พิพิธภัณฑ์วัดหลวง (พิพิธภัณฑ์เมืองแพร่)


ที่อยู่:
วัดหลวง ถ.คำลือ ซอย 1 ต.ในเวียง อ.เมือง จ.แพร่ 54000
โทรศัพท์:
0-5452-1710
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน 09.00-16.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2529
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดหลวง

ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: เดือนกันยายน 2547

ที่มา: วารสารชุมชนไท

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์วัดหลวง(พิพิธภัณฑ์เมืองแพร่)

วัดหลวงเป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองแพร่ มีอายุกว่า 1,000 ปี ตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมืองเก่า จารึกใบลานที่อยู่ในวัดบอกถึงประวัติของวัดว่า เมื่อราว พ.ศ. 1371 พ่อขุนหลวงพล ได้อพยพมาจากอาณาจักรน่านเจ้า พบที่ราบริมฝั่งน้ำยมมีชัยภูมิที่ดี และอุดมสมบูรณ์ จึงป่าวประกาศให้ชาวบ้านที่อพยพมาด้วยแยกย้ายกันจับจองที่ดิน ปลูกสร้างบ้านเรือน อีก 3 ปีต่อมา จึงได้เริ่มก่อสร้างวัดบริเวณข่วงบ้านหลวง พ่อขุนหลวงพลนำช่างฝีมือมาจากเมืองเชียงแสน ไชยบุรีและช่างเวียงพางคำ สร้างพระประธานองค์ใหญ่หน้าตัก 7 ศอก มีนามว่า "พระเจ้าแสนหลวง" พ่อขุนหลวงพลได้ตั้งชื่อวัดนี้ตามชื่อของท่านว่า "วัดหลวง" และได้นมัสการพระสงฆ์จากเมืองหลวงพระบางมาเป็นอาวาส วัดหลวงบางช่วงเวลากลายเป็นวัดร้าง และได้รับการปฏิสังขรณ์มาหลายครั้ง 
 
โบราณสถานที่สำคัญภายในวัด ได้แก่ วิหารหลวงพลนคร เป็นวิหารแบบล้านนา ฝีมือช่างจากเมืองเชียงแสน แต่ปัจจุบันได้รับการบูรณะใหม่ ภายในประดิษฐานพระเจ้าแสนหลวง พระธาตุหลวงไชยช้างค้ำ เจดีย์ก่ออิฐแบบเชียงแสน มีช้างค้ำยื่นส่วนหัวและลำตัวออกมาจากฐานเจดีย์ ภายในประดิษฐานพระธาตุที่นำมาจากเมืองหงสาวดี
 
ในปี 2510-2520 วัดหลวงอยู่ในสภาพทรุดโทรมมาก เจ้าอาวาสจึงเชิญคณะญาติโยมทั้งภาคราชการและเอกชนมาช่วยกันบูรณะวัดกลับคืนสู่สภาพที่ดีอีกครั้งหนึ่ง และยังได้สร้าง "พิพิธภัณฑ์เมืองแพร่" เพื่อเป็นแหล่งรวมศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นเอาไว้
 
พิพิธภัณฑ์วัดหลวง อาคารที่จัดแสดงมี 3 หลัง หลักแรกเป็นอาคารสองชั้น สถาปัตยกรรมแบบล้านนาประยุกต์ ด้านหน้ามีป้ายชื่อเขียนว่า "พิพิธภัณฑ์เมืองแพร่" ภายในจัดแสดงวัตถุธรรมของวัด อาทิ พระพุทธรูปไม้ พระพุทธรูปโบราณสมัยเชียงแสน พระพุทธรูปทองคำภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ อายุกว่า 500 ปี ประดิษฐานอยู่ในบุษบก พระแผงแกะสลักด้วยไม้ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21-23 หีบพระธรรม วิหารจำลอง สัตตภัณฑ์ คัมภีร์ใบลาน ไม้ประกับคัมภีร์ ธรรมมาสน์ ศิลาจารึกประวัติเมืองแพร่  เครื่องประกอบเครื่องยศของชนชั้นสูง เครื่องเขิน เครื่องเงิน อาวุธโบราณ อูบคำ เงินโบราณ เครื่องจับสัตว์ เครื่องประดับ เป็นต้น
 
ติดกันกับอาคารพิพิธภัณฑ์เมืองแพร่ เป็นศาลาก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว ภายในจัดแสดงข้าวของต่าง ๆ คล้ายกับอาคารหลังแรก อาทิ พระพุทธรูปประดิษฐานในบุษบก พระพุทธรูปไม้ รอยพระบาทจำลอง สัตตภัณฑ์ เครื่องลายคราม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี "คุ้มพระลอ" เป็นเรือนล้านนาใกล้กับอาคารพิพิธภัณฑ์ สร้างด้วยไม้สักทอง เป็นที่เก็บรวบรวมศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน ของใช้ในครัวเรือนร่วมสมัย
 
ในปี พ.ศ. 2546 ชุมชนวัดหลวงพยายามที่จะฟื้นฟูพิพิธภัณฑ์วัดหลวงขึ้นใหม่ เนื่องจากอาคารมีสภาพทรุดโทรม โดยได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลเมืองแพร่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่ และโครงการปฏิบัติการชุมชนและเมืองน่าอยู่ และยังได้รับคำแนะนำด้านการจะหมวดหมู่ของโบราณวัตถุจากเจ้าหน้าที่พิพิธภัณสถาน จังหวัดน่าน ซึ่งทางชุมชนเห็นว่ากิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชุมชนมองเห็นความสำคัญของโบราณวัตถุ ช่วยกันดูแลรักษา และทำให้เกิดความสามัคคีในชุมชน 
 
ข้อมูลจาก:
สำรวจภาคสนาม วันที่ 21 เมษายน 2547.
กลุ่มลูกหลานเมืองแพร่. ศึกษาเมืองแพร่. แพร่: ไทยอุตสาหการพิมพ์, 2548.
"พิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดหลวง". วารสารชุมชนไท เดือนกันยายน 2547. 
สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ(บรรณาธิการ). นายรอบรู้ นักเดินทาง: ภาคเหนือ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สารคดี, 2548.
ชื่อผู้แต่ง:
-