พิพิธภัณฑสถานวัดจองกลาง


ลักษณะเด่นของวัดจองกลางคือ รูปแบบหลังคาที่ทำซ้อนขึ้นไปหลาย ๆ ชั้น โดยยกจั่วขึ้นแล้วมีหลังคาขนาดเล็กกว่าทิ้งชายครอบลงมาอีกชั้น ส่วนชายหลังคานิยมประดับด้วยสังกะสีเจาะฉลุเป็นลวดลายละเอียดสวยงาม “จอง” เป็นอาคารเอนกประสงค์ของวัด คือเป็นทั้งวิหาร ศาลาการเปรียญ กุฏิพระ ที่ทำวัตรเช้าเย็น โรงครัว และหอฉัน และสำหรับวัดจองกลาง ได้กั้นพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ ภายในจัดแสดงข้าวของมากมาย อาทิ ตุ๊กตาไม้แกะสลักเป็นรูปคนและสัตว์เกี่ยวกับพระเวสสันดรชาดก ภาพประวัติพระเวสสันดรชาดก ฝีมือช่างไทใหญ่ พระพุทธรูปหินอ่อน พระบัวเข็ม เครื่องลายครามจีน เครื่องเขิน สมุดไทย อาวุธโบราณ หนังสือธรรมภาษาไทใหญ่ เงินตรา ตะเกียง ตุงกระด้าง ภาพถ่ายเก่าของวัด เป็นต้น ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้นอกเหนือจากคำอธิบายสิ่งของที่เป็นภาษาไทยและอังกฤษ ยังมีป้ายคำบรรยายวัตถุที่เป็นภาษาไทใหญ่ รวมไปถึงคัมภีร์โบราณภาษาไทใหญ่ที่แผ่กางไว้ให้ได้ชม และชื่อคนไทใหญ่ที่บริจาคสิ่งของบางชิ้น

ที่อยู่:
วัดจองกลาง ถนนชำนาญสถิต ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน 58000
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน 08.00-18.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑสถานวัดจองกลาง

แผ่นป้ายประวัติวัดที่ติดอยู่บน “จอง” ทำให้ทราบว่า ก่อนที่จะเป็นวัดจองกลาง เดิมนั้นเป็นเพียงศาลาเย็นของวัดจองใหม่ มีคนท้องถิ่นมาพักอาศัยเป็นประจำ เมื่อเจ้าอาวาสวัดจองใหม่ คนสุดท้ายมรณภาพไป มีพระภิกษุจากเมืองหมอกใหม่มาร่วมงานศพ และเข้าพักในศาลาเย็นดังกล่าว คณะศรัทธาต่างเคารพนับถือพระภิกษุองค์นี้มาก จึงได้พร้อมใจกันนิมนต์ท่านประจำศาลาต่อไป ต่อมาในปี พ.ศ. 2410  มีศรัทธาลุงจองจายหล่อ ลุงจองพะก่าหม่อง ลุงพหะจ่า ลุงจองตุ๊ก พ่อเลี้ยงจางนุ และลุงจองจอ คหบดีชาวแม่ฮ่องสอนเชื้อสายไทใหญ่ ได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้น โดยสร้างแบบสถาปัตยกรรมแบบไทใหญ่ ที่มีลักษณะเด่นคือ รูปแบบหลังคาที่ทำซ้อนขึ้นไปหลาย ๆ ชั้น โดยยกจั่วขึ้นแล้วมีหลังคาขนาดเล็กกว่าทิ้งชายครอบลงมาอีกชั้น ส่วนชายหลังคานิยมประดับด้วยสังกะสีเจาะฉลุเป็นลวดลายละเอียดสวยงาม  
ฝาผนังที่กั้นห้องเจ้าอาวาส ประดับแผ่นกระจกเขียนสี ภาพพุทธประวัติ ฝีมือช่างพม่า รวม 180 ภาพ สันนิษฐานว่าติดตั้งเมื่อสร้างวัดเสร็จ เมื่อชาวศรัทธาสร้างจองเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้ตั้งชื่อว่าวัดจองกลาง เพราะอยู่ระหว่างวัดจองคำและวัดจองใหม่ (ปัจจุบันวัดจองใหม่เป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรม)  วัดจองคำและวัดจองกลาง รวมกันเป็นพระอารามหลวง เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2527 โดยวัดจองกลางเป็นคณะ 2
 
 “จอง” เป็นอาคารเอนกประสงค์ของวัด เป็นอาคารหลักของวัดไทใหญ่ มีฝาสามด้าน ยกพื้นสูง กิจกรรมส่วนใหญ่ของวัดจะทำกันบนจอง อาจกล่าวได้ว่า จองนั้นเป็นทั้งวิหาร ศาลาการเปรียญ กุฏิพระ ที่ทำวัตรเช้าเย็น โรงครัว และหอฉัน และสำหรับวัดจองกลาง ได้กั้นพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ด้วย 
 
พิพิธภัณฑ์วัดจองกลาง ภายในจัดแสดงข้าวของมากมาย อาทิ ตุ๊กตาไม้แกะสลักเป็นรูปคนและสัตว์เกี่ยวกับพระเวสสันดรชาดก ฝีมือช่างชาวพม่า จำนวน 33 ตัว นำมาจากย่างกุ้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2400 ภาพประวัติพระเวสสันดรชาดกที่ติดตามฝาผนังรวม 18 ภาพ ฝีมือช่างไทใหญ่ นำมาจากเมืองตองยี ประเทศพม่า ในปี พ.ศ. 2540 นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปหินอ่อน พระบัวเข็ม  เครื่องลายครามจีน เครื่องเขิน สมุดไทย อาวุธโบราณ พระไตรปิฎก หนังสือธรรมภาษาไทใหญ่ ตุ๊กตาเครื่องสำริด เงินตราและเหรียญต่าง ๆ ตะเกียง กระดิ่งแขวนเจดีย์ เชี่ยนหมาก ตุงกระด้าง ฆ้อง ภาพถ่ายเก่าของวัด โบราณวัตถุจำพวกลายปูนปั้นจากพระธาตุดอยกิ่วขมิ้น แผ่นโปสเตอร์รูปชายหญิงชาวไทใหญ่แต่งชุดแบบไทใหญ่ของสมาคมฉานในสหรัฐฯ และโปสเตอร์รูปชายหญิงชาวไทใหญ่ของสมาคมวัฒนธรรมและวรรณกรรมฉานในย่างกุ้ง เป็นต้น
 
ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้นอกเหนือจากคำอธิบายสิ่งของที่เป็นภาษาไทยและอังกฤษซึ่งมีจำนวนไม่มาก ยังมีป้ายคำบรรยายวัตถุที่เป็นภาษาไทใหญ่ หรือแผ่นกระจกเขียนสีก็เป็นคำอธิบายภาษาไทใหญ่กำกับอยู่ รวมไปถึงคัมภีร์โบราณภาษาไทใหญ่ที่แผ่กางไว้ให้ได้ชม หรือแม้แต่กระทั่งชื่อคนไทใหญ่ที่บริจาคสิ่งของบางชิ้น ทำให้รู้สึกว่า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นพื้นที่หนึ่งที่แสดงตัวตนของคนไทใหญ่ที่เชื่อมโยงวัฒนธรรมทั้งจากจุดกำเนิดในพม่า  ไม่สิ้นศรัทธาแม้จะอพยพมาตั้งรกรากในแม่ฮ่องสอน และยังขยายความสัมพันธ์กับกลุ่มไทใหญ่พลัดถิ่นในอเมริกาอีกด้วย
 
ข้อมูลจาก: 
สำรวจภาคสนามวันที่ 18 มกราคม 2550
นายรอบรู้ นักเดินทาง: แม่ฮ่องสอน.สารคดี, 2545.
ชื่อผู้แต่ง:
-