พิพิธภัณฑ์วัดพระยืน


ที่อยู่:
วัดพระยืน หมู่ 1 ต.เวียงยอง อ.เมือง จ.ลำพูน 51000
โทรศัพท์:
0-5353-0135
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
อีเมล:
thong_set@hotmail.com
ปีที่ก่อตั้ง:
2544
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ประวัติพระนางจามเทวี และจังหวัดลำพูน

ชื่อผู้แต่ง: สิงฆะ วรรณสัย | ปีที่พิมพ์: 4 เมษายน 2514

ที่มา: ลำพูนการพิมพื 51/1 อินทยงยศ

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

วัดพระยืน ตำบลเวียงยอง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

ชื่อผู้แต่ง: ดร.พระครูภาวนาโสภิตต์ วิ | ปีที่พิมพ์: 2553

ที่มา: หสม.ณัฐพลการพิมพ์ (คณะบุคคล)

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

สมโภชพุทธมหาสถานแห่งนครหริปุญไจย สู่พุทธศตวรรษที 14

ชื่อผู้แต่ง: ดร.พระครูภาวนาโสภิตต์ วิ | ปีที่พิมพ์: 2554

ที่มา: หสม.ณัฐพลการพิมพ์ (คณะบุคคล)

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์วัดพระยืน

วัดพระยืนเป็นวัดคู่เมืองหริภุญไชยมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 17 พระเจ้าธรรมิกราช แห่งราชอาณาจักรหริภุญไชย ทรงสร้าง "พฤทธมหาสถาน" นี้ขึ้น พร้อมกับเจดีย์ทรงเหลี่ยม มีพระพุทธรูปยืนประดิษฐานประจำซุ้มทั้ง 4 ทิศ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อวัดที่เรียกกันในปัจจุบัน
 
พระใบฎีกาบุญญรัตน์ เจ้าอาวาสวัดพระยืน เล่าให้ฟังเมื่อครั้งไปเยี่ยมชมในปี 2546 ว่า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2544 เนื่องจากเห็นว่าข้าวของและโบราณวัตถุที่มีอยู่ในวัด กระจัดกระจายตามที่ต่างๆ ไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม  จึงมองหาสถานที่สำหรับทำพิพิธภัณฑ์ ประกอบกับท่านเจ้าอาวาสเคยไปจำพรรษาที่ประเทศเยอรมัน ท่านให้ทัศนะว่า 
 
"บ้านไหนเมืองไหนเขาก็มีพิพิธภัณฑ์ ทุกๆ เมืองไม่ว่าแฟรงค์เฟิร์ต สตุ๊คการ์ท ก็มีพิพิธภัณฑ์ มีอะไรสำคัญอยู่ที่ไหน กดปุ่มก็จะเห็นเลย มีข้อมูลขึ้นมาให้ดูหมด แต่กลับมาดูที่บ้านเรา มันเหมือนกับทิ้งไปเลย ไม่มีการทำงานเชิงรุก เป็นการเฝ้าของเก่าอย่างเดียว.." 
 
อาคารพิพิธภัณฑ์เดิมเป็นศาลาการเปรียญชื่อ "ศาลาญาณมุนีอนุสรณ์ 2531" การจัดแสดงนั้นพระสงฆ์กับชาวบ้านช่วยกันจัด ข้าวของที่จัดแสดงอาทิ หีบพระธรรม ตู้พระธรรม สัตตภัณฑ์ มณฑปวางพระประธาน ขันโตก เครื่องเขิน ถ้วยชาม 
ท่านเจ้าอาวาสให้คติทิ้งท้ายว่า "..ที่ทำนี้เป็นความตั้งใจที่จะทำให้พระศาสนาทำให้มวลชน ทุกอย่างเป็นสมบัติผลัดกันชม ถึงอาตมาหมดบุญจากที่นี่ไปก็ยังเหลือไว้ให้พระศาสนา .... พิพิธภัณฑ์เป็นเรื่องของชุมชน เราอยู่ที่นี่จนชิน จึงมองเห็นความสำคัญของสิ่งเหล่านี้น้อย .. สิ่งที่เราเห็นเสร็จแล้วดูเหมือนว่ามันง่าย แต่จริงๆ แล้วมันยากมากกว่าที่ชาวบ้านจะเข้าใจและเห็นด้วยจนเริ่มทำและทำจนสำเร็จ เป็นเรื่องที่ยากมาก .." 
 
อย่างไรก็ดีศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อีกครั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2550 และได้สนทนากับพระใบฎีกาบุญญรัตน์ (เจ้าอาวาส) และพระธงชัยอินทสโรซึ่งเป็นผู้นำชมพิพิธภัณฑ์ พบว่าสภาพภายในอาคารชั้นล่าง อาจไม่ต่างไปจากห้องเก็บวัสดุของวัดที่ผสมปนเประหว่างของที่ใช้ในพิธีต่างๆ เครื่องขยายเสียง ลำโพง แต่ในส่วนของนิทรรศการยังคงจัดเก็บไว้อย่างดีในตู้กระจก แม้จะมีการเคลื่อนย้ายจากจุดเดิม บานประตูและหน้าต่างเก่าของพระอุโบสถ นำมาเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ชั้นล่าง 
 
ตู้จัดแสดงจัดแบ่งตามประเภทของวัตถุ เช่น เครื่องกระเบื้อง เครื่องไม้ เครื่องเขิน และตู้เก็บวัตถุจากการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณภายในวัด โดยในปี 2548 – 2549 กรมศิลปากรได้ขุดค้นรากอาคารจำนวน 3 หลัง อย่างไรก็ดี งานขุดแต่งแหล่งโบราณคดีในบริเวณวัด หยุดดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว เพราะรองบประมาณ
 
ชั้นสองของอาคาร มีห้องที่เป็นประธานแยกออกไปจากห้องโถงหลัก ภายในมีพระพุทธรูปไม้ และมีฉากไม้สลักอยู่หลังองค์พระ พระธงชัยกล่าวว่า มีผู้สันนิษฐานว่าเจดีย์ที่ปรากฏในภาพสลักเป็นเจดีย์ชเวดากอง เพราะสังเกตจากรูปร่างและและสีทองขององค์เจดีย์ การแต่งกายของรูปสลักคนมีความคล้ายคลึงกับการแต่งกายของชาวพม่า จุดเด่นของห้องจัดแสดงชั้นสองเป็นหีบธรรมต่างๆ ที่มีการวาดลวดลายเครือเถาคำบนพื้นสีแดง และภาพพระบฏเรื่องราวทศชาดก 
บริเวณโดยรอบวัด ปรากฏรากฐานของอาคารที่มีการขุดค้นทางโบราณคดี กรมศิลปากรสันนิษฐานว่า เป็นอาคารที่เกี่ยวข้องกับการสมุนไพร เพราะฐานของอาคารมีลักษณะเป็นที่บ่อสมุนไพรและปล่อยให้ควันลอยขึ้นมาภายในอาคาร นอกจากนี้ ยังมีจารึกสำคัญที่บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับอาณาจักรหริภุญไชย เนื่องจากวัดพระยืนเป็นหนึ่งในสี่วัดตามมุมเมือง 
 
ท่านเจ้าอาวาส กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการจัดสร้าง “พระพุทธศักยมุนีศรีหริภุญไชย” เป็นการสร้างพระพุทธรูปจำนวน 9 องค์ เนื่องในงานเฉลิมฉลองพระชนม์พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบ 80 พรรษา โดยมีการประกอบพิธีพุทธาภิเษกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2550 แล้วจะนำพระพุทธรูปเหล่านั้นไปประดิษฐานตามวัดต่างๆ ในจังหวัดลำพูน ท่านเจ้าอาวาสได้ย้ำว่าการสร้างพระพุทธนี้ขึ้น เพื่อสืบต่อลักษณะสกุลช่างเมืองลำพูน ซึ่งมีตัวอย่างเหลืออยู่ไม่มากนัก 
 
ข้อมูลจาก:
1. การสำรวจภาคสนาม วันที่ 23 กันยายน 2546 และวันที่ 12 พฤศจิกายน 2550
2. การประชุมเครือข่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น (ภาคเหนือ) จัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร วันที่ 14 - 15 ตุลาคม พ.ศ. 2546 ณ จังหวัดลำปาง
ชื่อผู้แต่ง:
-