พิพิธภัณฑ์ไทยพวน บ้านหัวกระสังข์


ที่อยู่:
เทศบาลตำบลบ้านซ่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
โทรศัพท์:
083-1118245, 087-8335025
วันและเวลาทำการ:
โปรดติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2546
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์ไทยพวน บ้านหัวกระสังข์

พิพิธภัณฑ์ไทยพวน บ้านหัวกระสังข์ตั้งไม่ห่างจากถนนใหญ่ ระหว่างเส้นทางฉะเชิงเทรา-ปราจีนบุรี หรือทางหลวงหมายเลข 319 โดยเป็นอาคารชั้นเดียวที่อยู่ภายในบริเวณของศาลเจ้าพ่อเตียงทอง ศาลหลักเมือง และศาลแม่นางไม้ อันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้านหัวกระสังข์

บ้านหัวกระสังข์

ป้าพนมและลุงเทียรให้คำอธิบายเกี่ยวกับเคลื่อนย้ายของชาวไทยพวนบ้านหัวกระสังข์ และกล่าวถึงที่มาของการจัดตั้งชุมชน สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ เพื่อเป็นหลักให้กับชาวไทยพวนที่เคลื่อนย้ายมาจากต่างแดน “ไทยพวนหนีมาจากเวียงจันทน์ มาเจอหนองน้ำที่วัดหนองโคกควาย (วัดเกาะแก้ว) แล้วพาลูกพาหลานมาอยู่ที่นั่น สร้างวัดตรงนั้นก่อน แล้วไทยพวนกับไทยไม่ถูกกัน แล้วหนีบ้านแตกสาแหรกขาดมาอีก ไปทำไร่ทำนา ก็ถูกรังแก ตัดหางวัวหางควายบ้าง เลยย้ายจากหนองโคกควาย” ลุงเทียรกล่าว และป้าพนมกล่าวเสริม

ทางต้นสำโรงเป็นคนไทย คนพวนกลัวเขาถอยร่นมาอยู่ตรงนี้ บ้านไทยพวนไปถึงหมู่ 5 ตรงนี้หมู่ 10 บ้านหัวกระสังข์ โดยมีถนนผ่ากลาง ชาวบ้านทั้งสองหมู่ทำบุญที่วัดเยอะมาก ชาวบ้านทำงาน 2 หมู่ ...นอกจากนี้ มีบ้านหนองปรือ หนองแสง ก็เป็นไทยพวนด้วยเช่นกัน

สำหรับเจ้าพ่อเตียงทองที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งกับคนบ้านหัวกระสังข์และพื้นที่ใกล้เคียง ลุงเทียรบอกเล่าถึงความเชื่อและรูปแบบพิธีกรรมสำคัญ ๆ

พอมาอยู่ที่นี่ เกิดความตายเยอะ ป่วยเช้าตายเย็น มีเจ้าพ่อเตียงทองคอยดูให้ ท่านก็บอกให้ลูกหลานมาปลูกหลักบ้าน สิมบ้าน หลักเมือง มาปลูกไว้ตรงนี้ จึงต้องมีการทำพิธีล้อมหญ้าคาทุกปี ในพิธีนั้น มีพระสงฆ์ร่วมอยู่ด้วย ทุกครั้งก่อนทำพิธีล้อมหญ้าคา  เจ้าพ่อเตียงทองมาทรง และพยากรณ์ว่าบ้านเราจะอยู่สงบเรียบร้อยดีหรือไหม

พี่วิโรจน์ กัลยาหัตถ์ หนึ่งในผู้ที่มีส่วนสนับสนุนกิจกรรมของชุมชนกล่าว่า เดิมทีแล้วเป็นเพียงศาลหญ้าคา ทำนองศาลปู่ตาที่คนพวนนั้นนับถือ เมื่อมีการพัฒนาหมู่บ้านมากขึ้น จึงมีจัดซื้อที่ดินมากขึ้น “ในสมัยผู้ใหญ่เล้ง” และพัฒนาที่ทางให้ชาวบ้านสามารถเดินทางมาบูชาและประกอบกิจกรรมได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นสถานที่ตั้งของระบบประปาหมู่บ้าน “น่าจะประมาณสักยี่สิบปี” ที่มีการพัฒนาดังที่เห็นตามสภาพในปัจจุบันนี้ ลุงเทียรกล่าวเสริมอีกคำรบหนึ่ง

พิพิธภัณฑ์ไทยพวน

ภายในเอกสารประชาสัมพันธ์ระบบภูมิปัญญาท้องถิ่น โครงการเครือข่ายการเรียนรู้ขององค์กรปกครองท้องถิ่นเพื่อชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ระบุไว้ว่า

พิพิธภัณฑ์ไทยพวนบ้านหัวกระสังข์ก่อตั้งขึ้นจากการนำของนายสมชาย จันธรรมมาพิทักษ์ นายกเทศมนตรีในเวลานั้น ได้ระดมความเห็นของชาวบ้าน ซึ่งเห็นว่า  วัฒนธรรมเดิม ๆ ของชาวไทยพวนอาจสูญหาย จึงได้มีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้น ณ ศาลปู่ตา เพื่อเก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้และอุปกรณ์ที่ใช้ในการดำรงชีวิต

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2546 โดยได้รับงบประมาณการก่อสร้างจากองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านช่อง จำนวน 200,000 บาท ซึ่งเป็นอาคารชั้นเดียว มีหน้าต่างโดยรอบอาคาร และมีบริเวณหน้าอาคารเพื่อใช้ในการประกอบกิจกรรมและพิธีกรรมสำคัญ ๆ ของชุมชน พี่วิโรจน์บอกเล่าถึงความสำคัญของการทำงานในช่วงเวลานั้น ที่ปรับอาคารเดิมให้สูงขึ้นและมีการใช้งานสำหรับประกอบพิธีกรรมในเดือน 6 เท่านั้น ชาวบ้านต่างร่วมบริจาคสิ่งของต่าง ๆ ทั้งเครื่องมือทำมาหากิน เครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องมือช่าง

เมื่อครั้งที่มีการเปิดพิพิธภัณฑ์ ทางองค์กรปกครองท้องถิ่นได้เชิญรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมในช่วงเวลาลานั้น [นางอุไรวรรณ เทียนทอง] มาเป็นประธาน แต่ด้วยเหตุบางประการทำให้ไม่ได้มา แต่ก็มีการจัดงานใหญ่ผู้คนที่เข้าร่วมต่างแต่งชุดย้อนยุค ฉะนั้นแล้ว สถานที่แห่งนี้จึงประยุกต์ใช้เป็นทั้งพิพิธภัณฑ์เพื่อรวบรวมมรดกต่าง ๆ และส่งต่อให้กับลูกหลาน และคงใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมดังที่เคยสืบทอดต่อกันมาไม่ขาดสาย ดังเช่นพิธีล้อมบ้านในเดือน 6 ที่เป็นการขับไล่สิ่งที่ไม่ดีออกไปจากหมู่บ้าน หรือเรียกว่า การทำบุญกลางบ้าน เป็นต้น

ภายในพิพิธภัณฑ์ ไม่มีการจัดแสดงเพื่อบอกเล่าเรื่องราวใด ๆ แต่เป็นการจัดเก็บเครื่องมือเครื่องใช้และอุปกรณ์ต่าง ๆ ไว้เป็นหมวดหมู่ ได้แก่ หมวดเครื่องจักสาน เช่น ไซดักปลา ลอบ สุ่มไก่ อุปกรณ์ช่างไม้ เช่น เลื่อย กบไสไม้ เครื่องปั้นดินเผา เช่น ไหดินเผา เครื่องถ้วย เช่น พาข้าวหรือภาชนะที่เคยใช้เป็นสำรับกับข้าวใส่เครื่องคาวหวานสำหรับไปทำบุญที่วัด สิ่งของต่าง ๆ จัดอยู่บนชั้นเหล็กที่ปูพื้นด้วยไม้อัด ให้มีช่องทางเดินสำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าถึงชิ้นวัตถุ

มากไปกว่านั้น วัสดุต่าง ๆ จะได้รับการปิดป้ายแสดงชื่อเรียกวัตถุ ทั้งภาษาไทยกลางและคำที่แสดงการออกเสียงเป็นภาษาพวน เช่น ตะกร้าใหญ่ หรือ “กะซะ” สำหรับใช้ใส่ของเมื่อออกไปทำนา, พลั่วสาดข้าวหรือ “กาบสะเค่า” ใช้สำหรับสาดข้าวให้ฝุ่นละอองปลิวออกไป หลังจากการนวดข้าว ลุงเทียรยังสาธิตให้เห็นวิธีการใช้เครื่องมือจับปลาที่เรียกว่า “เขิง” หรืออุปกรณ์สานจากไม้ไผ่มีรูปทรงคล้ายกะชอนที่ใช้คั้นกะทิแต่มีขนาดใหญ่ ปากกว้างราวสองไม้บรรทัดและมีตาไม่ถี่มากนัก เมื่อใช้งาน ลุงเทียรแสดงการหงาย “เขิง” ทางปากขึ้นเพื่อชอนปลา หรือพาข้าวหรือที่ชาวไทยพวนเรียกว่า “สะแห” มีลักษณะคล้ายคานหาบและมีเครื่องสำรับสังคโลกขนาดต่าง ๆ สำหรับไว้ใส่ข้าวสุกและกับข้าวในการไปทำบุญที่วัด แต่เมื่อเวลาผ่านไป ปิ่นโตเข้ามาแทนที่เพราะใช้ใส่เครื่องทำบุญได้สะดวกมากกว่า

การใช้ประโยชน์และโอกาสข้างหน้า

สำหรับพี่วิโรจน์นั้น พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เคยมีโอกาสบอกเล่าเรื่องเล่าของบรรพบุรุษชาวไทยพวนให้กับลูกหลาน และต้อนรับผู้มาเยือนจากภายนอกมากกว่าในปัจจุบัน แม้จะมีความพยายามในการจัดทำหลักสูตรภาษาไทยพวนให้กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ก็กลับดำเนินการได้เพียงระยะสั้น ดังจะเห็นได้จากป้ายไวนิลที่แสดงให้เห็นตัวอักษรและการเขียนป้ายสำหรับออกเสียงชื่อเรียกวัตถุดังที่ลุงเทียรได้ยกตัวอย่างไว้

ในเวลานั้น บริเวณภายในศาลและลานด้านหน้าพิพิธภัณฑ์จึงมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์ในฐานะสถานที่ของการประกอบพิธีกรรมมากกว่าการให้ความรู้ผ่านวัตถุข้าวของ แม้จะมีผู้ที่สนใจแวะมาเยี่ยมเยือนเป็นครั้งคราว แต่พิพิธภัณฑ์ไทยพวน บ้านหัวกระสังข์ ไม่สามารถดำเนินการในลักษณะเดียวกับพิพิธภัณฑ์แห่งอื่น ๆ ที่เปิดให้บริการอยู่เป็นประจำ ฉะนั้น หากผู้สนใจต้องการเยี่ยมชม จะต้องประสานงานกับวิทยากรท้องถิ่น เพื่อเข้าเยี่ยมชมและรับฟังเรื่องเล่าที่น่าสนใจ และสำหรับนักเรียนนักศึกษา ยังสามารถได้ใช้ประโยชน์จากเอกสารที่บันทึกพิธีกรรมและประเพณีของชุมชน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่โอกาสที่ผู้ดูแลสามารถมาต้อนรับได้ตามวาระที่สมควร.

อ้างอิง

เอกสารประชาสัมพันธ์ระบบภูมิปัญญาท้องถิ่น ศูนย์เรียนรู้พิพิธภัณฑ์ไทย-พวน, โครงการเครือข่ายการเรียนรู้ขององค์กรปกครองท้องถิ่นเพื่อชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ เทศบาลตำบลบ้านช่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), ม.ป.ป.

สัมภาษณ์

เทียร สมวันดี, พิพิธภัณฑ์ไทยพวน บ้านหัวกระสังข์ อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา, วันที่ 14 ตุลาคม 2561.

พนม สมวงษ์, พิพิธภัณฑ์ไทยพวน บ้านหัวกระสังข์ อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา, วันที่ 14 ตุลาคม 2561.

วิโรจน์ กัลยาหัตถ์, พิพิธภัณฑ์ไทยพวน บ้านหัวกระสังข์ อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา, วันที่ 14 ตุลาคม 2561.

ชื่อผู้แต่ง:
ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ
คำสำคัญ: