พิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2


พื้นที่อำเภอขุนยวม ครั้งหนึ่งเคยเป็นเส้นทางเดินทัพของกองทัพญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง พิพิธภัณฑ์ก่อตั้งโดยพันตำรวจโทเชิดชาย ชมธวัช เมื่อเข้ามารับแต่งตั้งหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอนในปี พ.ศ. 2538 พบว่ามีเครื่องใช้ไม้สอยของทหารญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง กระจัดกระจายอยู่ตามบ้านคนและได้รวบรวมสะสมไว้ และได้ศึกษาค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน และจากเอกสารต่าง ๆ ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 นายอำเภอขุนยวมร่วมกับพันตำรวจโทเชิดชายก่อตั้งศูนย์วัฒนธรรมขึ้นเพื่อบอกเล่าเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่สอง แสดงสิ่งของเครื่องใช้ของทหารญี่ปุ่นที่ตนเองเก็บสะสมไว้ จากนั้นเริ่มมีคนบริจาคเพิ่มเติมทั้งจากชาวไทยและทหารผ่านศึกชาวญี่ปุ่น ของสำคัญชิ้นหนึ่งคือ ป้ายผ้าไหมญี่ปุ่น เขียนข้อความเป็นภาษาญี่ปุ่นกล่าวถึงเหตุผลที่ญี่ปุ่นต้องเข้าร่วมสงคราม ซึ่งเป็นลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต้ ที่ทรงพระราชทานแก่กองทัพญี่ปุ่น กล่าวกันว่ามีเพียง 5 ผืนเท่านั้น ต่อมาปี พ.ศ. 2549 ได้มีการเปลี่ยนแปลงการจัดแสดงใหม่ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากเทศบาล มีนิทรรศการ ที่แบ่งส่วนออกเป็นเรื่องราวในแง่มุมต่าง ๆ ของทหารญี่ปุ่น โดยจะมีข้าวของและภาพถ่ายเก่าที่หาชมได้ยากประกอบ เศษซากรถยนต์ หีบใส่ของ ที่สื่อถึงการคมนาคมและการลำเลียงสิ่งของของทหารญี่ปุ่น ชีวิตความเป็นอยู่ของทหารที่จัดแสดงผ่านบ้านพักของทหารญี่ปุ่นที่มีเสื้อผ้าและสิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัว การตำข้าวและการหุงหาอาหาร อาวุธและเครื่องมือต่าง ๆ อาทิ ดาบปลายปืน เครื่องมือดับเพลิง หีบบรรจุสิ่งของ หม้อสนาม

ที่อยู่:
ตรงข้ามวัดม่วยต่อ ต.ขุนยวม อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน 58140
โทรศัพท์:
0-5369-1117 เทศบาลตำบลขุนยวม
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน 8.00-17.00 น. ปิดพักเที่ยง 12.00 - 13.00 น.
ค่าเข้าชม:
คนไทย 20 บาท ต่างชาติ 50 บาท
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2539
ของเด่น:
ป้ายผ้าไหมญี่ปุ่น ขนาดกว้าง 50 เซ็นติเมตร ยาว 2 เมตร เขียนข้อความเป็นภาษาญี่ปุ่นกล่าวถึงเหตุผลที่ญี่ปุ่นต้องเข้าร่วมสงคราม ซึ่งเป็นลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต้ ที่ทรงพระราชทานแก่กองทัพญี่ปุ่น
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

จังหวัดแม่ฮ่องสอนเปิดพิพิธภัณฑ์ทหารญี่ปุ่นยุคสงครามโลกครั้งที่2

ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: 06-05-2540

ที่มา: ผู้จัดการรายวัน

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

"ทหารญี่ปุ่นในความทรงจำ" ใน พิพิธภัณฑ์ unlimited

ชื่อผู้แต่ง: ปณิตา สระวาสี | ปีที่พิมพ์: 2552

ที่มา: กรุงเทพฯ:ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2

หลายคนรู้จักทางรถไฟสายมรณะ ในจังหวัดกาญจนบุรีที่สร้างขึ้นโดยเชลยของทหารญี่ปุ่น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หากแต่ช่วงเวลาเดียวกัน ยังมีเส้นทางมรณะสายปาย - ขุนยวม ถนนสายแรกที่มาสู่แม่ฮ่องสอน ที่ญี่ปุ่นได้เกณฑ์แรงงานชาวบ้านในแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน ไปเป็นแรงงานสร้างถนนเพื่อมุ่งสู่พม่า ในปลายปี พ.ศ. 2486 สองปีก่อนที่กองทัพญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงคราม กว่าจะแล้วเสร็จกินเวลา 2 ปีพอดีถึง พ.ศ. 2488 ซึ่งเป็นปีที่ญี่ปุ่นปราชัย ถนนสายนี้จึงเป็นเสมือนทางถอยทัพของญี่ปุ่นอีกด้วย ด้วยเหตุการณ์ที่สำคัญและช่วงเวลาที่ไม่อาจลืมของคนแถบนี้ ย่อมจะมีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายที่ส่งผ่านต่อคนรุ่นหลัง
 
พันตำรวจโทเชิดชาย ชมธวัช เมื่อเข้ามารับแต่งตั้งหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอนในปี พ.ศ. 2538 มีโอกาสออกพบปะเยี่ยมเยียนประชาชนตามหมู่บ้านต่าง ๆ พบว่ามีเครื่องใช้ไม้สอยของทหารญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง กระจัดกระจายอยู่ตามบ้านคนต่าง ๆ มากมาย ประกอบกับพันตำรวจโทเชิดชาย ชอบสะสมของเก่าเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงได้ออกสำรวจตามสถานที่ต่าง ๆ และเมื่อพบสิ่งของน่าสนใจจะขอซื้อไว้ และได้ศึกษาค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน และจากเอกสารต่าง ๆ  ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 นายอำเภอขุนยวมได้หารือกับพันตำรวจโทเชิดชายว่า ได้สร้างศูนย์วัฒนธรรมที่หน้าม่วยต่อเสร็จแล้ว แต่ยังขาดสิ่งของจัดแสดง พันตำรวจโทเชิดชายจึงได้มีโอกาสแนะนำให้ใช้อาคารส่วนหนึ่งทำเป็นพิพิธภัณฑ์ แสดงสิ่งของเครื่องใช้ของทหารญี่ปุ่นที่ตนเองเก็บสะสมไว้ เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่า ครั้งหนึ่งจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างไร

หลังจากนั้นจึงได้มีการเชิญชวนให้ผู้คนในขุนยวมหรือผู้ที่เก็บสิ่งของเครื่องใช้ของญี่ปุ่นไว้ เข้าร่วมบริจาคสิ่งของเพิ่มเติมเพื่อจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งก็มีอุปสรรคเนื่องจากในขณะนั้น สิ่งของเหล่านี้กำลังเป็นที่ต้องการของนักสะสมของเก่าทั้งชาวไทย และชาวญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก มีพ่อค้ามากว้านซื้อไปจำนวนไม่น้อย อย่างไรก็ดีเมื่อข่าวสารการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เผยแพร่ไปถึงญี่ปุ่น ทหารผ่านศึกญี่ปุ่นหลายกลุ่มที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในขุนยวม ได้เดินทางกลับมาเยี่ยม และมอบสิ่งของให้หลายชิ้น ของสำคัญชิ้นหนึ่งคือ ป้ายผ้าไหมญี่ปุ่น ขนาดกว้าง 50 เซ็นติเมตร ยาว 2 เมตร เขียนข้อความเป็นภาษาญี่ปุ่นกล่าวถึงเหตุผลที่ญี่ปุ่นต้องเข้าร่วมสงคราม ซึ่งเป็นลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต้ ที่ทรงพระราชทานแก่กองทัพญี่ปุ่น กล่าวกันว่ามีเพียง 5 ผืนเท่านั้น 
 
พิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2539 อย่างไรก็ดีเมื่อปี พ.ศ. 2549 ได้มีการเปลี่ยนแปลงการจัดแสดงใหม่ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากเทศบาล โดยก่อนจะเดินชมมีการฉายวิดีทัศน์ความยาวประมาณ 10 นาที เกี่ยวกับความเป็นมาของสงครามโลกครั้งที่ 2 และความเกี่ยวข้องของชาวขุนยวมกับสงคราม เมื่อเดินเข้าไปจะพบป้ายผ้าไหมญี่ปุ่นลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต้ พร้อมแท่นบูชา มีดาบซามูไรอยู่ด้านหน้า  ถัดมาเป็นส่วนของนิทรรศการ ที่แบ่งส่วนออกเป็นเรื่องราวในแง่มุมต่าง ๆ ของทหารญี่ปุ่น โดยจะมีข้าวของและภาพถ่ายเก่าที่หาชมได้ยากประกอบ อาทิ เศษซากรถยนต์ หีบใส่ของ ที่สื่อถึงการคมนาคมและการลำเลียงสิ่งของของทหารญี่ปุ่น ชีวิตความเป็นอยู่ของทหารที่จัดแสดงผ่านบ้านพักของทหารญี่ปุ่นที่มีเสื้อผ้าและสิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัว การตำข้าวและการหุงหาอาหาร อาวุธและเครื่องมือต่าง ๆ อาทิ ดาบปลายปืน เครื่องมือดับเพลิง หีบบรรจุสิ่งของ หม้อสนาม 
 
จบท้ายด้วยภาพของยายแก้ว หญิงชราชาวขุนยวมที่แต่งงานกับทหารญี่ปุ่น หากแต่สามีถูกส่งกลับญี่ปุ่นเมื่อกองทัพญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงคราม พร้อมกับป้ายคำอธิบายที่ว่า ‘...สงครามโลกครั้งที่ 2 แม้ว่าดูเสมือนโหดร้าย แต่สำหรับคนไทยอย่างพวกฉัน สงครามคราวนี้เป็นความรัก ความผูกพัน ระหว่างทหารญี่ปุ่นกับคนไทย ที่ฉันไม่เคยลืมเลือน...’
คุณลุงจอริยะ อุประ ชาวขุนยวมโดยกำเนิด ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ อายุ 73 ปี เป็นอีกผู้หนึ่งที่ร่วมสมัยและยังมีความทรงจำในเหตุการณ์ ผู้ชมที่สนใจสามารถพูดคุยและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากคุณลุงได้
 
ข้อมูลจาก:
สำรวจภาคสนามวันที่ 18 มกราคม 2550
เชิดชาย  ชมธวัช. ทหารญี่ปุ่นในความทรงจำของชาวขุนยวม. เอกสารอัดสำเนา,มปป.
ชื่อผู้แต่ง:
-