พิพิธภัณฑ์วัดใหญ่ท่าเสา


ที่อยู่:
วัดใหญ่ท่าเสา ถ.สำราญรื่น ต.ท่าอิฐ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ 53000
โทรศัพท์:
055-403-093 ,084-815-2380 (พระครูวินัยธรไทย สปญฺโญ)
วันและเวลาทำการ:
หากต้องการเข้าชมควรติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์วัดใหญ่ท่าเสา

อุตรดิตถ์  เป็นเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคเหนือตอนล่าง  ชื่อจังหวัดมีความหมายว่า “เมืองท่าฝ่ายเหนือ”  เนื่องจากตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่าน  และมีท่าเรือโบราณสำคัญอยู่ 2 แห่ง  คือ “ท่าอิฐ” และ “ท่าเสา”  ทั้งท่าอิฐและท่าเสาเป็นท่าเรือโบราณและตลาดรวบรวมสินค้าที่มาจากเมืองน่าน  เมืองแพร่และเมืองหลวงพระบาง  เพื่อจะส่งต่อสินค้าลงไปยังกรุงเทพฯ แต่ทุกวันนี้การคมนาคมได้เปลี่ยนแปลงจากทางน้ำเป็นทางบก  การขนส่งสินค้าลงไปยังกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จึงใช้รถไฟและรถบรรทุกเป็นหลัก  ความเป็นเมืองท่าของอุตรดิตถ์จึงเหลือไว้เพียงความทรงจำและร่องรอยทางประวัติศาสตร์ 

ณ ยุคสมัยของการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ  โดยมีการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สังกัดกระทรวง การท่องเที่ยวและกีฬาเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์  ภาพลักษณ์ทางการท่องเที่ยวของจังหวัดอุตรดิตถ์ถูกนำเสนอผ่านแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่งดงามอย่างอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว  มีชุมชนดั้งเดิมที่น่าสนใจอย่างชุมชนเมืองลับแล  ชุมชนตีเหล็กที่บ้านน้ำพี้  และมีศาสนสถานศูนย์รวมศรัทธาทางพระพุทธศาสนา  อย่างพระแท่นศิลาอาสน์  พระบรมธาตุทุ่งยั้ง  และพระมหาธาตุเมืองฝาง  แต่ข้อมูลเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในจังหวัดอุตรดิตถ์กลับไม่ถูกนำมาประชาสัมพันธ์ทางการท่องเที่ยวอย่างที่ควรจะเป็น  ทั้งที่ภายในตัวเมืองอุตรดิตถ์มีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่น่าสนใจหลายแห่ง  หนึ่งในนั้นคือ  พิพิธภัณฑ์วัดใหญ่ท่าเสา  ตั้งอยู่ในวัดใหญ่ท่าเสา  ซึ่งเป็นวัดที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์   ท้องถิ่นของเมืองอุตรดิตถ์  แต่นักท่องเที่ยวหรือแม้แต่ชาวอุตรดิตถ์น้อยคนนักที่จะรู้จักและเคยเดินทางมาเยี่ยมชม

วัดใหญ่ท่าเสา ตั้งอยู่ในเขตชุมชนท่าเสา  ตำบลท่าเสา อำเภอเมือง  จังหวัดอุตรดิตถ์ อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวเมืองอุตรดิตถ์ และอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟท่าเสา  วัดใหญ่ท่าเสาน่าจะสร้างขึ้นมาพร้อมกับชุมชนท่าเสาเมื่อราวสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายเป็นอย่างน้อย  ผู้คนในชุมชนท่าเสามีความหลากหลายทางชาติพันธุ์  เนื่องจากชุมชนท่าเสาเคยเป็นชุมทางการค้าที่สำคัญในลุ่มน้ำน่าน  จึงมีทั้งชาวไทย  ชาวจีน  ชาวไทยวน (ล้านนา) และชาวลาว  เข้ามาตั้งถิ่นฐานและอยู่อาศัยสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน  ภายในวัดใหญ่ท่าเสามีโบราณสถานที่น่าสนใจ ได้แก่

โบสถ์  เป็นโบสถ์ขนาดเล็กมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบสมัยอยุธยาตอนปลาย  บานประตูเป็นไม้แกะสลัก 2 บาน  หน้าบันด้านหน้าเป็นไม้แกะสลักรูปเทพนมและลายไทย  ส่วนหน้าบันด้านหลังเป็นไม้แกะสลัก  

หอไตร  มีลักษณะเป็นไม้ยกพื้น  เสาเป็นปูน  หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา  หน้าบันเป็นไม้แกะสลัก หน้าบันทางด้านทิศตะวันออกเป็นรูปหน้ากาล  แวดล้อมไปด้วยลายพันธุ์พฤกษาและรูปเทพยดา  เบื้องหลังเป็นลายลายก้านขด ทางด้านบนสุดของหน้าบันเป็นรูปครุฑยุดนาค  ส่วนหน้าบันทางด้านทิศตะวันตกเป็นลายกนกก้านขดธรรมดา เชิงชายคาเป็นไม้แกะสลักอย่างงดงาม  ส่วนช่อฟ้าและใบระกาทำด้วยปูนปั้น 

นอกจากนี้  ภายในวัดยังมีศาลาการเปรียญขนาดใหญ่  เดิมเป็นศาลาไม้ยกพื้น  ปัจจุบันได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเป็นครึ่งไม้ครึ่งคอนกรีต  บนศาลาการเปรียญมีโบราณวัตถุอันเป็นสิ่งที่พุทธศาสนิกชนถวายเป็นพุทธบูชาและอุทิศให้บรรพบุรุษจำนวนมาก  เมื่อมีการปรับปรุงศาลาการเปรียญใหม่และมีโจรผู้ร้ายชุกชุม  เจ้าอาวาสวัดใหญ่ท่าเสาจึงนำโบราณวัตถุต่างๆ ไปเก็บรักษาไว้ในที่ปลอดภัย  ในปี พ.. 2540  จึงนำโบราณวัตถุมาจัดแสดงเพื่อให้พุทธศาสนิกชน  นักท่องเที่ยวและนักเรียนนักศึกษาเข้ามาเยี่ยมชมโบราณวัตถุได้

พิพิธภัณฑ์วัดใหญ่ท่าเสา  ตั้งอยู่บนชั้น 2 ภายในกุฏิเจ้าอาวาสวัดใหญ่เท่าเสา  ซึ่งเป็นอาคารคอนกรีตขนาดใหญ่  ภายในจัดแสดงโบราณวัตถุที่พบในบริเวณวัดใหญ่ท่าเสา  ซึ่งมีโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ  ได้แก่

ยานมาศไม้แกะสลัก  สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เสด็จมาวัดใหญ่ท่าเสาเมื่อปี พ.. 2444 ทรงสันนิษฐานว่าเป็นยานมาศสำหรับแห่พระ  เป็นยานมาศที่สูงมากหลังคานมีตัวนาค  ฐานเป็นสิงห์สองชั้นแล้วเป็นที่นั่ง  มีไม้แกะเป็นรูปบัวกระจังลอยตัวอยู่ทั้ง 4 มุม  ส่วนด้านหลังพนักพิงเป็นรูปกลีบบัวลอยตัวขึ้นมาซ้อนกัน 2 กลีบ  ตามผิวไม้พบร่องรอยการลงรักปิดทอง  ยานมาศนี้เชื่อกันว่าเป็นยานมาศที่พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาอุทิศถวายบูชาพระมหาธาตุเมืองฝาง  และอาจใช้เป็นยานมาศประจำตัวพระสังฆราชาเมืองสวางคบุรี (เมืองฝาง) ก็เป็นได้   เพราะที่มาของยานมาศนี้สันนิษฐานว่า  นำมาจากวัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถในราวสมัยรัชกาลที่ โดยหลวงพ่อเย็ก  อดีตเจ้าอาวาสวัดใหญ่ท่าเสาซึ่งได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสวางคบุรี 

ธรรมาสน์เทศน์  เป็นธรรมาสน์ไม้แกะสลัก  ศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น  ส่วนบนหรือหลังคาธรรมาสน์เป็นทรงมณฑปยอดปราสาท  ส่วนล่างประดับด้วยไม้แกะสลักรูปยักษ์แบก  มีบันไดนาคเป็นทางขึ้นธรรมาสน์  ตัวธรรมาสน์แวดล้อมไปด้วยไม้แกะสลักเป็นรูปสัตว์ต่าง เช่น  ช้างและกวาง  เป็นต้น

พระแผง  ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปขนาดเล็กที่ทำด้วยครั่ง  นำมาติดเรียงกันบนแผงหรือแผ่นไม้แกะสลัก  ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เก็บรักษาและจัดแสดงพระแผงทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กไว้มากกว่า 10 แผง   กรอบพระแผงด้านบนส่วนใหญ่เป็นกรอบหรือซุ้มรูปแบบต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นซุ้มแผงรูปพญานาค  ลายกนก  และลายพุ่มข้าวบิณฑ์  ส่วนฐานหรือด้านล่างกรอบพระแผงมีการแกะสลักเป็นรูปหรือลวดลายที่งดงามมาก  ทั้งรูปเทวดาร่ายรำ รูปยักษ์แบก  รูปหม้อน้ำและรูปแจกัน

ตู้และหีบพระธรรม  ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีตู้และหีบพระธรรมกว่า 10 หลัง  ซึ่งแต่ละหลังเขียนลายรดน้ำปิดทองและปิดทองล่องชาด ศิลปะอยุธยาตอนปลาย-รัตนโกสินทร์ตอนต้น  แสดงเรื่องราวพุทธประวัติ  รามเกียรติ์  ป่าหิมพานต์และรูปทวารบาล

นอกจากนี้  ภายในพิพิธภัณฑ์ยังมีพระพุทธรูปไม้แกะสลักจำนวนมาก  เนื่องจากว่าการสร้างพระพุทธไม้หรือพระเจ้าไม้เป็นวัฒนธรรมที่นิยมของชาวล้านนาและล้านช้าง  จึงทำให้ที่วัดนี้มีพระพุทธรูปไม้แกะสลักศิลปะฝีมือช่างท้องถิ่นจำนวนมาก  นอกจากนี้มีพระพุทธรูปขนาดเล็กที่ทำด้วยครั่ง  ฆ้องและระฆังเก่า  ใบเสมาหินชนวน  ไม้แกะสลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ  เครื่องสังคโลก  เครื่องถ้วยลายครามและภาชนะทองเหลือง 

มาถึงตรงนี้ผู้อ่านคงทราบแล้วว่า  วัดใหญ่ท่าเสาและพิพิธภัณฑ์วัดใหญ่ท่าเสามีความสำคัญและมีโบราณวัตถุสถานน่าสนใจ  ที่เมื่อเดินทางมายังจังหวัดอุตรดิตถ์แล้วไม่ควรพลาดที่จะแวะเยี่ยมชม  ในฐานะที่เคยไปเยี่ยมชมโบราณวัตถุสถานวัดใหญ่ท่าเสามาแล้ว  ผู้เขียนจึงขอใช้พื้นที่ในบทความนี้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่เดินทางผ่านไปทางจังหวัดอุตรดิตถ์  อย่าลืมแวะไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์วัดใหญ่ท่าเสา  แล้วท่านจะเข้าใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองอุตรดิตถ์ และรู้ซึ้งในคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมของชุมชนท่าเสาแห่งนี้อย่างแน่นอน  


ที่มา: ธีระวัฒน์ แสนคำ "ไปเที่ยวอุตรดิตถ์อย่าลืมแวะ พิพิธภัณฑ์วัดใหญ่ท่าเสา" จุลสารก้าวไปด้วยกัน ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 (ตุลาคม 2554 - มกราคม 2555) หน้า 26 - 31.

ชื่อผู้แต่ง:
-