พิพิธภัณฑ์วัดจีนประชาสโมสร (เล่งฮกยี่)


ที่อยู่:
วัดจีนประชาสโมสร(เล่งฮกยี่) ถนนศุภกิจ ต.บ้านใหม่ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา 24000
โทรศัพท์:
038-511069 , 038-517510
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน 08.00-17.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ของเด่น:
พระพุทธรูปโบราณแบบจีน
จัดการโดย:

โดย:

วันที่: 15 พฤศจิกายน 2555

โดย:

วันที่: 15 พฤศจิกายน 2555

โดย:

วันที่: 15 พฤศจิกายน 2555

โดย:

วันที่: 15 พฤศจิกายน 2555

โดย:

วันที่: 15 พฤศจิกายน 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์วัดจีนประชาสโมสร (เล่งฮกยี่)

วัดจีนประชาสโมสรหรือวัดเล่งฮกยี่  เป็นวัดจีนในมหานิกาย มีประวัติความเป็นมายาวนาน  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีความเลื่อมใสศรัทธาในคณาจารย์จีนวังส์สมาธิวัตร(สกเห็ง) ปฐมบูรพาจารย์แห่งนิกายมหายานในประเทศไทย ปฐมเจ้าอาวาสแห่งวัดมังกรกมลาวาสหรือวัดเล่งเน่ยยี่ กรุงเทพมหานคร และเป็นผู้สร้างวัดเล่งฮกยี่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา
 
ในครั้งที่รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสมณฑลปราจีนบุรี เพื่อเปิดเส้นทางรถไฟสายตะวันออก  กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา ทรงเสด็จฯ เยี่ยมวัดเล่งฮกยี่  พระองค์ทรงพระราชทานเงินจำนวน 1 ชั่ง หรือ 80 บาท เพื่อบำรุงวัดพร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานชื่อ “วัดจีนประชาสโมสร”อันมีความหมายว่า วัดแห่งนี้เป็นที่ชุมนุมของคนจีน โดยแผ่นป้ายชื่อพระราชทานได้รับการเก็บรักษาอย่างดีภายในวัด
 
คำว่า “ฮก”ในภาษาจีนเป็นคำมงคล หมายถึงโชคลาภ วาสนา ความมั่งมีศรีสุข คำว่า “เล่ง”หรือ “เล้ง”ภาษาจีนหมายถึงมังกร รวมความหมายของคำว่า “เล่งฮกยี่”หมายถึง “มังกรวาสนา”หรือ “มังกรแห่งโชค”
 
ปัจจุบันท่านเย็นจุง  เป็นเจ้าอาวาสวัดจีนประชาสโมสร  ท่านเย็นจุง ได้ให้ความหมายของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือวัดนี้ทั้งหมด  พระพุทธรูปและสิ่งของมีค่าต่างๆได้จัดวางกระจายอยู่ในตำแหน่งต่างๆอย่างเหมาะสม  การไม่ทำตู้กระจกและทำป้ายอธิบาย  เพราะท่านมีความกังวลว่าจะเป็นการเน้นให้เป็นจุดเด่น  เป็นเป้าสายตากับมิจฉาชีพ  ที่ผ่านมาในช่วงที่มีผู้คนเข้ามาเป็นจำนวนมาก  ได้เคยมีพระพุทธรูป เครื่องสังคโลก เครื่องลายคราม หายไป  ดังนั้นพระพุทธรูปและของล้ำค่ามาก  จึงมีความจำเป็นที่จะเก็บรักษาไว้ในที่ปลอดภัย  ยังไม่สามารถนำมาตั้งไว้ได้
 
การเข้ามาไหว้พระหรือชมงานศิลปะของพุทธศาสนานิกายมหายาน  มีหลายจุดน่าสนใจ การนมัสการมีคำแนะนำว่าให้เดินวนทางด้านซ้ายมือของพระประธาน  เมื่อก้าวเข้าไปในวัดจะมีรูปปั้นขนาดใหญ่ของท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4  อยู่ใกล้กับประตู  เป็นเทวดาของมนุษย์โลกทั้ง 4 ทิศ
 
"ท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4"ผู้ครองสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาภูมิประกอบด้วย 1) "ท้าวเวสสุวัณมหาราชหรือท้าวกุเวร" ถือกระบองปกครองยักขเทวดาทางทิศอุดร(เหนือ) 2) "ท้าววิรุฬหกมหาราช" ถือไม้พลองปกครองกุมภัณฑ์เทวดาทางทิศทักษิณ(ใต้) 3) "ท้าวธตรฐมหาราช" ถือกงจักรปกครองคนธรรพ์เทวดาทางทิศบูรพา(ตะวันออก) 4) "ท้าววิรุฬปักข์มหาราช" ถือพระขรรค์ปกครองนาคเทวดาทางทิศปัจฉิม(ตะวันตก) มหาราชทั้ง 4 เป็นผู้รักษามนุษยโลกจึงเรียกว่าท้าวจตุโลกบาล ซึ่งมีสถานที่ปกครองตั้งแต่ตอนกลางของเขาพระสุเมรุลงมาจนถึงมนุษยโลก มีอาณาเขตแผ่ออกไปจรดขอบจักรวาล เทวดาทั้งหลายที่อยู่ในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาภูมินี้ทั้งหมดเป็นบริวารภายใต้อำนาจของมหาราชทั้ง 4 เมื่อเทียบเวลาของมนุษยภูมิ
 
พระประธานที่อยู่กลางโถงห้องคือ พระอมิตพุทธเจ้า พระศรีศากยมุนี พระไภษัชคุรุพุทธเจ้า ทั้งสามองค์สร้างขึ้นจากกระดาษนำมาจากเมืองเซียงไฮ้ ประเทศจีน  ใกล้กันมีพระพุทธโสธร  องค์จำลองหล่อด้วยสัมฤทธิ์ทองแดง เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวแปดริ้ว  สร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี  พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ คือพระโพธิสัตว์(กวนอิม)พันหัสถ์พันเนตร อันแสดงถึงการทอดทัศนาเล็งเห็นทั่วโลกธาตุ และพันหัสถ์แสดงถึงอำนาจในการช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ 
 
เทพหลักเมือง เป็นเทพประจำเมือง มีหน้าที่ดูแลวิญญาณในเมืองหรือชุมชน แปะกง แปะม่า ผู้รักษาคุ้มครองสถานที่  พระเวทธรรมโพธิสัตว์(อุ่ยท้อ) พระพิทักษ์พระศาสนา ผู้บูชาจะพ้นภัยพิบัติ  มีสุขสมบูรณ์และมั่งคั่ง  เทพไฉ่เซ่งเอี๊ย เทพแห่งโชคลาภ ความมั่งคั่งและความร่ำรวย ชาวจีนให้ความเคารพนับถือมาหลายพันปี หมอเทวดาฮั่วท้อเซียนซือ บรมครูแห่งการแพทย์และเภสัชกรแผนจีน เอี๊ยอ้วงไต่ตี่,สิ่งล้ง ราชาแห่งโอสถ และเทพแห่งกสิกรรม กราบไหว้เพื่อให้หายจากอาการป่วย ชาวเกษตรกรกราบไหว้ขอให้ผลผลิตงอกงาม
 
เมื่อเดินวนทางด้านซ้ายจะสะดุดตากับระฆังใบใหญ่  เรียกว่าระฆังจารึกบทสวดมนต์ หล่อจากแต้จิ๋ว น้ำหนักกว่า 1 ตัน  ที่รอบระฆังมีอักษรมหาปรัชญาปารมิตราสูตร  ถือกันว่าผู้ใดตีระฆังก็เหมือนกับการสวดมนต์
 
ต่อมาจะเป็นพระตี่จังอ้วงโพธิสัตว์  พระกษิติครรภ์มหาโพธิสัตว์ พระผู้โปรดสัตว์ที่อยู่ในนรก  ใกล้กันเป็นห้องที่เรียกว่าวิหารบูรพาจารย์ ในห้องนี้มีพระพุทธรูปโบราณที่มีสวยงามมาก ห้องนี้สำหรับนมัสการ “พระสำเร็จ”สังขารอดีตท่านเจ้าอาวาสซึ่งมรณภาพในท่านั่งวิปัสสนากรรมฐาน ถัดจากห้องนี้เป็นวิหารพระกวนอิมโพธิสัตว์  และวิหารหลวงพ่อหินศักดิ์สิทธิ์  ด้านในตกแต่งอย่างงดงาม มีการวางโอ่งโบราณแบบจีนหลายใบเรียงกันมีความสวยงามมาก ห้องนี้เขียนไว้ว่าเชิญนมัสการหลวงพ่อหิน 1000 ปี
 
ขณะนี้ทางวัดได้กำลังก่อสร้างองค์เจดีย์ขนาดใหญ่  การก่อสร้างเป็นเจดีย์แบบประเทศจีน สร้างมาแล้ว 10 ปี คาดว่าอีกประมาณ 2 ปีจึงสามารถเปิดใช้ประโยชน์ได้ ใช้งบประมาณไปกว่าร้อยล้าน ซึ่งได้มาจากผู้มีจิตศรัทธา  เจดีย์แห่งนี้คนที่ผ่านไปมาสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน  ท่านเย็นจุงบอกว่า เมื่อเจดีย์เสร็จสมบูรณ์ จะมีห้องพระไตรปิฎก ห้องสมุดสำหรับค้นคว้าหาข้อมูล  มีคอมพิวเตอร์ ยกตัวอย่างเช่น บางคนอยากรู้เรื่องพุทธศาสนาแบบมหายานหรือแบบหินยาน วัชรยาน ก็สามารถค้นหาข้อมูลได้  และอาจจะนำสิ่งของโบราณของวัดบางส่วนไปจัดแสดงไว้ที่นั่นด้วย
 
ท่านเย็นจุงกล่าวถึงการเข้าวัดของคนสมัยนี้ว่ามีความแตกต่างจากสมัยก่อน  สมัยพ่อแม่เขาจะมานอนที่วัดกัน 5-10 วัน  เนื่องจากการเดินทางลำบาก  มีการมาฝึกปฏิบัติช่วงกินเจ  มาสวดมนต์ คนที่มาเข้าวัดเขามีความผูกพันกับวัดมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย  ผูกพันกันตั้งแต่เมืองจีน  สมัยนี้คนสามารถไปเช้าเย็นกลับได้  ในรอบปีหนึ่งวัดจัดงานใหญ่ครั้งเดียวคือวันตรุษจีน
       
----------------------------------------------------
สาวิตรี  ตลับแป้น /ผู้เขียน /ถ่ายภาพ
ข้อมูลจาก  :  สำรวจภาคสนาม วันที่ 22 พฤษภาคม 2555
----------------------------------------------------
การเดินทาง :
  *จากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 304 (กรุงเทพฯ-มีนบุรี–ฉะเชิงเทรา) ระยะทาง 75 กิโลเมตร
  *จากกรุงเทพฯไปตามทางหลวงหมายเลข34 (บางนา-ตราด) จากนั้นเลี้ยวเข้าทางหลวงหมายเลข314 (บางปะกง–ฉะเชิงเทรา) ระยะทาง90กม.
  *จากกรุงเทพฯไปตามทางหลวงหมายเลข 3 (ผ่านสมุทรปราการ-บางปะกง) จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 314 ระยะทาง100  กิโลเมตร
  *จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางสายมอเตอร์เวย์ แล้วมาเลี้ยวซ้ายออก ฉะเชิงเทรา เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 314
  *จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทาง อ่อนนุช-ลาดกระบัง-ฉะเชิงเทรา เส้นทางตรงอย่างเดียว พอพ้นจากถนนลาดกระบังจะเข้าสู่ ทางหลวงชนบท หมายเลข 3001 (ถนนสาย เทพราช-อ่อนนุช) หลังจากนั้นขับตรงมาเรื่อยๆ จะไปเจอกับทางหลวงหมายเลข 314 ใช้เส้นนี้วิ่งเข้าตัวเมืองฉะเชิงเทราได้
    วัดจีนประชาสโมสรอยู่ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 1 กิโลเมตร
-----------------------------------------------
อ้างอิง  :  ข้อมูลการสัมภาษณ์วันที่ 22 พฤษภาคม 2555            
                ท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4.(2554).ค้นเมื่อ 25 กันยายน 2555,จาก http://board.palungjit/f128/
                แผ่นพับประชาสัมพันธ์วัดจีนประชาสโมสร(เล่งฮกยี่)
 
 
 
 
ชื่อผู้แต่ง:
-