พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาประมง


พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นแหล่งเก็บรักษาสิ่งมีชีวิตในน้ำหลายประเภท ทั้งสัตว์น้ำ ปลาชนิดต่าง ๆ สาหร่ายชนิดต่าง ๆ รวมทั้งเครื่องมือประมงพื้นบ้าน พื้นที่ส่วนหนึ่งกั้นไว้สำหรับเก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิตในน้ำเพื่อการวิจัยและอ้างอิง อีกส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่จัดแสดงสัตว์น้ำที่มีขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นสัตว์ที่สตัฟฟ์ไว้ บางชิ้นเป็นโครงกระดูก มีป้ายนิทรรศการที่ให้ข้อมูลชัดเจน และมีรูปประกอบ ข้อมูลมีทั้งชื่อวิทยาศาสตร์ ลักษณะทั่วไป ลักษณะเด่น แหล่งอาศัย และอาหาร

ที่อยู่:
คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
โทรศัพท์:
02-579-5579, 02-942-8981 ต่อ 1676
วันและเวลาทำการ:
จันทร์ -ศุกร์ 9.00-16.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2506
จัดการโดย:

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาประมง

ถ้ามีการจัดอันดับสัตว์น้ำที่มีรูปร่างแปลกที่สุดในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ปลาประหลาดรูปร่างกลมแบน เส้นผ่าศูนย์กลางขนาดใหญ่กว่าล้อรถแทรกเตอร์ที่เรียกว่า “ปลาพระอาทิตย์” น่าจะมีชื่อติดอยู่ในอันดับต้นๆอย่างแน่นอน เพราะนอกจากรูปร่างทรวดทรงที่ปราศจากส่วนคอดเว้าตรึงตาตรึงใจผู้ได้พบเห็นแล้ว ปลาชนิดนี้ยังไม่มีครีบหางอย่างแท้จริงด้วย ข้อมูลจากป้ายในพิพิธภัณฑ์อธิบายว่าแผ่นที่เห็นบริเวณส่วนท้ายลำตัวเกิดจากเนื้อเยื่อครีบหลังและครีบก้นเชื่อมต่อกัน ชั้นหนังหนามากประมาณ 15เซนติเมตรและมีชั้นไขมันหนาเพื่อช่วยรักษาอุณหภูมิในร่างกายและเพื่อป้องกันตัว

ปลาพระอาทิตย์เป็นปลากระดูกแข็ง มีขนาดใหญ่และหนักที่สุดในโลก ตัวโตเต็มที่หนักได้ถึง 2 ตัน ขนาดใหญ่ถึง 11 ฟุต นอกจากนี้ยังครองตำแหน่งแชมป์สัตว์มีกระดูกสันหลังที่มีจำนวนไข่มากที่สุดอีกด้วย ออกไข่ครั้งละประมาณ 300 ล้านฟอง ตามปกติว่ายอย่างเชื่องช้าบริเวณผิวน้ำในมหาสมุทรเขตร้อนและเขตอบอุ่น บางครั้งจะนอนตะแคงลอยตัวบนผิวน้ำให้นกมาจิกกินปรสิตบนผิวหนัง น่าแปลกใจว่าระหว่างปลากับนกสื่อสารกันได้อย่างไร ทำไมนกถึงรู้ว่าถ้าเห็นปลาตัวกลมเหมือนขนมแป้งทอดลอยตุ๊บป่องอยู่ในทะเล ควรจะแวะลงมาดูเสียหน่อยว่ามีเมนูอะไรให้กินบ้าง แม้ว่าปลาพระอาทิตย์จะมีน้ำหนักตัวมาก แต่มันสามารถกระโดดขึ้นเหนือผิวน้ำได้สูงถึง 10 ฟุต 

จากคำบอกเล่าของผศ.ธีระพงศ์ ด้วงดี ปลาพระอาทิตย์เป็นสัตว์หายาก ปลาสตัฟฟ์ตัวนี้อยู่กับพิพิธภัณฑ์มานาน เข้าใจว่าได้มาจากเรือประมงที่เจ้าของเป็นศิษย์เก่าของคณะฯ โดยปกติถ้าชาวประมงจับได้จะโยนทิ้ง เพราะกินไม่ได้ แถมยังเปลืองพื้นที่เก็บในเรือ 

นอกจากปลาพระอาทิตย์แล้ว ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยังเป็นแหล่งเก็บรักษาสิ่งมีชีวิตในน้ำอื่นๆไว้หลายประเภท ทั้งสัตว์น้ำ ปลาชนิดต่างๆ สาหร่ายชนิดต่างๆ รวมทั้งเครื่องมือประมงพื้นบ้าน อาคารพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่กลางน้ำ ภายในเป็นห้องโถงค่อนข้างใหญ่ พื้นที่ส่วนหนึ่งกั้นไว้สำหรับเก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิตในน้ำเพื่อการวิจัยและอ้างอิง อีกส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่จัดแสดงสัตว์น้ำที่มีขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นสัตว์ที่สตัฟฟ์ไว้ บางชิ้นเป็นโครงกระดูก มีป้ายนิทรรศการที่ให้ข้อมูลชัดเจนอยู่ใกล้ๆและมีรูปประกอบ ข้อมูลมีทั้งชื่อวิทยาศาสตร์ ลักษณะทั่วไป ลักษณะเด่น แหล่งอาศัย และอาหาร

โครงกระดูกใหญ่ที่สุดในพิพิธภัณฑ์คือโครงกระดูกของ “วาฬบรูด้า” เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ความยาวเฉลี่ย 13 เมตร พบแพร่กระจายอยู่ทั่วโลกในทะเลเขตร้อนและเป็นวาฬชนิดเดียวที่อาศัยอยู่ในอ่าวไทย วาฬบรูด้าไม่มีฟัน แต่ใช้บาลีน (baleen) ซึ่งเป็นแผ่นกรอง สำหรับกรองฝูงปลากิน ในตู้กระจกจัดแสดงโครงกระดูกของ “โลมาปากขวด” เป็นโลมาขนาดเล็ก ยาว 1.9-3.8 เมตร สีเทาอ่อนถึงเกือบดำ ส่วนท้องสีขาวอมชมพู เป็นสัตว์ที่อยู่กันเป็นกลุ่ม บางครั้งพบอยู่รวมฝูงกับโลมาชนิดอื่น ปรับตัวง่าย ชอบกระโดดเหนือผิวน้ำ นอกจากนั้นก็มีโครงกระดูกพะยูน เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเช่นกัน มีสีน้ำตาลหรือเทา ปกติอยู่รวมกันเป็นฝูง อาศัยอยู่ตามชายฝั่งน้ำตื้นเขตร้อน เมื่อก่อนพบทั้งบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามัน แต่ปัจจุบันพบแต่ด้านฝั่งทะเลอันดามันบริเวณจังหวัดตรัง กินหญ้าทะเลเป็นอาหาร พะยูนเป็นสัตว์ป่าสงวนชนิดหนึ่งใน15 ชนิดซึ่งห้ามล่าและมีไว้ในครอบครอง 

“ฉลามวาฬ” อีกหนึ่งสัตว์น้ำที่น่าสนใจในพิพิธภัณฑ์ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ของจริงแต่ก็มีขนาดและรูปร่างที่น่าเกรงขาม ครองตำแหน่งแชมป์ปลาที่ใหญ่ที่สุดในโลกและแน่นอนว่าเป็นฉลามที่ใหญ่ที่สุดด้วย น้ำหนักอาจมากถึง 50 ตัน ปลาชนิดนี้พบกระจายอยู่ในทะเลเขตร้อนและเขตอบอุ่นทั่วโลก วิธีกินอาหารคือ มันจะว่ายเข้าหาแพลงตอนที่อยู่รวมกันเป็นฝูงแล้วฮุบเข้าปาก จากนั้นจึงใช้ซี่เหงือกกรองเก็บแพลงตอนไว้ นอกจากแพลงตอนแล้วสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กก็เป็นอาหารของมัน ฉลามวาฬเป็นความใฝ่ฝันของนักดำน้ำที่จะได้เห็นสักครั้งหนึ่ง เป็นสัตว์ที่ไม่มีอันตรายถ้าไม่ไปรบกวนมันมาก ในประเทศไทยพบที่หมู่เกาะสุรินทร์และสิมิลัน ฉลามวาฬอาจมีอายุยืนมากกว่าร้อยปีถ้าสามารถรอดเงื้อมมือมนุษย์ไปได้

กลุ่มปลาฉลามมีให้ชมอีกหลายชนิด เช่น ฉลามเสือดาว และฉลามขี้เซา ลักษณะเด่นของฉลามเสือดาวคือมีครีบหางยาวมากถึงครึ่งหนึ่งของลำตัว สีน้ำตาลเหลือง มีจุดหรือแถบสีดำทั่วตัว มักออกหากินตอนกลางคืนบริเวณแนวปะการัง อาหารจำพวกสัตว์หน้าดิน กุ้ง หอย ปลา ปู มีฟันขนาดเล็ก 20-30 แถว

ปลารูปร่างประหลาดอีกตัวหนึ่งของที่นี่คือ “โรนิน” เป็นปลาลูกครึ่งด้วยส่วนหัวที่แบนกว้างมีปากด้านล่างคล้ายปลากระเบน แต่กลางหลังมีครีบตั้งและส่วนหางเหมือนปลาฉลาม โรนินเป็นปลากระดูกอ่อน อาศัยอยู่บริเวณแนวปะการัง กินหอย และปลาตัวเล็ก ในปัจจุบันพบเห็นได้ยากมาก จัดอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ 

ปลาที่วางเรียงอยู่ด้านหน้าส่วนหนึ่งเป็นปลาจากต่างประเทศ เรียกว่า “ปลาช่อนอเมซอน” อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำอเมซอน ทวีปอเมริกาใต้ เป็นปลาล่าเหยื่อที่มีขนาดใหญ่ ยาว 2-2.5 เมตร กินปลาและสัตว์อื่นที่ตัวเล็กกว่า มีโครงกระดูกคล้ายกับฟอสซิลของปลายุคดึกดำบรรพ์

สำหรับสัตว์เลื้อยคลานที่จัดแสดงที่น่าสนใจเช่น “เต่าหญ้า” เต่าทะเลที่มีขนาดเล็กที่สุด น้ำหนักราว 80 กิโลกรัมเมื่อโตเต็มที่ สีเทาอมเขียว กระดองรูปไข่ อาศัยอยู่ตามชายฝั่งน้ำตื้น วางไข่ตามชายหาดฝั่งตะวันตกของประเทศไทย เช่น พังงา ภูเก็ต และตามหมู่เกาะในทะเลอันดามัน นอกจากนี้ยังมี “เต่ากระ” เต่าทะเลขนาดกลาง ลักษณะเด่นคือจงอยปากงุ้มและลวดลายริ้วสลับสีบนกระดอง อาศัยอยู่ในบริเวณแนวปะการังน้ำตื้น วางไข่บนหาดทราย อาหารของมันคือ ปลา หอย ฟองน้ำ และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่นๆ

นอกจากสัตว์ทะเลที่กล่าวมาแล้ว พิพิธภัณฑ์ยังจัดแสดงปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ ชื่อไทยๆว่า “ปลาเทพา” (Chao Phraya Giant Catfish) เป็นปลาที่เคยอาศัยอยู่มากในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำโขง ปัจจุบันพบน้อยมากในแม่น้ำเจ้าพระยา มีความยาวสูงสุดถึง 2.5 เมตร ส่วนหัวกว้าง ปากใหญ่ ฟันคม กินปลาเล็กและซากสัตว์ สังเกตชื่อวิทยาศาสตร์ของปลาเทพาคือ Pangasius sanitwongsei ซึ่งเป็นชื่อคนไทยตั้งโดย ดร. H.M. Smith (เจ้ากรมสัตว์น้ำคนแรกของไทยในสมัยรัชกาลที่ 6) เพื่อเป็นเกียรติแด่ มรว. สุวพรรณ สนิทวงศ์

จากการสัมภาษณ์อาจารย์ธีระพงศ์ จุดเด่นของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือตัวอย่างสัตว์น้ำซึ่งเก็บมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2466 บางตัวอย่างเป็นชนิดใหม่ของโลกที่มีการบันทึกไว้ การเก็บตัวอย่างยังดำเนินต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เมื่อนักวิจัยพบตัวอย่างใหม่ก็จะนำมาเก็บรักษาไว้ที่นี่ ซึ่งมีประโยชน์ในด้านการศึกษาการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศและทรัพยากรในน้ำของประเทศไทย นอกจากนั้นที่นี่ยังเก็บเอกสารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และทรัพยากรประมงไว้ คือแผ่นดัชนีบันทึกข้อมูลปลาและสมุดบันทึกข้อมูลภาคสนามของ ดร. H.M. Smith รวมถึงต้นฉบับภาพวาดปลาโดยหลวงมัศยาจิตรการช่างเขียนภาพสมัยรัชกาลที่6 อีกด้วย 

เรื่อง/ภาพ เกสรา จาติกวนิช

ข้อมูลจากการสำรวจภาคสนาม : 19 มีนาคม 2551

ชื่อผู้แต่ง:
-