ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อ (วัดหย่วน)


ที่อยู่:
วัดหย่วน เลขที่ 177 หมู่ 3 ต.หย่วน อ.เชียงคำ จ.พะเยา 56110
โทรศัพท์:
087-1826731 คุณหทัยทิพย์
วันและเวลาทำการ:
พุธ-อาทิตย์ 9.00-17.30 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
อีเมล:
hathai_chua@hotmail.com
ปีที่ก่อตั้ง:
2531
ของเด่น:
ผ้าทอไทลื้อ ผ้าทอโบราณในพิธีกรรม
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

บนเส้นทางและสีสันลายน้ำไหล : ผ้าทอไทยลื้อเมืองพะเยา เชียงราย

ชื่อผู้แต่ง: ต้นฝ้าย | ปีที่พิมพ์: ปีที่ 42, ฉบับที่ 7 (ก.พ. 2545) : หน้า 172-173

ที่มา: อนุสาร อสท.

แหล่งค้นคว้า: มศก. วังท่าพระ

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

ไทลื้อ

ชื่อผู้แต่ง: รุจยา อาภากร เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ บุญเป็ง สมฤทธ และยุทธพล อุ่นตาล | ปีที่พิมพ์: มปป.

ที่มา: พะเยา: วิชั่นมาสเตอร์

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อ (วัดหย่วน)

ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อเริ่มก่อตั้งในปี 2536 ด้วยความประสงค์ของท่านพระครูสุภัทร พรหมคุณ เจ้าอาวาสวัดหย่วน ที่ต้องการให้กลุ่มทอผ้าในหมู่บ้านย้ายไปทอผ้าในวัดหย่วน เพื่อเป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูการทอผ้า เนื่องจากการทอผ้าได้เริ่มสูญหายไปจากในหมู่บ้าน และในช่วงเวลานั้น ท่าน ส.ส. ลัดดาวรรณ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกของรัฐบาลนายก รัฐมนตรีอานันท์ ปัญญารชุน ซึ่งเป็นคนบ้านหย่วน ได้เข้ามาช่วยผลักดันการสร้างศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อ และช่วยของบประมาณจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจำนวน 3 ล้าน ในการสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ วัตถุจัดแสดงส่วนใหญ่ได้มาจากผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านที่บริจาคให้แก่ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อ

แต่ด้วยเวลาเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อถูกปิดไปอย่างชั่วคราว เพราะขาดผู้เข้ามาดูแลอย่างเป็นทางการ และได้กลับมาเปิดอีกครั้ง เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2555 โดย อาจารย์หทัยทิพย์ เชื้อสะอาด อาจารย์ผู้มีจิตอาสา และเป็นผู้นำชมครั้งนี้ด้วย อาจารย์ได้ใช้เวลาว่างหลังเกษียณเข้ามาช่วยดูแลศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อแห่งนี้ได้เปิดดำเนินการต่อไป เนื่องจากศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อไม่ได้ดูแลมาหลายปี ทำให้ประตู หน้าต่าง และไฟต่างๆ เริ่มชำรุดเสียหาย จิตอาสาและคนในหมู่บ้านจึงได้เข้ามาช่วยกันจัดวาง ตกแต่งภายในกันใหม่อีกครั้ง แต่ยังขาดตู้กระจกในการจัดแสดงและความรู้เรื่องการถนอมวัตถุต่างๆ ที่ใช้จัดแสดง อาจารย์เล่าว่า ตอนนี้ได้ประชาสัมพันธ์กับทางเทศบาลเชียงคำและสมาคมไทลื้อให้ช่วยเข้ามาดูแลศูนย์วัฒนธรรมไทลื้ออีกทางหนึ่งด้วย

ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อ เป็นอาคาร 2 ชั้น ประกอบไปด้วยห้องจัดแสดงทั้งหมด 3 ห้อง ห้องแรก เมื่อเดินเข้ามาจะพบเห็นแบบจำลองสิ่งที่ชาวไทลื้อเรียกว่า “ปราสาท” ลักษณะคล้ายบ้านทำจากไม้ไผ่ ปราสาทนี้ไว้ใช้สำหรับ

 


1. งานศพ โดยจะเผาให้กับผู้ตาย ด้วยความเชื่อว่า จะอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตายได้ขึ้น สวรรค์ โดยจะใส่ของจำเป็นที่ต้องใช้ทุกอย่างลงไปภายในบ้าน ของใช้เหล่านี้จะไม่ถูกนำไปเผา แต่จะถูกนำมาถวายให้วัด อย่างเช่น ที่นอน หมอน มุ้ง ส่วนเสื้อผ้านั้น จะนำไปบริจาคให้แก่คนยากจน หรือแจกให้ลูกหลานของผู้ตายเก็บไว้ในบ้าน เพื่อดูแลคุ้มครองคนในบ้าน และสิ่งที่ขาดไม่ได้ในงานศพของไทลื้อ คือ ตุง มีลักษณะเป็นปราสาทเช่นกัน เป็นความเชื่อว่าผู้ตายจะได้เกาะชายตุงขึ้นสวรรค์

2. งานสืบสานไทลื้อ จัดในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี มีการเทศน์มหาชาติที่เรียกว่า “ติ้วธรรมหลวง” ทางไทลื้อจะเรียกว่า “ตานธรรม” เดิมจะมีต้นกล้วยและต้นอ้อยวางอยู่ด้านหน้าปราสาท และพระ ท่านจะนั่งเทศน์เป็นธรรมาสน์ชั่วคราวอยู่ด้านในปราสาท  

ชั้นล่างนี้ในโซนต่อมา มีการจัดแสดง “ปั๊บสา” หรือใบลาน จำนวนมากวางอยู่บนตู้ ซึ่งยังไม่ได้รับการแปลและการอนุรักษ์อย่างถูกต้อง ปั๊บสาส่วนใหญ่เป็นวรรณกรรมประเภทจักรๆวงศ์ๆ เช่น เจ้าหญิงแตงอ่อน เป็นตำรายา และเป็นคติธรรมที่ใช้อ่านเทศน์

 

ตำรายา

 
ส่วนชั้นบนของศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อ แบ่งออกเป็น 2 ห้อง ห้องแรกจัดแสดงวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการทอผ้า ผ้าแบบต่างๆ และแบบจำลองที่นอนของคนไทลื้อ อย่างเช่น “ผ้าห่มต่ำก้าว” ที่ปัจจุบันหาคนทำไม่ได้แล้ว ต่ำก้าวเป็นภาษาลื้อมี 2 ความหมาย คือ 1.เป็นชื่อลาย 2.เป็นวิธีการทำ “ต่ำ” แปลว่า การทอ “ก้าว” แปลว่า การง้างไม้เพื่อที่จะใส่ลายขึ้นแล้วสอด “ผ้าห่มตาแสง” เหมือนผ้าห่มลายสก็อตที่พบเห็นได้ทั่วไป แต่ผ้าห่มตาแสงจะมีลายเป็นตาๆ ตามที่เรียก และ “ผ้าเช็ด” เป็นผ้าอเนกประสงค์สีขาว ใช้สำหรับเช็ดมือ  เช็ดหน้า เช็ดปาก เมื่อผู้เฒ่าผู้แก่ไปวัด จะนำผ้าขาวนี้ไปวางตรงหน้า เพื่อใช้กราบ และเรียกผ้านี้ว่า “ผ้ากราบ” แต่ในปัจจุบันผ้าเช็ดถูกนำมาประดับบนโต๊ะแจกันบ้าง โต๊ะทานข้าวบ้าง ซึ่งผ้าที่จัดแสดงนั้น สังเกตได้ว่าขาดการดูแลมาอย่างยาวนาน ผ้าบางชิ้นถูกจัดแสดงจนซีด แต่ด้านในกลับมีสีที่ยังสด

ที่นอนคนไทลื้อ มีลักษณะแตกต่างจากที่นอนทั่วไป เริ่มจากมุ้งที่เป็นสีดำ เนื่องจากบ้านไทลื้อเดิมเป็นบ้านไม้ไผ่โล่งๆ เมื่อเวลานอน แต่ละคนจะไม่มีสิ่งใดมากั้น ฉะนั้นจึงใช้มุ้งสีดำ ถ้าสังเกตมุ้งจะเห็นว่า ตามขอบมุ้งจะมีรู ที่เรียกว่า หูมุ้ง คนไทลื้อจะนิยมนำเงินนำทอง หรือเอกสารที่สำคัญมาซ่อนไว้ นอกจากนี้ ที่นอนและหมอนของผู้ชายไทลื้อจะสูงกว่าของผู้หญิง ด้วยความเชื่อว่า สามีไทลื้อต้องนอนก่อนและตื่นทีหลัง

ห้องสุดท้าย เป็นห้องครัวของไทลื้อ บ้านของไทลื้อจะแยกระหว่างตัวบ้านและห้องครัวออกจากกัน ห้องจัดแสดงนี้จึงแยกออกมาให้เห็นลักษณะของบ้านไทลื้อด้วย ของจัดแสดงในห้องนี้ ได้แก่ เตารีดถ่าน กระติกน้ำกระบอกไม้ไผ่ กับดักหนู ที่ไสไม้ ที่แบกฟืน ฯลฯ ของจัดแสดงที่มีจำนวนมากที่สุดในห้องนี้ คือกระดิ่ง กระดิ่งเป็นสิ่งที่ใช้ไว้ห้อยคอวัวควายเวลาไปค้าขาย หรือเดินทางในป่า ห้อยเพื่อเป็นเสียงให้รู้ว่านี่คือวัวควายของเรา กระดิ่งมีหลายประเภทและหลายขนาด

เมื่อได้ชมศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อเสร็จแล้ว อาจารย์หทัยทิพย์ก็เล่าว่า “ที่นี่มีห้องให้คนในหมู่บ้านเข้ามาช่วยกันทอผ้าด้วยนะ” ถ้าเริ่มเดินเข้ามาในตึกจัดแสดงใหม่ ห้องนี้อยู่ทางซ้ายมือชั้นล่าง ซึ่งอาจารย์ได้พาเข้าไปชมภายในห้องทอผ้า ที่มีกี่ทอผ้าวางอยู่ประมาณ 3 – 4 หลังวางอยู่ แต่ละหลังมีลายที่ทอต่างกันไปอย่างสวยงาม

ในปัจจุบัน ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อ  ได้มีเด็กนักเรียนมัธยมจากโรงเรียนเชียงคำวิทยาคมเข้ามาศึกษาโครงงานทอผ้า ตั้งแต่เริ่มกระบวนการทอ บางคนก็มาศึกษาเกี่ยวกับอุปกรณ์เครื่องครัว บางคนมาศึกษาเกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของไทลื้อ อาจจะกล่าวได้ว่า ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อจึงเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญสำหรับคนรุ่นใหม่และผู้ที่สนใจศึกษาความเป็นไทลื้อที่เชียงคำ

วริสรา แสงอัมพรไชย / เขียน
สำรวจภาคสนามวันที่ 22 มกราคม 2556

ชื่อผู้แต่ง:
-

รีวิวของศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อ (วัดหย่วน)

“ความอ่อนน้อมถ่อมตนดูเหมือนจะเป็นบุคคลิกเฉพาะแบบของชาวไทลื้อ ยามที่ผมมีโอกาสเดินทางเข้ามาในดินแดนที่มั่งคั่งด้วยกลิ่นอายของอารยธรรมไทลื้อที่อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา จนยากที่จะละจากไปได้โดยง่าย..”ว่ากันว่าวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวไทลื้อนั้นดูโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ยากแก่กลุ่มชนอื่นจะลอกเลียนแบบได้ ทั้งประเพณี พิธีกรรม การแต่งกายและภาษาพูดของชาวไทลื้อดูจะผสมกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวจนเป็นแบบอย่างของการหลอมรวมวัฒนธรรมที่ยากแก่คนภายนอกอย่างเรา ๆ จะเข้าใจ
ชื่อผู้แต่ง:
-