พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบ้านปากพลี


ที่อยู่:
วัดโพธิ์ปากพลี ต.ปากพลี อ.ปากพลี จ.นครนายก 26130
โทรศัพท์:
0-3739-9075
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อก่อนเข้าชม
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2539
ของเด่น:
วัตถุโบราณ หุ่นสวมชุดลิเก
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบ้านปากพลี

ทันทีที่ผ่านซุ้มประตูทางเข้าวัดโพธิ์ปากพลี   วัดที่เก่าแก่ของตำบล มีมากว่า 100 ปี ราวกับว่าได้พบกับสิ่งมหัศจรรย์  เพราะบรรยากาศภายในวัดมีต้นยางนาสูงใหญ่  ยืนต้นรียงรายกันเหมือนอยู่กลางป่า  ด้านหน้าวัดดูครึกครื้นจากการอนุญาตให้ชาวบ้านมาใช้เป็นพื้นที่ตลาด ผู้คนมาจับจ่ายซื้อข้าวปลาอาหาร ช่วงนี้เริ่มมีทุเรียน จึงมีรถขายทุเรียนมาจอดขาย  ลูกค้ารุมซื้อจนปอกกันไม่ทัน
 
พิพิธภัณฑ์ของวัดอยู่ภายในกุฏิ  เดิมเป็นห้องเก็บของ  จึงค่อนข้างเป็นพื้นที่ส่วนตัว  กุฏิหลังใหญ่  โถงห้องตรงกลางโล่งประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่  สองด้านแบ่งเป็นห้องสำหรับพระสงฆ์จำวัด  ด้านหนึ่งได้ทำเป็นพิพิธภัณฑ์  มีประตูเหล็กปิดไว้อย่างแน่นหนา  แล้วข้างในนั้นยังมีห้องกระจกประตูปิดสนิทไว้อีกชั้น
 
พระปลัดสุทธิศักดิ์ อาภาธโร ท่านบอกว่า ท่านเองเพิ่งมาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดนี้ยังไม่ถึงปี  มีความตั้งใจที่สานต่องานพิพิธภัณฑ์  โดยจะนำข้าวของไปจัดแสดงใหม่ที่อาคารสองชั้นที่ได้ของบประมาณการซ่อมแซมจากองค์การบริหารส่าวนจังหวัด   แต่ทางคณะกรรมการวัดให้รอจัดการเรื่องโฉนดที่ดินของอาคารหลังนั้นให้โอนมาเป็นที่ธรณีสงฆ์ให้ถูกต้องเสียก่อน
 
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2540 โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์อาจารย์น้อม งามนิสัย  อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร โดยได้งบประมาณสนับสนุนมาจากบริษัทเอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด  อาจารย์น้อมเป็นคนในพื้นที่  ได้ร่วมกับกรมศิลปากรในการขุดค้นแหล่งโบราณคดีโคกกระโดน ตำบลปากพลี ลักษณะเป็นเนินในท้องนาที่ชาวบ้านเรียกว่า มาบไข่เน่า อยู่ห่างจากวัดออกไปประมาณ 2 กิโลเมตร มีการพบโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก 
 
การค้นพบครั้งแรกเป็นความบังเอิญจากการที่ชาวบ้านขุดดินหรือพรวนดินเพื่อทำการเพาะปลูก พอเจอของมีค่าพวกทองคำ สำริด และเก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตัว เมื่อทางหน่วยงานราชการไปสำรวจขุดค้นและทำความเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้เป็นหลักฐานว่าครั้งหนึ่งบ้านปากพลีเคยรุ่งเรือง เป็นเมืองท่าเรือสำคัญ ทำให้ชาวบ้านมองเห็นคุณค่า จึงได้นำโบราณวัตถุในความครอบครองมามอบให้
 
จากนั้นจึงได้มีการสร้างพิพิธภัณฑ์เพื่อเก็บรวบรวมโบราณวัตถุ  อาจารย์น้อมเองมีสิ่งของที่เก็บสะสมไว้ก่อนอีกจำนวนหนึ่ง จึงนำมามอบให้จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์  พร้อมกับนำนักศึกษาจาก มศว.ประสานมิตร มาช่วยจัดหมวดหมู่ ทำทะเบียนและจัดแสดง พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2540  ถึงแม้เวลาจะผ่านมาถึงสิบหกปี แต่ป้ายอธิบายโบราณวัตถุต่างๆยังคงอยู่เป็นอย่างดี
 
เนื่องจากห้องจัดแสดงมีขนาดเล็ก เดิมเป็นห้องเก็บของของวัด สิ่งของต่างๆ จึงดูเต็มห้อง บางส่วนที่ไม่ได้วางบนชั้นหรือเก็บใส่ตู้จะวางไว้ที่พื้น สิ่งของส่วนใหญ่เป็นวัตถุโบราณกับสิ่งของพื้นบ้านอีกจำนวนหนึ่ง  ที่สะดุดตาจะเป็นพวกโบราณวัตถุ  ส่วนนี้จัดวางไว้บนชั้นในห้องกระจกที่มิดชิด มีป้ายเขียนไว้อย่างชัดเจนว่าคืออะไร อยู่ในสมัยใด เช่น เครื่องมือหินยุคหินเก่า ยุคหินกลาง ยุคหินใหม่ตั่งแต่ 11,000- 600,000 ปี เครื่องประดับที่ทำจากสำริด อายุ 800-2,300 ปี และเครื่องมือที่ทำด้วยเหล็กอายุ 500-1,000 ปี ปัจจุบันมีจำนวนไม่น้อยกว่า 500 ชิ้น
 
การจัดแสดงทำเป็นชั้นขนาดเล็ก  เหมือนร้านขายเครื่องประดับที่โชว์สินค้าที่ให้ลูกค้าได้เดินชมผ่านตู้กระจก  มีวัตถุโบราณสมัยทวารวดี  เครื่องมือหินยุคหินเก่า  เครื่องมือหินขัด ยุคหินกลาง  เศษภาชนะสัมฤทธิ์ ชิ้นส่วนเครื่องมือเหล็ก  เงินพดด้วงสมัยสุโขทัย-ต้นรัตนโกสินทร์  เครื่องลายครามของประเทศจีน เศษภาชนะอายุ 1000 ปี  ชิ้นส่วนพระพุทธรูปปางประทานพร สร้อยลูกปัดแก้ว จี้อาเกต ลูกปัดดินเผา ลูกปัดคานีเลียน กำไลสำริด กำไลหินสีเขียว ตะกรุดอาเกต    ธนบัตร หม้อดินเผา  ชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์  มีกระทั่งเหล็กไหลหรือคดปลวก(อุกกาบาต) เป็นเครื่องรางของขลัง กระสวยทอผ้า เป็นต้น
 
กลางห้องกระจก มีหุ่นเท่าตัวคนสวมชุดลิเกอยู่ 2 ตัว เจ้าอาวาสเล่าว่า เจ้าของคณะลิเกนำมามอบให้  ตอนนี้คณะลิเกนั้นเลิกเล่นไปแล้ว  ถ้าเป็นสิ่งของอย่างอื่นที่ไม่ใช่วัตถุโบราณจะอยู่ในตู้ไม้  ส่วนใหญ่เป็นของใช้พระสงฆ์  เป็นพวกถ้วยชาม พาน ขันต่างๆ ที่สำคัญจะมีตู้พระธรรม  กับอีกส่วนหนึ่งเป็นของชิ้นใหญ่วางไว้บนชั้นเตี้ยๆ ด้านนอกห้องกระจก เป็นพวกโอ่งดินเผา  การที่ห้องนี้ไม่ได้เปิดตลอด เนื่องจากเคยมีขโมยเข้ามางัดห้อง ขโมยทองโบราณไป จึงต้องดูแลระมัดระวังกันมากขึ้น
 
เจ้าอาวาส ได้เดินนำไปดูอาคารพิพิธภัณฑ์หลังใหม่ที่จะย้ายเข้ามา  ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์มีต้นยางขนาดใหญ่ ติดป้ายเขียนบอกว่า ในปีพ.ศ. 2553 ต้นยางของวัดโพธิ์ปากพลี ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดต้นไม้ที่มีความโตและสมบูรณ์ที่สุดในท้องที่จังหวัดนครนายก มีความโต 593 ซม.สูงประมาณ 18 เมตร อายุของต้นยางประมาณ 400 ปี  ใกล้เคียงกันยังมีต้นยางใหญ่อีกหลายสิบต้น ทำให้บรรยากาศภายในวัดนี้มีความสวยงามโดดเด่นน่าประทับใจมาก  ประกอบกับการดูแลพื้นที่เป็นอย่างดี  ทำให้วัดดูเป็นระเบียบสะอาดตา

มองเข้าไปยังอาคารจัดแสดงหลังใหม่ของพิพิธภัณฑ์  ตัวอาคารสองชั้นสวยงาม ด้านหน้ามีเกวียนและเรือตั้งวางไว้  เจ้าอาวาสเล่าว่าเมื่อก่อนชาวบ้านเขาจะแข่งเรือกัน  สำหรับอาคารนี้ขาดแต่ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการจัดพิพิธภัณฑ์กับการตกแต่งรายละเอียด  ซึ่งจะทำให้การจัดแสดงมีความน่าสนใจมากขึ้น

----------------------------------------------------
 
สาวิตรี  ตลับแป้น /ผู้เขียน
ข้อมูลจาก  :  สำรวจภาคสนาม วันที่  27 เมษายน 2556
----------------------------------------------------
 
การเดินทาง : จากกรุงเทพฯไปตามทางหลวง 305 ผ่านรังสิต ธัญบุรี องครักษ์ ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตรหรือไปตามทางหลวงสายมิตรภาพ แล้วแยกเข้าหินกอง ผ่านวิหารแดง บ้านนา จะถึงจังหวัดนครนายก  ระหว่างทางจะเห็นป้ายบอกไปอำเภอปากพลี ระยะทาง 9 กม. ทางไปวัดโพธิ์ปากพลีมีป้ายบอก  โดยจะอยู่ช่วงทางโค้งด้านซ้ายมือ  ซึ่งต้องสังเกตป้ายข้างทางให้ดีเนื่องจากมีป้ายอื่นบังทำให้อาจจะขับรถเตลิดไป
 
-----------------------------------------------
 
อ้างอิง 
ข้อมูลการสัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2556
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบ้านปากพลี.(2550).ค้นเมื่อ 16 พฤษภาคม 2556 ,จาก http://pakpleenfe.blogspot.com/2007/01/blog-post_116900585154994673.html
องค์การบริหารส่วนตำบลปากพลี.(2554). พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบ้านปากพลี. ค้นเมื่อ 16 พฤษภาคม 2556 ,จาก
http://www.thaimallplaza.com/center/website/management/website_dragdrop/index_menu.php?site=478&page_id=5268&control=
 
 
ชื่อผู้แต่ง:
-

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบ้านปากพลี

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เริ่มดำเนินการก่อตั้งปี พ.ศ.2539  โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์น้อม งามนิสัย  คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร  ซึ่งพื้นเพเดิมเป็นคนที่นี่  ร่วมกับกรมศิลปากร เนื่องจากมีการค้นพบแหล่งโบราณคดีโคกกระโดน ตำบลปากพลี  บริเวณเนินในท้องนาที่ชาวบ้านเรียกว่ามาบไข่เน่าอยู่ไกลจากวัดประมาณ  2 กิโลเมตร  ซึ่งชาวบ้านพบโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก  
 
หลังจากที่ได้พบวัตถุโบราณดังกล่าวจึงได้มีการประสานงานกันและดำริให้มีการสร้างพิพิธภัณฑ์เพื่อเก็บรวบรวมโบราณวัตถุที่พบ  รวมไปถึงวัตถุสิ่งของที่อาจารย์น้อมได้เก็บสะสมไว้และนำมามอบให้พิพิธภัณฑ์อีกส่วนหนึ่ง  นอกจากนี้ยังได้นำนักศึกษาจาก มศว. ประสานมิตร  มาช่วยเรื่องการจัดหมวดหมู่ ทำทะเบียนและจัดแสดงวัตถุในพิพิธภัณฑ์ เปิดให้เข้าชมวันที่ 22 พฤษภาคม 2540      พิพิธภัณฑ์จัดแสดงโบราณวัตถุที่พบในบริเวณท้องถิ่น เช่น เครื่องมือหินกะเทาะ เครื่องมือหินขัด ลูกปัดอาเกต - คาร์นีเลียน เครื่องมือเหล็ก ตะกรันเหล็ก กำไลหินเขียว จนถึงรุ่นทวารวดี เช่นต่างหูทอง ลูกปัดทอง พวยกา ตะคันดิน แวดินเผา มีเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์สุ้งพบที่โคกกระโดน และของที่มาจากแหล่งอื่นๆ เช่น ลูกปัดทรงกระบอกยาว สีเขียวเข้มเกือบดำ ติดป้ายว่า "ตะกรุดอาเกต" จากบ้านเชียง อุดรธานี และเปลือกหอยทะเลจากปราจีนบุรี ส่วนวัตถุร่วมสมัย ได้แก่ เครื่องมือทอผ้า เครื่องใช้พื้นบ้าน ธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ นอกจากนี้ ยังมีพระพุทธรูปขนาดพระบูชาตั้งอยู่หลายองค์ ทั้งแบบเขมร เชียงแสน ชวา กับหุ่นสองตัวที่ใส่ชุดลิเกสมัยเก่า วัตถุทั้งหมดได้รับการจัดแสดงไว้ในห้องกระจกกลางห้อง ไม่สามารถเข้าไปชมวัตถุใกล้ๆ ได้
 
ข้อมูลจาก:
1. แบบสอบถามข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น  จัดทำโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
2. การสำรวจภาคสนาม วันที่ 19 สิงหาคม 2546 โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ชื่อผู้แต่ง:
-