ห้องพิพิธภัณฑ์โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์


ที่อยู่:
108 หมู่ 5 ตำบลจันทนิมิต อ.เมือง จ.จันทบุรี 22000
โทรศัพท์:
0-3931-1038, 0-3931-1360, 089-9282278, อ.วรางคณา ลลิตพงศ์สกุล
โทรสาร:
0-3934-4022
วันและเวลาทำการ:
วันจันทร์-วันศุกร์ 08.30-16.30 น. (กรุณาทำจดหมายนัดล่วงหน้า)
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2542
ของเด่น:
การจำลองสถานที่สำคัญของจังหวัดจันทบุรี ร้านก๋วยเตี๋ยวสมัยก่อน บ้านเรือนไทย
จัดการโดย:

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของห้องพิพิธภัณฑ์โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์

ถ้าจะมีสักแห่งหนึ่งที่จะเล่าเรื่องราวของจังหวัดจันทบุรี  ในเรื่องประวัติศาสตร์  สถานที่สำคัญ วัฒนธรรมประเพณี  วิถีชีวิตในอดีต  พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านโรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์  คือสถานที่แห่งนั้น  ห้องพิพิธภัณฑ์ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2552 โดยการสนับสนุนของซิสเตอร์อุบล ผังรักษ์  อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์  
       
โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ เป็นโรงเรียนในสภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย ในเครือคณะรักกางเขนแห่งจันทบุรี สังกัดสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจันทบุรี เขต1 เป็นโรงเรียนสหศึกษา เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ
       
สิ่งที่ผู้เข้าชมจะได้พบเมื่อมาเยือนพิพิธภัณฑ์ที่นี่  มัคคุเทศก์น้อยนักเรียนในหลายระดับชั้น  ได้มีการใช้เวลาว่างอย่างเป็นประโยชน์  นักเรียนได้อ่านหนังสือ จดจำประวัติศาสตร์เรื่องราว มาบรรยายเนื้อหาเรื่องราวการจัดแสดงในแต่ละหัวข้อ  อาจารย์วรางคณา ลลิตพงศ์สกุล   เป็นผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์  การจัดแสดงแบ่งออกเป็นสามส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนหน้าเป็นตู้กระจกโชว์ของจิปาถะที่ทางโรงเรียนรวบรวมเก็บรักษาไว้ ได้แก่ หินสีหรือเจิมสโตน นาฬิกา ตะเกียง สิ่งของจำลองจากต่างประเทศ  เครื่องใช้พื้นบ้าน เตาเผาถ่านสมัยก่อน  เครื่องมือการทำนา  เครื่องสีฝัด เป็นต้น
 
ส่วนที่สองจัดแสดงวิถีชีวิตของคนจันทบุรีสมัยก่อน มีเรือนไทยที่ตกแต่งด้วยของใช้สมัยก่อน  มีกระเป๋าหนังใส่เสื้อผ้า หน้าไม้ ดาบ โล่ จักรยานแบบสมัยก่อน  ส่วนที่จำลองร้านก๋วยเตี๋ยวก็ได้บรรยากาศเสมือนจริงของชุมชนริมน้ำจันทบูร  ชุมชนบ้านโบราณที่ดำรงมาตั้งแต่สมัยสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตั้งแต่ประมาณสามร้อยปีมาแล้ว ก๋วยเตี๋ยวขึ้นชื่อคือ ก๋วยเตี๋ยวหมูเลียง น้ำก๋วยเตี๋ยวมีส่วนประกอบของเครื่องเทศ พวกกระวาน การพลู เร่ว จะมีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ ตัวบ้านเป็นลายจำลัก เห็นความโปร่งจากชั้นนอกถึงชั้นใน ด้านหน้าร้านเป็นประตูบานเฟี้ยม  
 
มีมุมแนะนำให้รู้จักกับคนชองที่มีภูมิลำเนาอยู่แถวเขาคิชฌกูฏ มีบ้านจำลองของคนชอง สันนิษฐานว่าเป็นชนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณจังหวัดจันทบุรี คนกลุ่มนี้มีเอกลักษณ์ที่ภาษาชอง  เป็นภาษาในตระกูลมอญ-เขมร บนผนังมีการแสดงตัวอย่างภาษาชอง สถานการณ์ปัจจุบันอยู่ในขั้นวิกฤต  คนชองรุ่นใหม่พูดกันแต่ภาษาไทย ในราวปี พ.ศ.2541-2542 ศ.ดร.สุวิไล  เปรมศรีรัตน์ ได้ติดต่อกำนันเฉิน  ผันผาย  ซึ่งเป็นชาวชองโดยกำเนิด มาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อมาจึงได้มีการผลักดันให้มีการเรียนการสอนภาษาชองเป็นหลักสูตรท้องถิ่น ใช้อักษรไทยเขียน ปัจจุบันราชบัณฑิตยสถานได้ผลิตหนังสือภาษาชองพร้อมวิธีการเขียนภาษาชองด้วยอักษรไทยออกมาแล้ว
 
ส่วนที่สามมีความโดดเด่นเพลิดเพลินสำหรับผู้เข้าชม  ส่วนของเมืองจำลองสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ในจังหวัดจันทบุรี อันได้แก่  การจำลองบานประตูแบบปราสาทหินเมืองเพนียด เมืองโบราณอารยธรรมเขมรที่มีประวัติยาวนานนับพันปี มีการค้นพบโบราณวัตถุเป็นทับหลังและเทวรูปแบบฮินดูเป็นจำนวนมาก  ส่วนสำคัญอีกส่วนคือ เทิดไท้องค์ราชันย์  เป็นส่วนที่ตั้งใจทำเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระเจ้าอยู่หัว พร้อมกับน้อมรับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาถ่ายทอดให้กับนักเรียนได้นำมาใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิต
 
ตึกแดง สร้างขึ้นในสมัย ร.ศ.112 หรือ พ.ศ.2436 เมื่อฝรั่งเศสยึดครองจันทบุรี ได้ใช้เป็นที่พักของนายทหาร และเป็นกองอำนวยการ อยู่บริเวณหาดปากน้ำแหลมสิงห์ ลักษณะเป็นตึกชั้นเดียว สร้างด้วยอิฐฉาบปูนทาสีแดง วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างเช่น เหล็ก ลวด ตาข่าย และกระเบื้อง ล้วนนำมาจากฝรั่งเศส อิฐก่อสร้างส่วนหนึ่งรื้อเอามาจากป้อมพิฆาตปัจจามิตร ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบริเวณตึกแดง 
 
อาคารกองบัญชาการฝรั่งเศส เป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยม ก่ออิฐฉาบปูนเรียบ สถาปัตยกรรมตามแบบของยุโรป มีความเป็นมาเมื่อ ร.ศ.112 ฝรั่งเศสมายึดครองเมืองจันทบุรีตามอนุสัญญาข้อที่ 6 ซึ่งต่อท้ายหนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามและกรุงฝรั่งเศส วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2436 (ร.ศ.112)และได้ตั้งกองบัญชาการอยู่ในค่ายตากสิน 
 
คุกขี้ไก่ อยู่ใกล้ชายหาดแหลมสิงห์ ลักษณะอาคารเป็นตึกก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น รูปตึกสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างยาวด้านละ 4 เมตร มีประตูออก 1 ประตู มีช่องหน้าต่างสูงแคบ ภายนอกกว้าง ภายในแคบ มีช่องสำหรับเล็งปืน เล่ากันว่าเดิมเป็นป้อมปืน  ต่อมาฝรั่งเศสใช้เป็นที่ขังคนและเลี้ยงไก่ไว้ข้างบน ให้ไก่ขี้รดหัวนักโทษ 
 
อลงกรณ์เจดีย์ เป็นเจดีย์ศิลาแลง ทรงกลมแบบลังกา มีบันไดขึ้นบานทักษิณทั้ง 4 ด้าน เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสน้ำตกพริ้ว พ.ศ. 2419 ได้โปรดเกล้าฯให้ พระยาจันทบุรีสร้างขึ้น ณ เขาสระบาปบริเวณน้ำตกพลิ้ว  เมื่อ พ.ศ. 2424 ได้โปรดเกล้าฯให้สร้างพระอนุสาวรีย์เป็นรูปปิรามิดด้วยแผ่นอิฐ เพื่อบรรจุอังคารของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ที่ทรงเคยเสด็จมา ณ ที่แห่งนี้ ทรงโปรดให้จารึกอักษรข้อความไว้ว่า "ระลึกถึงความรัก แห่งสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชาเทวีอรรคมเหสี ซึ่งเสด็จทิวงคตแล้ว ด้วยเธอได้มาถึงที่นี่เมื่อจุลศักราช 1236 (พ.ศ.2417) โดยความยินดีชอบใจอนุสาวรีย์นี้สร้างขึ้นโดยจุฬาลงกรณ์บรมราชผู้เป็นราชสวามี อันมีความทุกข์เพราะเธอเป็นอย่างยิ่ง ในจุลศักราช 2413 (พ.ศ.2424)" ต่อมาทั้งอลงกรณ์เจดีย์และอนุสาวรีย์พระนางเรือล่ม ชำรุดทรุดโทรมลงมาก จังหวัดจันทบุรีและกรมศิลปากรจึงร่วมกันบูรณะขึ้นใหม่ตามแบบเดิม เมื่อ พ.ศ. 2508 แต่แผ่นหินอ่อนที่จารึกข้อความนี้ไว้ได้สูญหายไปเสียแล้ว
 
การที่พิพิธภัณฑ์มีความสวยงามเพลิดเพลิน อาจารย์วรางคณาบอกว่า อาจารย์ที่โรงเรียนนี้ช่วยกันทำทั้งหมด ไม่ได้ไปจ้างบริษัทใดๆมาออกแบบจัดทำ  ส่วนที่ช่วยสร้างบรรยากาศได้ดีอีกส่วนคือ การจำลองถ้ำเขาแก้ว มีการค้นพบโครงกระดูกในถ้ำเขาแก้ว อยู่ที่ตำบลหนองตามา อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี ลักษณะเป็นถ้ำหินปูน มีจำนวนหลายถ้ำ ความลึกประมาณ 50 เมตร ประกอบด้วยหินงอก หินย้อย ลวดลายธรรมชาติสวยงาม สัณนิษฐานว่าอาจเป็นที่อยู่อาศัยหรือประกอบกิจกรรมของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อประมาณ 10,000 - 6,000 ปี มาแล้ว และอาจจะมีพัฒนาการต่อเนื่อง หรือทิ้งร้างไปแล้วกลับมาใช้ใหม่อีกในช่วงเวลาที่ทำเครื่องมือหินขัดขึ้นใช้ เมื่อประมาณ 4,000 - 2,000 ปีมาแล้ว  ใกล้กันที่จำลองได้เหมือนจริงมากคือต้นไม้ใหญ่และศาลพระภูมิเจ้าที่  เป็นในเรื่องความเชื่อของผู้คนที่มีต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์
 
หลังเข้าชมพิพิธภัณฑ์แล้ว ไม่ควรพลาดในการเข้าชมโบสถ์คาทอลิก  ตั้งเด่นเป็นสง่าบริเวณทางเข้าโรงเรียน โดยมีป้ายด้านหน้าเขียนว่า อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล จันทบุรี โบสถ์แห่งนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นโบสถ์คาทอลิกที่เก่าแก่ที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย มีประวัติความเป็นมาว่าเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวญวนผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก  เข้ามาตั้งภูมิลำเนาในจังหวัดจันทบุรีก่อนปี พ.ศ.2254  คริสตศาสนิกชนเหล่านี้อพยพจากการบีบคั้นการเลือกนับถือศาสนา ในช่วงนั้นเป็นสมัยอยุธยา ปลายสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ
 
----------------------------------------------------
สาวิตรี  ตลับแป้น /ผู้เขียน
ข้อมูลจาก  :  สำรวจภาคสนาม วันที่ 6 มิถุนายน 2556
----------------------------------------------------
การเดินทาง: โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์อยู่ที่เดียวกับโบสถ์วัดแม่พระปฏิสนธินิรมล  สังเกตเห็นง่ายจากระยะไกล  อยู่ถนนตรีรัตน์ เลยวัดไผ่ล้อมไป 1 กิโลเมตร อยู่ในตัวเมืองจันทบุรี สามารถเดินข้ามสะพานฝั่งชุมชนริมน้ำจันทบูรไปยังโรงเรียนได้
---------------------------------------------------
อ้างอิง
ข้อมูลการสัมภาษณ์ วันที่ 6 มิถุนายน 2556
แผ่นพับประชาสัมพันธ์พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์
เมืองโบราณ.(2550).ตึกแดง จันทบุรี.ค้นเมื่อ 15 กันยายน 2556,จาก www.ancientcity.com/?q=/th/location/theRedBlockBuilding_Chanthaburi
ศูนย์ข้อมูลทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม.(2553).อาคารกองบัญชาการทหารฝรั่งเศส.ค้นเมื่อ 16 กันยายน 2556,จาก www.m-culture.in.th/moc_new/album/9154/
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน).(2555).พะซาช์อง:ประสบการณ์การฟื้นภาษาถิ่นจันทบุรี.ก้าวไปด้วยกัน(ฉบับพิเศษ):จุลสารเพื่อชุมชนพิพิธภัณฑ์,ปีที่ 9 ฉบับที่ 1 มิถุนายน 2555-มกราคม 2556.        
สภาวัฒนธรรมจังหวัดจันทบุรี เทศบาลจันทนิมิตและโรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์.
เอกสารประชาสัมพันธ์การดำเนินโครงการเสริมสร้างและพัฒนาแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมของชุมชนจันทนิมิตอลงกรณ์เจดีย์และอนุสาวรีย์พระนางเรือล่ม.(2556).ค้นเมื่อ 15 กันยายน 2556,จาก http://teeneemuangchan.blogspot.com/2010/06/blog-post.html
 
ชื่อผู้แต่ง:
-

รีวิวของห้องพิพิธภัณฑ์โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์

โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ตั้งอยู่เลขที่ 108 หมู่ 5 ตำบลจันทนิมิต อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี เป็นโรงเรียนที่เริ่มมาจาก โรงเรียนสอนศาสนา ซึ่งเกิดขึ้นมาพร้อมกับวัดแม่พระปฏิสนธินิรมลตั้งแต่ พ.ศ.2443 และได้จัดตั้งเป็นโรงเรียนสอนวิชาตามหลักสูตร ของกระทรวงศึกษาธิการขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2450 มีชื่อว่า โรงเรียนมารียาลัย ทำการสอนอยู่ 2 ปีก็เลิกไป

ต่อมาในปี พ.ศ.2454 ได้จัดตั้งขึ้นใหม่ในรูปของโรงเรียนประชาบาลและใช้ชื่อเดิมคือโรงเรียนมารียาลัยในปี พ.ศ.2480 ได้รับอนุญาตจัดตั้งเป็นโรงเรียนราษฎร์ ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ ใช้ชื่อใหม่ว่า "โรงเรียนมารดาพิทักษ์" ดำเนินการสอน ได้ 3 ปี ก็หยุดทำการสอนเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากกรณีพิพาทอินโดจีน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2488 บาทหลวงบุญชู ระงับพิษ เจ้าอาวาสวัดแม่พระปฏิสนธินิรมล ในขณะนั้นได้ขอจัดตั้งโรงเรียนขึ้นใหม่ โดยใช้ชื่อว่า "โรงเรียนมารดาพิทักษ์" ทำการสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ( ประถมปีที่ 7 ) ในปี พ.ศ.2491 โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ได้บริหารงานอย่างเป็นอิสระจากวัดอย่างแท้จริง โดยมีชื่อว่า "โรงเรียนมารดาพิทักษ์ 2" เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 3 มีอาคารเรียนเป็นเรือนไม้ 1 หลังตั้งอยู่ในบริเวณวัด ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนมารดาพิทักษ์แผนกมัธยม กิจการของโรงเรียนดำเนินไปด้วยดี ทั้งในด้านวิชาความรู้และความประพฤติของนักเรียน จึงเป็นที่นิยมของบรรดาผู้ปกครอง ในปี พ.ศ. 2493 ทางโรงเรียนได้รับอนุญาตให้ขยายชั้นเรียนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 และได้รับอนุญาตให้เปิดรับนักเรียนชั้นประถมเป็นสหศึกษา ส่วนมัธยมเปิดรับเฉพาะนักเรียนหญิง โดยเปลี่ยนชื่อโรงเรียนใหม่ว่า"โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์" เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2494 โดยโอนครูสตรีและนักเรียนหญิงจากโรงเรียนมารดาพิทักษ์มาอยู่ในโรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ด้วยปัจจุบันโรงเรียนมีการบริหารจัดการ โดยมีพระคาร์ดินัลไมเคิ้ลมีชัย กิจบุญชู ประมุขแห่งมิสซังโรมัน คาทอลิก สังฆมณฑลกรุงเทพฯ เป็นผู้รับใบอนุญาต ดำเนินการบริหารจัดการศึกษาโดยนักบวชคณะรักกางเขน เป็นผู้ลงนามแทนผู้รับใบอนุญาต ผู้จัดการและผู้อำนวยการโรงเรียนคนปัจจุบัน คือนางสาวอุบล ผังรักษ์ บริหารจัดการศึกษาโรงเรียน ตั้งแต่ปีพ.ศ.2539 จนถึงปัจจุบัน เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6

เนื่องจากเป็นสถานศึกษาที่ใจกลางชุมชนของตำบลและมีความพร้อมในทุกด้าน ประกอบกับผู้บริหารและคณะครู มีความสนใจและให้ความสำคัญในงานวัฒนธรรมเป็นอย่างมากโดยเฉพาะการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลทางวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของโบราณสถาน คือ วิหารปฏิสนธิพระแม่มารีนิรมล ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดจันทบุรีอีกอย่างหนึ่ง และยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของประชาชนทั่วไป เป็นแหล่งการเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษา คณะกรรมการศูนย์บูรณาการตำบลจันทนิมิตจึงเห็นสมควรใช้สถานที่ของโรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์เป็นศูนย์บูรณาการของตำบลจันทนิมิต 

ภายในโรงเรียนยังมีอาสนะวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมลจันทบุรี ( โบสถ์วัดคาทอลิก ) เป็นสถานที่พัฒนาคุณธรรมเด็กเยาวชน และประชาชนในชุมชนที่นับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งมีการสวดทุกวันอาทิตย์ ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้แก่นักเรียนที่เรียนในสถานที่แห่งนี้ สร้างโดยคุณพ่อเปรโตรปรีกาลเมื่อ พ.ศ. 2449

ห้องพิพิธภัณฑ์โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ก่อตั้งขึ้นโดยคำแนะนำและการสนับสนุน จากซิสเตอร์อุบล ผังรักษ์ ผู้จัดการและครูใหญ่โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์เริ่มดำเนินการเมื่อประมาณ เดือนมีนาคม พ.ศ. 2542 โดยมีการรวมรวมอุปกรณ์ของใช้ในท้องถิ่น รวมทั้งสิ่งต่างๆที่แสดงถึงความเป็นอยู่และวัฒนธรรมพื้นบ้านของชาวจันทบุรี

ห้องพิพิธภัณฑ์ มีวัตถุประสงค์ เพื่อเล็งเห็นถึงวิถีชีวิตและภูมิปัญญาไทย เพื่ออนุรักษ์ของเก่าที่มีอยู่ในสมัยโบราณมิให้สูญหาย เพื่อเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้สำหรับบุคคลที่สนใจ เพื่อเป็นการสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีความเป็นอยู่ และภูมิปัญญาไทยในสมัยโบราณ

นอกจากนั้นยังมีคณะซิสเตอร์ คณะครู นักเรียน ศิษย์เก่า ผู้ปกครองนักเรียน รวมทั้งของที่ระลึกจากโรงเรียนต่าง ๆ และได้มีการลงทะเบียน และจัดสิ่งของไว้เป็นหมวดหมู่ เพื่อเป็นแหล่งวิชาการสำหรับให้นักเรียนเข้ามาศึกษาหาความรู้ และเข้าชมพิพิธภัณ์แห่งนี้

ของเก่าแก่ที่แสดงถึง คุณค่าทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น และความเป็นไทย ได้ถูกนำมาจัดแสดงในรูปแบบของห้องพิพิธภัณฑ์เพื่อให้นักเรียนได้ตระหนักถึงเอกลักษณ์และความเป็นไทยของบรรพบุรุษที่สั่งสมไว้นอกจากนี้มีผู้ที่เห็นคุณค่าในของเก่าที่กำลังจะหมดไปไม่มีให้คนรุ่นหลังได้เห็นและได้บริจาคสมทบด้วยซึ่งบุคคลที่สนับสนุน และให้คำแนะนำพิเศษ คือคุณแม่พเยาว์ ถาวรวงศ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิการิณี คณะรักกางเขน แห่งจันทบุรี ในขณะนั้น

ห้องพิพิธภัณฑ์ ได้ทำทะเบียนการตรวจสภาพวัตถุและหลักฐานเบื้องต้น มีวัตถุโบราณ จำนวน 617 ชิ้น มีการจำลองสถานที่สำคัญในจังหวัดจันทบุรีมาไว้ในพิพิธภัณฑ์ อาทิ บ้านชอง เป็นการจำลองสภาพการอยู่อาศัยของชาวชอง ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองจันทบุรี ปัจจุบันยังพอมีอยู่บ้างในกิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ และอำเภอมะขามเป็นส่วนใหญ่ นอกนั้นอยู่กระจัดกระจายตามอำเภอต่าง ๆ บ้าง รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียง เช่น ระยอง ตราด

ค่ายเนินวงจำลอง เป็นการจำลองค่ายเนินวงซึ่งเป็นค่ายที่มีความสำคัญและเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของจังหวัดจันทบุรีเป็นค่ายที่พระเจ้าตากสินมหาราชได้ประทับและรวมพลในการรบกับพม่า จัดแสดงเครื่องปั้นดินเผาต่างๆ เป็นเครื่องปั้นดินเผารูปแบบต่างๆ ที่ใช้กันทั่วไปในอดีตรวมทั้งเครื่องปั้นดินเผาที่เป็นเทวรูปแบบต่าง ๆ

ประตูเมืองเพนียดจำลอง เป็นการนำเอาประตูเมืองเพนียดมาจำลองไว้ ซึ่งประวัติเมืองเพนียดเชื่อว่าเป็นเมืองเก่าของจันทบูร นอกจากนี้ยังจัดแสดงเครื่องคนตรี เครื่องดนตรีไทย และเครื่องใช้ทั่วๆไป เป็นเครื่องดนตรีไทย เช่น ระนาด ซอ และเครื่องดนตรีสากลที่เคยใช้ในอดีต 

บทบาทสำคัญของโรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ในการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยอีกอย่างหนึ่งคือ การอนุรักษ์และสืบสานหัตถกรรมพื้นบ้านเสื่อจันทบูร การทอเสื่อเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้าน เป็นอาชีพดั้งเดิมที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดจันทบุรี เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในนามของ "เสื่อจันทบูร" การทอเสื่อจันทบูรเป็นการผลิตภายในท้องถิ่นที่ได้รับการถ่ายทอดมาจาก "ชาวญวนเว้" ที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ภายในเมืองจันทบุรีตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย โดยได้รับการส่งเสริมจากคณะนักบวชหญิงที่เรียกว่า "ภคินีรักไม้กางเขน" ซึ่งปัจจุบันก็คือนักบวชหญิง "คณะรักกางเขนแห่งจันทบุรี" เสื่อกกจันทบุรีเป็นเสื่อทอที่ทีฝีมือการทอที่ละเอียดสวยงามโดยมีแหล่งผลิตใหญ่ๆอยู่ที่บ้านเสม็ดงาม ต.หนองบัว อ.เมือง และที่บ้านบางสระเก้า อ.แหลมสิงห์ กกที่ใช้ทำเสื่อเป็นกกกลม 

ทางโรงเรียนได้เริ่มดำเนินงานอนุรักษ์และสืบสานหัตถกรรมพื้นบ้านเสื่อจันทบูรมาตั้งแต่ปี 2536 ปัจจุบันได้พัฒนาและดัดแปลงเสื่อจันทบูรเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด

ข้อมูลจาก:
http://www.sm.ac.th/chantanimit/pipittapun.html [accessed 20081114]
แผ่นพับประชาสัมพันธ์ อนุรักษ์และสืบสานหัตถกรรมพื้นบ้านเสื่อจันทบูร โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์

ชื่อผู้แต่ง:
-