โดย:
วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555
จากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 304 (กรุงเทพฯ-มีนบุรี–ฉะเชิงเทรา) ระยะทาง 75 กิโลเมตร
จากกรุงเทพฯไปตามทางหลวงหมายเลข34 (บางนา-ตราด) จากนั้นเลี้ยวเข้าทางหลวงหมายเลข314 (บางปะกง–ฉะเชิงเทรา) ระยะทาง90กม.
จากกรุงเทพฯไปตามทางหลวงหมายเลข 3 (ผ่านสมุทรปราการ-บางปะกง) จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 314 ระยะทาง100 กิโลเมตร
จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางสายมอเตอร์เวย์ แล้วมาเลี้ยวซ้ายออก ฉะเชิงเทรา เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 314
จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทาง อ่อนนุช-ลาดกระบัง-ฉะเชิงเทรา เส้นทางตรงอย่างเดียว พอพ้นจากถนนลาดกระบังจะเข้าสู่ ทางหลวงชนบท หมายเลข 3001 (ถนนสาย เทพราช-อ่อนนุช) หลังจากนั้นขับตรงมาเรื่อยๆ จะไปเจอกับทางหลวงหมายเลข 314 ใช้เส้นนี้วิ่งเข้าตัวเมืองฉะเชิงเทราได้
จ. ฉะเชิงเทรา
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
รีวิวของศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้านไผ่ดำ
ถึงแม้จะอยู่ติดกรุงเทพฯ แต่การดำเนินชีวิตของคนอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา หลายครอบครัว ยังมีวิถีชีวิตมีความสุขแบบคนในชนบทอยู่ เด็กๆยังกระโดดน้ำเล่น พายเรือเป็น สามารถหาปลาทำกับข้าวเป็นตั้งแต่ยังเป็นเด็กประถมโรงเรียนวัดไผ่ดำ เป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา มีอาคารเรียนสวยงามทาสีเขียวอ่อนเห็นแต่ไกล อาคารศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้านไผ่ดำ เป็นเหมือนห้องเรียนที่เชื่อมติดต่อกันทั้งตัวอาคารและการเรียนรู้ มุ่งหวังให้เด็กๆค่อยซึมซับวัฒนธรรมไทยและความเป็นท้องถิ่นไว้ อาจารย์กัลยา ห้วงน้ำ หัวหน้าฝ่ายวิชาการ เป็นครูที่มีความกระตือรือร้นอย่างยิ่ง ด้วยความต้องการเห็นสิ่งที่ดีเกิดขึ้น การใช้ชีวิตแบบพอเพียง ความรักท้องถิ่น คือความสุขที่คุณครูได้ค้นพบในชีวิตตนเองมาแล้ว
อาจารย์กัลยาพาชมห้องศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้านไผ่ดำ ส่วนที่ติดกับห้องเรียนก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 ในปี พ.ศ. 2554 ได้สร้างส่วนต่อขยายเป็นอีกหลังติดกัน ในห้องมีการจัดแสดงเรื่องอาชีพ อาชีพพื้นฐานของคนที่นี่คือทำนา แสดงให้เห็นอุปกรณ์ทำนาสมัยก่อน ลูกถอง ใช้กระทุ้งเม็ดข้าวให้ร่วง เสียม ใช้สำหรับล้อมเก็บข้าว โดยใช้ขี้ควายยาไว้ แล้วก็เป็นพวกคันไถ คราด ครก
อาจารย์พูดถึงการทำนา ทุกวันนี้วิธีการทำนาเปลี่ยนไปหมดแล้ว คนที่เคยเลิกทำนาไปทำงานโรงงาน ตอนนี้เริ่มกลับมาทำนาอีก แต่วิธีการเปลี่ยนไป เป็นการใช้โทรศัพท์ทำนาแทน โทรศัพท์สั่งไถนา โทรศัพท์สั่งเกี่ยวข้าว วันเดียวเสร็จ ไม่มีการเอาข้าวมากอง นวด ฝัด เหมือนสมัยก่อน ใช้เครื่องเกี่ยวข้าวเสร็จก็มีรถมารอรับเข้าไปอบเข้าโรงสีเลย
ส่วนพวกอุปกรณ์ดักปลา ปัจจุบันยังพอมีคนทำจักสานอยู่บ้างในหมู่บ้านใกล้เคียง สิ่งของจัดแสดงอีกจำนวนหนึ่งเป็นวัตถุโบราณจากแหล่งโบราณคดีลุ่มน้ำบึงไผ่ดำ ได้แก่ ชิ้นส่วนภาชนะ กระดูกสัตว์ เป็นต้น นอกจากนี้ก็มีส่วนจัดบอร์ดนิทรรศการ ห้องเก็บเครื่องดนตรีไทย และห้องทำกิจกรรมของเด็กนักเรียน ส่วนที่เป็นช่อฟ้า ไม้แกะสลัก พระพุทธรูป เป็นของเก่าของวัด
ขณะเยี่ยมชม นักเรียนชั้นประถมปีที่ 3 กำลังนั่งปั้นดินเหนียวกันอย่างสนุกเพลิดเพลิน สิ่งที่นักเรียนกำลังทำคือของเล่นพื้นบ้านที่เรียกกันว่า อ๊อดๆ ดินเหนียวที่ปั้นจะเอาไปติดกับเชือกแล้วผูกกับปลายไม้ เวลาหมุนจะมีเสียงเหมือนจักจั่น ของเล่นพื้นบ้านที่นักเรียนสามารถทำเล่นเอง เป็นหนึ่งที่อยู่ในบทเรียนความเป็นท้องถิ่น ในห้องนิทรรศการได้มีพวกของเล่นพื้นบ้านที่ทำจากกะลามะพร้าวและเครื่องใช้จักสานจัดวางไว้บนชั้น
ด้านการสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น ปัญหาอย่างหนึ่งคือ การขาดผู้สอน เมื่อก่อนในโรงเรียนมีอาจารย์ที่มีความสามารถทางลำตัด ตอนนี้ท่านเสียชีวิตไป ไม่ได้ถ่ายทอดให้คนรุ่นหลัง อุปกรณ์ต่างๆเป็นเครื่องดนตรียังมีอยู่ อาจารย์กัลยาจึงได้พยายามฝึกเล่นลำตัดเพื่อจะสอนนักเรียน และคิดว่าจะหาคนมาช่วย เป็นคุณครูที่เคยเรียนที่นี่ เขาเคยร้องเคยรำ คาดว่าจะสามารถฟื้นฟูนำกลับมาได้ เพราะอาจารย์คิดว่าการเป็นศูนย์วัฒนธรรมอย่างน้อยจะต้องประกอบด้วยการละเล่นพื้นบ้าน กิจกรรมเช่นนี้ เด็กๆชอบ เห็นได้จากงานแห่เทียนพรรษาของวัด ให้เด็กมาสมัคร โรงเรียนหาชุดให้แต่งตัวเดินในขบวนแห่ เล่นกลองยาว มีการแสดงบนเวที นักเรียนมาสมัครกันเยอะมากจนรับทั้งหมดไม่ได้
จากนั้นอาจารย์กัลยาพาเดินลงไปอาคารจัดแสดงหลังใหม่ ได้มาจากการทอดผ้าป่าที่วัดไผ่ดำ ห้องนี้เน้นจัดแสดงหลักฐานทางโบราณคดีลุ่มน้ำบึงไผ่ดำ มีชิ้นส่วนภาชนะ กระดูกสัตว์ จัดเก็บไว้ในตู้ ที่เป็นชิ้นใหญ่มีกระดูกปลาวาฬ กระดองเต่า อย่างอื่นก็เป็นตู้เก็บคัมภีร์ใบลาน เงินสมัยก่อน
ความเป็นมาของแหล่งโบราณคดีลุ่มน้ำบึงไผ่ดำ จากการบันทึกมีการค้นพบว่าอยู่ในช่วงปีพ.ศ. 2525 นายสุวรรณ เต็งเที่ยง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 ได้ให้เรือขุดของกรมชลประทานมาขุดลอกบึงที่ตื้นเขิน เริ่มจากคลอง 17 ตามแนวบึงเดิมไปทางทิศตะวันตก ตัดผ่านคลอง 16 ไปสิ้นสุดที่คลอง 15 คลองเหล่านี้ไม่เคยมีการขุดในระดับลึกมาก่อน ครั้นเมื่อขุดในระดับความลึก 2.5 เมตร ความกว้าง 14 เมตร เรือขุดลอกได้พบเศษภาชนะดินเผา กระดูกสัตว์ เปลือกหอยทะเลและหลักฐานทางโบราณคดีอื่นๆอีกเป็นจำนวนมาก ติดขึ้นมากับดินเลนจากท่อสูบของเรือ ช่วงนั้นได้ถูกนำมาปล่อยทิ้งในบริเวณริมบึงโดยไม่มีใครสนใจ
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2536 ได้มีการขุดลอกคลองที่ 16 เป็นครั้งที่ 2 ได้พบกระสุนดินเผา ภาชนะดินเผา เครื่องมือหิน เป็นจำนวนมาก จึงได้แจ้งให้หน่วยศิลปากรที่ 5 มาทำการศึกษาตรวจสอบหลักฐานโบราณคดีดังกล่าว จึงพบว่าเป็นโบราณวัตถุอายุ 1000-3000 ปีเศษ เป็นสมัยก่อนประวัติศาสตร์ อาจารย์กัลยา ได้หยิบสมุดเล่มโตหนามาเปิดให้ดู วัตถุโบราณทุกชิ้นทางกรมศิลปากรได้จัดทำทะเบียนไว้ มีภาพถ่ายและรายละเอียด
อาจารย์กัลยาเอ่ยถึงสวนผลไม้ในโรงเรียน ต้นขนุนจำปาดะต้นใหญ่ ออกลูกทีหนึ่ง 30 ลูก บางลูกหนักถึง 6 กิโลกรัม กระท้อนปุยฝ้าย มะม่วง กล้วย เวลาผลไม้ออกผล ได้นำมาให้นักเรียนช่วยกันกิน เป็นที่น่าเสียดายว่าน้ำท่วมปีที่แล้ว ทำให้สวนผลไม้ของโรงเรียนเป็นร้อยต้นตายหมด ถึงทุกวันนี้อาจารย์ยังนึกเสียใจอยู่ การที่บรรยากาศในโรงเรียนร่มรื่น ช่วยทำให้มีความสุขเพลิดเพลินกับการทำงาน
ส่วนบ่อเลี้ยงปลาของโรงเรียน ได้รับการสนับสนุนมาจากศูนย์พระราชดำริในเรื่องพันธุ์ปลา เวลาจับปลา พวกนักเรียนเขาสามารถตกปลามากินได้ สิ่งที่โรงเรียนแห่งนี้สอนการดำเนินชีวิตให้กับเด็กๆยังมีเรื่องการถนอมอาหารของชมรมอาหารและเบเกอรี่ ชมรมกีฬาเพื่อสุขภาพ ชมรมสิ่งแวดล้อมเพื่อการอนุรักษ์ ในโรงเรียนเล็กๆแห่งหนึ่ง อาจารย์กัลยาได้ทำให้เห็นว่าการพัฒนาโรงเรียนให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับนักเรียน คือการมีผู้บริหารโรงเรียนที่ดีมีวิสัยทัศน์ หน่วยงานองค์กรท้องถิ่นให้การสนับสนุน ผู้ปกครองมีความใส่ใจกับกิจกรรมของโรงเรียน เมื่อทุกอย่างมาประกอบกัน ครูผู้สอนในโรงเรียนก็จะสามารถพัฒนาศักยภาพของนักเรียนได้อย่างเต็มที่
----------------------------------------------------
สาวิตรี ตลับแป้น /ผู้เขียน /ถ่ายภาพ
สำรวจภาคสนาม วันที่ 30 สิงหาคม 2555
----------------------------------------------------
การเดินทาง :
จากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 304 (กรุงเทพฯ-มีนบุรี–ฉะเชิงเทรา) ระยะทาง 75 กิโลเมตร
จากกรุงเทพฯไปตามทางหลวงหมายเลข34 (บางนา-ตราด) จากนั้นเลี้ยวเข้าทางหลวงหมายเลข314 (บางปะกง–ฉะเชิงเทรา) ระยะทาง90กม.
จากกรุงเทพฯไปตามทางหลวงหมายเลข 3 (ผ่านสมุทรปราการ-บางปะกง) จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 314 ระยะทาง100 กิโลเมตร
จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางสายมอเตอร์เวย์ แล้วมาเลี้ยวซ้ายออก ฉะเชิงเทรา เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 314
จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทาง อ่อนนุช-ลาดกระบัง-ฉะเชิงเทรา เส้นทางตรงอย่างเดียว พอพ้นจากถนนลาดกระบังจะเข้าสู่ ทางหลวงชนบท หมายเลข 3001 (ถนนสาย เทพราช-อ่อนนุช) หลังจากนั้นขับตรงมาเรื่อยๆ จะไปเจอกับทางหลวงหมายเลข 314 ใช้เส้นนี้วิ่งเข้าตัวเมืองฉะเชิงเทราได้
ศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้านไผ่ดำ เป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนวัดไผ่ดำ จากตัวจังหวัดฉะเชิงเทรา ไปตำบลศาลาแดง อำเภอบางน้ำปรี้ยว ระยะทางประมาณ 19 กม. อาคารของโรงเรียนทาสีเขียว ด้านหน้าติดถนนเป็นโรงเรียนไผ่ดำวิทยาคม รัชมังคลาภิเษก เป็นโรงเรียนมัธยม โรงเรียนวัดไผ่ดำเป็นโรงเรียนชั้นประถมอยู่ทางด้านหลัง ต้องเข้ามาในซอยอีกเล็กน้อย-----------------------------------------------
อ้างอิง : ข้อมูลการสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2555
แผ่นพับประชาสัมพันธ์ศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้านไผ่ดำ โรงเรียนวัดไผ่ดำ
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
วิถีชีวิตท้องถิ่นและภูมิปัญญา ภาชนะดินเผา เครื่องจักสาน การเกษตร ชาวนา คัมภีร์ใบลาน ทำนา แหล่งโบราณคดีลุ่มน้ำบึงไผ่ดำ
ศูนย์การเรียนรู้ดนตรี (กลองยาว) ชุมชนภาคตะวันออก
จ. ฉะเชิงเทรา
พิพิธภัณฑ์ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช (โรงเรียนพุทธโสธร)
จ. ฉะเชิงเทรา
ศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน ตำบลหัวสำโรง
จ. ฉะเชิงเทรา