โดย:
วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555
จากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 304 (กรุงเทพฯ-มีนบุรี–ฉะเชิงเทรา) ระยะทาง 75 กิโลเมตร
จากกรุงเทพฯไปตามทางหลวงหมายเลข34 (บางนา-ตราด) จากนั้นเลี้ยวเข้าทางหลวงหมายเลข314 (บางปะกง–ฉะเชิงเทรา) ระยะทาง90กม.
จากกรุงเทพฯไปตามทางหลวงหมายเลข 3 (ผ่านสมุทรปราการ-บางปะกง) จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 314 ระยะทาง100 กิโลเมตร
จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางสายมอเตอร์เวย์ แล้วมาเลี้ยวซ้ายออก ฉะเชิงเทรา เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 314
จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทาง อ่อนนุช-ลาดกระบัง-ฉะเชิงเทรา เส้นทางตรงอย่างเดียว พอพ้นจากถนนลาดกระบังจะเข้าสู่ ทางหลวงชนบท หมายเลข 3001 (ถนนสาย เทพราช-อ่อนนุช) หลังจากนั้นขับตรงมาเรื่อยๆ จะไปเจอกับทางหลวงหมายเลข 314 ใช้เส้นนี้วิ่งเข้าตัวเมืองฉะเชิงเทราได้
จ. ฉะเชิงเทรา
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
รีวิวของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดหนามแดง
เพียงก้าวไปยังพื้นที่วัดหนามแดง จังหวัดฉะเชิงเทรา แล้วมองไปยังบริเวณต่างๆ เราจะสะดุดตากับสิ่งของแปลกตามากมาย ยิ่งเดินเข้าไป อาจกล่าวได้ว่าทั่วทุกหนแห่งของพื้นที่วัด กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่รวบรวมข้าวของเครื่องใช้สมัยก่อน เป็นสถานที่เก็บรักษางานฝีมือช่างชิ้นเอกการเริ่มต้นสะสมของเก่าไว้ภายในวัด เริ่มต้นมาจากเจ้าอาวาสวัดหนามแดงรูปก่อน พระครูสุคนณ์ วนคุณ จนกระทั่งปี พ.ศ.2519 หลังจากท่านมรณภาพไป พระครูปลัดวรการ กิจจะสาโล หรือ พระครูพิพิธสารกิจวิมล เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ได้สานต่อความตั้งใจ ท่านได้สะสมเครื่องมือเครื่องใช้ทางการเกษตรเพิ่มขึ้นอีกหลายร้อยชิ้น
เมื่อชาวบ้านทราบว่าทางวัดเก็บไว้สร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชน ชาวบ้านจึงนำของเก่ามาบริจาคกันอย่างมากมายนับหมื่นชิ้น ต่อมาช่วงปี พ.ศ. 2551-2552 ทางอบต.หนามแดง พร้อมด้วยคณะกรรมการสภาตำบล ผู้นำท้องถิ่น ได้ร่วมกันของบประมาณสนับสนุนมาจากทางจังหวัดจำนวนหนึ่งล้านบาท แล้วนำมาก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์
ปัจจุบันวัดหนามแดงมีทีมงานดูแลพิพิธภัณฑ์ 3 ท่าน นำโดย คุณสมพงษ์ บุญศรีสุข ประธานโครงการวัฒนธรรมสายใยชุมชน คุณสามารถ ทองมณี รองประธานฯ คุณหรรษา เจริญขำ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ตำบลหนามแดง
พื้นที่จัดแสดงของที่นี่จะกระจายกันไปทั่วทั้งวัด มี 3 ศาลากับบ้าน 2 หลัง บริเวณกุฏิเจ้าอาวาส ศาลาแห่งแรกที่คุณสมพงษ์กับคุณสามารถนำชม ฝั่งขวามีเรือมาดตั้งอยู่บนชั้นเรียงสูงขึ้นไปหลายลำ แต่ลำที่คุณสมพงษ์บอกว่าโดดเด่นที่สุดคือ เรือบิณฑบาตลำเล็ก ขนาดพอที่จะวางบาตรพระ สมัยก่อนพระภิกษุท่านจะใช้เรือลำนี้เป็นพาหนะในการออกบิณฑบาตยามเช้า ลำเรือนั้นเล็กแคบมากจนน่าฉงนว่าเรือลำนี้จะลอยและเป็นพาหนะในน้ำได้อย่างไร
ในศาลานี้ยังมีสิ่งของหลากหลายมาก ในแต่ละหมวดหมู่ได้ทำป้ายบอกด้วยตัวหนังสือตัวโต อธิบายให้ผู้เข้าชมได้ทราบว่าคืออะไร อย่างเช่น ฟืมที่ใช้ในการทอเสื่อกก ป้ายอธิบายเป็นส่วนๆว่า กระดึงทอเสื่อ เป็นโครงไม้เครื่องทอ ใช้สำหรับขึงเชือกปอหรือไนล่อน สำหรับสอดกกไปในช่องที่ขึงไว้กระทบให้ประสานกัน ฟืมทอเสื่อเป็นเครื่องมือสำหรับทอเสื่อ ใช้ปอหรือไนล่อนร้อยเรียบร้อยแล้ว ใช้กกพุ่งไปตามหงายหรือคว่ำ คนหนึ่งกระทบและเข็นไปเรื่อยๆจนเต็มฟืม
ใกล้กันมีถังตวงข้าวเปลือกและไม้ติ้ว ถังตวงข้าวสารใช้ตวงข้าวเปลือกในการซื้อและขาย โดยตวงน้ำหนัก 10 กิโลกรัม เป็นน้ำหนักข้าวเปลือก 1 ถัง ส่วนไม้ติ้ว เป็นไม้ซี่เล็กๆ ใช้สำหรับช่วยจำในการนับปักติ้วใส่ถังตวงข้าวเปลือก 1 ติ้วหมายถึงข้าวเปลือก 1 ถัง
คุณสมพงษ์ให้มองสูงขึ้นไปบนหลังคา บนนั้นมีตะเกียงแขวนไว้เป็นแถวยาว มีทั้งตะเกียงเจ้าพายุและตะเกียงรั้ว ที่แขวนใกล้กันอีกแถวเป็นเถาปิ่นโตลวดลายสีสันสวยงาม สิ่งของอื่นๆในศาลานี้มีหม้อ ไห โอ่งน้ำ โม่หิน เครื่องครัวสมัยก่อน ทีวีและอุปกรณ์สำนักงานรุ่นเก่า เป็นต้น
ศาลาที่ 2 จัดแสดงอุปกรณ์ทางการเกษตร มีทั้งแบบพื้นบ้านใช้วัสดุธรรมชาติและแบบเครื่องยนต์ได้แก่ เรือ กระบุงเจ๊กหรือกระบุงปากบาน ที่ม้วนอยู่คือเสียม ใช้สำหรับกั้นยุ้งข้าวเพื่อเก็บข้าวเปลือก เครื่องสีฝัด ครกตำข้าว สากมือ สากโยน เกวียน ลูกทุบ ใช้สำหรับทุบฟางเพื่อหมักเป็นปุ๋ย เครื่องชั่งแบบตุ้มน้ำหนัก ส่วนที่เป็นเครื่องจักรเครื่องยนต์มีเครื่องยนต์เรือรุ่นเก่า เป็นต้น
ระหว่างทางที่เดินไป บริเวณใกล้พระอุโบสถ มองเห็นเรือโดยสารขนาดเล็ก 2 ลำ สภาพดีสวยงามตั้งวางอยู่ สายตามองเลยไปทางด้านหลังมองเห็นเกวียนนับสิบเล่มจอดเรียงกันอยู่ ในศาลาที่สามมีเรือไม้ลำใหญ่มาก เมื่อมองพิจารณาใกล้ๆ เรือขนาดใหญ่เฉพาะกลางลำเรือน่าจะประมาณสองเมตร ความยาวกว่าสิบเมตร คาดว่าเป็นเรือขุดจากต้นไม้ใหญ่ต้นเดียว คุณสมพงษ์เล่าว่าเคยมีคนมาติดต่อซื้อเรือลำนี้หนึ่งแสนบาท ซึ่งทางวัดไม่สามารถนำไปขายได้ เพราะเจตจำนงของผู้ที่บริจาคมาก็เพื่อต้องการให้วัดเก็บรักษาไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษาเรียนรู้
ถัดมาเป็นบ้านสองหลัง เป็นส่วนกุฏิท่านเจ้าอาวาส ชั้นล่างมีสิ่งของอยู่มากมาย ถ้าเป็นส่วนด้านในห้องจะเป็นปืนยาวแขวนอยู่กับฝาผนัง ที่ด้ามปืนเขียนชื่อผู้บริจาคไว้ แล้วยังมีข้าวของเครื่องใช้สมัยก่อน มีตะเกียงลาน ตะเกียงแบบนี้ คุณสมพงษ์อธิบายว่า สมัยก่อนมีแต่คนรวยที่จะมีใช้ ตามวัดก็จะมีเฉพาะกุฏิหลวงพ่อ
ส่วนที่อยู่นอกห้อง ที่เด่นๆมีเครื่องฉายหนังแบบสมัยก่อน ส่วนที่แขวนกับผนังด้านนอกเป็นเครื่องมือทางการเกษตร มีคันไถโบราณแบบต่างๆ และยังมีเรือมาดลำเล็ก มีป้ายบอกว่าเป็นเรือมาดสมัยอยุธยา มีปืนทำเองเรียกว่าปืนแก้ป ชาวบ้านจะใช้สำหรับป้องกันตัว เอาไว้สำหรับเฝ้าสวน
เนื่องจากวัดมีสิ่งของที่มีคุณค่าต่อการศึกษาจำนวนมากมาย คุณสมพงษ์จึงคิดว่าอยากจะหางบประมาณมาสร้างสถานที่จัดเก็บให้ดีกว่านี้ การจัดทำป้ายได้สั่งทำไปแล้วเป็นจำนวนมาก บางส่วนยังทำไม่เสร็จและบางส่วนก็ยังไม่ได้นำมาติดไว้ ที่ผ่านมาได้มีคนมาเข้าชมอยู่เป็นประจำ ถ้าติดต่อมาล่วงหน้า คุณสมพงษ์จะเตรียมคนพานำชม บางครั้งจะเป็นมัคคุเทศก์นักเรียนที่เข้ามาช่วย
ขณะเข้าชมท่านเจ้าอาวาสได้กำลังต้อนรับญาติโยมภายในกุฏิ ท่านเป็นคนอัธยาศัยดีมีเมตตา นั่นจึงเป็นที่มาที่ท่านได้รับความไว้วางใจจากผู้คน นำของมาถวายให้ท่านและวัดหนามแดงช่วยดูแลรักษากันอย่างมากมาย
----------------------------------------------------
สาวิตรี ตลับแป้น /ผู้เขียน /ถ่ายภาพ
สำรวจภาคสนาม วันที่ 9 กรกฎาคม 2555
----------------------------------------------------
การเดินทาง :
จากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 304 (กรุงเทพฯ-มีนบุรี–ฉะเชิงเทรา) ระยะทาง 75 กิโลเมตร
จากกรุงเทพฯไปตามทางหลวงหมายเลข34 (บางนา-ตราด) จากนั้นเลี้ยวเข้าทางหลวงหมายเลข314 (บางปะกง–ฉะเชิงเทรา) ระยะทาง90กม.
จากกรุงเทพฯไปตามทางหลวงหมายเลข 3 (ผ่านสมุทรปราการ-บางปะกง) จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 314 ระยะทาง100 กิโลเมตร
จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางสายมอเตอร์เวย์ แล้วมาเลี้ยวซ้ายออก ฉะเชิงเทรา เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 314
จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทาง อ่อนนุช-ลาดกระบัง-ฉะเชิงเทรา เส้นทางตรงอย่างเดียว พอพ้นจากถนนลาดกระบังจะเข้าสู่ ทางหลวงชนบท หมายเลข 3001 (ถนนสาย เทพราช-อ่อนนุช) หลังจากนั้นขับตรงมาเรื่อยๆ จะไปเจอกับทางหลวงหมายเลข 314 ใช้เส้นนี้วิ่งเข้าตัวเมืองฉะเชิงเทราได้
วัดหนามแดง อยู่ตำบลหนามแดง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา อาคารพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดหนามแดง จัดแสดงสิ่งของกระจายไปทุกศาลาและอยู่ภายในกุฏิท่านเจ้าอาวาส-----------------------------------------------
อ้างอิง : ข้อมูลการสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 9 เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2555
ASTVผู้จัดการออนไลน์.(2553).อบต.หนามแดง ผุด “พิพิธภัณฑ์ ชุมชน”หวังเก็บมรดกทาง ภูมิปัญญา ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ดู. http://www.manager.co.th/Local/
ViewNews.aspx?News.asID=9530000105475
รีวิวของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดหนามแดง
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดหนามแดง ตั้งอยู่ที่วัดหนามแดง ต.หนามแดง อ.เมืองฉะเชิงเทรา เป็นพิพิธภัณฑ์เก็บของเก่า รวบรวมเครื่องมือเครื่องใช้ในชุมชนสมัยโบราณ ตามแต่ที่จะสามารถเก็บสะสม รวบรวมมาได้ จากความร่วมมือร่วมใจ นำมาบริจาคของชาวบ้าน ผู้มีจิตศรัทธา ที่จะนำมาร่วมกันบริจาคให้แก่ทางวัดหนามแดงสะสมไว้ การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดหนามแดงขึ้น เพื่อที่จะใช้เป็นสถานที่ในการเก็บรวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ไม้สอยเก่าแก่ ของคนโบราณ เช่น เรือโบราณ ชนิด ต่างๆ ที่เคยใช้สัญจรกันในลุ่มน้ำ เกวียน โบราณชนิดต่างๆ ที่เคยใช้ในการขนส่งทางการเกษตรในสมัยอดีต ตลอดจนสิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือน ทั้งหม้อ ไห เครื่องมือดักจับสัตว์น้ำ ลอบ ไซ เครื่องชั่งโบราณ โม่หิน ถ้วยชาม ปิ่นโต โอ่งน้ำ ไปจนถึง เครื่องมือประกอบอาชีพ ถักทอ เพื่อไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ศึกษา และใช้ประโยชน์หาความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ในวิถีชุมชนแห่งนี้ร่วมกัน เปิดให้เข้าชมฟรี ช่วงระหว่างวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ที่มา http://www.tourism-chachoengsao.go.th/menu3.php?att=3
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
เครื่องใช้ไม้สอย เรือมาด
พิพิธภัณฑ์ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช (โรงเรียนพุทธโสธร)
จ. ฉะเชิงเทรา
พิพิธภัณฑ์วัดจีนประชาสโมสร (เล่งฮกยี่)
จ. ฉะเชิงเทรา
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดเทพราช
จ. ฉะเชิงเทรา