พิพิธภัณฑ์ชนเผ่า ศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอน


พิพิธภัณฑ์ชนเผ่า ศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้รับงบประมาณจากเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนสร้างอาคารสูง 3 ชั้นเ เพื่อใช้เป็นศูนย์จำหน่ายสินค้าและพิพิธภัณฑ์ ชั้นล่าง จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอน และมีการสาธิตการทอผ้าจากช่างทอพื้นบ้านด้วย ชั้นที่สอง เป็นห้องทรงงาน และนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ แสดงพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนา และโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ชั้นที่สาม เป็นพิพิธภัณฑ์ชนเผ่า แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่แม่ฮ่องสอน โดยจัดแสดงวิถีชีวิต ของชนเผ่าต่าง ๆ 6 เผ่า ได้แก่ ลีซู ลาหู่ ม้ง ลัวะ ไทยใหญ่ และปกากะญอหรือกะเหรี่ยง โดยแบ่งส่วนจัดแสดงแยกตามแต่ละเผ่า จำลองบ้าน มีหุ่นชนเผ่าที่แสดงเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายประจำเผ่า เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน อาหารการกิน ผ้าทอ เป็นต้น ส่วนด้านนอกอาคารจัดแสดงบ้านจำลองของชนเผ่าทั้ง 6 เผ่าอีกด้วย

ที่อยู่:
ศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอน ถนนขุนลุมประพาส อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน 58000
โทรศัพท์:
0-5361-1244
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน 10.00 - 19.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2545
ของเด่น:
นิทรรศการวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ 6 กลุ่ม ได้แก่ ลีซู ลาหู่ ม้ง ลัวะ ไทยใหญ่ และปกากะญอหรือกะเหรี่ยง
จัดการโดย:
เนื้อหา:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ชนเผ่า ศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอน

งานศิลปาชีพในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เริ่มมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎรจังหวัดแม่ฮ่องสอน ณ ศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำปาย เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2523 และทรงมีพระราชประสงค์ให้ราษฎร มีงานศิลปาชีพพิเศษ เป็นอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ งานศิลปาชีพได้ขยายตัวและเจริญก้าวหน้าตามลำดับ จนถึงปัจจุบัน การดำเนินงานศิลปาชีพของจังหวัด ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การสนับสนุน ส่งเสริมงานศิลปาชีพจังหวัด และได้มีการจัดตั้งศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอนฯ สาขาอำเภอต่าง ๆ ขึ้น นอกจากนี้เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2545 เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนได้ให้การสนับสนุนงบประมาณ จำนวนกว่า 20 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างอาคารใหม่ เป็นอาคาร 3 ชั้น 
 
ชั้นล่าง จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอน และกลุ่มศิลปาชีพ กลุ่มต่าง ๆ อาทิ ผ้าทอกะเหรี่ยง เสื้อกะเหรี่ยงปักลูกเดือย ผ้าคลุมเตียง ผ้าปูโต๊ะ ผ้าพันคอ ซิ่น น้ำมันงาปางตอง ขนมงา ผักกาดดองแห้ง ไวน์มะเม่า เครื่องจักสาน และในบริเวณโถงขายผลิตภัณฑ์ยังมีการสาธิตการทอผ้าจากช่างทอพื้นบ้านด้วย
 
ชั้นที่สอง เป็นห้องทรงงาน และนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ แสดงพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนา และโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เช่น โครงการธนาคารอาหารชุมชนตามพระราชดำริ งานส่งเสริมการประมงในพื้นที่โครงการพัฒนาตามพระราชดำริ งานโครงการหลวงภายในงานพัฒนาเกษตรบนที่สูง สถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์ โครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้เอื้องแซะ
 
ชั้นที่สาม เป็นพิพิธภัณฑ์ชนเผ่า แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่แม่ฮ่องสอน โดยจัดแสดงวิถีชีวิต ของชนเผ่าต่าง ๆ  6 เผ่า ได้แก่ ลีซู ลาหู่ ม้ง ลัวะ ไทยใหญ่ และปกากะญอหรือกะเหรี่ยง โดยแบ่งส่วนจัดแสดงแยกตามแต่ละเผ่า จำลองบ้าน มีหุ่นชนเผ่าที่แสดงเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายประจำเผ่า เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน อาหารการกิน ผ้าทอ เป็นต้น 
 
สังเกตว่าการจัดแสดงในส่วนพิพิธภัณฑ์ชนเผ่า มองชนเผ่าแบบ “แช่แข็ง” มองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงหรือความสัมพันธ์กับคนอื่น เมื่ออ่านป้ายคำอธิบายชีวิตวัฒนธรรมของแต่ละเผ่า ยิ่งทำให้นึกไปถึงหนังสือแบบเรียนของราชการ ที่เรื่องเล่ามักมีแนวคิดแบบชุมชนอุดมคติ สงบงาม ปราศจากความขัดแย้ง ฯลฯ ยกตัวอย่างป้ายคำอธิบายของชาวไทยไทยใหญ่ ที่ว่า “...ชาวไทยใหญ่รักสันติ และยึดมั่นในบวรพุทธศาสนา อาศัยอยู่ด้วยความผาสุข ท่ามกลางดินแดนแห่งนี้ สืบจากอดีตจวบจนปัจจุบัน และสืบไปในอนาคต” 
 
ส่วนด้านนอกอาคาร จัดภูมิทัศน์อย่างสวยงาม มีม้านั่งพักผ่อน และด้านข้างอาคารยังจัดแสดงบ้านจำลองของชนเผ่าทั้ง 6 เผ่าอีกด้วย
 
ข้อมูลจาก:
การสำรวจภาคสนาม วันที่ 18 มกราคม 2550
ชื่อผู้แต่ง:
-