พิพิธภัณฑ์โบราณของชาวนา วัดหนองบอน


ที่อยู่:
วัดหนองบอน หมู่ 4 ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา 24120
โทรศัพท์:
087-9261017 ติดต่อท่านเจ้าอาวาส
วันและเวลาทำการ:
วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 09.00-16.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2546
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์โบราณชาวนา วัดหนองบอน จ.ฉะเชิงเทรา

ชื่อผู้แต่ง: สุทธิคุณ ไตรเทพ | ปีที่พิมพ์: 26/09/2546

ที่มา: คมชัดลึก

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์โบราณของชาวนา วัดหนองบอน

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดหนองบอน เป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจดีของ พระครูสุนธรธรรมาภิบาล เจ้าอาวาสวัดหนองบอน และคณะกรรมการชุมชนที่ต้องการจะสร้างพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านขึ้นในวัด โดยรวบรวมข้าวของเครื่องมือการเกษตรยุคเก่า เกี่ยวกับการทำนา ที่หาดูได้ยากในปัจจุบันมาจัดแสดงให้เป็นแหล่งให้ความรู้ให้กับผู้ที่สนใจ โดยต้องการสื่อให้เห็นเรื่องราวความเป็นอยู่ของชาวนายุคเก่าที่ต้องประดิษฐ์ของทุกชนิดขึ้นมาใช้เอง

สิ่งของจัดแสดงที่เด่นที่สุดของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็คือเกวียน มีเกวียนขนาดใหญ่ที่มีความสมบูรณ์อยู่ 5 เล่ม ซึ่งพระครูฯได้ขอบริจาคมาจากญาติโยมที่มีจิตศรัทธาจากหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียงวัด ในสมัยก่อนผู้คนในแถบนี้ต้องใช้เกวียนในการเดินทางคมนาคม ขนส่งสินค้า เช่น ข้าว ไม้ซุง หรือเดินทางไปมาหาสู่กัน จนเมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมาเริ่มมีถนนและรถยนต์สมัยใหม่เข้ามาแทนที่ เกวียนเหล่านี้จึงค่อยๆ หายไป เจ้าของที่เก็บไว้ตามบ้านก็อาจจะขายหรือปล่อยให้ผุพังไปตามกาลเวลา 

อีกส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตชาวนาและการเกษตรก็คือ สีฝัด เทคโนโลยียุคเก่าในการสีข้าวและแยกเมล็ดข้าวลีบออกจากเมล็ดข้าวสมบูรณ์ เดิมคนแถบ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา มีการทำนากันมากทุกบ้านต้องเคยพึ่งพาสีฝัดกันทั้งนั้น ของที่หาดูได้ยากอีกชิ้นเกี่ยวกับข้าวก็คือ ไม้ติ้วสำหรับนับกระสอบข้าว สมัยก่อนเวลากรรมกรแบกกระสอบข้าวไปมาจะไม่มีการจด แต่ใช้ไม้ติ้วเป็นสัญลักษณ์และเป็นตัวนับแทน

ได้ข้าวมาแล้วก่อนจะกินได้ก็ต้องมีการสีข้าวหรือตำข้าว พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีเครื่องสีข้าวกล้อง ที่ต้องใช้แรงคนในการสี หรือครกไม้ตำข้าวที่คนสมัยก่อนกว่าจะกินข้าวได้ต้องช่วยกันตำแล้วใช้กระด้งฝัด เอาเปลือกข้าวออกให้หมดกว่าจะกินได้ เมื่อได้เมล็ดข้าวมาแล้วอยากจะกินขนมจีนสักจาน ก็ต้องใช้เครื่องโม่หินบดเมล็ดข้าวจนกลายเป็นแป้งก่อน ซึ่งก็มีโม่หินหลายอันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ด้วย

นอกจากนี้ก็มีเครื่องมือการทำนาอื่นๆ เช่น อีทุบ ไถคราดนา ที่ใช้ในการเกษตร เครื่องมือจับปลาหลายชนิด บนเพดานอาคารพิพิธภัณฑ์ยังมีเครื่องมือเลื่อยไม้แบบต่างๆ แขวนจัดแสดงไว้ ด้านขวามือสุดของอาคารจะมีเรือพื้นบ้านแบบต่างๆ ซึ่งได้รับบริจาคมาจากทั่วสารทิศ แม้แต่ญาติโยมแถบ จ.สุพรรณบุรีหรือ แถบภาคกลางก็นำมาบริจาคให้ สิ่งของจัดแสดงทุกชิ้นมีป้ายชื่อติดครบถ้วน พระอาจารย์เล่าว่าเป็นความร่วมมือของคุณครูโรงเรียนวัดหนองบอนที่อยู่ใกล้เคียงช่วยติดคำอธิบายให้ และบางครั้งก็พานักเรียนมาเรียนรู้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ด้วย

วันที่ได้เข้าไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดหนองบอนนั้นตรงกับวันทำความสะอาดพิพิธภัณฑ์ของชุมชนพอดี จึงมีชาวบ้านมาช่วยกันดูแล และเล่าเรื่องวิธีใช้เครื่องไม่เครื่องมือต่างๆ อย่างสนุกสนาน เช่นสาธิตการใช้โม่ การใช้เครื่องมือจับปลา การใช้สีฝัด โดยเฉพาะรายละเอียดเรื่องเกวียน ไม้แต่ละชิ้นที่นำมาประกอบเป็นเกวียนต่างมีชื่อของตัวเอง แม้แต่เดือยไม้เล็กๆ ยาวไม่ถึงคืบ ก็ยังมีชื่อเรียก เช่น กำเกวียน กงเกวียน ไล ดุม เขา นม ฯลฯ ชาวบ้านรุ่นอายุ 40 ปีขึ้นไปในหมู่บ้านเขาหินซ้อน จะสามารถจำรายละเอียดต่างๆ เหล่านี้ได้ดี เพราะเคยใช้เกวียนกันมาแล้วทุกคน และทุกท่านก็สนุกสนานกับการทบทวนชื่อส่วนประกอบของเกวียนให้ผู้เข้าชมฟัง

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดหนองบอน มีโครงการว่าต่อไปในอนาคตจะมีตัวอาคารที่ถาวรขึ้น เพราะปัจจุบันยังเป็นแค่หลังคาสังกะสีกับโรงเรือนยังไม่มีฝาผนังมิดชิด และจะนำเกวียนที่ยังใช้งานได้มาสาธิตให้ผู้ชมได้ลองนั่งด้วย หรือทำวัวควายจำลองมาเทียมเกวียนให้ดูเหมือนจริง การเดินทางไปที่วัดหนองบอน ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา นั้นไปตามทางหลวงหมายเลข 304 ผ่านศูนย์การพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านขวามือ เมื่อถึงตลาดเขาหินซ้อนให้เลี้ยวขวาเข้าซอย เทศบาลซอย 17 ตรงไปเรื่อยๆ ก็จะพบวัดหนองบอน หรือถ้าเลยไปจนถึงแยกที่จะเลี้ยวขวาเข้า จ.สระแก้วตามทางหลวงหมายเลข 359 ก็สามารถเลี้ยวขวามาตามเส้นทาง ไม่ถึง 1 กิโลเมตรสังเกตขวามือจะมีป้ายวัดหนองบอน ให้เลี้ยวขวาเข้าไปตามทางเรื่อยๆ ก็จะพบวัดหนองบอนอยู่ทางซ้ายมือ ถ้าใครต้องการผู้นำชมก็สามารถติดต่อล่วงหน้ามาได้ จะได้ข้อมูลสนุกๆ และเกร็ดความรู้จากนักเล่าชาวบ้านตัวจริงที่พร้อมจะถ่ายทอดเรื่องราวให้ฟัง

สำรวจวันที่ 18 เมษายน 2552

ชื่อผู้แต่ง:
-