สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำจืดกรุงเทพฯ


สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ภายในกรมประมง ก่อตั้งครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2483 ระยะแรก ปลาที่นำมาแสดงเป็นปลาน้ำจืดที่นิยมเลี้ยง และมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และในปี พ.ศ.2521 ได้สร้างสถานแสดงพันธุ์ปลาน้ำจืดแห่ง อควาเรียมที่นี่มีส่วนจัดแสดง 2 ชั้น บริเวณชั้น1 เป็นบ่อสัตว์น้ำที่ผู้เข้าชมสามารถสัมผัสได้ (touch pool) จัดตู้แสดงพรรณไม้น้ำขนาดใหญ่โดยใช้พรรณไม้น้ำสวยงามประดับตู้ ส่วนชั้น2 จัดแสดงพันธุ์ปลาไทยและปลาสวยงามส่งออก รวมถึงพันธุ์ปลาน้ำจืดต่างประเทศที่น่าสนใจ ปลาที่เด่นในพิพิธภัณฑ์นี้มีหลายชนิดเช่น กระเบนน้ำจืด ปลาหายากอาทิ ปลาเสือตอลายใหญ่ ปลาช่อนงูเห่า นอกจากสัตว์น้ำมีชีวิต ที่นี่ยังมีสัตว์สตั๊ฟเป็นเต่า และจระเข้

ที่อยู่:
กรมประมง ถนนเกษตรกลาง เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
โทรศัพท์:
0-2940-5623, 0-2940-6543
โทรสาร:
0-2940-5623
วันและเวลาทำการ:
เปิดให้เข้าชมทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ เวลา 10.00 - 16.00 น
ค่าเข้าชม:
ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 20 เด็ก 10 บาท ผู้สูงอายุ/ผู้พิการ ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2483
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

คู่มือชมปลา

ชื่อผู้แต่ง: กลุ่มงานวิจัยและพัฒนาสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำจืด | ปีที่พิมพ์: 2548

ที่มา: กรุงเทพฯ:กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำจืดกรุงเทพฯ

ปลาน้ำจืดเป็นปลาที่เราคุ้นเคย เพราะมีชาวบ้านจับมาจากแม่น้ำลำคลอง นำมาขายที่ตลาด มีให้เห็นทั่วไป และปลาน้ำจืดบางชนิดอย่างปลาดุก ปลาช่อน ปลานิล ปลาตะเพียน ปลาทับทิม ก็มีการเลี้ยงกันในบ่อเป็นสัตว์เศรษฐกิจ จริงๆแล้วชนิดพันธุ์ของปลาน้ำจืดนั้นมีอยู่มากมาย สำหรับคนที่ชอบดูปลา ชอบเที่ยวอควาเรียม ลองแวะมาที่สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำกรุงเทพฯ กรมประมง ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่นี่มีปลาน้ำจืดหายากตัวเล็กตัวใหญ่ให้ชมหลากหลายสายพันธุ์

เมื่อก้าวเข้าไปในอควาเรียม จะเห็นตู้ปลาขนาดใหญ่กับปลาตัวโตในตู้ปลา ตกแต่งอย่างสวยงาม คุณนภสร จันทกานนท์ นักวิชาการประมง เป็นผู้นำชม ตู้ปลาขนาดใหญ่ด้านหน้าตกแต่งด้วยหม้อไหสร้างบรรยากาศโบราณคดีใต้น้ำ ในตู้เป็นปลาเทพาตัวใหญ่ ปัจจุบันปลาชนิดนี้เริ่มพบได้น้อยในทางธรรมชาติ ทางกรมประมงมีศูนย์เพาะพันธุ์เพื่อปล่อยปลาชนิดนี้สู่แหล่งน้ำ อควาเรียมที่นี่มีส่วนจัดแสดง 2 ชั้น บริเวณชั้น1 เป็นบ่อสัตว์น้ำที่ผู้เข้าชมสามารถสัมผัสได้ (touch pool) จัดตู้แสดงพรรณไม้น้ำขนาดใหญ่โดยใช้พรรณไม้น้ำสวยงามประดับตู้ ส่วนชั้น2 จัดแสดงพันธุ์ปลาไทยและปลาสวยงามส่งออก รวมถึงพันธุ์ปลาน้ำจืดต่างประเทศที่น่าสนใจ 

ใกล้กันตรงด้านหน้าจะเห็นบ่อน้ำที่ตกแต่งในระบบนิเวศสวยงามดูเป็นธรรมชาติ ในบ่อมีเต่าว่ายน้ำอยู่หลายตัว ถัดมาเป็นนิทรรศการพิเศษ “ปูพระนาม” จัดขึ้นเนื่องในโอกาสวันแม่ 12 สิงหาคม แบ่งเป็นตู้ขนาดเล็ก 3 ตู้ ข้างในมีปูเจ้าพ่อหลวง ปูทูลกระหม่อม ปูราชินี คุณนภสรบอกว่าการจัดนิทรรศการพิเศษจะหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามเทศกาลต่างๆ 

การแสดงพันธุ์สัตว์น้ำส่วนหนึ่งเป็นพันธุ์ปลาน้ำจืดที่พบได้ตามลำคลองหนองบึง อย่างเช่นปลาแขยง ปลาสร้อยขาว ปลายี่สก ปลากด ปลาตะเพียน ปลาตะพาก ปลาแรด ปลากราย ปลาแดง ปลาน้ำเงิน ปลากระสูบ ปลาสังกะวาด ปลาตองลาย ปลากระสูบขีด ปลากระสูบจุด เป็นต้น อีกส่วนหนึ่งเป็นปลาหาดูได้ยากอย่างเช่น ปลาเสือตอลายใหญ่ เป็นสัตว์ที่ติดในไซเตส (CITES คืออนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์) ห้ามนำเข้าส่งออก เพราะเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ปลาชนิดนี้ลายคล้ายเสือและชอบอยู่ในตอไม้ ปลาช่อนงูเห่าก็เป็นอีกชนิดหนึ่งที่หายาก พบในแหล่งน้ำไหลตามธรรมชาติ ลักษณะลายคล้ายงูเห่า

ในการเดินชมเราสามารถรู้ชนิดของปลาได้จากป้ายที่เขียนบอกไว้ด้านบน ซึ่งจะได้ความรู้ทั้งชนิดของปลา แหล่งที่อยู่และลักษณะเด่นของปลาแต่ละชนิด 

ปลาที่เด่นในพิพิธภัณฑ์นี้มีหลายชนิดเช่น กระเบนน้ำจืด หลายคนอาจคุ้นกับกระเบนน้ำเค็มที่อยู่ในอควาเรียมสัตว์ทะเล ที่นี่มีกระเบนน้ำจืด คุณนภสรเล่าให้ฟังว่ากระเบนในตู้นี้เคยออกลูกมาแล้ว 4-5 ครั้ง โดยจะออกครั้งละตัว ที่มองเห็นตัวเล็กหางสีขาวอันนั้นเป็นตัวลูก จากการที่มีนักวิชาการมาตรวจสอบ พบว่าเราเลียนแบบสภาพแวดล้อมได้คล้ายธรรมชาติ ทำให้ปลาสามารถออกลูกได้ จากการสำรวจในประเทศไทยจะพบกระเบนน้ำจืดนี้ได้เฉพาะแม่น้ำแม่กลอง เมื่อถามถึงเรื่องระบบน้ำ ตู้ปลาของที่นี่มีระบบกรองน้ำ จะเปลี่ยนน้ำในกรณีที่น้ำขุ่น

นอกจากสัตว์น้ำมีชีวิต ที่นี่ยังมีสัตว์สตั๊ฟเป็นเต่า และจระเข้ โดยจะเห็นได้บริเวณชั้น 2 สำหรับคนที่สงสัยว่าเต่ามีกี่ชนิด อะไรบ้าง สามารถดูภาพและอ่านรายละเอียดได้ ส่วนที่เป็นโครงกระดูกขนาดใหญ่คือปลากระโห้ ปลาชนิดนี้เป็นปลามีเกล็ดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ใกล้กับโครงกระดูกของปลากระโห้คือปลาที่ทำขึ้นเลียนแบบของจริง เพื่อให้เห็นว่าปลาตัวใหญ่ที่มีส่วนต่างๆครบหน้าตาเป็นอย่างไร ที่ยังมีชีวิตอยู่มีให้ดูในตู้ปลา แต่ยังเป็นปลาขนาดเล็กอยู่ 

ปลาใหญ่อีกชนิดหนึ่งที่อยู่ในความสนใจคือปลาบึก ที่นี่มีโครงกระดูกปลาบึกที่พบในแม่น้ำโขงเมื่อประมาณปีพ.ศ.2548 หนักประมาณ 293 กิโลกรัม ความยาวประมาณ 2.7 เมตร ปลาบึกที่ยังตัวเล็กที่นี่ก็มีให้ชมในตู้ปลา สำหรับปลาขนาดใหญ่ประเภทนี้เมื่อชี้ให้ดูว่านี่ตัวเล็ก เราก็นึกในใจว่าขนาดยังเล็กยังเด็กอยู่ตัวยังขนาดนี้

ในกลุ่มปลาน้ำตกคือ ปลาที่มักจะพบในสถานที่มีน้ำตกได้แก่ ปลาเวียน ปลาพลวง ในตู้ปลาของที่นี่บางตู้เราจะเห็นปลา 2-3 ชนิดอยู่ด้วยกัน คุณนภสรบอกว่าขึ้นอยู่กับอุปนิสัย ถ้าอยู่ด้วยกันได้เราก็ให้อยู่ในตู้เดียวกัน

ปลาที่น่าสนใจอีกกลุ่มหนึ่งคือปลาของต่างประเทศ ได้แก่ ปลาไซบีเรียนสเตอร์เชียน ปลาชนิดนี้ศูนย์วิจัยประมงน้ำจืด จังหวัดเชียงใหม่ ได้ซื้อไข่ปลามาจากประเทศเยอรมัน มาทดลองฟักและอนุบาลที่สถานีวิจัยย่อยบนดอยอินทนนท์ มีอัตราการฟัก 96.4% จากนั้นได้ย้ายลูกปลาไปเลี้ยงในโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ดอยคำตามพระราชดำริ อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่

ในส่วนนี้ปลาที่เป็นขวัญใจเด็กๆ ที่เข้ามาเที่ยวที่นี่คือปลากลับหัว (Upside Down Catfish) เป็นปลาที่อยู่แถบลุ่มแม่น้ำอิรวดี ลุ่มแม่น้ำสาละวิน ประเทศพม่า คุณนภสรเคยถามเด็กๆ เขาจะบอกว่าชอบปลาตัวนี้มากที่สุด เพราะว่าตลก เวลาว่ายน้ำว่ายกลับหัวหงายท้อง 

ใกล้กันคือปลาหมอสี ปลาหมอสีมีหลายแบบ บางตัวมีลายคล้ายอักษรจีน บางตัวมีโหนก ปลาชนิดนี้คนนิยมเลี้ยงแล้วนำมาประกวดกัน

ปลาที่เห็นแล้วรู้สึกประหลาดใจได้แก่ปลาการ์ ตัวนี้หน้าคล้ายจระเข้ เป็นปลาที่มาจากอเมริกา ปลาที่ลายคล้ายเสือมีชื่อว่าไทเกอร์โชเวลโนส เป็นปลาที่มาจากอเมซอล ประเทศบราซิล

คุณนภสรบอกว่าในการเข้าชมเป็นหมู่คณะและต้องการวิทยากรนำชม ให้ทำหนังสือติดต่อมาล่วงหน้า สำหรับผู้เข้าชมที่เป็นกลุ่มเด็กจะมีการให้เล่นเกมส์หลังการชม และจะมีของที่ระลึกเล็กๆน้อยๆ สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้น

จากการได้ชมอควาเรียมที่นี่ ผู้เข้าชมหลายท่านอาจจะรู้สึกว่าเมื่อก่อนเราพลาดเข้ามาเยี่ยมชมที่นี่ได้อย่างไร ทั้งที่การคมนาคมสะดวก ค่าเข้าชมราคาถูก ปลาที่อยู่ในตู้ปลา รวมถึงสัตว์น้ำอื่นๆและพรรณไม้น้ำมีความสมบูรณ์จากการได้รับการดูแลเป็นอย่างดี อีกทั้งผู้บรรยายก็ยิ้มแย้มอารมณ์ดี 

สาวิตรี ตลับแป้น / ผู้เขียน / ถ่ายภาพ

ข้อมูลจาก : สำรวจข้อมูล 26 สิงหาคม 2551

ชื่อผู้แต่ง:
-