หอวัฒนธรรมนิทัศน์เมืองดงละคร


ที่อยู่:
บ้านดงละคร ต.ดงละคร อ.เมืองนครนายก จ.นครนายก 26000
โทรศัพท์:
0-3733-0443, 0-3731-6998 อบต.ดงละคร
วันและเวลาทำการ:
เปิดจันทร์-เสาร์ 8.30 - 16.30 น. โบราณสถานเปิดเวลา 8.00-18.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เนื้อหา:

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

หอวัฒนธรรม(ศาลานิทรรศการ)เมืองดงละคร

จังหวัดนครนายกเป็นจังหวัดที่อยู่ด้านหนึ่งของเขาใหญ่  ตอนนี้เทือกเขาและป่าไม้ที่เคยเป็นดงดิบ กลับกลายมาเป็นขุนเขาที่ล้อมไว้ด้วยเมืองใหญ่และใกล้กับเมืองหลวงกรุงเทพฯ เมืองดงละครเป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดี  เป็นชุมชนที่เป็นเมืองท่าในเส้นทางการค้า มีการติดต่อกับอินเดีย จีนและเปอร์เซีย ในสมัยรัตนโกสินทร์มีกลุ่มลาวพวน ลาวเวียง และมอญ อพยพเข้ามาอยู่ในเขตเมืองนครนายกและอำเภอปากพลี  สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชาธิบายว่า “เมืองดงละคร เป็นเมืองที่นางพญาขอมสมัยโบราณสร้างไว้ให้องครักษ์”
       
ล้อมรอบเขตกำแพงเมืองเก่า ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของชุมชนที่มีอาชีพทำสวนมะปรางและขนุน ผลไม้ขึ้นชื่อของจังหวัด  คุณอภิชาติ อินยฤทธิ์ ผู้ดูแลโบราณสถานและต้อนรับนักท่องเที่ยว ได้บอกว่า ในช่วงเวลานี้ยังมีการขุดค้นของนักโบราณคดีของกรมศิลปากร  เป็นการเปิดพื้นที่สระทางทิศตะวันตก  ชาวบ้านจะมีส่วนร่วมด้วยการรับจ้างขุดค้น  ซึ่งจะต้องเป็นคนที่มีประสบการณ์จึงได้งานนี้  อย่างสิบคนจะต้องมีอย่างน้อยห้าคนที่เคยทำงานมาก่อน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกรณีเจอวัตถุโบราณ ต้องใช้เครื่องมือเบาอย่างเกรียงค่อยๆ ขูด  การใช้พื้นที่ของชาวบ้านทางการอนุญาตให้ตัดไม้ไผ่มาใช้สอยเล็กๆ น้อยๆ ได้ ห้ามตัดต้นไม้ใหญ่และห้ามทำการเพาะปลูกที่ต้องเอารถไถมาถากถาง  ส่วนการก่อสร้างบ้านเรือนในพื้นที่รอบนอก มีการกำหนดความสูงไม่ให้สร้างเกิน 2 ชั้น
 
ในการขุดค้นทางโบราณคดี  เริ่มมาประมาณ 30 กว่าปีมาแล้ว โดยขออาศัยบ้านของนายสมจิตร อินยฤทธิ์ ซึ่งมีบ้านอยู่ใกล้บริเวณหลุมขุดค้น ใช้เป็นสถานที่นัดพบและเป็นที่พักของนักโบราณคดี  ปัจจุบันบ้านหลังดังกล่าวยังติดป้ายว่า “สำนักงานชั่วคราว โครงการอนุรักษ์ เมืองดงละคร สำนักงานศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา” โดยคุณลุงสมจิตร อินยฤทธิ์  เจ้าของบ้าน ได้รับปริญญาบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากสถาบันราชภัฏพระนคร และได้รับแต่งตั้งเป็นวิทยากรผู้ถ่ายทอดข้อมูลเกี่ยวกับเมืองดงละคร
 
คุณจำนงค์ อินยฤทธิ์  สะใภ้ของบ้านนี้บอกต่อมาว่า ประมาณสิบปีก่อนได้มีการจัดให้มีการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์  มีการทำเส้นทางจักรยานรอบนอก  ทำให้มีนักท่องเที่ยวมากกว่าตอนนี้  ต่อมาไม่มีงบพัฒนาต่อ ตอนนี้การดูแลมีการเปลี่ยนแปลงจากสำนักงานศิลปากรปราจีนบุรี เป็นสำนักงานศิลปากรพระนครศรีอยุธยา  จุดท่องเที่ยวมี 3 จุดคือโบราณสถานซึ่งมีศาลานิทรรศการ บ่อน้ำทิพย์ และต้นมะม่วงสามขา(เกิดมาจากการทาบกิ่งแล้วเกิดรูปทรงประหลาดน่าสนใจ)
 
สำหรับผู้ที่เข้ามาเยือนที่นี่  สิ่งที่สะดุดตาคือศาลเจ้าที่มีผ้าหลากสี พวงมาลัยอยู่เต็มศาล ซึ่งเป็นเจ้าที่เจ้าทางที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ  มีศาลเจ้าปู่ประตูเมืองและศาลเจ้าแม่น้ำทิพย์  อยู่ทางทิศตะวันออก  เมื่อถามคุณอภิชาติว่าที่มาของชื่อดงละครมาจากไหน  ได้คำตอบว่ามาจากตำนานว่า ชาวบ้านได้ยินเสียงพิณพาทย์ลาดตะโพน บรรเลงแว่วออกมาในสายลม  ที่น่าประหลาดคือ มักจะมีนักท่องเที่ยวหลงทางอยู่เป็นประจำ ตัวเขาเองก็เคยไปช่วยตามหา  ครั้งหนึ่งคนที่หลงทางเป็นทหารเรือ  เขาแยกตัวออกไปคนเดียวแล้วหาทางกลับทางเดิมไม่ได้ เพื่อนๆเอารถขึ้นไปบีบแตรตามหาก็ไม่เจอ ต้องให้ชาวบ้านไปช่วย  คุณอภิชาติตั้งข้อสังเกตว่าถ้าเดินเที่ยวกันหลายคนจะไม่หลงทาง แต่ถ้าไปคนเดียวมักจะหลงเนื่องจากด้านในต้นไม้จะสูงหนาทึบ
 
สำหรับการจัดแสดงที่ศาลานิทรรศการในเขตโบราณสถาน  ประกอบด้วยบอร์ดนิทรรศการแสดงเรื่องราวของเมืองดงละครสมัยทวารวดี สภาพสังคม การดำรงชีวิต ภาษา ศาสนาและศิลปกรรม สภาพทางธรณีวิทยาและธรณีสัณฐาน ประวัติการทำงานด้านโบราณคดี หนึ่งในนั้นมีภาพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ครั้งที่เสด็จมาในปีพ.ศ.2532 ทรงนำคณะผู้เข้าร่วมสัมมนาทางวิชาการเรื่องภาษากับประวัติศาสตร์และความเคลื่อนไหวในวิชาประวัติศาสตร์ไทย จำนวนประมาณ 400 คน มาทัศนศึกษาในพื้นที่
 
นอกจากนี้ยังมีแบบจำลองพื้นที่  ตัวอย่างวัตถุโบราณและคำอธิบายที่ขุดค้นพบ อาทิเช่น โบราณวัตถุประเภทโลหะ มีทั้งที่ทำจากสำริด เหล็กและทองคำ โบราณวัตถุชิ้นสำคัญได้แก่ เศียรพระพุทธรูปกาไหล่ทอง แหวนสำริด เหล็ก และแผ่นทองคำ เป็นต้น
 
ดูตามแผนผังของเมืองโบราณดงละคร  ลักษณะเป็นเมืองรูปไข่เกือบกลม มีคูน้ำและคันดินโดยรอบ มีเนื้อที่ประมาณ 3,000 ไร่ และมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 700-800 เมตร เดิมมีแนวกั้นเป็นคันดินสองชั้นแต่ปัจจุบันเหลือเพียงชั้นนอกชั้นเดียว คันดินชั้นนอกมีความสูงกว่าคันดินชั้นใน แต่คันดินชั้นในมีความหนามากกว่า ลักษณะการสร้างเมืองนั้นติดกับแม่น้ำนครนายกสายเดิม ซึ่งติดต่อกับชายฝั่งทะเลได้
 
ตัวอย่างเศษภาชนะ เมืองโบราณดงละคร แบ่งตามแหล่งผลิต ได้แก่ เตาพื้นเมือง พุทธศตวรรษที่ 12-18 ลักษณะเนื้อไม่แกร่ง เผาอุณหภูมิต่ำ รูปทรงเด่นคือ หม้อมีสัน ภาชนะแบบมีพวยกา  แหล่งผลิตจากจีน(ราชวงศ์ถัง) พุทธศตวรรษที่ 14-15 ลักษณะเนื้อดินสีเทานวลค่อนข้างหยาบ เคลือบด้วยน้ำเคลือบสีเขียวทั้งด้านในและด้านนอก  แหล่งผลิตเตาพื้นเมือง(เตาละหานทราย) พุทธศตวรรษที่ 1-17 ลักษณะเนื้อดินสีเทา เคลือบสีเขียวใสบาง
 
ในวันมาฆบูชาพื้นที่โบราณสถานในบริเวณเดียวกับศาลานิทรรศการ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวัดสำหรับประกอบพิธีกรรมสำคัญของชาวเมืองดงละคร  มีการขุดแต่งในช่วงปี 2531-2532  เรียกว่า โบราณสถานหมายเลข 1 ลักษณะเป็นกำแพงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 12 เมตร มีทางเข้าอยู่ทางทิศใต้ ภายในมีแท่นตั้งสำหรับวางรูปเคารพอยู่ 2 แท่น (คาดว่าเดิมมี 3 แท่น) และโบราณสถานหมายเลข 2 ทำหลังคาคลุมหลุมไว้ ตรงกลางขุดพบสถูปศิลาแลงรูปทรงกระบอกขนาดใหญ่ซ้อนกัน 2 ชั้น สันนิษฐานว่า อาจเป็นสถูปใช้บรรจุกระดูกของบุคคลสำคัญในเมืองนี้ในสมัยโบราณ หรืออาจเป็นสถูปที่ใช้ในการวางศิลาฤกษ์ เพราะพบของมีค่าหลายอย่างฝังปนอยู่ ลักษณะเดียวกับการฝังลูกนิมิตในปัจจุบัน ชาวบ้านจึงได้ใช้สถานที่แห่งนี้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา มีการเวียนเทียน  กวนข้าวทิพย์  บวชชีพราหมณ์ 
 
ก่อนหน้านี้ทางชุมชนได้มีแนวคิดที่จะทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น  โดยมีวัดในชุมชนเป็นแกนนำ คุณอภิชาติบอกว่าหลังจากมีการพูดคุยกับนักโบราณคดี  จะติดปัญหาในเรื่องกฎหมายการซื้อขายโบราณวัตถุ  ซึ่งการสะสมสิ่งของของวัดจะต้องมีบางชิ้นที่อาจจะต้องซื้อหามานอกเหนือจากการขอรับบริจาคจากชาวบ้าน  ในการค้นพบโบราณวัตถุ  ปัจจุบันยังมีอยู่บ้างในช่วงระหว่างประตูทิศเหนือไปถึงประตูทิศใต้  บริเวณนี้ใกล้กับร่องน้ำโบราณ ช่วงฝนตกจะมีดินสไลด์ลงมา เคยพบเทวรูป ลูกปัดโบราณ คนโฑน้ำลายเขียนสี  บริเวณนั้นนักโบราณคดีบอกว่าจะเป็นเหมือนกับสุสาน ขุดสำรวจไปจะเจอข้าวสารดำ ลูกปัด ปะปนมากับทรายและเศษกระดูกมนุษย์
 
ปัจจุบันนักท่องเที่ยวเข้ามาที่นี่น้อยกว่าเมื่อก่อน แต่ก็มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาพื้นที่  ถ้ามีการประสานงานที่ดี  คาดว่าเมืองดงละครจะเป็นเมืองลับแลที่คนภายนอกสามารถเข้ามาสัมผัสได้  และจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดนครนายก
 
----------------------------------------------------
สาวิตรี  ตลับแป้น /ผู้เขียน
ข้อมูลจาก :  สำรวจภาคสนาม วันที่ 27 เมษายน 2556
----------------------------------------------------
 
การเดินทาง : จากกรุงเทพฯไปตามทางหลวง 305 ผ่านรังสิต ธัญบุรี องครักษ์ ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตรหรือไปตามทางหลวงสายมิตรภาพ แล้วแยกเข้าหินกอง ผ่านวิหารแดง บ้านนา จะถึงจังหวัดนครนายก
 
เมืองโบราณดงละคร  อยู่ฝั่งตรงข้ามของสะพานทางที่จะเลี้ยวเข้าไปยังอาคารสำนักงานอบต.ดงละคร อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก มีป้ายบอกทางชัดเจน ถนนทางเข้าจะผ่านป่าไผ่และมีต้นไม้ใหญ่ ลัดเลี้ยวเข้าไปบรรยากาศร่มรื่น มองเห็นป้ายเก่าๆบอกถึงเส้นทางจักรยานในแต่ละจุดของเมืองโบราณดงละคร โดยบ้านสำนักงานชั่วคราว โครงการอนุรักษ์ เมืองดงละคร สำนักงานศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา  ของนายสมจิตร อินยฤทธิ์ เป็นบ้านสวนอยู่ติดกับโบราณสถานและศาลานิทรรศการ
-----------------------------------------------
 
อ้างอิง 
ข้อมูลการสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 27  เดือนเมษายน 2556
แผ่นพับเมืองโบราณดงละคร,องค์การบริหารส่วนตำบลดงละคร  จังหวัดนครนายก
บทความวิกิพีเดีย.(2556).ค้นเมื่อ 16 พฤษภาคม 2556, จาก
http://th.wikipedia.org/wiki/เมืองโบราณดงละคร
เอกสารบรรยายสรุปขององค์การบริหารส่วนตำบลดงละคร อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก
 
 
ชื่อผู้แต่ง:
-