีชื่อเสียงบ้าง ในปีพ.ศ.2553 ผู้ว่าราชการจังหวัด นายประจักษ์ สุวรรณภักดี ได้เข้ามาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์และได้เห็นชาวบ้านทอผ้า  พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯเสด็จมา 2 ครั้ง จากนั้นได้เปิดเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว มีการฟื้นฟูวัฒนธรรมการแต่งกาย
 
ประกอบการอธิบายคุณสตราวุฒิได้ชี้ให้ดูที่หุ่นชาย-หญิง  สมัยก่อนผู้หญิงใส่เสื้อคอตั้งแขนกระบอกหัวแดง ซิ่นเป็นซิ่นคั่น ตัวซิ่นบอกถึงสถานภาพ ถ้าตีนซิ่นดำแสดงว่ามีสามีแล้ว ถ้าซิ่นแดงแสดงว่าเป็นสาวโสด  ผู้ชายนุ่งโสร่ง  คุณสตราวุฒิให้สังเกตที่ลายของโสร่งที่ตัวหุ่นเขาเรียกว่าโสร่งตาคู่ เป็นผ้าหางกระรอกอำเภอปักธงชัย  ส่วนที่คุณสตราวุฒิสวมอยู่เป็นโสร่งตาเดี่ยวมาจากที่อื่น
 
ส่วนการจัดแสดงซิ่นผ้าไหมจำนวนมากตรงมุมใกล้กัน ใช้ชื่อว่า “ผ้าไหมร้อยปี”  มีที่มาว่าสมัยก่อนผู้เฒ่าผู้แก่รุ่นคุณยาย จะมีผ้าซิ่นไหมน้อยคือใช้ไหมเส้นเล็กทออย่างสวยงามประณีต มีอย่างน้อยคนละ 2 ผืน เวลาตายเขาจะนุ่งและเผาไปตามกัน คราวนี้เห็นว่ากลัวลวดลายผ้าโบราณจะสูญหายไป  จึงได้ขอมาจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์  นั่นจึงมีความหมายว่า ผ้าไหมหนึ่งผืนคือหนึ่งชีวิตที่จะยังคงอยู่ให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชมผลงาน  โดยผ้าแต่ละผืนเขียนชื่อติดไว้ว่าเป็นของใคร  ในวิถีชีวิตของคนลาว  ผ้าไหมยังเป็นผ้าที่ลูกสะใภ้นำไปไหว้แม่ผัวพ่อผัว ทำให้สามารถสืบรู้ได้ถึงช่วงเวลาของผ้าไหมผืนนั้น 
 
ผ้าไหมลายเอกลักษณ์ของที่นี่คือ ผ้าซิ่นคั่นไหมลูกลาย  ไหมลูกลายหมายถึงไหมหางกระรอก ด้วยการนำไหมสองเส้นสองสีมาตีเกลียวกันแล้วก็คั่น  สมัยก่อนใช้ไหมเส้นเล็กทอผ้า ยิ่งเส้นเล็กเท่าไหร่ความละเอียดอ่อนของผ้าจะยิ่งมากขึ้น เนื้อนุ่ม  มีความเงางามและทนทานใช้ได้นาน  ปัจจุบันที่เห็นว่าทำไมผ้าแข็ง  เพราะว่าใช้ไหมเส้นใหญ่กว่าเดิม เนื่องจากต้องการนำไปตัดเย็บ  ถ้าใช้ไหมเส้นเล็กทอผ้าจะทำให้ปริ  คนโบราณเขาจะนุ่งผ้าเป็นผืนไม่ได้ตัดเย็บ 
 
งานประเพณีที่ได้ฟื้นฟูขึ้นมานอกจากการแต่งกายก็มี รำนางด้ง สมัยโบราณมีการรำนางด้งในวันสงกรานต์เดือนห้า นางด้งจะเป็นการเสี่ยงทายฟ้าฝน  รำเดือนห้ายังเป็นการเกี้ยวพาราสีระหว่างชายหญิง ถูกใจปฏิพัทธ์รักใคร่กัน เดือน 12 แต่งงาน ถ้าใครยังไม่ได้คู่ปีหน้าเดือนห้าก็มารำใหม่  นางรำตอนนี้มี 20 คน  มีการฝึกหัดกันไว้สามรุ่นคือ รุ่นเด็กเล็ก รุ่นเยาวชน รุ่นแม่บ้าน
 
อีกหนึ่งพิธีกรรมของชาวไทยเวียงที่ยังนับถือปฏิบัติคือ การเลี้ยงผีประจำตระกูล  พิธีจะเริ่มตั้งแต่เดือนหกขึ้นไป  การเลี้ยงผีจะยึดถือตามฝ่ายหญิงคือ การแต่งงานเป็นการแต่งลูกเขยเข้าบ้าน แต่ละตระกูลจะถือไม่เหมือนกัน บางตระกูลถือธรณี บางตระกูลถือเทวดา  โดยจะมีเรือนเจ้าโคตรอยู่หนึ่งเป็นผู้รักษาผี  ในการเลี้ยงอย่างผีธรณี  มีขันห้าผ้าขาววาดอกไม้ธูปเทียนขนมหวาน ยกขันด้วยกัน ผูกข้อไม้ข้อมือ 
 
แล้วเชี่ยนหมากทองเหลืองที่จัดแสดงไว้ในตู้ให้เห็นเด่นชัด ความหมายนั้นคือสิ่งที่ตาทวดเอามาแต่งยายทวด เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของการไปสู่ขอผู้หญิง  จะต้องมีเชี่ยนหมาก ขันน้ำพานรอง และหีบหนึ่งใบ  ภายในห้องนี้มีหีบจัดแสดงไว้หนึ่งใบเขียนว่า หีบแขก เป็นหีบใช้ใส่ผ้านุ่งผ้าห่ม  อันที่เป็นกำปั่นเหล็ก อันนี้เป็นของเศรษฐี ใช้ใส่เงินทองของมีค่าต่างๆ สิ่งของที่จัดแสดงนี้ชาวบ้านนำมามอบให้   เครื่องทองเหลืองอื่นๆ ก็มีพวกถาดทองเหลือง  ใช้ใส่สำรับอาหารถวายพระ
 
การสืบทอดประเพณีเกิดมาจากบุตรหลานจดจำสิ่งที่พ่อแม่ปฏิบัติ อย่างวันที่ 13 เมษายน วันสงกรานต์ วันนี้ชาวบ้านจะไม่ไปไหน วันที่ 12 ก่อพระทราย วันที่ 13 ตักบาตรบังสุกุล อธิษฐานบรรพบุรุษ พอตกเที่ยงตกบ่ายชาวบ้านจะรู้กันว่าจะมีการใช้เกวียนแห่หลวงพ่อสัมฤทธิ์  เด็กหนุ่มเด็กสาวจะรื่นเริงกัน ในอนาคตคุณสตราวุฒิคิดว่าความเชื่อและวัฒนธรรมบางอย่างจะค่อยหมดไป อย่างการทอผ้าคงหมดในรุ่นแม่  การเย็บกรวยไหว้ผีประจำตระกูลเป็นหน้าที่ของผู้หญิง  เด็กสมัยนี้จับใบตองไม่เป็นแล้ว
 
ตรงบอร์ดติดในพิพิธภัณฑ์เขียนไว้ว่า ฮีต 12 ครอง 14  คุณสตราวุฒิไล่เรียงดูแล้วอธิบายว่าคนลาวจะอยู่ด้วยฮีต คือจารีตทำบุญ 12 เดือน ครอง 14 คือข้อประพฤติร่วมกันในชุมชน 14 ข้อ ปัจจุบันมีบางฮีตสูญหายไปอย่างบุญเดือน 9 ข้าวประดับดินจะหายไป  บุญบวชนาคทำกันทั่วไปแล้วแต่จะสามารถลางานได้ บุญคุณลานนี้หมดไปแล้ว สู่ขวัญข้าวและบุญขนมจีนจะมารวมกับบุญเทศน์มหาชาติ  
 
คุณสตราวุฒิพาเดินออกย้อนออกมาห้องแรก  ห้องนี้เน้นที่เครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน  ในวิถีชีวิตการทำนาก็จะมีครกกระเดื่อง  สาก  ไถ คราด กระบุง กระจาด ถังน้ำ  เครื่องมือจับปลาต่างๆ อันที่เด่นคือ สาก สำหรับตำข้าวเม่า จะมี 2 ตัว ตัวผู้ยาว 9 ศอกดังเหมิ่ง ตัวเมียยาว 8 ศอกดังหม่าง  ถ้ามีเสียงเหมิ่งหม่างแสดงว่าบริเวณนั้นมีลานตำข้าวเม่า  ซึ่งเป็นสถานที่ให้หนุ่มสาวได้มาพบปะ เกี้ยวพาราสีกัน ในการตำข้าวเม่าได้มีการนำไปสาธิตอยู่เป็นประจำในงานประจำปีของอำเภอปักธงชัยและงานท้าวสุรนารี 
 
มาถึงส่วนหน้าใกล้กับประตูทางเข้า  เราจะเห็นมุมหนึ่งเป็นห้องครัวสมัยก่อน ถัดมามีเปลเด็ก และมีการตั้งกองฟืนไว้ และการอยู่ไฟหลังการคลอดบุตร  ตรงนี้คุณสตราวุฒิบรรยายได้น่าสนใจมาก  ตามปกติชาวไทยเวียงเมื่อแต่งงานแยกครัวเรือน  แล้วเมียมีลูก  ผู้ชายจะไปตั้งฟืนไว้หน้าบ้าน ถ้าฟืนล้ม ถือว่าลางไม่ดี ถ้าเมียคลอดลูก ได้ยินเสียงเด็ก  ผู้ชายจะมาชักฟืนให้ล้ม ญาติพี่น้องเห็นกองฟืนล้มก็รู้แล้วว่าคลอดลูกแล้ว  จะพากันมาเยี่ยม หลังการคลอดบุตร ผู้หญิงสมัยก่อนต้องอยู่ไฟนอนกระดานไฟอย่างน้อย 9 คืน
 
ในการนำชมพิพิธภัณฑ์ของคุณสตราวุฒิ  ทำให้รู้สึกว่า เรื่องราวทุกสิ่งทุกอย่างของบรรพบุรุษสถิตอยู่ในกายของเขาอย่างแท้จริง เขาจึงได้รับเชิญให้ไปเป็นวิทยากร ไปสาธิตการทอผ้า การตำข้าวเม่า ในหลายงานหลายจังหวัด ในงานประเพณีต่างๆก็ไปเข้าร่วมขบวน ซึ่งทางหมู่บ้านและทางโรงเรียนจะมีนางรำหลายรุ่นอยู่ประมาณ 20 คน เป็นการรำนางด้งกับงานสาวไหม 
 
การมาเยี่ยมชมหรือเข้ามาเรียนรู้  เขาบอกว่าไม่อยากให้ทำอย่างฉาบฉวยเหมือนบางคนที่มายืมหนังสือไปถ่ายเอกสารทำรายงานแล้วก็หายไปทั้งต้นฉบับ  เพราะสิ่งที่เขาทำเกิดมาจากใจรักและความตั้งใจของเขากับชาวบ้านที่นี่อย่างแท้จริง  สำหรับการมาเป็นหมู่คณะ ที่นี่ได้จัดทำจุดเรียนรู้วิถีชีวิตภูมิปัญญาท้องถิ่นและมีที่พักแบบโฮมสเตย์ไว้ต้อนรับ  โดยมีค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อย
 
----------------------------------------------------
 
สาวิตรี  ตลับแป้น / ผู้เขียน
ข้อมูลจาก  :  สำรวจภาคสนาม วันที่ 24 เมษายน 2556

 
----------------------------------------------------
 
การเดินทาง : อำเภอปักธงชัยอยู่ห่างจากนครราชสีมา 32 กม. ไปตามทางหลวงหมายเลข 304(โคราช-ปักธงชัย-กบินทร์บุรี) ก่อนถึงทางแยกเข้าตัวอำเภอเมืองปักธงชัย   มีทางเบี่ยงซ้าย ให้สังเกตป้ายทางด้านซ้ายมือจะเห็นป้ายบอกทางไปบ้านดู่ วัดโพธิ์ศรี
 
 
 
 
ชื่อผู้แต่ง:
-