ที่อยู่:
ถนนพระสุเมรุ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
โทรศัพท์:
0-2281-9828 , 0-2281-0345 ถึง 51 ต่อ 1223 และ 1224
วันและเวลาทำการ:
ปิดให้บริการทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ เวลา 10.00 - 18.00 เปิดรอบให้เข้าชมเป็นรอบ ทุกๆ 30 นาที *รอบเข้าชมรอบสุดท้าย เวลา 16.30 น
ค่าเข้าชม:
ผู้ใหญ่ ราคา 100 บาท(ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ) เข้าชมฟรีสำหรับ เด็ก - นักเรียน นักศึกษา (ไม่เกินระดับปริญญาตรี) ในเครื่องแบบหรือแสดงบัตร - พระภิกษุ สามเณร และนักบวช - ผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) - ผู้พิการ
ของเด่น:
ผลงานและสิ่งของที่เกี่ยวกับกรมธนารักษ์, นิทรรศการเรื่องพื้นที่ แสดงความสำคัญของคูเมือง ประตูเมือง ซึ่งเคยอยู่ในพื้นที่สมัยรัตนโกสินทร์, การแสดงวิถีชุมชนในพื้นที่บางลำพูตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
พิพิธบางลำพู: บางลำพูที่รัก
แม้ผู้เขียนจะไม่ใช่ “คนบางลำพู”โดยกำเนิด แต่ก็นับว่าชีวิตผูกพันกับย่านบางลำพูอยู่มากเพราะสถานศึกษาที่เรียนมาตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัยล้วนตั้งอยู่ใกล้บริเวณนี้ทั้งสิ้น ความทรงจำดีๆมากมายเกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นตอนซื้อรองเท้านักเรียนใหม่เอี่ยมที่ร้านสมใจนึก เดินชมวิวแม่น้ำเจ้าพระยา และนั่งชมชาวฝรั่งฝึกควงไฟหรือพ้อย(Poi) ที่ถนนพระอาทิตย์ ทานขนมไข่แมงดาหอมหวานที่ตลาดบางลำพู และ เมื่อย้อนมองกลับไป ผู้คน ร้านรวง อาหาร และชีวิตชีวาของชุมชนเก่าที่ปนเปไปกับความใหม่แบบตะวันตกทำให้ย่านบางลำพูนั้นมีเสน่ห์ที่ยากจะหาที่ไหนเหมือนกว่าสิบปีที่แล้วผู้เขียนได้ยินข่าวว่ามีคำสั่งให้รื้อโรงพิมพ์ร้างข้างป้อมพระสุเมรุบนถนนพระอาทิตย์เพื่อทำเป็นสวนสาธารณะก็อดใจหายไม่ได้ เพราะเห็นโรงพิมพ์นี้ตั้งแต่เด็กจนโตและรู้คร่าวๆว่าโรงพิมพ์แห่งนี้มีความเป็นมาที่ยาวนาน ภายหลังได้ทราบว่าแต่ก่อนสถานที่แห่งนี้เคยเป็นเขตพระนิเวศน์ของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทในสมัยรัชกาลที่ 1 ต่อมาในปี 2467 กระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ)ได้ขอใช้สถานที่เป็นโรงพิมพ์ของกรมตำราโดยสร้างเป็นอาคารไม้สักและตะแบก หลังจากนั้นมีการก่ออิฐถือปูนสองชั้นขึ้นโดยมีรูปแบบอาคารแบบบาวเฮาส์รูปตัวแอล และเปิดเป็น “โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช” ซึ่งเป็นโรงเรียนช่างพิมพ์แห่งแรกของประเทศไทย ในปี 2493 ถูกเปลี่ยนเป็น “โรงพิมพ์คุรุสภา” เพื่อพิมพ์ตำราและวรรณคดีเอกของชาติก่อนจะถูกทิ้งร้างในปี 2538
อย่างไรก็ตาม คนในชุมชนบางลำพูมีการเรียกร้องให้สงวนพื้นที่นี้ไว้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรมชุมชนทำให้โรงพิมพ์เก่าแห่งนี้ได้กลายเป็น “พิพิธบางลำพู”แหล่งเรียนรู้อย่างที่คนในชุมชนต้องการได้ในที่สุด และอยู่ภายใต้การดูแลของกรมธนารักษ์ ซึ่งได้เข้ามาบูรณะโรงพิมพ์โดยร่วมมือกับชุมชนและองค์กรต่างๆ และเปิดให้เข้าชมเป็นครั้งแรกในปี 2557 เป็นต้นมา ซึ่งนอกจากสถานที่แห่งนี้จะเป็นแหล่งความรู้ทางประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาในชุมชนบางลำพูแล้ว ยังมีการแบ่งพื้นที่เป็นห้องสมุดชุมชนและมีลานกิจกรรมสำหรับบุคคลในชุมชนและบุคคลภายนอกเข้ามาจัดกิจกรรมการเรียนรู้อีกด้วย
ในส่วนของนิทรรศการ ได้มีการนำเทคโนโลยี Interactive Presentation (การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม) เข้ามาใช้ และมีการจัดทำอักษรเบรลล์เพื่อกลุ่มผู้เข้าชมที่เป็นผู้พิการทางสายตา การจัดแสดงนิทรรศการในพิพิธบางลำพูแบ่งออกเป็น 2 ส่วน นิทรรศการส่วนแรกคือบริเวณชั้นล่างของอาคารที่ 1 ซึ่งเป็นนิทรรศการที่ผู้เข้าชมสามารถเดินชมเองได้ ห้องนิทรรศการแรกเป็นนิทรรศการหมุนเวียน “เอกบรมองค์ราชินี” จัดแสดงนิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสมหามงคล 82 พรรษา และห้องนิทรรศการที่ 2 จัดแสดงความเป็นมาขององค์ประกอบ 4 ประการที่ทำให้พระนครแห่งรัตนโกสินทร์มีความมั่นคง ได้แก่ “คูคลองล่องลำนำ” บอกความสำคัญของคูคลองต่อผู้คนในอดีต “กำแพงป้องธานี” ให้ความรู้เรื่องกำแพงพระนคร “ประตูคู่วิถี” บทบาทของประตูเมือง 3 ประตู และ “ป้อมปกนครา” บอกความเป็นมาของป้อมทั้ง 14 ป้อมรอบรัตนโกสินทร์
นิทรรศการส่วนที่สอง จัดแสดงที่ชั้นที่ 2 เป็นนิทรรศการถาวรที่มีผู้นำชมและมีรอบการเข้าชมทุกๆ 30 นาที นิทรรศการถาวรส่วนแรกมีเนื้อหาเกี่ยวกับหน้าที่ความรับผิดชอบของกรมธนารักษ์ใน 5 ห้อง ได้แก่ ห้อง “พระคลังมหาสมบัติ” “ธรรมภิบาลอารักษ์” “เบิกโรงกษาปณ์ ตามรอยเงินตรา” ซึ่งจัดแสดงขั้นตอนการผลิตเหรียญกษาปณ์โดยใช้สื่อมัลติมีเดียที่น่าสนใจ ห้อง “ทรัพย์แห่งความภูมิใจอนุรักษ์ไว้เพื่อแผ่นดิน” และห้อง “เพื่อราษฎร์และเพื่อรัฐ” ซึ่งมีโมเดลจำลองขนาดใหญ่ของพื้นที่เขตวัฒนาและคลองเตย แสดงความเปลี่ยนแปลงและราคาประเมินของพื้นที่ได้อย่างน่าสนใจ
นิทรรศการถาวรส่วนที่สอง คือนิทรรศการ “ชุมชนบางลำพู”ที่เป็นนิทรรศการไฮไลต์ของที่นี่ โดยห้องที่ 1 “สีสันบางลำพู” บอกเล่าถึงความงดงามและคุณค่าของบางลำพูที่ผ่านกาลเวลามายาวนาน ห้องที่ 2 “เบาะแสจากริมคลอง” เผยให้เห็นประวัติศาสตร์ของย่านบางลำพูตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ความหลากหลายของผู้คน และความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ห้องที่ 3 “พระนครเซ็นเตอร์” ห้องที่ตกแต่งอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ โดยจำลองย่านการค้าและบันเทิงของบางลำพูมาไว้ในห้องนี้ เช่น โรงลิเกหอมหวน ห้าง ต.เง็กชวน โรงภาพยนตร์บุศยพรรณ ผู้เข้าชมสามารถถ่ายรูปและเล่นกับสื่อมัลติมีเดียอย่างสนุกสนานในห้องนี้
ห้องที่ 4 “ย่ำตรอกบอกเรื่องเล่า” แสดงภูมิปัญญาในการทำมาหากินของคนในชุมชน และของดีในย่านบางลำพูที่ซ่อนอยู่ เช่น ภูมิปัญญาการแทงหยวก การทำข้าวต้มน้ำวุ้น ทองคำเปลว ธงวันชาติและหัตถกรรมใบลาน เป็นต้น ห้องที่ 5 “ที่นี่บางลำพู” บอกเล่าความเป็นมาของบางลำพูผ่านสถาปัตยกรรมในพื้นที่ โดยสามารถส่องกล้องมองอดีต ซึ่งจะพบประวัติที่น่าสนใจของสถานที่แต่ละแห่ง ห้องที่ 6 “ถอดรหัสลับ ขุมทรัพย์บางลำพู” เฉลยคำตอบของคำถามที่ว่าขุมทรัพย์บางลำพูที่แท้จริงคืออะไร? ในห้องนี้ยังมีชิ้นส่วนของปู่ต้นลำพูอายุร้อยปีที่เคยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้วย ห้องที่ 7 “มิ่งขวัญบางลำพู” มีภาพเก่าที่ถ่ายทอดชีวิตคนบางลำพูและพระพุทธรูปบางลำพูประชานาถที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนที่นี่
ส่วนจัดแสดงสุดท้ายคือห้องนิทรรศการโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช ให้ความรู้เกี่ยวกับการพิมพ์ และส่วนของห้องสมุดชุมชนบางลำพูซึ่งเป็นแหล่งค้นคว้าข้อมูลประวัติศาสตร์เกี่ยวกับย่านบางลำพู และห้องสมุดยังยินดีรับหนังสือบริจาคเพิ่มเติมจากบุคคลทั่วไปอีกด้วย
หลังจากชมนิทรรศการชุมชนบางลำพูจบ จากที่ผู้เขียนเคยคิดว่ารู้จักพื้นที่แห่งนี้เป็นอย่างดีแล้วก็ต้องเปลี่ยนความคิดไป ภูมิปัญญา จิตวิญญาณ และความงดงามของบางลำพูนั้นยังมีซ่อนอยู่มากมายรอให้ค้นพบ สัญลักษณ์ของพิพิธบางลำพู คือ “ดอกลำพู”สีทอง หมายถึง ความสามัคคีในชุมชน ความเปลี่ยนแปลงจากอดีตสู่ปัจจุบัน และความเคลื่อนไหว ความมีชีวิต ประกอบเป็นดอกลำพูที่ทรงคุณค่า ความหมายเหล่านี้บ่งบอกความเป็นบางลำพูได้ดีทีเดียว หากใครมีโอกาสแวะผ่านย่านบางลำพู ก็อย่าพลาดที่จะมาเรียนรู้ดอกลำพูสีทองสวยงามแห่งนี้ ผู้เข้าชมอาจได้มุมมองใหม่ๆด้านความเหมือนและความต่างของบางลำพูกับชุมชนที่ผู้เข้าชมอาศัยอยู่ และอาจ “หลงรัก” บางลำพูมากขึ้นเหมือนกับผู้เขียนก็เป็นได้
ยาไพร สาธุธรรม / เขียน
ข้อมูลจาก
สำรวจข้อมูลภาคสนาม วันที่ 18 มิถุนายน 2558
แผ่นพับประชาสัมพันธ์พิพิธบางลำพู
เอกสารประกอบของพิพิธบางลำพู โดย กรมธนารักษ์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
ขุมทรัพย์แห่งพิพิธบางลำพู
พิพิธบางลำพู เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมใหม่ล่าสุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ เพิ่งเปิดตัวสู่สาธารณะช่วงกลางปี 2557 นี่เอง หากเมื่อดูจากตำแหน่งแห่งที่ พิพิธบางลำพูตั้งอยู๋ในย่านเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของพระนคร แวดล้อมด้วยโบราณสถานสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ เช่น ป้อมพระสุเมรุ คลองบางลำพู (คลองรอบกรุง) ตลอดจนบรรดาวังเก่า เหย้าเรียนขุนนางย่านถนนพระอาทิตย์“พิพิธบางลำพู” ขุมทรัพย์ความรู้แห่งใหม่
“บางลำพู” ขึ้นชื่อว่าเป็นย่านการค้าเก่าแก่ทรงเสน่ห์ เป็นย่านของกินสารพัด มีความหลากหลายของวัฒนธรรมและผู้คนมายาวนาน ปัจจุบันบางลำพูยังขึ้นชื่อว่าเป็นย่านที่พัก แหล่งท่องเที่ยวและแหล่งบันเทิงที่นักท่องเที่ยวต่างชาติรู้จักกันดีอีกด้วย แต่แท้จริงแล้ว “บางลำพู” ยังมีอะไรมากมายกว่านั้น ถ้าได้มาชม “พิพิธบางลำพู” ก็จะได้รู้จักเสน่ห์ของบางลำพูอย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น โดย “พิพิธบางลำพู” นั้น เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่บนถนนพระอาทิตย์ ซึ่งทางกรมธนารักษ์ผู้จัดสร้างได้ฉลองการเปิดใหม่ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต ชุมชนบางลำพู กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท
พิพิธภัณฑ์ภาพจิตรกรรม 3 มิติ กรุงเทพฯ
จ. กรุงเทพมหานคร
หอประวัติและพิพิธภัณฑ์ ดร.ไสว สุทธิพิทักษ์,มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
จ. กรุงเทพมหานคร
บ้านพิพิธภัณฑ์
จ. กรุงเทพมหานคร