พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน โรงเรียนวัดเลขธรรมกิตติ์


ที่อยู่:
โรงเรียนเลขธรรมกิตต์วิทยาคม ต.บางอ้อ อ.บ้านนา จ.นครนายก 26110
โทรศัพท์:
037-335217-8
โทรสาร:
037-335218
วันและเวลาทำการ:
วันเวลาราชการ 08.30-16.30 น. จันทร์-ศุกร์
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2549
ของเด่น:
สัญญาเช่ากระบือ เครื่องมือทำนา ประมงพื้นบ้าน เครื่องใช้ในบ้านสมัยก่อน
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน โรงเรียนวัดเลขธรรมกิตติ์

การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวบ้านของโรงเรียนเลขธรรมกิตต์วิทยาคม   เริ่มมาจากทางโรงเรียนได้สะสมสิ่งของบ้างแล้ว   แล้วได้มีผู้บริจาคสร้างอาคาร  จึงอยากให้เป็นสถานที่จัดแสดงเครื่องใช้พื้นบ้านให้นักเรียนได้ศึกษา  ในวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2549  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จมาเปิดพิพิธภัณฑ์
 
อาจารย์สมชาย น้ำจันทร์เจริญ รองผู้อำนวยการโรงเรียน  หัวหน้ากลุ่มสาระฯ สังคมศึกษาฯ ได้ให้สัมภาษณ์ โดยเริ่มจากประวัติโรงเรียนซึ่งมีความเกี่ยวพันกับวัดเลขธรรมกิตต์ตรงที่เป็นพื้นที่ของวัดเลขธรรมกิตต์ ทางโรงเรียนเช่าจากวัดปีละ 1500 บาท มีทั้งหมด 48 ไร่ 41 ตารางวา 
 
ช่วงแรกใช้ชื่อว่าโรงเรียนราษฎร์นิยมวัฒนา ต่อมาเปลี่ยนเป็นโรงเรียนนายกวัฒนากรวัดเลขธรรมกิตต์  เมื่อโอนมาเป็นโรงเรียนของรัฐบาลเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535 จึงใช้ชื่อว่าโรงเรียนเลขธรรมกิตต์วิทยาคม เป็นโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย  ปัจจุบันนางสาวนิติพร เนติ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน
 
สิ่งที่เป็นความภาคภูมิใจของโรงเรียนตอนนี้ก็คือ โรงเรียนเลขธรรมกิตต์วิทยาคมผ่านการประเมินต้นแบบโรงเรียนในฝันเมื่อวันที่18 มกราคม พ.ศ.2556 โดยผ่านการประเมินและรับรองผลจากคณะกรรมการประเมิน โดยมีการประเมินจากกิจกรรมที่นักเรียนนำเสนอในแต่ละกลุ่มสาระ พร้อมซักถามความรู้จากนักเรียน ผลการประเมินได้ดำเนินมาถึงขั้นตอนสุดท้ายคือการประกาศผล
 
ผลปรากฏว่าโรงเรียนเลขธรรมกิตต์วิทยาคมได้รับการเป็นต้นแบบโรงเรียนในฝัน  ซึ่งความเข้มแข็งของโรงเรียนในฝันก็คือ การที่นักเรียน รู้จริง รู้ลึก รู้กว้าง เชื่องโยงองค์ความรู้ที่เรียนมาจากกระบวนการของโรงเรียน และประสบการณ์ในชีวิตที่ผ่านมา จนสร้างเป็นองค์ความรู้ใหม่ ผลงาน ชิ้นงานได้อย่างสร้างสรรค์ สามารถอธิบาย นำเสนอ ตอบข้อซักถามได้อย่างมั่นใจ
 
การมีพิพิธภัณฑ์ในโรงเรียน อาจารย์สมชายคิดว่า  ได้เกิดประโยชน์กับนักเรียนในการเรียนวิชาประวัติศาสตร์และสังคมศึกษา  ถือเป็นพันธกิจของโรงเรียนที่ต้องพัฒนาโรงเรียนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน  นักเรียนจะได้เรียนรู้วิถีชีวิต  คนสมัยก่อนส่วนใหญ่ทำการเกษตร ทำนา  ปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไป  คนหนุ่มสาวเข้าไปทำงานในตัวเมือง  ปล่อยให้คนเฒ่าคนแก่อยู่บ้าน
       
สิ่งของพื้นบ้านที่นำมาจัดแสดง ส่วนใหญ่ได้มาจากการบริจาคของผู้ปกครองนักเรียนและคนในชุมชน  อาจารย์สมชายบอกว่าชิ้นที่เด่นคือ สัญญาเช่ากระบือ ถือเป็นเอกสารหลักฐานสำคัญที่ใช้กันในสมัยก่อน  สิ่งของที่จัดแสดงมีป้ายอธิบายประกอบและได้ทำทะเบียนไว้ทุกชิ้น
 
บริเวณกลางห้องเป็นเครื่องใช้ทางการเกษตร ได้แก่ ทามหรือสะพานคอควาย ใช้สำหรับรัดใต้คอสัตว์พาหนะ ชนาง ใช้ช้อนปลา ดักปลา เบ็ดธง เบ็ดไม้ ใช้สำหรับตกปลาหรือตกกุ้ง ข้องใช้ใส่ปลา  สุ่มใช้ดักปลา
 
พวกของใช้ภายในบ้านมีเชี่ยนหมากทองเหลือง  โต๊ะเครื่องแป้ง หีบไม้ ตะเกียง ตะกร้า เตารีดปิ่นโต  เครื่องครัวมี ไหเต้าเจี้ยว ไหกระเทียมดอง ไหใส่น้ำ โม่หิน หม้อดิน  กระต่ายขูดมะพร้าว สิ่งของอื่นๆ มีเครื่องพิมพ์ดีด สมุดข่อย  ดาบ ซองพลู  ชามกระเบื้อง ตาชั่ง ถังตวงข้าว เลื่อย  ลูกคิด ระฆังโบราณ ที่คล้องภาชนะหาบน้ำ หมวกจีน ขันลงหิน ถ้วยรางวัล หม้อทรงหวดอลูมิเนียม กระด้ง กระบุง ตะกร้าเชี่ยนหมาก
 
ในการนำชมได้มีอาจารย์วิทิต วงศ์ศิริ อาจารย์หมวดการงานอาชีพ และนางสาวมาริสา กลิ่นหอม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5  เป็นผู้นำชมต่อเนื่องไปที่ศาลาจัดแสดงเรือที่อยู่ติดกัน  ในนี้มีเรือสำปั้น เรือสำปั้นเพรียว เรือพายม้า สมัยก่อนตำบลบางอ้อมีลำคลองอยู่มากมาย  ใช้เป็นการคมนาคมหลัก เมื่อเวลาผ่านไปมีการถมคลองเป็นถนน  การใช้เรือเป็นพาหนะจึงหายไป
 
อาจารย์วิทิตบอกว่าคลองที่ยังเหลืออยู่ตอนนี้  มีเจดีย์อยู่กลางน้ำ มีต้นไม้ปกคลุมอยู่  การสัญจรทางเรือยังพอมีให้เห็น  อาจารย์วิทิตชี้ให้ดูเรือดาวเรืองลำใหญ่  ใช้สำหรับขนข้าว  เรือลำนี้เมื่อก่อนมีความยาวมากกว่านี้  แต่มีคนมาขโมยตัดหัวเรือเอาไปทำเป็นเรือแข่ง  ต่อมามีคนไปพบเจอ เรื่องเล่าว่ามีคนมาเข้าฝันพระที่วัดเลขธรรมกิตต์  ว่าเรือลำนี้ทิ้งอยู่แถววังน้ำวนที่อำเภอองครักษ์  เมื่อถามตามความทรงจำของคนในพื้นที่อย่างอาจารย์วิทิต  เรือขนข้าวนี้  ช่วงที่ใช้งานขนข้าวจริงๆน่าจะอยู่ในช่วง 50 ปีมาแล้ว 
 
ส่วนเรือที่มีความยาวมาก เรียกว่า เรือม่วง ทำจากต้นไม้ทั้งต้น  ส่วนเรือลำเล็กเป็นเรือบิณฑบาต ส่วนที่เห็นมีหุ่นแกะสลักรูปคนอยู่ที่หัวเรือ  เป็นเรือของกำนันปลา เป็นรูปสลักแทนตัว ซึ่งตอนนี้เจ้าของเรือเสียชีวิตแล้ว  นอกจากเรือก็มีเครื่องสีฝัดตั้งแสดงรวมอยู่ด้วย
 
จากนั้นนางสาวมาริสา  นักเรียนชั้นม.5 ได้พาไปดูสมุดทะเบียนสิ่งของ มีการทำไว้อย่างละเอียดหลายแฟ้ม  การมีพิพิธภัณฑ์ของโรงเรียนนี้  สิ่งที่นักเรียนได้รับไปอย่างไม่รู้ตัวคือ การได้ซึมซับกับสิ่งของจัดแสดงกับเรื่องราวต่างๆ มีนักเรียนหลายชั้นเรียนผลัดเปลี่ยนเข้ามาใช้ห้องนี้เป็นห้องเรียน  แม้นักเรียนโดยทั่วไปจะมองไปที่ความทันสมัย  แต่ความเป็นท้องถิ่นก็จะยังติดตัวไป
       
----------------------------------------------------
สาวิตรี  ตลับแป้น /ผู้เขียน
ข้อมูลจาก  :  สำรวจภาคสนาม วันที่ 27 มิถุนายน 2556
----------------------------------------------------
การเดินทาง: จากกรุงเทพฯไปจังหวัดนครนายก  สามารถไปได้ 2 เส้นทาง ได้แก่
- ตามทางหลวงหมายเลข 305 เลียบคลองรังสิต ผ่านอำเภอองครักษ์ ระยะทางประมาณ 107 กม.
- ตามทางหลวงหมายเลข 1 เลี้ยวขวาที่แยกหินกอง ไปตามถนนสุวรรณศร  เส้นทางหลวงหมายเลข 33 จนถึงจังหวัดนครนายก ระยะทางประมาณ 137 กม.
จากอำเภอเมืองไปอำเภอบ้านนา ระยะทาง 17 กม.  โรงเรียนเลขธรรมกิตต์วิทยาคมเป็นโรงเรียนมัธยม  จะแยกห่างไปจากวัดเลขธรรมกิตต์และโรงเรียนวัดเลขธรรมกิตต์ซึ่งเป็นโรงเรียนประถมไปประมาณ 200 เมตร
-----------------------------------------------
อ้างอิง  : 
ข้อมูลการสัมภาษณ์ วันที่ 27 มิถุนายน 2556
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน.โรงเรียนเลขธรรมกิตต์วิทยาคม (สพม.7) ผ่านการประเมินต้นแบบโรงเรียนในฝัน.ค้นเมื่อ 16 กันยายน 2556,จาก http://www.obec.go.th/news/31840
 
ชื่อผู้แต่ง:
-