วัดบ้านหลุก สร้างในปี พ.ศ. 2325 หอพระไตรปิฎกหรือหอธรรมสร้างราวปี พ.ศ. 2429 โดยครูบาปัญญาเป็นประธานในการก่อสร้าง มีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นและมีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือสร้างด้วยไม้ลักษณะเป็นอาคาร 2 ชั้น มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีใต้ถุนสูงเชื่อมต่อด้วยกุฏิที่เป็นเรือนไม้ ทางเข้าจะไม่มีบันไดขึ้นเวลาจะขึ้นจึงต้องนำบันไดมาพาดแล้วยกออกเมื่อเสร็จกิจ ภายนอกอาคารประดับประติมากรรมแกะสลักไม้เป็นรูปท้าวจตุโลกบาลอยู่ทั้ง 4 มุมอาคาร ซึ่งเป็นคติความเชื่อและแนวคิดของการสร้างหอธรรม หลังคามุงกระเบื้องที่เชิงชายประดับแป้นน้ำย้อย ที่สันหลังคาประดับนกหัสดีลิงค์แกะไม้ประดับกระจกจืน หน้าบันแกะสลักไม้และประดับกระจกจืน เช่นกัน ป้านลม ช่อฟ้าทำจากไม้บุด้วยทองเหลืองซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่พบในศิลปะแถบลุ่มน้ำปิง (เชียงใหม่-ลำพูน) หน้าต่างใช้การเขียนลายบนชาด เป็นลายเทวดาเดินประทักษิณ ภายในหอธรรม เป็นพิพิธภัณฑ์ ที่ชั้นบนมีหีบธรรมบรรจุคัมภีร์ใบลาน และปั้บกระดาษสา ซึ่งเป็นหีบธรรมโบราณที่เหลืออยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด ชั้นล่างเป็นที่ประดิษฐานและจัดแสดงพระพุทธรูปเก่าแก่ของวัด ฝาผนังริมระเบียงมีภาพถ่ายเก่าของวัด นอกจากนี้วัดยังมีพระอุโบสถที่มีสถาปัตยกรรมที่งดงาม ก่ออิฐถือปูนหน้าบันเป็นไม้แกะสลักวิจิตรบรรจง
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
วัดบ้านหลุก
วัดบ้านหลุก เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งในลำพูน สร้างราวปี พ.ศ. 2325 เล่าสืบต่อกันมาาว่า เจ้าผู้ครองเมืองนครหริภุญชัยได้ยกทัพไปตีเมืองเชียงตุง ในพม่า และได้กวาดต้อนผู้คนยองจากเมืองเชียงตุงให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่ในเมืองลำพูน ในจำนวนผู้คนที่กวาดต้อนมานั้นมีพระภิกษุรูปหนึ่งไม่ปรากฎชื่อ ซึ่งจำพรรษอยู่ที่วัดบ้านหลุก(ในเมืองยอง พม่า) เป็นพระที่มาคาถาอาคมแกร่งกล้าติดตามอพยพมากับชาวบ้านในครั้งนั้นด้วย เมื่อมาถึงได้ตั้งรกรากกันในพื้นที่ที่อยู่ทางทิศเหนือของตัวเมืองลำพูน ชาวบ้านได้อาราธนานิมนต์พระภิกษุรูปดังกล่าวให้ก่อตั้งวัด และท่านได้ตั้งชื่อว่าวัดบ้านหลุก ตามชื่อวัดเดิมที่เคยอยู่เมืองยอง
เอกลักษณ์หนึ่งของวัดบ้านหลุกในปัจจุบัน คือ หอธรรม ที่สร้างเมื่อ จ.ศ.1258 (พ.ศ.2429) โดยครูบาปัญญาเป็นประธานในการก่อสร้าง ลักษณะเป็นอาคารไม้สูง 2 ชั้น มีแบบการสร้างตามคติจักรวาลวิทยาชาวล้านนาในสมัยก่อน มีความเชื่อว่าการสร้างหอธรรมเป็นการบูชาคัมภีร์พระไตรปิฎกที่ถือเป็นพุทธวจนะ โดยเชื่อว่าคัมภีร์พระไตรปิฎกที่ได้รับการจารอย่างถูกต้องแล้ว เป็นของสูงค่าและมีคุณค่าศักดิ์สิทธิ์ และการสร้างหอธรรมควรจะอยู่ที่สูง ปลอดภัยจากการเข้าไปหยิบฉวย จะเห็นได้ว่าการเข้าไปยังห้องเก็บคัมภีร์พระไตรปิฎกจะต้องใช้บันไดปีนพาดขึ้น จึงไม่ปรากฏว่ามีการสร้างบันไดทั้งภายในและภายนอกหอไตรแต่อย่างใด
หอธรรมวัดบ้านหลุกมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีใต้ถุนสูงเชื่อมต่อด้วยกุฏิที่เป็นเรือนไม้ ภายนอกอาคารประดับประติมากรรมแกะสลักไม้เป็นรูปท้าวจตุโลกบาลอยู่ทั้ง 4 มุมอาคาร ซึ่งเป็นคติความเชื่อและแนวคิดของการสร้างหอธรรม หลังคามุงกระเบื้องที่เชิงชายประดับแป้นน้ำย้อย ที่สันหลังคาประดับนกหัสดีลิงค์แกะไม้ประดับกระจกจืน หน้าบันแกะสลักไม้และประดับกระจกจืน เช่นกัน ป้านลม ช่อฟ้าทำจากไม้บุด้วยทองเหลืองซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่พบในศิลปะแถบลุ่มน้ำปิง (เชียงใหม่-ลำพูน) หน้าต่างใช้การเขียนลายบนชาด เป็นลายเทวดาเดินประทักษิณ ภายในหอธรรมชั้นบน มีหีบธรรมบรรจุพระไตรปิฎกแบบใบลานซึ่งเป็นหีบธรรมโบราณที่เหลืออยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด นอกจากนี้ ยังมีพระอุโบสถแยกออกจากจากเขตพื้นที่ของวัดไปตั้งทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ราว 200 เมตร ก่ออิฐถือปูนหน้าบันเป็นไม้แกะสลักวิจิตรบรรจง สภาพค่อนข้างชำรุดทรุดโทรมมากเนื่องจากปูนที่ใช้ในการก่อสร้างเป็นปูนขาวแบบโบราณ
หอธรรมในที่นี้มีลักษระเป็นพิพิธภัณฑ์ ที่เปิดให้ชมสถาปัตยกรรมอันงดงามของหอธรรม สามารถชมหีบธรรมที่ตั้งแสดงอยู่ในชั้นบนอาคาร ส่วนชั้นล่างจัดแสดงพระพุทธรูปเก่าแก่ของวัด ผนังระเบียงด้านนอกมีภาพถ่ายเก่าของวัดติดแสดงไว้
ข้อมูลจาก:
สำรวจภาคสนามวันที่ 29 ตุลาคม 2553
เว็บไซต์สำนักจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม
http://culturalenvi.onep.go.th/site/detail/5022
https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/611183/
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
หีบธรรม บ้านหลุก พระพุทธรูป ลำพูน
พิพิธภัณฑ์ไทยองบ้านหนองเงือก
จ. ลำพูน
โฮงนิทัศน์ครูบาเจ้าศรีวิชัย
จ. ลำพูน
พิพิธภัณฑ์โรงเรียนน้ำดิบวิทยาคม
จ. ลำพูน