โดย:
วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555
จากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 304 (กรุงเทพฯ-มีนบุรี–ฉะเชิงเทรา) ระยะทาง 75 กิโลเมตร
จากกรุงเทพฯไปตามทางหลวงหมายเลข34 (บางนา-ตราด) จากนั้นเลี้ยวเข้าทางหลวงหมายเลข314 (บางปะกง–ฉะเชิงเทรา) ระยะทาง90กม.
จากกรุงเทพฯไปตามทางหลวงหมายเลข 3 (ผ่านสมุทรปราการ-บางปะกง) จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 314 ระยะทาง100 กิโลเมตร
จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางสายมอเตอร์เวย์ แล้วมาเลี้ยวซ้ายออก ฉะเชิงเทรา เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 314
จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทาง อ่อนนุช-ลาดกระบัง-ฉะเชิงเทรา เส้นทางตรงอย่างเดียว พอพ้นจากถนนลาดกระบังจะเข้าสู่ ทางหลวงชนบท หมายเลข 3001 (ถนนสาย เทพราช-อ่อนนุช) หลังจากนั้นขับตรงมาเรื่อยๆ จะไปเจอกับทางหลวงหมายเลข 314 ใช้เส้นนี้วิ่งเข้าตัวเมืองฉะเชิงเทราได้
จ. ฉะเชิงเทรา
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
รีวิวของพิพิธภัณฑ์ทหารกองพันที่ 1 กรมทหารราบที่ 111
ครั้นเมื่อถึงวันเด็ก สิ่งตื่นตาตื่นใจของเด็กๆก็คือการจัดงานวันเด็กในค่ายทหาร เป็นวันที่จะได้ใกล้ชิดกับอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ในกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบ 111 ก็เช่นเดียวกัน ในงานวันเด็กทุกปีจะมีการนำอาวุธยุทโธปกรณ์สมัยก่อนไปจัดนิทรรศการ ส่วนวันอื่นๆบุคคลภายนอกที่สนใจสามารถเยี่ยมชมได้ในห้องพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ในค่ายทหารจุดประสงค์ในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ได้แก่
1. เพื่อรวบรวมวัตถุและยุทโธปกรณ์ ที่เคยประจำการอยู่ในกองทัพบก รวมทั้งของฝ่ายตรงข้ามไว้เป็นตัวอย่างเพื่อการศึกษาและเป็นแหล่งความรู้ให้กับกำลังพลภายในหน่วยรวมทั้งบุคคลภายนอกได้ศึกษาค้นคว้า ซึ่งเป็นการบริการทางสังคมอีกทางหนึ่ง
2. เพื่อสร้างความภาคภูมิใจและปลูกจิตสำนึกให้กับกำลังพลของหน่วย กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 111 ให้มีความรักหวงแหนและเห็นคุณค่าพิพิธภัณฑ์ทางทหาร
3. เพื่อเป็นแหล่งเสริมสร้างแนวความคิด จินตนาการอันกว้างไกลและวิสัยทัศน์ให้กับกำลังพลของหน่วยในการวิจัยพัฒนา จากการศึกษาพิจารณาวัตถุและยุทโธปกรณ์ ด้วยตัวอย่างในยุคต่างๆ เป็นการเชื่อมต่ออดีตเข้ากับปัจจุบัน ให้ได้มีประสิทธิภาพสำหรับผลงานในอนาคต โดยใช้เป็นข้อมูลในการรายงานหรือเสนอแนะ ให้กับผู้บังคับบัญชาได้ทราบตามลำดับ
ผู้นำชมพิพิธภัณฑ์มี 3 ท่านคือ พันตรี ชัยวัตร วสยางกูล ร้อยเอก อชิลักษณ์ พงน์พัฒน์พล จ.ส.อ.ประภาสกร สุขอยู่ วัตถุและยุทโธปกรณ์ต่างๆ พิพิธภัณฑ์ได้รับการสนับสนุนจาก สพ.ทบ. กรม ทพ. ที่ 12 และบางส่วนมาจากทหารพราน การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์นี้ได้รวบรวมไว้หลากหลายประเภททั้งปืนอาก้า ปืนกล ปืนแก้ป เครื่องยิง M 62 ลูกระเบิดขว้างแบบต่างๆ ได้แก่ ลูกระเบิดขว้าง(น้อยหน่า) ลูกระเบิดขว้าง แบบ 69 ลูกระเบิดขว้างแบบ 46 เป็นต้น ลูกระเบิดแบบต่างๆ ได้แก่ ลูกระเบิดยิง ค.61 มม. ลูกระเบิดยิง ค.82 มม.
ทุ่นระเบิดต่างๆมีจัดแสดงไว้หลากหลายแบบ ตัวอย่างทุ่นระเบิด ได้แก่ ทุ่นระเบิดสังหาร(แบบโรงผี) ทุ่นระเบิดสังหาร(ฝักข้าวโพด) ทุ่นระเบิดดักสังหาร M 26 (กบกระโดด) ทุ่นระเบิดดักรถถังขนาดหนัก แบบ M 19 ทุ่นระเบิดสังหารแบบพลาสติก(แบบดาว) เป็นต้น
อาวุธอีกกลุ่มหนึ่งที่จัดแสดงแยกไว้หนึ่งตู้ใหญ่คือพวกดาบและกระบี่ อย่างเช่น ดาบชาววังเล็ก ดาบชาววังใหญ่ ดาบชนัยเดอร์ด้ามทองเหลือง ดาบซามูไร กระบี่โกร่งเล็ก กระบี่หัวสิงห์ขนาดเล็ก กระบี่ทหารม้าอย่างเล็ก กระบี่ชาววัง กระบี่หัวสิงห์สามสาย เป็นต้น จากทั้งหมดนี้มีเพียงกระบี่เล็ก ที่ทหารม้ายังใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
วัตถุจัดแสดงดังกล่าว อีกมุมมองนอกจากความเป็นอาวุธและอานุภาพแล้ว วัสดุที่ใช้ยังมีความน่าสนใจ เพราะปัจจุบันไม่ได้ใช้วัสดุแบบนี้แล้ว พันตรีชัยวัตร วสยางกูล อธิบายว่าอาวุธสมัยก่อนขีปนวิธีจะไม่รุนแรงเท่าสมัยนี้ ระยะใกล้กว่า น้ำหนักมากกว่า(ขีปนวิธี คือ การศึกษาการเคลื่อนที่ของลูกกระสุน) ส่วนอาวุธสมัยนี้จะเบากว่า ไกลกว่า แรงกว่า อย่างปืนสมัยก่อน เมื่อไปพิจารณาใกล้ๆวัสดุที่เป็นด้ามจับทำมาจากไม้เนื้อแข็ง
ในรายละเอียดมีป้ายอธิบายเป็นบางชิ้น ตัวอย่างเช่น ลูกจรวด RPG.-2 ขนาด 82 มม.ของโซเวียต ใช้แพร่หลายในประเทศกลุ่มคอมมิวนิสต์ในสงครามเวียตนาม (เวลาบรรจุเข้าเครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถัง RPG.-2 ต้องม้วนครีบหางแล้วใส่ทางปากลำกล้อง) พลทหารอาสาสมัครไทย ที่ไปปฏิบัติราชการร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสาธารณรัฐเวียตนามใต้ ยึดได้จากพวกเวียตกง เมื่อปี พ.ศ.2511(ค.ศ.1968)
จ.ส.อ.ประภาสกร สุขอยู่ อธิบายว่า อาวุธหลายชิ้นไม่ทราบที่มา อย่างกรณีได้มาจากทหารพรานแทบจะหาข้อมูลไม่ได้ จะมีเพียงการลงบัญชีรายละเอียดวัตถุและยุทโธปกรณ์ระบุว่า ได้รับการสนับสนุนจาก สพ.ทบ. และได้รับการสนับสนุนจาก กรม ทพ.ที่ 12 โดยมีการลงจำนวนและหน่วยนับ อย่างปืนนับเป็นกระบอก ดาบและกระบี่นับเป็นเล่ม ทุ่นระเบิดนับเป็นทุ่น ลูกระเบิดและลูกจรวดนับเป็นลูก
ส่วนของด้านหลังห้องได้จัดทำเป็นห้องสมุด ร้อยเอก อชิลักษณ์ พงน์พัฒน์พล บอกว่าห้องพิพิธภัณฑ์จัดร่วมกับห้องสมุดของหน่วย บนชั้นหนังสือด้านหนึ่งมีพวกเอกสารโบราณจำพวกคู่มือราชการสนาม เป็นภาษาอังกฤษ เกี่ยวกับยุทธวิธี ขีปนวิธี การใช้อาวุธต่างๆ เป็นเรื่องระเบิด เรื่องกระสุน วิธีการปฏิบัติ หนังสืออื่นๆบนชั้นเป็นหนังสือทางทหาร หนังสือประวัติศาสตร์
พันตรีชัยวัตร ได้กล่าวถึงการฝึกของทหารในปัจจุบันว่ามีความแตกต่างจากสมัยก่อนตรงยุทธวิธี เมื่อก่อนจะฝึกเป็นหน่วยขนาดใหญ่ เพื่อทำการรบลักษณะแบบสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นการนำกำลังขนาดใหญ่เข้าไป แต่ปัจจุบันต้องทำลักษณะชุดเล็กลง แต่ว่าต้องฝึกเพิ่มขึ้น ทหารทุกคนในหนึ่งชุดจะมี 6-12 คน จะต้องทำหน้าที่หลายๆอย่างได้ เช่น คนที่เป็นหมอจะต้องสามารถยิงปืนเล็ก และมีความรู้เรื่องการวางระเบิด คือสามารถทำหน้าที่แทนกันได้ อันเนื่องมาจากความเหมาะสมของปฏิบัติงานในพื้นที่ในการคุ้มครองและดูแล เช่น ในพื้นที่ภาคใต้ หรือในกรุงเทพฯ กองกำลังขนาดใหญ่ยังมีอยู่แต่น้อยลง เป็นการวางกำลังรักษาแนวชายแดน
ภารกิจของหน่วยในสองเดือนที่ผ่านมามีการฝึกเยาวชนป้องกันยาเสพติด การซ้อมการดับเพลิง การนำกำลังพลทหารกองประจำการและกำลังพลสำรอง ทำการฝึกเป็นหน่วยทางยุทธวิธีระดับกองร้อย ณ พื้นที่ฝึกเขาน้ำหยด ตำบลหนองแหน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา และวันที่ 11 กันยายน 2555 ร.111 พัน.1 จะเข้าร่วมการทดสอบ การฝึกทักษะเพื่อให้ชนะ(เดินเร่งรีบและการยิงปืนด้วยกระสุนจริง)
----------------------------------------------------
สาวิตรี ตลับแป้น /ผู้เขียน /ถ่ายภาพ
ข้อมูลจาก : สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2555
---------------------------------------------------
การเดินทาง :
จากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 304 (กรุงเทพฯ-มีนบุรี–ฉะเชิงเทรา) ระยะทาง 75 กิโลเมตร
จากกรุงเทพฯไปตามทางหลวงหมายเลข34 (บางนา-ตราด) จากนั้นเลี้ยวเข้าทางหลวงหมายเลข314 (บางปะกง–ฉะเชิงเทรา) ระยะทาง90กม.
จากกรุงเทพฯไปตามทางหลวงหมายเลข 3 (ผ่านสมุทรปราการ-บางปะกง) จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 314 ระยะทาง100 กิโลเมตร
จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางสายมอเตอร์เวย์ แล้วมาเลี้ยวซ้ายออก ฉะเชิงเทรา เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 314
จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทาง อ่อนนุช-ลาดกระบัง-ฉะเชิงเทรา เส้นทางตรงอย่างเดียว พอพ้นจากถนนลาดกระบังจะเข้าสู่ ทางหลวงชนบท หมายเลข 3001 (ถนนสาย เทพราช-อ่อนนุช) หลังจากนั้นขับตรงมาเรื่อยๆ จะไปเจอกับทางหลวงหมายเลข 314 ใช้เส้นนี้วิ่งเข้าตัวเมืองฉะเชิงเทราได้
กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 111 อยู่ตำบลบางตีนเป็ด อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ระหว่างจุดตัดของทางหลวงหมายเลข 304 และ 315-----------------------------------------------
อ้างอิง : กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบ 111.(2555). ค้นเมื่อ 12 กันยายน 2555, จาก http://www.armyinf111.com/index2.html
ข้อมูลการสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 30 เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2555
เอกสารพิพิธภัณฑ์ทหารและห้องสมุด ร.111 พัน.1
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
การทหารและสงคราม
พิพิธภัณฑ์ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช (โรงเรียนพุทธโสธร)
จ. ฉะเชิงเทรา
พิพิธภัณฑ์ไทยพวน บ้านหัวกระสังข์
จ. ฉะเชิงเทรา
พิพิธภัณฑ์ล้อต๊อก
จ. ฉะเชิงเทรา