หอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์


ที่อยู่:
ถนนหลักเมืองพัฒนา อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ 67000
โทรศัพท์:
0-5671-2120, 0-5671-2866
วันและเวลาทำการ:
ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00 – 17.00 น. (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
อีเมล:
infoculturalhall@nakornban.com
ปีที่ก่อตั้ง:
2545

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของหอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์

หอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์ ตั้งอยู่บริเวณถนนหลักเมือง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยหอวัฒนธรรมมีจุดเด่นคือ ตั้งอยู่ตรงกันข้ามกับศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเพชรบูรณ์และใกล้กับศาลากลางหลังเก่าของจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมีเอกลักษณ์ที่เป็นเครื่องหมายบ่งบอกชัดเจนคือ ประติมากรรมฝักมะขามหวานยักษ์สีทอง อยู่ด้านหน้าอาคารหอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์
 
ลักษณะชุมชน
      หอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์ ตั้งอยู่ในชุมชนภายในเขตเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ โดยด้านหน้าของหอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์ มีแม่น้ำป่าสักไหลผ่าน นับว่าตั้งอยู่ในบริเวณที่เรียกว่ากลางใจเมืองเพชรบูรณ์ การเดินทางไปยังหอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์ไม่ซับซ้อน เนื่องจากอยู่ใกล้สถานที่ที่สำคัญของจังหวัดเพชรบูรณ์หลายแห่ง เช่น ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเพชรบูรณ์ วัดไตรภูมิ(ซึ่งประดิษฐานพระพุทธมหาธรรมราชา พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองจังหวัดเพชรบูรณ์)  วัดเพชรวราราม(นิกายธรรมยุติ)  ศาลากลางหลังเก่าของจังหวัด เพชรบูรณ์  สถานีตำรวจภูธรเมืองเพชรบูรณ์  หอประวัติศาสตร์เพชะปุระ  แนวกำแพงเมืองโบราณ เป็นต้น ซึ่งศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเพชรบูรณ์และวัดไตรภูมิถือเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดเพชรบูรณ์และยังได้รับความเคารพ ศรัทธาจากชาวเพชรบูรณ์เป็นอย่างมาก ในส่วนของสภาพชุมชนใกล้เคียงเป็นลักษณะชุมชนเมือง อีกทั้งอยู่ใกล้ตลาดสดชุมชนตลาดพัฒนาและแหล่งร้านอาหารที่เรียกว่าบริเวณ “สระกลางเมือง” ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่สำคัญที่แห่งหนึ่งของอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ อีกทั้งชุมชนมีบรรยากาศที่เงียบสงบ มีวิถีชีวิตเรียบง่าย สมกับคำขวัญของจังหวัดเพชรบูรณ์ว่า “เพชรบูรณ์ เมืองอยู่สบาย”
 
      ลักษณะประชากรมีความหลากหลายทั้งชาวเพชรบูรณ์ดั้งเดิมและจากพื้นที่อื่นๆ เนื่องจากมีการอพยพเข้ามาของประชากรจากพื้นที่อื่น เนื่องจากบริเวณที่ตั้งของหอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์อยู่ใจกลางเมืองเพชรบูรณ์ จึงถือว่าชุมชนที่ตั้งอยู่โดยรอบและชุมชนใกล้เคียงก็ยังมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจของแต่ละชุมชน การประกอบอาชีพส่วนใหญ่จะเป็นเกษตรกร  ข้าราชการและค้าขาย เนื่องจากเป็นใจกลางเมืองและเป็นแหล่งเศรษฐกิจดังที่กล่าวไปแล้ว ดังนั้นจึงถือได้ว่า เป็นชุมชนที่มีความผสมผสานทางชาติพันธุ์และการประกอบอาชีพโดยอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข
 
มรดกทางวัฒนธรรมชุมชนและภูมิปัญญาที่โดดเด่นของชุมชน
      หอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์ มีภารกิจสำคัญในการเก็บรวบรวมข้อมูลทางศิลปวัฒนธรรมและจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมทางศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดเพชรบูรณ์ ดังนั้นในส่วนของข้อมูลที่เกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมชุมชนและภูมิปัญญาที่โดดเด่นของชุมชน เช่น การก่อเจดีย์ทรายกลบธาตุ ซึ่งถือว่าเป็นเอกลักษณ์ประเพณีของชุมชนบ้านสะเดียง ซึ่งเป็นอีกชุมชนหนึ่งที่อยู่ใกล้เคียงและมีสำเนียงภาษาที่โดดเด่นมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว อีกทั้งยังมีดนตรีพื้นบ้านที่มีเอกลักษณ์ของตัวเองเรียกว่า ดนตรีตุ๊บเก่ง ซึ่งได้รับอิทธิพลจากดนตรีพื้นบ้านภาคกลาง ซึ่งเป็นบรรพบุรุษดั้งเดิมของชาวบ้านสะเดียงที่ได้อพยพย้ายถิ่นเข้ามาตั้งรกรากอยู่แถบนี้ตั้งแต่สมัยโบราณ โดยกิจกรรมประเพณีการก่อเจดีย์ทรายกลบธาตุนี้ จะจัดในช่วงวันสงกรานต์ โดยเป็นประเพณีที่ชาวบ้านมีความเชื่อว่าจะนำกระดูกของญาติพี่น้องที่เสียชีวิตไปแล้วมาบำเพ็ญกุศล
 
      นอกจากนี้ยังมีประเพณีที่สำคัญและถือเป็นเอกลักษณ์ของชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ที่สืบทอดต่อๆกันมาตั้งแต่สมัยโบราณคือ ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ ซึ่งเป็นประเพณีหนึ่งเดียวในโลก ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ มีเรื่องเล่าความเป็นมาสืบต่อกันมาว่า เมื่อประมาณ 400 ปีที่ผ่านมามีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งมีอาชีพหาปลาขาย และได้ไปหาปลาที่แม่น้ำป่าสักเป็นประจำทุกวัน อยู่มาวันหนึ่งก็ได้เกิดเรื่องที่ไม่มีใครให้คำตอบได้ว่า เกิดอะไรขึ้นเพราะวันนั้น ไม่มีใครจับปลาได้สักตัว จากนั้นก็เกิดเหตุการณ์ประหลาดขึ้นตรงบริเวณ วังมะขามแฟบ (ไม้ระกำ) ซึ่งปกติบริเวณนี้น้ำจะไหลเชี่ยวมาก จู่ๆ น้ำก็หยุดไหล และมีพลายน้ำผุดขึ้นมา แล้วพระพุทธรูปก็ผลุดขึ้นมาด้วย ชาวบ้านจึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปองค์ดังกล่าว ขึ้นจากน้ำและนำไปประดิษฐานไว้ที่ไตรภูมิ เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดเพชรบูรณ์ จนกระทั่งถึงวันสารทไทยหรือ วันแรม 15 ค่ำเดือนสิบ พระพุทธรูปองค์ดังกล่าว (พระพุทธมหาธรรมราชา) ก็ได้หายไปจากวัด ชาวบ้านจึงช่วยกันตามหาและเจอพระพุทธรูป อยู่บริเวณวังมะขามแฟบ จากนั้นเป็นต้นมา พอถึงวันแรม 15 ค่ำเดือนสิบชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ ก็จะจัดงานซึ่งเรียกว่า "งานอุ้มพระดำน้ำ" ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2522 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นประเพณีที่นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์หรือเจ้าเมือง จะเป็นผู้อัญเชิญองค์พระพุทธมหาธรรมราชา ซึ่งถือว่าเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองจังหวัดเพชรบูรณ์ มาทำพิธีอุ้มพระดำน้ำในแม่น้ำป่าสัก
 
      ซึ่งประเพณีนี้จะจัดเป็นประจำทุกปีในช่วงวันสารทไทย คือ วันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 คือในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี โดยเป็นประเพณีที่มีกุศโลบายว่า ในปีหนึ่งๆให้ชาวเพชรบูรณ์แสดงความรักความสามัคคีและร่วมกันทำความสะอาดแม่น้ำป่าสัก เพื่อที่จะให้ขบวนเรือที่อัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชาเดินทางได้สะดวก เป็นการรักษาความสะอาดของแม่น้ำ ของบ้านเมือง เนื่องจากในอดีตวิถีชีวิตของชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ถือว่ามีความเกี่ยวข้องผูกพันกับแม่น้ำป่าสักอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านการคมนาคม การขนส่งสินค้า การแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างจังหวัด และมีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเพชรบูรณ์ในด้านการเมืองค้าขายของป่าในอดีต ซึ่งถือว่าประเพณีอุ้มพระดำน้ำเป็นประเพณีที่ชาวเพชรบูรณ์ให้ความสำคัญและมีความภาคภูมิใจและยึดถือว่าต้องปฏิบัติสืบต่อกันมาเพราะมีความเชื่อว่าจะทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลและเป็นขวัญกำลังใจให้ชาวเพชรบูรณ์ด้วย
 
ว่าด้วยพิพิธภัณฑ์ /งานสะสมและการจัดแสดง
      หอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์ตั้งอยู่บริเวณถนนหลักเมือง โดยอยู่ใกล้สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และสถานที่ราชการ โดยตั้งอยู่ตรงกันข้ามกับศาลหลักเมืองเพชรบูรณ์และศาลากลางหลังเก่า นอกจากนี้ยังมีสถานที่ทางประวัติศาสตร์และสถานที่ราชการในละแวกใกล้เคียงได้แก่ หอประวัติศาสตร์เพชะปุระ สถานีตำรวจภูธรเมืองเพชรบูรณ์ สำนักงานเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ โรงเรียนอนุบาลเพชรบูรณ์ สถานีดับเพลิงจังหวัดเพชรบูรณ์ ส่วนวัดที่อยู่ใกล้เคียงคือ วัดไตรภูมิและวัดเพชรวราราม ซึ่งเป็นวัดที่สำคัญของอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จุดเด่นที่เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของหอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์คือ ประติมากรรมรูปฝักมะขามหวานขนาดยักษ์สีทอง ตั้งอยู่หน้าอาคาร
 
      ในอดีตหอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์ใช้เป็นหอประชุมและเป็นศาลาประชาคมหลังเก่าที่เป็นสถานที่ดำเนินกิจกรรมการอบรม การประชุมของหน่วยงานราชการต่างๆในอดีต ปัจจุบันจึงปรับปรุงมาเป็นหอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์ โดยมีนโยบายจากนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์สมัย ดร.วิศัลย์ โฆษิ-ตานนท์ ซึ่งได้สั่งการและมีการดำเนินการแล้วเสร็จในปีพ.ศ.2543 โดยลักษณะทางสถาปัตยกรรมของตัวอาคารยังคงยึดตามแบบศาลาประชาคมหลังเก่า
 
      ภายในตัวอาคารแบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกจะเป็นห้องโถง ซึ่งจะใช้ดำเนินการจัดกิจกรรมในรูปแบบนิทรรศการแบบหมุนเวียนที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดเพชรบูรณ์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของประเพณีวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดเพชรบูรณ์ ส่วนที่สองจัดเป็นห้องจัดอบรมสัมมนาซึ่งจะใช้จัดกิจกรรมในเรื่องของงานด้านวิชาการและงานด้านศิลปวัฒนธรรมเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ให้กับเยาวชนจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นสำคัญ นอกจากนี้ยังมีการฉายสื่อประชาสัมพันธ์จังหวัดเพชรบูรณ์ ทั้งในเรื่องของความเป็นมา สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ มรดกทางศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นเพชรบูรณ์ เป็นต้น และในส่วนที่สาม จะเป็นลานเอนกประสงค์ซึ่งไว้ดำเนินงานกลางแจ้งทางด้านวัฒนธรรมของจังหวัดเพชรบูรณ์
 
      การบริหารจัดการของหอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์ บริหารจัดการโดยเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ โดยนายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์คนปัจจุบัน(พ.ศ.2556) คือ นายเสกสรร นิยมเพ็ง เป็นผู้บริหารงานและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ภายในหอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์อยู่สังกัดเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ โดยมีกองการศึกษาเป็นผู้ดูแลในการดำเนินงาน
 
      เนื่องจากหอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์สังกัดการปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนั้นปัญหาอุปสรรคที่สำคัญในการพัฒนาหอวัฒนธรรมฯคือ ด้านงบประมาณ เนื่องจากในบางกิจกรรมโดยเฉพาะกิจกรรมที่เป็นรูปแบบของการจัดนิทรรศการซึ่งจำเป็นต้องจัดนิทรรศการที่หลากหลายจึงมีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด แม้กระทั่งเรื่องของกิจกรรมทางด้านวัฒนธรรมให้กับเยาวชน ก็มักจะประสบปัญหาด้านงบประมาณ
ความสัมพันธ์ระหว่างหอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์ที่มีต่อชุมชนเมืองเพชรบูรณ์ ถือว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีในด้านเป็นทั้งศูนย์กลางการเรียนรู้ให้กับเยาวชนและดำเนินกิจกรรมทางด้านประเพณีวัฒนธรรมเป็นหลัก โดยเป็นการดึงชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆโดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนในการขับเคลื่อนการดำเนินกิจกรมต่างๆร่วมกับเจ้าหน้าที่หอวัฒนธรรมฯ โดยโครงการที่ถือว่าทำให้ประชาชนชาวเพชรบูรณ์ได้มีส่วนร่วมที่ผ่านมา คือ โครงการภาพเก่าเล่าอดีตเพชรบูรณ์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการรวบรวมภาพเก่าในอดีตทั้งที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเพชรบูรณ์ในอดีตมาจัดนิทรรศการให้คนรุ่นใหม่ได้ดูว่า เมื่อในอดีตจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นอย่างไร โดยแบ่งออกเป็น 3 หมวด คือ หมวดของสถานที่ หมวดของบุคคล หมวดของเหตุการณ์สำคัญ ว่าแต่ละปีเกิดเหตุการณ์อะไรบ้าง ซึ่งกิจกรรมนี้ได้รับความร่วมมือจากประชาชนที่มีภาพเก่ามาร่วมจัดนิทรรศการกับหอวัฒนธรรมฯ และทางหอวัฒนธรรมฯได้ทำการสแกนเก็บไว้และนำภาพจริงส่งคืนเจ้าของ ซึ่งปัจจุบันได้ทำการส่งมอบให้กับหอประวัติศาสตร์เพชะปุระ
 
      นอกจากนี้ยังมีการจัดนิทรรศการภายในอาคารหอวัฒนธรรมฯคือ นิทรรศการมหัศจรรย์เมืองเพชรบูรณ์ที่เกี่ยวข้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยแบ่งเป็นหลายแขนงไม่ว่าจะเป็นศิลปกรรม หัตถกรรม อาหาร ยารักษาโรค โดยได้รับความช่วยเหลือในการดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยนเรศวรในการเก็บข้อมูลและการจัดแสดงในรูปแบบนิทรรศการ และอีกหนึ่งโครงการที่ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจของหอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์คือ กิจกรรมที่ให้ชาวเพชรบูรณ์ที่รักการถ่ายภาพมีส่วนร่วมในการที่ไปเที่ยวที่ไหนก็ได้ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวในเรื่องที่เกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นต่างๆที่ผ่านไปเห็นแล้วชื่นชอบ และถ่ายภาพและนำมาร่วมจัดแสดงกับหอวัฒนธรรมฯ
 
      ในส่วนของลานกิจกรรมด้านหน้าอาคารหอวัฒนธรรมฯเป็นลานกลางแจ้งที่เราจัดมาเราจัดเป็นลานถนนวัฒนธรรม โดยเปิดให้ชุมชนมีส่วนร่วมไม่ว่าจะเป็นชุมชนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนหรือแม้กระทั่งสถานศึกษาเข้ามาแชร์ในเรื่องของการแลกเปลี่ยนความรู้ เช่น ในเรื่องของวิชาชีพต่างๆ การสอนวิชาชีพ การเปิดบูธในเรื่องของงานวัฒนธรรมเป็นหลัก และที่สำคัญลานแห่งนี้ยังดำเนินกิจกรรมในเรื่องของกิจกรรมต่างๆ เช่น ที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 23กันยายน 2555 ได้จัดกิจกรรมงานคาร์ฟรีเดย์ (Car free day)เป็นงานการรวมตัวการปั่นจักรยานทั้งประเทศไทย ทั้ง 76 จังหวัด โดยใช้หอวัฒนธรรมเป็นจุดเริ่มต้น โดยนำชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมและก็ให้ชุมชนนั้นปั่นจักรยานไปปลูกต้นไม้ที่วัดในเขตเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ นอกจากนี้ลานอเนกประสงค์ยังเป็นสถานที่ก็มีการแข่งขันดนตรีเยาวชนก็ถือว่าเป็นศูนย์กลางให้กับเด็กๆมาแลกเปลี่ยนความรู้และแสดงความสามารถเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
 
ว่าด้วยเครือข่าย
        การเชื่อมโยงองค์กรอื่นๆ หอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์ได้มีการประสานงานในเรื่องของการขอข้อมูล และขอความร่วมมือในการทำงานทางด้านวัฒนธรรม โดยส่วนมากจะขอความร่วมมือกับสำนักศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎเพรชบูรณ์และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ รวมไปถึงสภาวัฒนธรรมเทศบาลเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนองค์กรอิสระที่มาทำงานให้กับเทศบาลเพชรบูรณ์ โดยก่อตั้งเป็นชมรมขึ้นมาเป็นสภาวัฒนธรรมเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ โดยสภาวัฒนธรรมเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์จะก่อตั้งเครือข่ายแตกออกไปเป็นเครือข่าย คือนำชุมชน 17 ชุมชนเมืองมามีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมในการขับเคลื่อนกิจกรรมเรื่องวัฒนธรรมให้กับหอวัฒนธรรมให้กับเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์และถือว่าข้อมูลต่างๆ โดยไม่ได้มีเครือข่ายแค่เพียงองค์กรเดียว และยังมีหลายๆ องค์กรมามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งถือได้ว่า หอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์ มีความสัมพันธ์อันดีกับเครือข่ายต่างๆดังที่กล่าวมาแล้วจนทำให้การขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายเป็นอย่างดี
 
ใจสคราญ จารึกสมาน / เขียน
สำรวจข้อมูลภาคสนาม เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2555
 
ข้อมูลจาก 
http://tiny.cc/1qjrix, งานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ
ชื่อผู้แต่ง:
-

รีวิวของหอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์

หอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์ เป็นที่อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และค้นคิดองค์ความรู้ใหม่เพื่อการพัฒนา จัดตั้งโดยสำนักงานเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ โดยนายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์ คุณวิศัลย์ โฆษิตานนท์ เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง เพื่อรวบรวมเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ประวัติความเป็นมาของเมืองเพชรบูรณ์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนแหล่งท่องเที่ยวของเมืองเพชรบูรณ์ หอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์ตั้งอยู่บนถนนหลักเมือง ตรงข้ามกับศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เปิดให้เยี่ยมชมในวันเวลาราชการ โดยแบ่งการนำเสนอออกเป็นสองส่วน ดังมีรายละเอียดที่สำคัญดังนี้

สถานที่ส่วนแรก บริเวณห้องนิทรรศการ เป็นห้องจัดแสดงผลงานทางนิทรรศการมีทั้งแบบถาวร และแบบหมุนเวียนเกี่ยวกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นศูนย์กลางการศึกษาการเรียนรู้ข้อมูลของเมืองเพชรบูรณ์ นำเสนอการแสดงผลงานแบบเปิดโล่งเพื่อรองรับงานศิลปวัฒนธรรม โดยเปิดให้ชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแก่ผู้ที่สนใจ ส่วนที่สอง ห้องจัดการแสดง นำเสนอในรูปแบบการจัดการแสดง เป็นห้องอเนกประสงค์มีเวทีขนาดใหญ่ สามารถปรับแต่งการใช้งานได้หลายลักษณะตั้งแต่จัดการแสดง จัดการประชุม อบรม สัมมนา มีรายละเอียดที่สำคัญดังนี้ ที่นั่งจัดเป็นระบบอัฒจันทร์ชั่วคราว 200 ที่นั่ง ซึ่งสามารถพับเก็บได้หากเต็มพื้นที่หอประชุมนี้จุได้ทั้งสิ้น 220 ที่นั่ง เวทีมีอุปกรณ์ประกอบการแสดงติดตั้งไว้อย่างครบครันและทันสมัย เช่น ระบบม่านแบบไฟฟ้า ระบบเครื่องเสียง ซึ่งสามารถตั้งจุดถ่ายทอดเสียงไปยังคนดูได้ชัดเจน มีเครื่องฉายมัลติมิเดียในการนำเสนอข้อมูลทางวิชาการ ส่วนบริเวณพื้นที่ด้านนอกเป็นบริเวณลานจอดรถเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวและผู้มาชมหอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์

ข้อมูลจาก: http://www.nakornban.com/cultural%20Hall/index.html [accessed 20081612]
ชื่อผู้แต่ง:
-