พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้วิถีชีวิตเมืองแจ๋ม


พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้วิถีชีวิตเมืองแจ๋ม เป็นการรวบรวมองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ ของคนแม่แจ่มให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของเมืองแจ๋ม ซึ่งเป็นเมืองที่ดำรงความเป็นล้านนาและรักษาประเพณีไว้อย่างเหนียวแน่น โดยภายในพิพิธภัณฑ์มีการจัดแสดงนิทรรศการประวัติความเป็นมาของเมืองแจ่ม ประเพณี วัฒนธรรม และจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้สมัยโบราณ โดยได้มาจากการรับบริจาคจากชาวบ้าน เพื่อให้คนในชุมชนเกิดสำนึกรักท้องถิ่นและเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน

ที่อยู่:
วัดบุปผาราม หมู่ 12 ต.ช่างเคิ่ง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ 50270
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2551
จัดการโดย:

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

เล่าขาน "ตำนานแม่แจ่ม" ผ่านพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้วิถีชีวิตเมืองแจ๋ม

ชื่อผู้แต่ง: วีวา | ปีที่พิมพ์: 10/01/2552

ที่มา: ไทยรัฐ

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้วิถีชีวิตเมืองแจ๋ม

ด้วยคำเล่าขานที่คนภายนอกกล่าวกันว่า “ซิ่นตีนจกแม่แจ่ม” มีบทบาทเกี่ยวข้องกับชีวิตของสตรีแม่แจ่มทุกคนตั้งแต่เกิดจนถึงตาย โดยสตรีแม่แจ่มทุกคนต้องมีซิ่นตีนจกอย่างน้อยคนละ 1 ผืน เพื่อใช้นุ่งไปทำบุญ และร่วมงานเทศกาลสำคัญต่างๆ ก่อให้เกิดข้อกังขาแก่หญิงสูงวัย นาม “ฝอยทอง สมวถา” เป็นอย่างยิ่ง เพราะเธอและญาติพี่น้องเป็นสตรีแม่แจ่มโดยกำเนิด แต่ทุกคนกลับไม่เคยมีซิ่นตีนจกไว้สวมใส่ หรือครอบครอง
 
ป้าฝอยทองเล่าว่า ความสงสัยที่เกิดขึ้นจากข้อขัดแย้งในวิถีชีวิตจริง ทำให้ตื่นตัวอยากสืบค้น และเสาะหาความจริง อันเป็นที่มาของการทำวิจัยกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในหัวข้อ “การมีส่วนร่วมในการศึกษาประวัติศาสตร์ แม่แจ่ม 100 ปี จากเมืองแจ๋มสู่แม่แจ่ม ประเด็นประวัติศาสตร์ผ้าตีนจก-ผ้าทอแม่แจ่ม” เมื่อปี 2547-2549 และทราบว่านับแต่อดีตถึงปัจจุบันผู้หญิงแม่แจ่มไม่ได้มีซิ่นตีนจกทุกคน จะมีเฉพาะกลุ่มคนมีฐานะ และคนที่ทอผ้าซิ่นตีนจกเป็นเท่านั้น ทำให้ส่วนใหญ่ผู้หญิงที่มีบ้านเรือนอยู่ทางทิศใต้ ของอำเภอมีผ้าซิ่นตีนจกเกือบทุกคน ขณะที่ทางฝั่งเหนือจะมีผู้สวมใส่ซิ่นตีนจกน้อยกว่า เนื่องจากทอไม่เป็น และมีราคาแพงเกินกว่าจะดิ้นรนนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน 
 
นอกจากนี้ ผลจากการวิจัยยังทำให้พบว่าพื้นที่ ชุมชนแม่แจ่มมีองค์ความรู้ทางภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งที่ เป็นเครื่องมือทำมาหากินในการยังชีพ ประเพณีวัฒนธรรม วิถีชีวิต ครูภูมิปัญญาท้องถิ่น การละเล่นพื้นบ้าน หมอเมือง อาหาร ขนม พืชผักดั้งเดิม ตลอดจนถึงแหล่งการเรียนรู้ตามธรรมชาติในหมู่บ้าน ซึ่งทั้งหมดเป็นต้นทุนทางภูมิปัญญาและวัฒนธรรมที่สมควร รวบรวมฟื้นฟูให้เป็นแหล่งเรียนรู้แก่เยาวชนคนรุ่นหลัง 
 
“แนวคิดศึกษาค้นคว้า รวบรวม ฟื้นฟู และอนุรักษ์องค์ความรู้ต่างๆ ให้เป็นศูนย์แห่งการเรียนรู้ เมืองแจ๋มจึงเกิดขึ้น และมีการต่อยอดมาเรื่อยๆ จน ถึงโครงการวิจัย แนวทางการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้วิถีชีวิตเมืองแจ๋ม เพื่อฟื้นฟูภูมิปัญญา โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ที่ เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551-30 มิถุนายน 2552 ซึ่งถึงขณะนี้มีการเก็บรวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ เครื่องมือทำมาหากินของคนแม่แจ่มในอดีตมาไว้ในอาคารพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ วิถีชีวิตเมืองแจ๋ม ในวัดบุปผาราม หมู่ 12 ต.ช่างเคิ่ง ได้ส่วนหนึ่งแล้ว ด้วยความร่วมมือร่วมใจบริจาคของชาวบ้าน 7 ชุมชน 15 หมู่บ้าน ในเขต ต.ช่างเคิ่ง กับ ต.ท่าผา เปิดตัวไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมา” ป้าฝอยทอง เล่าถึงรายละเอียด
 
สำหรับภายในพิพิธภัณฑ์ หากใครมีโอกาสได้ไปเยือนย่อมสะดุดตากับวัวต่าง และพ่อค้าที่ถือไม้แส้ท่าทางขึงขังไล่ต้อนอยู่ใกล้ๆ เพราะมีการปั้นจำลองทั้งคนและวัวออกมาอย่างได้อารมณ์ เครื่องต่างบนหลังวัวใช้เครื่องจักสานทาด้วยขี้วัว ป้าฝอยทอง บอกว่าเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนเมืองแจ๋ม หรือชาวแม่แจ่มจริงๆ เพราะในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ไม่มีรถราวิ่งขวักไขว่เหมือนทุกวันนี้ การสัญจรและเคลื่อนย้ายสิ่งของ จึงต้องอาศัยวัวต่างเป็นสำคัญ แต่นับจากไฟฟ้าและถนนถูกตัดเข้ามาในชุมชนเมื่อไม่กี่สิบปี ก่อน วิถีความเป็นอยู่ของผู้คนก็เปลี่ยนแปลงไป หันมาใช้รถยนต์และจักรยานยนต์กันมากขึ้น
 
ด้านขวามือมองเห็นซิ่นตีนจกหลากหลายลวดลายถูกสวมโชว์บนตัวหุ่น ซึ่งมีเอกลักษณ์แตกต่างกันไปตามชาติพันธุ์ เช่น คนไต หรือไทใหญ่ ลัวะ กะเหรี่ยง แว่วเสียงแม่อุ๊ยที่นั่งปั่นด้ายโชว์อยู่ด้านหน้าเล่าว่า ความสามารถในการทอซิ่นตีนจกของชาวแม่แจ่มเกิดจากจินตนาการในช่วงฟังเทศน์ฟังธรรม แล้วนำมาถักทอเป็นลวดลายรูปสัตว์ป่าหิมพานต์ โดยการทอซิ่นตีนจกของแม่แจ่มจะแตกต่างจากทอในท้องถิ่นอื่นๆ คือเป็นการทอ หรือจกด้วยวิธีคว่ำลายด้านหลังลงกับกี่ทอ และจกจากด้านหลังของลาย ลวดลายต่างๆที่เกิดขึ้นจึงละเอียด ประณีต และทนทานทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เพราะผู้จกจะผูกเงื่อนเส้นฝ้ายได้แน่น และสะดวกกว่าจกด้านหน้า 
 
สอบถามป้าฝอยทองได้ความว่า ในช่วงหลังเมื่อซิ่นตีนจกได้รับความนิยมและ มีชื่อเสียงได้มีบุคคลภายนอกเข้ามาจ้างช่างทอไปแกะลายผ้าตีนจกลงบนกระดาษ กราฟ ให้สีและลวดลายเหมือนซิ่นตีนจกของแม่แจ่มทุกอย่าง แล้วนำไปเข้าเครื่องทอทำให้เกรงว่าผ้าตีนจกแม่แจ่มจะถูกนำไปเผยแพร่ข้างนอก แล้วทำให้เกิดการลอกเลียนแบบ จนไม่หลงเหลือภูมิปัญญาของชาวบ้าน ในปี 2547 จึงยื่นขอขึ้นทะเบียนผ้าตีนจกแม่แจ่มเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้เป็นชื่อสัญลักษณ์ หรือสิ่งที่ใช้เรียกแทนแหล่งภูมิศาสตร์สามารถบ่งบอกว่าเป็นสินค้าเกิดจาก แหล่งภูมิศาสตร์นั้น และเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ชื่อเสียง หรือคุณลักษณะที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งก็ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียน เมื่อปี 2550 ทำให้มั่นใจได้ว่าผ้าตีนจกแม่แจ่มจะได้รับการคุ้มครองต่อไปจนถึงผืนสุดท้ายที่ผลิตได้ 
 
ย้อนกลับมามองด้านซ้ายมือของพิพิธภัณฑ์ล้วนเป็นเครื่องมือทำมาหากิน อาทิ เครื่องมือทำนา ทำไร่ฝิ่น เครื่องมือช่าง เครื่องมือจับสัตว์ เครื่องมือป้องกันตัว เครื่องทอผ้า อุปกรณ์ในการกินหมาก ของใช้ในครัวเรือน เครื่องดนตรี เครื่องวัวต่าง ตลอดจนสิ่งของที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อ เช่น ฤษีสม อันเป็นหินแร่ชนิดหนึ่ง และบาตรพระ ซึ่งมีตัวอักษรจารึกที่ฝาทั้ง 4 ด้าน ขณะนี้อยู่ระหว่างพิสูจน์ว่าเป็นอักษรของชนชาติใด 
 
อภิวัฒน์ คนใจบุญ หนึ่งในทีมวิจัย เล่าถึงแนวทางในการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ในอนาคต ว่า ได้หารือกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งทีมวิจัยเอง ชาวบ้าน พระสงฆ์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เห็นร่วมกันว่าต้องให้ตัวแทนทุกภาคส่วนเข้ามาเป็นคณะทำงาน พร้อมทั้งกระตุ้นให้ชาวบ้านทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วมดูแลรักษาให้เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิตน่าสนใจสำหรับศึกษาเรียนรู้ ไม่ใช่จัดเป็นพิพิธภัณฑ์แล้วก็ปล่อยให้เป็นภาระของพระสงฆ์ ในวัดคอยเฝ้าสมบัติเก่าแก่ โดยในส่วนของงบประมาณ อบต. 10 แห่ง ในอำเภอ และเทศบาล พร้อมให้การสนับสนุนอยู่แล้ว
 
ด้าน รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม อดีตเมธีวิจัยอาวุโส สกว. กล่าวถึงพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้วิถีชีวิตเมืองแจ๋มว่า มองเห็นวิถีชีวิตของชาวแม่แจ่มในรอบ 100 ปีที่ผ่านมาชัดเจนมาก มีเครื่องมือเครื่องไม้ต่างๆที่บ่งบอกถึงขั้นตอนความเจริญรุ่งเรือง ซึ่งการเกิดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในอดีตอาจจะเป็นการรวบรวมสิ่งของ แต่ขาดสำนึกการเคลื่อนไหวที่ดี จึงต้องสร้างความรู้ที่เป็นองค์รวมของท้องถิ่นขึ้นมาให้ได้ ไม่ใช่เป็นไปในแบบโบราณคดี แต่ต้องเป็นประวัติศาสตร์เป็นความเป็นมาของท้องถิ่น เริ่มจากตัวเองย้อนกลับไปสู่ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ย้อนมองตั้งแต่การสร้างบ้านแปงเมือง จากคนหลากหลายชาติพันธุ์ที่สร้างเมืองแม่แจ่มขึ้นมาร่วมกัน จึงไม่ใช่ คนชุมชนใด ชุมชนหนึ่ง
 
อย่างไรก็ตาม การศึกษาประวัติศาสตร์ ท้องถิ่นต้องมีการบูรณาการความรู้ระหว่างความรู้ภายในและความรู้ภายนอกซึ่ง ไม่หยุดนิ่ง ต้องมีการเคลื่อนไหว ต้องมีชีวิต มีการวิเคราะห์วิจารณ์ ว่าท้องถิ่นมีดีอะไร ข้างนอกมีดีอะไร พิพิธภัณฑ์ต้องสร้างความรู้เกี่ยวกับชีวิตวัฒนธรรมให้ชัดเจน แล้วจึงนำเสนอข้อมูลออกมาเพื่อสร้างการเรียนรู้ในการดำรงอยู่ร่วมกัน กระบวนการประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จึงเป็นกระบวนการสร้างพลังของ ชุมชนมากำหนดบทบาทในการดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสม
 
ข้อมูลจาก: วีวา. เล่าขาน "ตำนานแม่แจ่ม" ผ่านพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้วิถีชีวิตเมืองแจ๋ม. ไทยรัฐ  10 มกราคม 2552
ชื่อผู้แต่ง:
-