พิพิธภัณฑ์แม่สะเรียง


พิพิธภัณฑ์แม่สะเรียง ก่อสร้างขึ้นด้วยงบประมาณขององค์กรบริหารส่วนตำบลแม่สะเรียง อาคารของพิพิธภัณฑ์มีสองชั้นใต้ถุนโล่ง พื้นที่ใต้ถุนด้านล่าง เป็นศูนย์บริการข้อมูลการท่องเที่ยว และใช้จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมของตำบล ชั้นบน บริเวณห้องด้านปีกขวาของอาคาร เป็นที่ประดิษฐานองค์พระบรมสารีริกธาตุ ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้รับพระราชทานมาจาก สมเด็จพระสังฆราชฯ เมื่อเดือนมิถุนายน 2549 ส่วนบริเวณห้องโถงขนาดใหญ่ ตรงกลางเป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อของพระครูปัญญาวรวัตร หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ครูบาผาผ่า พระสงฆ์องค์สำคัญได้รับความเคารพเลื่อมใสศรัทธาจากประชาชนทั้งอำเภอสบเมย อำเภอแม่สะเรียง และจังหวัดแม่ฮ่องสอน และมีนิทรรศการเกี่ยวกับประเพณีต่าง ๆ ของชาวแม่สะเรียง อาทิ ประเพณีตานข้าวหย่ากุ๊(ข้าวเหนียวแดง) ประเพณีปอยส่างลอง ประเพณีแห่เทียนเห่ง ประเพณีออกหว่า(ออกพรรษา) แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ เทพสิงห์วีรบุรุษแห่งเมืองยวมผู้ปลดแอกเมืองยวมจากกองทัพพม่า ครูภูมิปัญญาเมืองยวม เป็นต้น (หมายเหตุ: พิพิธภัณฑ์เกิดเพลิงไหม้วอดทั้งหลัง ปี 2558 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับปรุง)

ที่อยู่:
ถ.แม่สะเรียง-เมืองแม่ฮ่องสอน ต.แม่สะเรียง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน 58110
โทรศัพท์:
0-5368-1146 ติดต่อ อบต.แม่สะเรียง
วันและเวลาทำการ:
ปิดให้บริการ เนื่องจากพิพิธภัณฑ์เกิดเพลิงไหม้เมื่อปี 2558 (เดิมเปิดทุกวัน 8.00 - 16.00 น.)
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
อีเมล:
jaroon_msg@hotmail.co.th
ปีที่ก่อตั้ง:
2549

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์แม่สะเรียง

ริมถนนสายเชียงใหม่ – แม่สะเรียง อาคารรูปทรงสถาปัตยกรรมคล้ายของไทใหญ่ ตั้งตระหง่าน ท้าทายสายตาผู้ที่เดินทางผ่านไปผ่านมายิ่งนัก มองในระยะไกลหลายคนอาจคิดว่าเป็นศาสนสถาน หากแต่เมื่อเข้าไปใกล้  ป้าย “พิพิธภัณฑ์แม่สะเรียง” ก็ยุติการเดาได้ทันที พิพิธภัณฑ์แห่งนี้สร้างขึ้นด้วยงบประมาณขององค์กรบริหารส่วนตำบลแม่สะเรียง กว่า 12 ล้านบาท เปิดให้เข้าเยี่ยมชมครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2549 ที่ผ่านมา

แม่สะเรียงเป็นหนึ่งใน 7 ของอำเภอในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นอำเภอชายแดนที่มีอาณาเขตติดต่อกับพม่า มีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่อย่างหลากหลาย อาทิ กะเหรี่ยง ลีซู ลาหู่ ม้ง ลัวะ ไทใหญ่ วัดเก่าแก่ส่วนใหญ่ในแม่สะเรียงเองก็มีสถาปัตยกรรมแบบไทใหญ่ ที่นิยมสร้างหลังคาสร้างซ้อนกันลดหลั่นเป็นชั้น ๆ จึงไม่แปลกที่สถาปัตยกรรมแบบเดียวกันนี้ จะเป็นแรงบันดาลให้อบต. ก่อสร้างเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ที่เราเห็น

อาคารของพิพิธภัณฑ์มีสองชั้นใต้ถุนโล่ง พื้นที่ใต้ถุนด้านล่าง เป็นศูนย์บริการข้อมูลการท่องเที่ยว มีบอร์ดนิทรรศการที่อบต.แม่สะเรียงร่วมกับนักศึกษาวิทยาลัยชุมชนทำให้  เกี่ยวกับความเป็นมาของอำเภอแม่สะเรียง ความเป็นมาของหมู่บ้าน กลุ่มชาติพันธุ์ในแม่สะเรียง  นอกจากนี้พื้นที่ด้านล่างยังใช้ที่จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมของตำบล งานออกร้านขายของ ซึ่งจะจัดขึ้นตามวาระพิเศษต่าง ๆ ของตำบล

ชั้นบน บริเวณห้องด้านปีกขวาของอาคาร เป็นที่ประดิษฐานองค์พระบรมสารีริกธาตุ ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้รับพระราชทานมาจาก สมเด็จพระสังฆราชฯ เมื่อเดือนมิถุนายน 2549 ทางอำเภอแม่สะเรียงอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ พิพิธภัณฑ์แม่สะเรียงเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2549

ส่วนบริเวณห้องโถงขนาดใหญ่ ตรงกลางเป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อของพระครูปัญญาวรวัตร หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ครูบาผาผ่า ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักบุญแห่งล้านนาองค์หนึ่ง มีศีลาจารวัตรเคร่งครัดในพระธรรมวินัย ได้รับความเคารพเลื่อมใสศรัทธาจากประชาชนทั้งอำเภอสบเมย อำเภอแม่สะเรียง  และจังหวัดแม่ฮ่องสอน

ผู้ที่ขึ้นมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ส่วนใหญ่จึงเข้ามากราบไหว้บูชา ก่อนที่จะเดินชมส่วนจัดแสดงอื่นต่อไป
การจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เป็นบอร์ดนิทรรศการทั้งหมด ว่าด้วยเรื่องกิจกรรมและประเพณีต่าง ๆ ของชาวแม่สะเรียง อาทิ ประเพณีตานข้าวหย่ากุ๊(ข้าวเหนียวแดง) ประเพณีปอยส่างลอง ประเพณีแห่เทียนเห่ง ประเพณีออกหว่า(ออกพรรษา) แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ เทพสิงห์วีรบุรุษแห่งเมืองยวมผู้ปลดแอกเมืองยวมจากกองทัพพม่า ครูภูมิปัญญาเมืองยวม เป็นต้น

นิทรรศการเล็ก ๆ อีกอันหนึ่งที่น่าสนใจ ทำให้ผู้ชมร่วมย้อนอดีตของแม่สะเรียง เมืองชายแดนเล็ก ๆ แห่งนี้ คือ ภาพถ่ายเก่าของอำเภอแม่สะเรียงในอดีต อาทิ ภาพหนุ่มสาวในเครื่องแต่งกายสมัยเมื่อซักราว 50 ปีที่ผ่านมา ยืนโพสอยู่หน้าเครื่องบินใบพัด ที่สนามบินแม่สะเรียง ภาพถ่ายทางขึ้นวัดจอมแจ้ง ภาพถ่ายบรรยากาศเก่าของโรงเรียนแม่สะเรียงบริพัตรศึกษา โรงเรียนประจำอำเภอ

นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการอีกชุดหนึ่ง ทำให้เราทราบว่า อาคารใหญ่โตแห่งนี้ไม่ได้ทำขึ้นเพื่อวางแค่บอร์ดนิทรรศการเล็ก ๆ เท่านั้น หากแต่ทางผู้สร้าง มีโครงการการจัดแสดงในอนาคต ซึ่งโครงการดังกล่าวถูกถ่ายทอดเป็นภาพสเก็ต แล้วนำมาจัดแสดง  แบ่งแยกเป็นหัวข้อ อาทิ ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต เมืองยวม , ประเพณี 12 เดือน, การทำไม้, ตลาด, กลุ่มชาติพันธุ์ในแม่ฮ่องสอน อาทิ ลัวะ กะเหรี่ยงโปว์ กระเหรี่ยงสกอว์ แต่มิได้บอกว่าโครงการดังกล่าวจะเริ่มกันเมื่อไร หวังใจว่าถ้าสร้างเสร็จคงได้กลับมาเยี่ยมเยือนอีกสักครั้ง

ข้อมูลจาก: การสำรวจภาคสนามวันที่ 18 มกราคม 2550
ชื่อผู้แต่ง:
-