พิพิธภัณฑ์ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช (โรงเรียนพุทธโสธร)


ที่อยู่:
ร.ร.พุทธโสธร อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา 24000
โทรศัพท์:
0-3851-1989, 081-5778233 ติดต่ออ.นันทา
วันและเวลาทำการ:
เปิดจันทร์-ศุกร์ 08.30-16.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2530
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช(โรงเรียนพุทธโสธร)

วัดที่มีชื่อเสียงโด่งดังและมีผู้เลื่อมใสศรัทธา เดินทางมากราบไหว้มากที่สุดในจ.ฉะเชิงเทรา ก็คือ วัดโสธรวรารามวรวิหาร ซึ่งมีพระพุทธรูปหลวงพ่อพุทธโสธร พระปางสมาธิอันศักดิ์สิทธิ์หรือที่คนทั่วไปเรียกว่าหลวงพ่อโสธรประดิษฐานอยู่ เชื่อกันว่าใครมากราบไหว้ขอพรบนบานสิ่งใดก็มักจะได้ตามคำขอ จนกลายเป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ วิหารหลวงพ่อโสธรก็โอ่โถงสวยงาม เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา บริเวณใกล้กันมีโรงเรียน ชื่อโรงเรียนพุทธโสธร ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าต้องมีความเกี่ยวข้องกับวัดโสธรฯ อย่างแน่นอน และเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ที่น่าสนใจด้วย

พิพิธภัณฑ์ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เกิดจากความตั้งใจของ พระพรหมคุณาภรณ์ (จิรปุญโญ ด.เจียมกุลละวณิชย์) อดีตเจ้าอาวาสวัดโสธรวรารามวรวิหาร ในปี 2530 ท่านมีความประสงค์จะจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชในวโรกาสพระชนมายุครบ 60 พรรษา จึงได้ประกาศให้ชาวบ้านและผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันบริจาคของเก่าและมีคุณค่าเพื่อถวายแด่ในหลวง จนกระทั่งได้รวบรวมสิ่งของจัดแสดงได้มากพอสมควร และเดิมก็มีวัตถุโบราณจากในวัดโสธร อยู่บ้างแล้ว พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงได้เริ่มดำเนินการ และจัดแสดงอยู่บนชั้น 3 ของอาคารหอประชุมโรงเรียนพุทธโสธร โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเสด็จมาเปิดพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นทางการเมื่อ 19 มกราคม พ.ศ. 2531

หลังจากเปิดอย่างเป็นทางการได้ระยะหนึ่ง พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็เริ่มประสบปัญหาขาดคนดูแล ตลอดจนสิ่งของที่นำมาแสดงล้วนเป็นของมีคุณค่า จึงไม่สามารถเปิดให้เข้าชมได้ตลอดเวลา จึงปิดเสียเป็นส่วนมาก จนกระทั่ง พ.ศ. 2537 อาจารย์นันทา ผลบุญ ย้ายจากปราจีนบุรีมาสอนที่โรงเรียนแห่งนี้และเห็นคุณค่าของพิพิธภัณฑ์จึงเริ่มกลับมาฟื้นฟูและเปิดพิพิธภัณฑ์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้อีกครั้ง โดยเฉพาะเป็นแหล่งความรู้ให้กับนักเรียนโรงเรียนพุทธโสธร

อาจารย์เล่าว่าปัจจุบันได้มีการตั้งชุมนุมยุวมัคคุเทศก์ขึ้นมา โดยให้เด็กๆ ฝึกนำชมพิพิธภัณฑ์ นักเรียนสามารถบูรณาการความรู้ ทั้งเรื่องศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ได้จากพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ทำให้จากเดิมเป็นพิพิธภัณฑ์เคยปิดตายกลับมามีชีวิตชีวาและเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สนุกสนานอีกครั้ง 

ห้องจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช มีทั้งหมด 3 ห้อง แบ่งเป็น 3 เรื่องราว ห้องแรกคือ พระพุทธรูป ศิลปะวัตถุ โบราณวัตถุ ห้องที่ 2 เรื่องภูมิปัญญาไทย ห้องที่ 3 เรื่อง ชนชาติไทย 

ห้องแรกเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ตรงกลางมีพระพุทธรูปจำลองหลวงพ่อโสธร สำหรับตั้งที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้โดยเฉพาะ รวมถึงพระพุทธรูปต่างๆ ที่แต่ละองค์ล้วนแต่มีความสวยงามและมีเรื่องราว ที่น่าสนใจก็คือพระพุทธรูปไม้แกะสลัก อ.นันทาเล่าว่ามีคนแกะสลักขึ้นมาเลียนแบบหลวงพ่อโสธรองค์เดิมซึ่งตามตำนานท่านลอยน้ำมา จนชาวเมืองฉะเชิงเทรา ได้อัญเชิญขึ้นมาไว้ที่วัดโสธรฯ ในปัจจุบัน พระที่สามารถลอยน้ำได้ก็น่าจะเป็นพระไม้ หลวงพ่อโสธรองค์ปัจจุบันมีการหล่อโลหะทับและปิดทองกันจนไม่เห็นเค้าโครงรูปเดิมกันแล้ว ช่างในสมัยก่อนจึงเชื่อว่าดั้งเดิมท่านคงเป็นพระพุทธรูปไม้ นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปองค์เล็กๆ ที่มีพุทธศิลป์สวยงามอยู่มากมาย หลายยุคหลายสมัย สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะสามารถไปชมได้

ส่วนต่อมาเป็นเครื่องถ้วยชามเบญจรงค์ เครื่องถ้วยชามชุดนี้สามารถสะท้อนเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนได้ เล่ากันว่าสมัยก่อนประเทศไทยไม่สามารถผลิตเครื่องถ้วยเบญจรงค์ที่มีน้ำเคลือบสีขาวได้จึงส่งไปทำที่ประเทศจีน แต่คนจีนไม่ชอบเทวดาไทยที่มีรูปร่างผอมบาง จึงวาดกลับส่งมาให้เทวดามีพุงอ้วนพลุ้ยและแขวนเกาทันต์มาด้วย หรือนรสิงห์ก็ไม่ได้มีหางเหมือนสิงห์ แต่มีหางเหมือนมังกร ต่อมาช่างไทยจึงเดินทางไปคุมเองที่เมืองจีนจึงได้เครื่องถ้วยที่ถูกใจคนไทย อ.นันทาบอกว่าเด็กๆ ชอบเรื่องเกร็ดเหล่านี้และสามารถจดจำได้ดีมาก เพราะฟังแล้วสนุกกว่าเรื่องวิชาการล้วนๆ หรือถ้าจะดัดแปลงให้เข้ากับวิชาวิทยาศาสตร์ก็สามารถเล่าเรื่องน้ำเคลือบกระเบื้องที่เมื่อเผาออกมาแล้วจะมีสีต่างๆ กันเพราะแร่ธาตุในดินต่างกัน ชุดเครื่องถ้วยเขียนสีที่ไม่ควรพลาดและหาดูได้ที่นี่ที่เดียวคือ เครื่องเบญจรงค์ลายพระอภัยมณี เป็นลายพระอภัยมณีตอนออกเรือรบ ถัดมาเป็นพานเบญจรงค์ใบเล็กๆ แต่มีความหมายเพราะเป็นของท่านนายกฯอภิสิทธิ เวชชาชีวะ ซึ่งท่านได้ร่วมบริจาคไว้เมื่อปี พ.ศ. 2530 ก่อนที่พิพิธภัณฑ์จะเปิด การจัดแสดงเกี่ยวกับเครื่องเบญจรงค์และเครื่องลายครามนี้ถือว่ามีสีสันมาก เพราะเด็กๆ ชอบมาสังเกตลายเขียนจีนเล็กๆ ที่อยู่ในเครื่องถ้วย เช่นคนจีนจูงลา พายเรือ หรือเดินตลาด เด็กๆ บอกว่าดูแล้วรู้ว่าคนจีนสมัยนั้นอยู่กันอย่างไร ในส่วนนี้ยังมีหมอนสูบฝิ่น ปิ่นโตลงรักปิดทองที่หาชมได้ยาก หรือกาต้มน้ำชาขนาดใหญ่ ที่ใช้เลี้ยงกรรมกรชาวจีนเวลาทำงาน

ด้านหลังห้องมีตู้ที่น่าสนใจก็คือ ตู้อาวุธ ดาบที่เล่ากันว่าใช้ปราบกบฏอั้งยี่ ครั้งที่ชาวจีนกรรมกรรวมตัวกันแข็งข้อที่เมืองฉะเชิงเทรา และฆ่าเจ้าเมืองทิ้ง เจ้าหน้าที่ทางกรุงเทพฯจึงลงมาปราบปราม แม่น้ำฉะเชิงเทราตอนนั้นจึงเต็มไปด้วยสีเลือด นอกจากนี้ยังมีเครื่องทองเหลืองที่เคยใช้งานในวัดโสธรฯ และบางชิ้นทางโรงเรียนก็ยังคงหยิบยืมไปใช้อยู่ สิ่งที่ควรชมอีกอย่างก็คือพระพุทธรูปยืนปางรำพึง ที่เชื่อว่าเป็นฝีมือปั้นพระพุทธรูปครั้งแรกๆ ของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ลักษณะขาเล็กแต่ช่วงไหล่และศรีษะกว้าง เพื่อให้คนที่ก้มกราบพระเงยหน้ามาเห็นว่าพระพุทธรูปสมส่วน

ห้องที่สอง เป็นห้องภูมิปัญญาไทย สิ่งแรกที่เห็นก็คือ พระฤาษี และตำรายา เป็นภูมิปัญญาเกี่ยวกับยาไทย ทั้งสมุดข่อย และสมุนไพรไทย ต่างๆ มีเครื่องบดยาที่ได้รับบริจาคจากร้านยาจีนเก่าที่เด็กๆ สามารถไปทดลองกลิ้งเล่นได้ด้วย อีกฟากก็จะมีเครื่องมือการเกษตรที่อาจารย์บอกว่าชิ้นที่เด็กๆ ชอบมากที่สุดคือสีฝัด เพราะเวลาร้อนๆก็มายืนแล้วให้เพื่อนปั่นลมให้ ถือเป็นข้อดีของพิพิธภัณฑ์ที่อนุญาติให้จับได้ ด้านหลังห้องมีกัญญาเรือไม้โบราณ และเตียงไม้แกะสลักซึ่งเล่ากันว่าเป็นเตียงของเจ้าดารารัศมีที่ได้รับบริจาคมาจากญาติพระพรหมคุณาภรณ์ และปิ่นโตเถาใหญ่เป็นพิเศษเป็นของใช้ส่วนตัวของพระพรหมคุณาภรณ์ เนื่องจากท่านเป็นคนรูปร่างสูงใหญ่จึงต้องมีปิ่นโตส่วนตัวให้เหมาะสมกับรูปร่างเวลาบิณฑบาตร

ถัดไปห้องที่สาม ห้องชนชาติไทย เป็นห้องที่ยังจัดไม่เสร็จแต่เป็นเหมือนอนุสรณ์ของการเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ด้านหนึ่งเป็นเก้าอี้ที่เคยใช้รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งเสด็จมาเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ และพระเก้าอี้ของสมเด็จพระเทพฯ ที่ทรงเสด็จมาด้วย ถัดไปเป็นประวัติของ พระพรหมคุณาภรณ์(ด.เจียม กุลละวนิชย์) ซึ่งเคยเป็นเสือป่าสมัยรัชกาลที่ 6 ถัดมาเป็นพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี ทั้ง 9 พระองค์ และตู้จัดแสดงเครื่องอัฐบริขาร หม้อน้ำมนต์แบบต่างๆ ของที่เป็นจุดเด่นของห้องนี้คือ แบบจำลองพระอุโบสถ วัดโสธรวรารามวรวิหาร ที่ออกแบบโดย อ.ประเวศ ลิมปรังษี และกล้องส่องทางไกลสำหรับดูยอดฉัตรทองคำของโบสวัดโสธรฯ ซึ่งเป็นทองหนัก 77 กิโลกรัม มูลค่า 44 ล้านบาท มองไกลๆ อาจดูอันเล็กนิดเดียว ไม่เห็นความอลังการของทองคำก้อนใหญ่ ควรจะมาส่องด้วยกล้องอันนี้จะเห็นยอดฉัตรทองคำสะท้อนกับแสงแดดสวยงามเป็นบุญตา

พิพิธภัณฑ์ในสถานศึกษาโรงเรียนพุทธโสธร แห่งนี้ถือว่าโชคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของอาจารย์ผู้สนใจเรื่องราวประวัติศาสตร์และสังคมอย่าง อ. นันทา ผลบุญ จนกระทั่งประยุกต์ปรับปรุงให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ และเด็กๆ ในโรงเรียนเองก็เห็นคุณค่าด้วย พิพิธภัณฑ์จึงไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อสำหรับเด็กๆ อีกต่อไป

สำรวจวันที่ 19 เมษายน 2552

ชื่อผู้แต่ง:
-