พิพิธภัณฑ์โรงเรียนศรียานุสรณ์


ที่อยู่:
เลขที่ 1 ถ.ศรียานุสรณ์ ต.วัดใหม่ อ.เมือง จ.จันทบุรี 22000
โทรศัพท์:
039-311225, 039-322122 ,039-324650
วันและเวลาทำการ:
วันเวลาราชการ จันทร์-ศุกร์ 08.30-16.30 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2535
ของเด่น:
ภาพเก่าของโรงเรียน เอกสารโบราณ วัตถุโบราณ
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์โรงเรียนศรียานุสรณ์

ด้วยความที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างยาวนาน  โรงเรียนศรียานุสรณ์  จังหวัดจันทบุรี เปิดทำการสอนครั้งแรกในปี พ.ศ. 2463 ได้รับพระราชทานนามจาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า " ศรียานุสรณ์ " เพื่อถวายเป็นอนุสรณ์ในพระมหากรุณาธิคุณแห่ง สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5ปัจจุบัน นางสาวศิริรัตน์ หอมประเสริฐ  เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน
 
พิพิธภัณฑ์ของโรงเรียนนี้ได้เคยจัดแสดงมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 ในเวลาต่อมาได้มีการรื้อสร้างอาคารใหม่  ประกอบกับจำนวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้น ทำให้ไม่มีห้องจัดแสดงโดยเฉพาะ ส่วนจัดแสดงจึงไปอยู่เป็นส่วนหนึ่งของห้องสมุดเกียรติภูมิ ห้องประชุมกันเกรา
       
ถึงแม้การจัดแสดงวัตถุสิ่งของจะไม่โดดเด่นเหมือนเมื่อก่อน  แต่การเริ่มต้นงานพิพิธภัณฑ์ยุคใหม่ได้มีคุณครูใหม่ไฟแรงจบทางด้านประวัติศาสตร์มารับงานด้านนี้ อาจารย์มานิดา พูลวงษ์  ผลงานชิ้นเด่นคือ การทำสื่อทางด้านประวัติศาสตร์วัฒนธรรม  ด้วยการฝึกหัดส่งเสริมนักเรียนให้ทำสารคดีส่งเข้าประกวดในโครงการเยาวชนนักเขียน เรื่อง “สายใยรัก สามรัชกาล ที่สายธารพลิ้ว”จัดโดยมหาวิทยาลัยบูรพา  ภาควิชาประวัติศาสตร์  โครงการชื่อว่า “เยาวชนนักเขียนสารคดีท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์วัฒนธรรม”ผลการประกวดได้รางวัลดีเด่น ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดย นางสาวมนสิชา นิจรัญและนางสาวบูรยา วรผล  การเลือกน้ำตกพลิ้วเป็นตัวนำเรื่องเนื่องมาจากว่า น้ำตกพลิ้วเป็นสถานที่รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดปราน ได้เสด็จมาพร้อมกับสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ นอกเหนือจากความงดงามของตัวน้ำตกพลิ้ว ยังมีความเชื่อมโยงด้านประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับล้นเกล้า ร.5 อีกมากมาย ทั้ง "สถูปพระนางเรือล่ม"อนุสรณ์สถานแห่งความของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงมีต่อสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ เป็นที่บรรจุพระอังคารของพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (พระนางเรือล่ม) ซึ่งเคยเสด็จประพาสน้ำตกพลิ้ว เมื่อ พ.ศ. 2417 สถูปสร้างขึ้นในปีพ.ศ.2424 ภายในบรรจุพระบรมราชสรีรางคาร (เถ้ากระดูก) ของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์
 
ในการศึกษาประวัติศาสตร์วัฒนธรรมท้องถิ่น อาจารย์มานิดาตั้งใจรวบรวมข้อมูลองค์ความรู้ประวัติศาสตร์ชุมชนให้ได้มากที่สุด  มีการลงพื้นที่สัมภาษณ์บันทึกเสียงคนเฒ่าคนแก่ในชุมชน เพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูล  มีการไปค้นคว้าเอกสารและภาพถ่ายโบราณจากหอจดหมายเหตุ จังหวัดจันทบุรี  แล้วขอถ่ายเอกสารมารวบรวมไว้ที่โรงเรียน  ในด้านการเรียนการสอนได้เน้นให้นักเรียนมีสำนึกรักในความเป็นท้องถิ่น  นักเรียนต้องรู้จักค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง  มีการเปิดชุมนุมนักประวัติศาสตร์น้อย  เพื่อปูพื้นฐานการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ
 
อาจารย์มานิดากล่าวว่า  การเรียนประวัติศาสตร์ไม่ใช่เป็นการท่องจำ  นักเรียนจะต้องมีการวิเคราะห์  โดยนักเรียนจะได้เรียนวิชานี้ในทุกระดับชั้นตั้งแต่ ม.1-ม.6 การสร้างองค์ความรู้ท้องถิ่นขึ้นมา สามารถจัดการเรียนการสอนแทรกเข้าไปได้  ส่วนการมีห้องจัดแสดงเสมือนเป็นสิ่งที่จับต้องได้ในการใช้ประกอบการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์
 
ในส่วนจัดแสดงที่เป็นวัตถุประกอบด้วยโมเดลของโรงเรียน  ภาพถ่ายอาคารหลังเดิม  ด้านล่างภาพเขียนว่า โรงเรียนสัตรี-ศรียานุสรณ์  จันทบุรี  มีภาพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโรงเรียนศรียานุสรณ์ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2492  ทรงทดลองทอเสื่อกก ณ ห้องสมุดของโรงเรียน  ส่วนโบราณวัตถุที่อยู่ในตู้กระจก มีพวกเครื่องปั้นดินเผา เครื่องลายคราม คัมภีร์ใบลาน ชิ้นส่วนเทวรูป  ซึ่งยังไม่มีรายละเอียด  ผู้ปกครองนักเรียนนำมาบริจาคให้โรงเรียน 
 
วัตถุจัดแสดงอื่นๆมีระฆังเก่าของโรงเรียน  สำเนาเอกสารโบราณเกี่ยวกับการจัดตั้งโรงเรียนศรียานุสรณ์   สำหรับความแตกต่างของการจัดแสดงที่นี่ กับห้องพิพิธภัณฑ์เดิม อาจารย์นารีรัตน์ รักตะสุวรรณ  ผู้เป็นอาจารย์ที่เคารพนับถือของอาจารย์มานิดา  ได้นำภาพถ่ายห้องพิพิธภัณฑ์แต่ก่อนมาให้ดู  ของเดิมจะมีมุมเครื่องมือทอเสื่อ  ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาของคนจันทบุรี    อาจารย์ตั้งข้อสังเกตว่า การที่โรงเรียนมีห้องพิพิธภัณฑ์ในช่วงก่อนนั้น  เป็นนโยบายของกระทรวง ว่าทุกโรงเรียนต้องมีหนึ่งพิพิธภัณฑ์  เหมือนกับที่ทุกโรงเรียนต้องมีองค์พระ ในช่วงนั้นถึงได้จัดให้มีขึ้น
 
เมื่อถามอาจารย์มานิดาว่า ถ้าสามารถมีพื้นที่จัดห้องพิพิธภัณฑ์ได้เหมือนเดิม อาจารย์มีแนวคิดการเล่าเรื่องอย่างไร  อาจารย์ตอบว่า อยากให้พิพิธภัณฑ์นั้นบอกเล่าความเป็นมา  เริ่มจากโรงเรียนเราก่อนว่าโรงเรียนของเรามีความสำคัญอย่างไร เริ่มแต่รัชกาลที่ 6 พระราชทานชื่อ   บุคคลสำคัญก็มีเรื่องพระเจ้าตากสินกับการกอบกู้เอกราช  รวมถึงประวัติศาสตร์เมืองจันทบุรี เนื่องจากพิพิธภัณฑ์มีมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นเครื่องถ้วยชามสังคโลก ตามประวัติศาสตร์เมืองจันทบุรี  มีการค้าขายกันมาเนิ่นนาน  ตอนปลายอยุธยา  ชุมชนริมน้ำจันทบูรมีความเป็นมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช 
 
หรือถ้าพบว่าถ้วยชามเป็นลายลงสี  ก็จะบอกลักษณะของชนชั้นว่าเป็นของเจ้าขุนมูลนาย  ยิ่งถ้าเป็นถ้วยน้ำชากาน้ำชาที่มีประดับมุกหรือเคลือบทอง  จะบอกได้ว่าเป็นของสมัย ร.5   ถ้าเกิดเราย้อนกลับไปดูที่อำเภอท่าใหม่  หรือที่อำเภอเสม็ดงาม  จะพบว่าในแต่ละบ้านเรือนหรือบ้านสวน  ขุดลงไปเราจะเจอถ้วยชามเก่าๆ   อย่างบ้านของอาจารย์เองที่อำเภอท่าใหม่  จะเอาต้นไม้ออก  เพื่อจะก่อสร้างบ้าน  ได้พบถ้วยชาม เศษกระเบื้องเต็มไปหมด
 
ในการจัดการเรียนการสอน  อาจารย์อยากจะเริ่มต้นตั้งแต่เด็กม.1  ให้นักเรียนได้เรียนรู้การตั้งคำถามกับผู้ใหญ่  เพื่อให้ท่านเล่าเรื่องต่างๆให้ฟัง  ยกตัวอย่างเรื่องการทำสาแหรก  คนเฒ่าคนแก่เขาจะเล่าได้ว่าสมัยก่อนทำอย่างไร  แล้วจะมีรูปภาพหรือเศษชิ้นส่วนเหล่านั้นมาประกอบ สาเหตุที่อาจารย์ตั้งเป้าหมายเริ่มตั้งแต่เด็ก ม.1  เพราะเขามีความอยากรู้อยากเห็น  และช่างซักถามเจรจา  และการบอกเล่านั้นถือเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ประวัติศาสตร์
 
ในการก้าวไปอีกขั้นคือ การจัดทำสารคดีเชิงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในรูปแบบของวีดีทัศน์  ซึ่งต้องใช้ความรู้  ทักษะและความทุ่มเทมากขึ้น  แต่เพื่อผลประโยชน์กับนักเรียนและสร้างองค์ความรู้  ทางอาจารย์มานิดาและผู้บริหารโรงเรียนต่างเห็นตรงกันในการจัดทำพิพิธภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ที่มีสื่อทันสมัย   พร้อมจะเป็นศูนย์กลางข้อมูลความรู้เรื่องประวัติศาสตร์เมืองจันทบุรี
----------------------------------------------------

สาวิตรี  ตลับแป้น /ผู้เขียน
ข้อมูลจาก : สำรวจภาคสนาม วันที่ 7 มิถุนายน 2556
----------------------------------------------------

การเดินทาง:
ทางรถยนต์ จากกรุงเทพฯสามารถไปได้ 3 เส้นทาง ได้แก่
-    เส้นทางสายกรุงเทพฯ-ชลบุรี-พัทยา-บ้านฉาง-ระยอง-จันทบุรี(ทางหลวงหมายเลข 3) ระยะทางประมาณ 291 กม.
-    เส้นทางสายกรุงเทพฯ-ชลบุรี-ศรีราชา-ระยอง-จันทบุรี(ผ่านทางหลวงหมายเลข 36) ระยะทางประมาณ 254 กม.
-    เส้นทางสายกรุงเทพฯ-ชลบุรี-แกลง-จันทบุรี(ผ่านทางหลวงหมายเลข 344) ระยะทางประมาณ 245 กม.
โรงเรียนศรียานุสรณ์อยู่ติดกับถนนศรียานุสรณ์ ในอำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี
-----------------------------------------------
อ้างอิง
- ข้อมูลการสัมภาษณ์ วันที่ 7 มิถุนายน 2556
- มหาวิทยาลัยบูรพา.(2555).ภาควิชาประวัติศาสตร์จัดโครงการเยาวชนนักเขียนสารคดี ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์วัฒนธรรม.ค้นเมื่อ 15 กันยายน 2556,จาก .http://www.huso.buu.ac.th/ActivityNews/HUSO136.55.pdf    
- โรงเรียนศรียานุสรณ์.(2556).ค้นเมื่อ 15 กันยายน 2556,จาก http://www.siya.ac.th/websiya/index.php?option=com_content&view=article&id=52&Itemid=57
- ASTVผู้จัดการออนไลน์.(2552).เที่ยวน้ำตกงาม  ตามรอยเสด็จประพาส ร.5
ค้นเมื่อ 15  กันยายน 2556,จาก http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9520000125638
 
ชื่อผู้แต่ง:
-