พิพิธภัณฑ์ไทยเขิน วัดสันก้างปลา


ที่อยู่:
หมู่ 6 ต.ทรายมูล อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ 50130
โทรศัพท์:
0-5333-2041, (เข้าชมเป็นหมู่คณะ กรุณาติดต่อล่วงหน้า)
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน 08.30-17.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
อีเมล:
watsankangpla@gmail.com
ปีที่ก่อตั้ง:
2546
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

เยือนถิ่นไทยเขิน : หมู่บ้านวัฒนธรรมสันก้างปลา

ทิวทัศน์ขึ้นชื่อเลื่องลือคนงาม
เขตคามโคนม           ชื่นชมหัตกรรม
          คือคำขวัญของอำเภอสันกำแพง  จังหวัดเชียงใหม่  ดินแดนที่อุดมไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม อันควรค่าแก่การอนุรักษ์และสืบทอดไปยังคนรุ่นหลัง  เนื่องจากปัจจุบันวัฒนธรรมเหล่านั้นนับวันเริ่มจะเลือนหายไปจากสังคมไทยทุกที แต่ก็ยังมีชุมชนหนึ่งได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว  จึงร่วมแรงร่วมใจกันจัดตั้ง ศูนย์อนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นขึ้นที่หมู่บ้านสันก้างปลาโดยใช้ชื่อว่า “ศูนย์บูรณาการวัฒนธรรมไทย สายใยชุมชน”  หรือ “ หมู่บ้านวัฒนธรรมสันก้างปลา”
          บ้านสันก้างปลา  เป็นชุมชนขนาดเล็กแห่งหนึ่งในเขตอำเภอสันกำแพง  ชาวบ้านที่นี่เกือบทั้งหมดเป็นชาวไทยเขิน สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษที่อพยพมาจากเมืองเชียงตุง ประเทศพม่า ในสมัยที่พระเจ้ากาวิละ ได้กวาดต้อนกลุ่มชาวไทยเขินให้มาอยู่เมืองเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2339  ผ่านมาแล้วกว่าสองร้อยปีแต่ชาวไทยเขินยังคงรักษาเอกลักษณ์ของชุมชนไว้ได้อย่างเหนียวแน่น
          ศูนย์บูรณาการวัฒธรรมไทย  สายใยชุมชน หรือหมู่บ้านวัฒนธรรมสันก้างปลา จัดตั้งขึ้นเพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชาวไทยเขินให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังเป็นการปลูกจิตสำนึกแก่เยาวชนให้มีความรักท้องถิ่น รวมไปถึงตระหนักในคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษได้สร้างสมมาหลายชั่วอายุคน
          เดิมทีศูนย์นี้ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับที่ว่าการอำเภอสันกำแพง  ภายหลังย้ายที่ว่าการอำเภอไป  จึงยุบศูนย์มาไว้ที่บ้านสันก้างปลาแห่งนี้  ซึ่งมีการจัดแสดงเกี่ยวกับชุดชาวบ้านไทยเขินอยู่ก่อนแล้ว  ต่อมาจึงมีการนำชุดอื่นๆ มาเพิ่มเติม  แกนนำสำคัญในการจัดตั้งศูนย์นี้คือ เจ้าอาวาสวัดสันก้างปลา  ท่านจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ สาขาการพัฒนาชุมชน  ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ หรือ สวช.  ให้ทางวัดสืบค้นประวัติศาสตร์ชาวไทยเขินที่หมู่บ้านสันก้างปลาเพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขิน
           ในช่วงแรกของการสืบค้น การเก็บข้อมูลเกิดปัญหาที่ว่า  ชาวบ้านปิดบังข้อมูล  โดยอ้างว่า เจ้าอาวาสและพระในวัดจะรู้เรื่องของชาวไทยเขินมากกว่าชาวไทยเขินเอง   ผู้วิจัยจึงไม่สามารถสืบค้นข้อมูลเชิงลึกได้เลย ดังนั้น  เจ้าอาวาสและคณะผู้วิจัยจึงได้คิดกุศโลบายขึ้นมา โดยการจัดนำเที่ยวเพื่อพาชาวบ้านไปสัมผัสกับรากเหง้าของตนเองที่เมืองเชียงตุง ประเทศพม่า
            นับว่ากุศโลบายดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี สังเกตได้จากกระแสตอบรับของชาวบ้านต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า  ก้าวแรกที่ได้สัมผัสแผ่นดินเชียงตุง  ความรู้สึกราวกับว่าได้ย้อนกลับไปสัมผัสบรรยากาศและกลิ่นไอในในอดีตที่พวกเขาห่างหายมานาน  การไปเยือนเมืองเชียงตุงในครั้งนี้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชาวไทยเขินเป็นอย่างมาก กล่าวคือเป็นการกระตุ้นให้พวกเขาได้กระตือรือร้นที่จะศึกษาความเป็นมาของตนเอง รู้สึกหวงแหนในศิลปวัฒนธรรมของกลุ่มไทยเขินที่กำลังจะสูญหายไปตามกาลเวลา  ที่สำคัญคณะผู้วิจัยไม่ต้องไปเที่ยวสอบถามข้อมูลใด ๆ จากชาวบ้านอีกต่อไปเพราะชาวบ้านต่างพร้อมใจกันมาให้ข้อมูลอย่างไม่ขาดสาย  รวมไปถึงการบริจาคเสื้อผ้า  ข้าวของเครื่องใช้ที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของชาวไทยเขิน เพื่อ ให้ทางวัดได้นำมาจัดแสดงอีกด้วย
              ชาวไทยเขินมีบุคลิกลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์คือ ผู้หญิงจะมีความรักนวลสงวนตัวมากเห็นได้จากเครื่องแต่งกายของชาวไทยเขินในอดีต ที่ค่อนข้างมิดชิดรัดกุม ส่วนผู้ชายนั้นจะได้รับการปลูกฝังให้เข้าวัดฟังธรรมตั้งแต่เด็กเพื่อตัดความยึดมั่นถือมั่นในเรื่องทางโลก ดังนั้นอัตราการแต่งงานจึงมีน้อยมาก  แทบไม่น่าเชื่อเลยว่าหมู่บ้านสันก้างปลานี้มีประชากรเด็กเพียงแค่  5 คน เท่านั้น นอกจากนั้นเป็นผู้สูงอายุที่ครองตัวเป็นโสดทั้งสิ้นซึ่งเป็นผลพวงมาจากการไม่นิยมแต่งงานของชาวไทยเขินนั่นเอง
          ภายในศูนย์วัฒนธรรมวัดสันก้างปลานี้  ประกอบด้วยนิทรรศการที่ให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์  ความเป็นมาของชาวไทยเขิน  เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายแบบชาวไทยเขิน  ทั้งที่เป็นของเก่าแก่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษและที่ตัดเย็บขึ้นมาใหม่โดยกลุ่มแม่บ้าน  รวมถึงเครื่องใช้ไม้สอยในชีวิตประจำวัน ซึ่งเดิมเคยมีการจัดทำทะเบียนผลิตภัณฑ์ แต่ภายหลังมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เข้ามาเพิ่มทำให้เลขทะเบียนกระจัดกระจาย ทางศูนย์กำลังจัดทำเลขทะเบียนใหม่เพื่อการจัดเก็บที่เป็นระบบมากขึ้น โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างวัดและชุมชน โดยชาวบ้านต่างก็แวะเวียนผลัดเปลี่ยนกันมาดูแลศูนย์  ถ้าผลิตภัณฑ์ใดหมดก็ช่วยกันจัดหามาเพิ่ม หรือถ้าผู้มาเยี่ยมชมศูนย์มีข้อสงสัยอะไร ก็สามารถเป็นวิทยากรแนะนำและตอบคำถามได้  แต่โดยปกติแล้วพระในวัดจะเป็นวิทยากรประจำ  ถือได้ว่าศูนย์แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่สำคัญของคนในชุมชนและชุมชนข้างเคียง   
            รูปแบบการนำชมศูนย์ จะแบ่งเนื้อหาออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนธรรมะและส่วนวัฒนธรรม  
โดยอันดับแรกพระวิทยากรจะวิเคราะห์ผู้ฟังก่อนว่า อยู่ในสภาพที่พร้อมจะรับความรู้ได้มากน้อยเพียงใด ถ้ายังไม่พร้อมจะเตรียมความพร้อมด้วยการบรรยายธรรมะพื่อให้สงบจิตสงบใจและเกิดสมาธิ หรือถ้าผู้ฟังอยู่ในอารมณ์เครียด ก็จะทำให้สนุกสนานเสียก่อน จากนั้นจึงนำชมศูนย์ การนำชมนี้จะไม่ยัดเยียดข้อมูลให้ผู้ชมแต่จะรอตอบข้อสงสัยที่ผู้เยี่ยมชมซักถามเป็นเรื่อง ๆ ไป เพราะรายละเอียดต่าง ๆ จะมีป้ายเขียนบรรยายไว้หมดแล้ว พระวิทยากรจะแนะนำเฉพาะเรื่องที่นอกเหนือไปจากนั้น ซึ่งเป็นการกระตุ้นผู้มาชมให้คิดให้ถาม ซึ่งจะทำให้ผู้ชมได้รับข้อมูลตรงตามที่ตนสนใจได้อย่างเต็มที่และตรงวัตถุประสงค์มากที่สุด
          ศูนย์บูรณาการวัฒนธรรมไทย สายใยชุมชนนี้ ปัจจุบันมีความพร้อมทั้งในด้านข้อมูลและบุคลากรที่สามารถรองรับผู้สนใจมาเยี่ยมชม และศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชาวไทยเขิน ได้เป็นอย่างดี แต่เป็นน่าเสียดายว่าเนื่องจากชาวไทยเขินไม่นิยมแต่งงาน จึงน่าเป็นห่วงว่า ต่อไปในอนาคตใครจะเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการอนุรักษ์วัฒนธรรมเหล่านี้ เพราะคงไม่มีใครจะความภาคภูมิใจและสามารถสืบสานวัฒนธรรมไทยเขินได้ดีเท่ากับกลุ่มคนที่มีเชื้อสายไทยเขินซึ่งเป็นเจ้าของวัฒนธรรมดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะเตรียมวิธีแก้ไขไว้รองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
           อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่มีโอกาสเดินทางผ่านมายังอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ อย่าลืมแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชม “ศูนย์บูรณาการวัฒนธรรมไทย สายใยชุมชน “  หรือ “หมู่บ้านวัฒนธรรมบ้านสันก้างปลา” บ้าง เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ของตนเอง อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้อีกด้วย
ชื่อผู้แต่ง:
-

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ไทยเขิน วัดสันก้างปลา

บ้านสันก้างปลา  เป็นชุมชนขนาดเล็กแห่งหนึ่งในเขตอำเภอสันกำแพง  ชาวบ้านที่นี่เกือบทั้งหมดเป็นชาวไทยเขิน สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษที่อพยพมาจากเมืองเชียงตุง ประเทศพม่า ในสมัยที่พระเจ้ากาวิละ ได้กวาดต้อนกลุ่มชาวไทยเขินให้มาอยู่เมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2339 เวลาได้ล่วงเลยมากว่าสองร้อยปี แต่ชาวไทยเขินยังคงรักษาเอกลักษณ์ของชุมชนไว้ได้อย่างเหนียวแน่น
 
ศูนย์วัฒนธรรมไทยเขิน วัดสันก้างปลา จัดตั้งขึ้นเพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวไทยเขิน และเผยแพรให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังเป็นการปลูกจิตสำนึกแก่เยาวชนให้มีความรักท้องถิ่น รวมไปถึงตระหนักในคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษได้สร้างสมมาหลายชั่วอายุคน
 
ภายในศูนย์วัฒนธรรมวัดสันก้างปลานี้  ประกอบด้วยนิทรรศการที่ให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์  ความเป็นมาของชาวไทยเขิน  เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายแบบชาวไทยเขิน  ทั้งที่เป็นของเก่าแก่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษและที่ตัดเย็บขึ้นมาใหม่โดยกลุ่มแม่บ้าน  รวมถึงเครื่องใช้ไม้สอยในชีวิตประจำวัน ซึ่งเดิมเคยมีการจัดทำทะเบียนวัตถุ แต่ภายหลังเมื่อมีวัตถุใหม่ ๆ เข้ามาเพิ่ม ทำให้เลขทะเบียนกระจัดกระจาย ทางศูนย์กำลังจัดทำเลขทะเบียนใหม่เพื่อการจัดเก็บที่เป็นระบบมากขึ้น 
 
การจัดตั้งและการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์เป็นความร่วมมือระหว่างวัดและชุมชน โดยชาวบ้านจะแวะเวียนมาดูแลศูนย์ฯ ถ้าผู้มาเยี่ยมชมศูนย์มีข้อสงสัยอะไร ชาวบ้านสามารถเป็นวิทยากรแนะนำและตอบคำถามได้  แต่โดยปกติแล้วพระในวัดจะเป็นวิทยากรประจำ  ถือได้ว่าศูนย์แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่สำคัญของคนในชุมชนและชุมชนข้างเคียง
 
วัดยังจัดกิจกรรมให้กับเยาวชน โดยเนื้อหาจะแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนธรรมะและส่วนวัฒนธรรม   
อันดับแรกเป็นการบรรยายธรรมะเพื่อให้สงบจิตสงบใจและเกิดสมาธิ จากนั้นจึงนำชมศูนย์ การนำชมนี้จะไม่ยัดเยียดข้อมูลให้ผู้ชม แต่จะรอตอบข้อสงสัยเป็นเรื่อง ๆ ไป เพราะมีป้ายเขียนบรรยายรายละเอียดไว้หมดแล้ว พระวิทยากรจะแนะนำเฉพาะเรื่องที่นอกเหนือไปจากนั้น ซึ่งเป็นการกระตุ้นผู้มาชมให้คิดให้ถาม และรับข้อมูลตรงตามที่ตนสนใจได้อย่างเต็มที่และตรงวัตถุประสงค์มากที่สุด
 
ในปัจจุบัน ศูนย์ฯ มีความพร้อมทั้งในด้านข้อมูลและบุคลากรที่สามารถรองรับผู้สนใจมาเยี่ยมชม และศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชาวไทยเขินได้เป็นอย่างดี สำหรับผู้ที่มีโอกาสเดินทางผ่านไปยังอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ อย่าลืมแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชม "ศูนย์วัฒนธรรมไทยเขิน วัดสันก้างปลา" บ้าง เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ของตนเอง อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้อีกด้วย 
 
ข้อมูลจาก: การสำรวจ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2548
ชื่อผู้แต่ง:
-