พิพิธภัณฑ์ทหาร อาคารโรงเรียนจปร.100 ปี


ที่อยู่:
โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า อ.เมือง จ.นครนายก 26130
โทรศัพท์:
0-3739-3010-4 ต่อ 62390, สำนักงานการท่องเที่ยว 037-393-185
โทรสาร:
037-393-185
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน 9.00-16.00 น.
ค่าเข้าชม:
ท่านละ 10 บาท ชมมัลติมีเดีย 30 คนขึ้นไป ท่านละ 20 บาท
ปีที่ก่อตั้ง:
2533
ของเด่น:
เครื่องใช้และเรื่องราวของจอมพล ป.พิบูลสงคราม สิ่งของมีค่าในตู้นิรภัย เครื่องแบบนักเรียนนายร้อย
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์อาคาร จปร. 100 ปี

ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: 16/5/ หน้า 32

ที่มา: เดลินิวส์

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ทหาร อาคารโรงเรียนจปร.100 ปี

พิพิธภัณฑ์ภายในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า  ก่อตั้งเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2533  โดยพลเอกหญิงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงเปิดพิพิธภัณฑ์  จุดประสงค์เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์แห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  องค์ผู้พระราชทานกำเนิดโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และเป็นอนุสรณ์แห่งเกียรติประวัติของศิษย์เก่า รร.จปร. สถานที่ตั้งปัจจุบันอยู่บริเวณเขาชะโงก จังหวัดนครนายก  งบประมาณการก่อสร้างได้มาจากการบริจาคของนักเรียนนายร้อยทุกรุ่น
 
อาคารจัดแสดงมีความโดดเด่นอยู่ภายในอาคาร ร.ร.จปร. 100 ปี ล้อมรอบด้วยภูมิทัศน์สวยงามจากการจัดสวนบนพื้นที่กว้าง ไกลออกไปมองเห็นเขาชะโงกที่ปกคลุมด้วยต้นไม้เขียวครึ้ม ผู้นำชมคือ พันโทหญิงวชิราภรณ์ ริยาพันธ์  รับหน้าที่เป็นภัณฑารักษ์  การจัดแสดงแบ่งออกเป็น 3 ชั้น  ชั้นที่ 1 เริ่มจากห้องมัลติมีเดีย มีการบรรยายสรุปสำหรับผู้เข้าชมที่มาเป็นหมู่คณะ ในหัวข้อเรื่องประวัติของโรงเรียนนายร้อยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  
 
เมื่อออกจากห้องมุมเด่นคือเรื่องราวของจอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี 8 สมัยของประเทศไทย เสื้อที่มีรอยขาดในตู้กระจกคือชุดที่ท่านเคยโดยลอบยิงด้วยปืนออโตเมติกขนาด 7.65 มม. กระสุน 2 นัด ถูกที่บริเวณคอและไหล่  ในขณะชมการแข่งขันฟุตบอลที่ท้องสนาม ทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส รักษาตัวนานประมาณหนึ่งเดือน  นอกจากนี้ท่านยังเคยถูกวางยาพิษในอาหารจากแม่ครัวขณะรับประทานอาหารกลางวันอยู่ที่บ้านพักในกรมทหารปืนใหญ่ พร้อมกับท่านผู้หญิงละเอียด ภริยาและนายทหารอีกหลายท่าน โดยเหตุการณ์ในวันนั้นมีการบันทึกไว้อย่างละเอียด ต่อมาทราบว่าเป็นสารหนู ถ้าไปโรงพยาบาลไม่ทันสามารถเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
 
ใกล้กันมีหุ่นนักเรียนนายร้อยหญิง  ซึ่งน้อยคนจะทราบว่าปี พ.ศ.2485 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการขาดแคลนกำลังพล  มีการรับนักเรียนหญิงที่จบ ม.6 หรือเทียบเท่า เข้าเรียนเป็นนักเรียนนายร้อยหญิง  ถือว่าเป็นรุ่นแรกและรุ่นเดียว จำนวน 28 คน หนึ่งในนั้นมีบุตรสาวของจอมพล ป. พิบูลสงครามด้วย  อีกหลักสูตรหนึ่งที่เคยมีในอดีตคือโรงเรียนเท็ฆนิคทหารบก  เพื่อเป็นหน่วยช่วยรบ สอนวิชาช่างหรือวิศวกรรมสาขาต่างๆ ต่อมาได้แปรสภาพเป็นโรงเรียนนายร้อยทหารบก
 
จากมุมนี้เมื่อกวาดสายตาไป  สิ่งที่สะดุดตาคือหุ่นสวมชุดนักเรียนนายร้อยแบบต่างๆมากมาย ทั้งของประเทศไทยและเครื่องแบบนายทหารนานาชาติ  พันโทหญิงวชิราภรณ์บอกว่านักเรียนนายร้อย จปร.ได้มีโครงการแลกเปลี่ยนกันในหลายประเทศ
 
เมื่อขึ้นมายังชั้น 2  ตู้จัดแสดงที่โดดเด่นที่สุดเป็นตู้กระจกนิรภัย มีป้ายติดว่า ธงชัยเฉลิมพล ภายในเก็บรักษาของมีค่า อาทิเช่น พระยอดธง ซึ่งในองค์พระยอดธงนั้นจะบรรจุด้วยเส้นพระเกศา(เส้นผม)ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช คฑาทองคำของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กุญแจทองคำขนาดต่างๆ ดาบจักร์พรรดิ
อิโรฮิโตมอบให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นต้น ชั้นนี้ยังมีความต่อเนื่องจากการชมเครื่องแบบนักเรียนนายร้อยมาจากชั้นล่าง  ส่วนนี้จัดแสดงให้เห็นเครื่องแบบนักเรียนนายร้อยนับจากอดีตสมัย ร.5 มาจนถึงปัจจุบัน  วัตถุจัดแสดงที่เราจะไม่ได้เห็นแล้วในปัจจุบันคือโล่ที่จารึกนามนักเรียนนายร้อย  ในสมัยก่อนผู้ที่มีผลการเรียนดีเลิศ  สำหรับคนที่ได้ที่หนึ่งจะได้รับการจารึกนามบนโล่สีทองขนาดใหญ่
 
ส่วนที่เป็นบอร์ดเรียงรายเป็นบุคคลสำคัญของประเทศที่เป็นศิษย์เก่า  แล้วได้รับเกียรติเป็นรัฐบุรุษ องคมนตรี นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร 
 
ที่เห็นเป็นโมเดลแสดงภูมิประเทศเป็นภูเขาใหญ่น้อย เป็นการจำลองยุทธการช่องบก(จังหวัดอุบลราชธานี) ช่วงนั้นเวียดนามได้ส่งกำลังเข้ามากวาดล้างเขมรแดงลึกเข้ามาในเขตแดนไทยถึง 5 กม.มีการวางกับระเบิดเต็มพื้นที่ ทหารไทยได้ส่งกำลังเข้าไปผลักดันและยึดพื้นที่คืนมาได้ในปีพ.ศ.2531  ส่วนยุทธการผาเมืองเผด็จศึก เกิดขึ้นช่วงปี พ.ศ.2524  เป็นการกวาดล้าง ผกค.ในพื้นที่เขาค้อและบริเวณใกล้เคียง ทำให้ ผกค.ไม่สามารถรวมตัวกันต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ 
 
การจัดแสดงเกียรติภูมิของทหารไทยในสมรภูมิต่างๆ  ได้แก่ สงครามโลกครั้งที่ 1 สงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามมหาเอเชียบูรพา สงครามเวียดนาม สงครามเกาหลี  การเล่าเรื่องประกอบด้วยบอร์ดภาพ  อาวุธยุทธภัณฑ์ประจำกายชนิดต่างๆ
 
การจัดแสดงชั้นที่ 3  โดดเด่นที่พระบรมราชานุสาวรีย์หุ่นขี้ผึ้ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉลองพระองค์ชุดจอมพลทหารบก  พันโทหญิงวชิราภรณ์ ให้สังเกตที่สายประคดคาดเอว  เป็นฉลองพระองค์ของจริง  ชั้นนี้เล่าเรื่องราวกำเนิดโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าและวิวัฒนาการของโรงเรียน  โดยแบ่งเป็น 3 ยุคคือ โรงเรียนทหารสราญรมย์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ณ ถนนราชดำเนินนอก  โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ณ เขาชะโงก
 
ส่วนที่เป็นของใช้จัดแสดงในชั้นนี้ส่วนใหญ่เป็นของใช้ส่วนพระองค์ของ ร.5 และ ร.6  ได้แก่ โต๊ะเครื่องแป้ง นาฬิกาทรงสูงจากปารีส โต๊ะทรงงาน เก้าอี้ที่ใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ร.5 ลายพระหัตถ์ของร.6 ทรงพระราชนิพนธ์ บทเพลงสยามนุสติ  และยังมีโต๊ะทรงงานของพลเอกหญิงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นต้น
 
ชั้นนี้มีมุมของธงชัยเฉลิมพล ความสำคัญมีอยู่ว่า ธงชัยเฉลิมพลเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของทหาร เป็นเกียรติยศของหน่วยทหารนั้นๆ เมื่อเวลาเข้าสู่สงคราม ทหารทั้งปวงต้องพิทักษ์รักษาธงชัยเฉลิมพลของหน่วยตนไว้ด้วยชีวิต ธงชัยเฉลิมพลประจำกองทหาร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นพระราชทานแก่หน่วยทหาร  ทรงประกอบพิธีในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ท่ามกลางพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ชั้นผู้ใหญ่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตรึงธงแต่ละผืนติดกับด้ามธง ที่ส่วนบนของคันธงจะทรงบรรจุเส้นพระเจ้า พร้อมด้วยพระยอดธง  ลงในปุ่มกลมแล้วทรงปิดฝาเกลียวขันแน่น ทรงเจิมแป้งกระแจะจันทน์ที่ยอดธงทุกคัน โดยมีพระสงฆ์สวยชัยมงคลคาถา
 
ผู้มาขอเข้าชมที่นี่  โดยส่วนใหญ่มาเป็นหมู่คณะ ที่นี่มีสำนักงานการท่องเที่ยวโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จัดกิจกรรมให้กับนักท่องเที่ยว ได้แก่ พายเรือ เลื่อนข้ามแม่น้ำ กระโดดหอสูง 34 ฟุต โรยตัวจากหน้าผาจำลอง โรยตัวจากหน้าผาจริง ยิงปืนด้วยแสงเลเซอร์ มีการจัดโปรแกรมการท่องเที่ยวแบบค้างคืนและทำโครงการค่ายเยาวชน  โดยการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ ณ อาคาร รร.จปร. 100 ปี ถือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการท่องเที่ยว
 
----------------------------------------------------
สาวิตรี  ตลับแป้น /ผู้เขียน
สำรวจภาคสนาม วันที่ 27 มิถุนายน 2556
----------------------------------------------------
การเดินทาง : รถยนต์จากกรุงเทพฯไปได้ 2 เส้นทาง ได้แก่
-      เส้นทางแรก ไปตามทางหลวงหมายเลข 305 เลียบคลองรังสิตผ่านอำเภอองครักษ์ เลี้ยวซ้ายที่สามแยก จปร. (ทางหลวงหมายเลข 3052)
-      เส้นทางที่สอง ไปตามทางหลวงหมายเลข 1 เลี้ยวขวาที่แยกหินกองไปตามถนนสุวรรณศร(ทางหลวงหมายเลข 33) จนถึงสี่แยก จปร. เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลย 3052
-----------------------------------------------
อ้างอิง : 
ข้อมูลการสัมภาษณ์ วันที่ 27 มิถุนายน 2556
วิกิพีเดีย.(2556).ธงไชยเฉลิมพล.ค้นเมื่อ 6 กันยายน 2556 , จาก th.m.wikipedia.org/wiki/
สำนักงานการท่องเที่ยวโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า.(2009).พิพิธภัณฑ์ อาคาร 100  ปี รร.จปร. ค้นเมื่อ 5 กันยายน 2556,จากwww2.crma.ac.th/crmatour/100YearsMusiam.asp
               
 
ชื่อผู้แต่ง:
-

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ทหาร อาคารโรงเรียนจปร.100 ปี

พิพิธภัณฑ์ อาคาร รร. จปร.100 ปี หลังนี้ พลเอกหญิงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลากฤษ์ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พุทธศักราช 2530 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 100 ปีแห่งการสถาปนาโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พุทธศักราช 2533 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อ ให้อาคารหลังนี้เป็นพระบรมราชานุสรณ์แห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว องค์พระผู้พระราชทานกำเนิดโรงเรียน นายร้อยพระจุลจอมเกล้าที่ได้สร้างคุณงามความดีและได้เสียสละเพื่อประโยชน์ ประเทศชาติราชบัลลังก์อันจะ เป็นตัวอย่างที่ดีงามให้แก่อนุชนรุ่นหลังได้ประพฤติปฏิบัติสืบต่อไป
 
การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ อาคาร รร.จปร.100 ปี ดำเนินไปตามวัตถุประสงค์หลักที่บรรดาศิษย์เก่าของโรงเรียนนายร้อยทุกรุ่นทุกหลักสูตรได้ตั้งเจตน์จำนงไว้ นั่นคือนอกจากจะเพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์แห่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือ "เสด็จปู่" ของนักเรียนนายร้อยทั้งในอดีตและปัจจุบันแล้ว ยังมุ่งหวังให้อาคารแห่งนี้เป็นอนุสรณ์แห่งเกียรติประวัติของบรรดาศิษย์เก่า โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าที่ได้สร้างสมคุณงามความดีและได้เสียสละเพื่อประเทศชาติ ราชบัลลังก์ ดังจะได้นำชม โดยเริ่มจากชั้นสูงสุดดังนี้ 
ชั้นที่ 3 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดจัดแสดง พระบรมรูปหุ่นเรซินรัชกาลที่ 5 ในฉลองพระองค์ชุดจอมพลทหารบกพร้อมพระราชประวัติย่อ
 
เรื่องราวเกี่ยวกับกำเนิดโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าแต่ละยุค โดยแบ่งออกเป็น 3 ยุคคือ
                                1. โรงเรียนนายร้อยสราญรมย์
                                2. โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ณ ถนนราชดำเนิน
                                3. โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ณ เขาชะโงก นครนายก

ชั้นที่ 2 จัดแสดงผลงานเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งเกียรติประวัติของศิษย์เก่าโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ได้แก่ ศิษย์เก่าที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐบุรุษ ศิษย์เก่าที่ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร รวม 5 ท่าน ได้แก่
                                1. พลเอก พระประจนปัจจนึก
                                2. พลเอก หลวงสุทธิสารรณกร
                                3. พลตรี ศิริ สิริโยธิน
                                4. พลอากาศเอก กมล เดชะตุงคะ
                                5. พลอากาศเอก หะริน หงสกุล

ศิษย์เก่าที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวม 10 ศิษย์เก่าที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวม 10 ท่าน ได้แก่
                                1. พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)
                                2. จอมพล ป. พิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ)
                                3. จอมพล ถนอม กิตติขจร
                                4. จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
                                5. พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
                                6. พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
                                7. พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ
                                8. พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ
                                9. พลเอก สุจินดา คราประยูร
                              10. พลเอก สุรยุทธ จุลานนท์

มิใช่แต่เพียงที่ได้กล่าวมาแล้วเท่านั้น หากแต่ยังได้เชิดชูเกียรติประวัติของทหารไทย ศิษย์เก่าโรงเรียนนายร้อย พระจุลจอมเกล้าที่มีผลการปฏิบัติราชการสนามในสงครามต่างๆ นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 กรณีพิพาทอินโดจีน สงครามมหาเอเซียบูรพา สงครามเกาหลี รวมถึงการแสดงให้เห็นภารกิจในการป้องกันราชอาณาจักร ทั้งด้านป้องกันชายแดน ซึ่งได้นำยุทธการช่องบอกมาจัดทำโต๊ะทรายจำลองเพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นภาพการต่อสู้ตามแนวชายแดน ให้เด่นชัดมากขึ้น ส่วนด้านการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์นั้น ได้นำยุทธการผาเมืองเผด็จศึกมาจัดทำโต๊ะทรายเป็น ตัวอย่างของการต่อสู้และได้แสดงให้เห็นภารกิจ ในการรักษาความสงบภายในอันเป็นหน้าที่ของทหารไว้ด้วย พร้อมกันนี้ได้จัดแสดงหุ่นประกอบไว้ทุกสงคราม
 
สำหรับศิษย์เก่าที่เคยดำรงตำแหน่งสำคัญอื่นๆ ได้นำรายนามจารึกไว้ให้ปรากฎ ดังนี้ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอื่นๆ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารอากาศ อธิบดีกรมตำรวจ 
 
นอกจากงานด้านการบริหารและปกครองประเทศ ด้านงานราชการสงครามนอกประเทศและการป้องกันราชอาณาจักร ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังจัดแสดงภารกิจของทหารในด้านการพัฒนาในหัวข้อทหารกับการพัฒนาประเทศ อีกด้วยได้แก่ โครงการอีสานเขียน โครงการพัฒนาดอยตุง โครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนัง โครงการฮารับปันบารูและโครงการจัดที่ทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นต้น สำหรับธงโบราณและเครื่องแบบนักเรียนนายร้อยสมัยต่างๆ ได้จัดแสดงไว้ในชั้นนี้ด้วย
 
 ชั้นที่ 1 จัดเป็นห้องบรรยายสรุปกิจการของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าด้วยระบบ Multi Media รวมทั้งจัดแสดงของใช้ตำราเรียนของหลักสูตรต่างๆ เช่น หลักสูตรเทคนิคทหารบก และหลักสูตรนักเรียนนายร้อยต่างๆ 

ข้อมูลจาก: http://www.crma.ac.th/library/library%20main/museum%20ex.html [accessed 20081114]
ชื่อผู้แต่ง:
-

พิพิธภัณฑ์ทหารโรงเรียนนายร้อย จปร.100ปี

สัปดาห์นี้พามิตรรักแฟนคอลัมน์ไปทัศนศึกษากันที่จังหวัดนครนายกกันบ้าง ลุยกันไปที่ค่ายทหารกันเลย เปล่าครับไม่ได้บุกไปยึดแต่ประการใด แต่อยากแนะนำให้พาบุตรหลานไปเที่ยวสถานที่แห่งนี้ นั่นคือ พิพิธภัณฑ์ทหาร ของโรงเรียนนายร้อย จปร.ที่เขาชะโงก นั่นเอง เดี๋ยวนี้ทหารเขาเปิดกว้างยอมให้เข้าไปสัมผัสเยี่ยมเยือนสถานที่หวงห้ามกันได้แล้ว ไม่เหมือนเมื่อก่อน ปิดประตู ห้ามเข้าเด็ดขาด แต่ดันติดป้ายว่า ทหารเป็นมิตรกับประชาชน ! พิพิธภัณฑ์ทหารว่านี้ตั้งอยู่ใน โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (โรงเรียนนายร้อย จปร.) ณ ที่ตำบลพรหมณี ห่างจากตัวจังหวัดนครนายกประมาณ 14 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพฯ ตามเส้นทางองครักษ์ประมาณ 75 กิโลเมตร บริเวณโรงเรียนติดกับเขาชะโงก มีพื้นที่ประมาณ 19,290 ไร่ เป็นสถานที่ให้การศึกษาแก่ผู้ที่จะรับราชการเป็นนายทหารสัญญาบัตรแห่งกองทัพไทย
ชื่อผู้แต่ง:
-