พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านและมีดดาบ วัดบ้านโภชน์


ที่อยู่:
วัดบ้านโภชน์ ต.หนองไผ่ อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ 67140
โทรศัพท์:
081-596-8964, 0-5656-3015, 0-5656-3067
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2547
ของเด่น:
อาวุธต่างๆ เช่น มีด ดาบ ปืน ง้าว และโบราณวัตถุ เครื่องใช้ ที่ประชาชนนำมามอบให้พิพิธภัณฑ์
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านและมีดดาบ วัดบ้านโภชน์

      พิพิธภัณฑ์อาวุธและมีดดาบวัดบ้านโภชน์ จัดแสดงอยู่ภายในพื้นที่บางส่วนของกุฏิเจ้าอาวาสวัดบ้านโภชน์ ซึ่งวัดบ้านโภชน์นี้ ตั้งอยู่ในตำบลบ้านโภชน์ อำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ มีประติมากรรมรูปฝักข้าวโพดยักษ์อยู่ด้านหน้าวัด อยู่ห่างจากอำเภอเมืองจังหวัดเพชรบูรณ์ประมาณ 50 กิโลเมตร
 
 
ลักษณะชุมชน
 
        ชุมชนตำบลบ้านโภชน์ เป็นชุมชนผสมระหว่างเกษตรกรกับการค้าขาย และมีการรับจ้าง ดังนั้นชุมชนตำลบ้านโภชน์จึงมีประชากรที่มีความหลากหลายทางด้านการประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นประชากรที่อพยพมาจากหลายถิ่น ทั้งที่มาจากอำเภอหรือจังหวัดใกล้เคียง เช่น จังหวัดพิจิตร จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดลพบุรี เป็นต้น
 
        สภาพทั่วไปของชุมชนเป็นพื้นที่ทางการเกษตรกรรม คือ การทำไร่ทำสวน ซึ่งโดยส่วนมากจะเป็นการทำไร่มากกว่าทำนา เนื่องจากพื้นที่สำหรับการทำนามีน้อย ต้องอาศัยการไปบุกเบิกบนภูเขา ผลผลิตพืชไร่มักจะนิยมทำไร่ข้าวโพด ไร่ข้าวฟ่าง ไร่ถั่ว และปัจจุบันมีพืชที่กำลังเป็นที่นิยมมากก็คือ การทำสวนยางพารา
       
      สภาพบ้านเรือนของชุมชนที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงวัดบ้านโภชน์ มีสภาพบ้านเรือนเหมือนชุมชนชนบททั่วไป คือ มีบ้านเรือนที่ผสมผสานทั้งเรือนไม้ เรือนไม้ผสมปูน ความหนาแน่นของชุมชนพอประมาณตั้งบ้านเรือนไปตลอดสองฝั่งถนน ซึ่งเป็นเส้นทางหลวงสายสระบุรี – หล่มสัก สามารถใช้เส้นทางนี้เป็นเส้นทางหลักเดินทางไปสู่ อำเภอทางตอนใต้ของจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้แก่ อำเภอบึงสามพัน อำเภอวิเชียรบุรี อำเภอศรีเทพ นอกจากนี้ยังสามารถเดินทางเข้าสู่ 3 จังหวัดได้แก่ อำเภอลำนารายณ์ จังหวัดลพบุรี  จังหวัดสระบุรี และจังหวัดกรุงเทพมหานคร
 
 
ประวัติความเป็นมาของตำบลบ้านโภชน์
       
      ประวัติความเป็นมาของชื่อตำบลบ้านโภชน์นั้น ท่านพระครูพัชรสุภาจาร เจ้าอาวาสวัดบ้านโภชน์ ได้เล่าว่า จริงๆแล้วการเขียนชื่อบ้านโภชน์ในแบบที่เห็นปัจจุบันนั้นไม่ได้เขียนแบบนี้ แต่เขียนแบบคำว่าข้าวโพด  เรียกว่า บ้านโพด  ซึ่งยังปรากฏการเขียนแบบนี้ในทะเบียนบ้านรุ่นเก่าๆ
       
      ชื่อตำบลบ้านโพด มีที่มาจากสมัยก่อนถือว่าเป็นแหล่งที่ผลิตข้าวโพดที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดเพชรบูรณ์ เนื่องจากพื้นที่ของตำบลในสมัยก่อนกินพื้นที่ไปถึงอำเภอบึงสามพัน ซึ่งปัจจุบันได้แบ่งออกเป็น 5 ตำบล ได้แก่ ตำบลหนองแจง ตำบลทรัพย์สมอทอด ตำบลวังพิกุล ตำบลบ้านโภชน์ และ ตำบลพญาวัง  ดังนั้นวิถีชีวิตในสมัยก่อน ชาวบ้านโพด จึงไปมาหาสู่และไปทำมาหากินระหว่างตำบลเป็นปกติ
 
      จากนั้นมีการสร้างถนนมุ่งหน้าสู่กรุงเทพมหานคร เป็นทางหลวงเส้นทางหลัก ดังนั้นจึงมีการเปลี่ยนรูปแบบการเขียนชื่อตำบลบ้านโพด เปลี่ยนมาเป็น บ้านโภชน์ ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน
       
      ลักษณะประชากรของชุมชนตำบลบ้านโภชน์ ถือว่ามีความหลากหลาย เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่อพยพมาตั้งรกรากและทำมาหากินที่ตำบลบ้านโภชน์นี้ มาจากหลายท้องถิ่นทั้งจากอำเภอใกล้เคียงและจังหวัดใกล้เคียง เช่น จังหวัดพิจิตร จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดลพบุรี เป็นต้น ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ก็ยังประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ชาวไทพวน ชาวไทยเชื้อสายจีน

      ในเรื่องของการทำมาหากิน การประกอบอาชีพจึงมีความผสมผสาน ทั้งพื้นเพอาชีพดั้งเดิมที่เป็นการเกษตรตามฤดูกาล  ทำนา ทำไร่ข้าวโพด และพืชไร่อื่นๆ ได้แก่ ข้าวฟ่าง ถั่ว เป็นต้นและการค้าขายทั่วไป นอกจากนี้ประชากรในพื้นที่บางส่วนก็ได้กระจายไปประกอบอาชีพยังพื้นที่ใกล้เคียงด้วย
 
 
มรดกวัฒนธรรมชุมชน/ ภูมิปัญญาที่โดดเด่นของชุมชน
       
      มรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนตำบลบ้านโภชน์ มักจะเป็นงานบุญประเพณีตามเทศกาลต่างๆ ซึ่งมีความผสมผสานระหว่างประเพณีของภาคกลาง ภาคอีสานและไทพวน คนไทย คนไทยเชื้อสายจีน  ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงานบุญตามประเพณี เช่น บุญปีใหม่ การทำบุญก่อพระเจดีย์ข้าวเปลือก การเทศน์มหาชาติ ประเพณีสงกรานต์ ซึ่งถือว่าเป็นประเพณีตรุษ ในช่วงแรม 14 ค่ำ แรม 15 ค่ำ เดือน 4 จากนั้นเป็นบุญเดือน 6 ได้แก่ ประเพณีบุญบั้งไฟ จากนั้นในช่วงระยะเดือน 8 จะเป็นประเพณีตามวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
       
      กลุ่มชาติพันธุ์ที่น่าสนใจ คือกลุ่มคนไทพวนที่อพยพมาจากอำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ตั้งแต่ในอดีต ซึ่งภาษาพูดยังมีการใช้อยู่บ้างในปัจจุบันโดยเฉพาะคนรุ่นเก่า
       
      ด้านงานช่าง งานฝีมือของท้องถิ่นที่โดดเด่นคือ การทำเครื่องเรือนและหัวสัตว์ตกแต่งบ้านที่ทำจากไม้ ซึ่งปัจจุบันยังมีการประกอบอาชีพนี้อยู่และถือว่ามีฝีมือทางช่างที่สวยงาม
       
       ด้านการแสดงพื้นบ้าน คือ การร้องเพลงโคราช เนื่องจากชาวเพชรบูรณ์ที่อาศัยอยู่ในเขตอำเภอทางตอนใต้ส่วนมากจะอพยพมาจากจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้น การละเล่นจึงได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมพื้นบ้านภาคอีสาน ซึ่งการละเล่นหรือวัฒนธรรมประเพณีบางส่วนก็ผูกพันกับอำนาจเหนือธรรมชาติ เช่น การเข้าทรง ผีฟ้า ผีบรรพบุรุษต่างๆ ซึ่งชาวไทพวนก็ยังคงนับถืออยู่ ในส่วนของประเพณีทางพุทธศาสนาก็ยังดำเนินควบคู่กันไป โดยไม่มีการแบ่งแยกทางชาติพันธุ์หรือศาสนา 
 
 
ว่าด้วยพิพิธภัณฑ์
       
       ลักษณะทางกายภาพของพิพิธภัณฑ์อาวุธและมีดดาบวัดบ้านโภชน์ จัดแสดงอยู่ภายในกุฏิของเจ้าอาวาสวัดบ้านโภชน์ ซึ่งเจ้าอาวาสในปัจจุบันคือ พระครูพัชรสุภาจาร(สง่า) โดยใช้พื้นที่บางส่วนในการจัดแสดงภายในห้องกระจกรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้างประมาณ 1 เมตร ยาวประมาณ 5 เมตร  ซึ่งกุฏเจ้าอาวาสตั้งอยู่ใกล้กับศาลาการเปรียญและอุโบสถวัดบ้านโภชน์ มีป้ายบอกชื่อสถานที่ชัดเจน
       
      ประวัติความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์ เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2532 โดยอดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านโภชน์ คือ พระครูพัชรธรรมาภรณ์ (บุญ) เป็นผู้ริเริ่มสะสม โดยเริ่มต้นจากการที่มีประชาชนเอาโบราณวัตถุต่างๆมามอบให้วัดเก็บไว้ ซึ่งเป็นหม้อที่มีความเชื่อว่าเป็นหม้อน้ำโบราณ และยังมีความเชื่อว่าหากยังครอบครองหม้อน้ำใบนี้ไว้จะเจ็บป่วย ซึ่งเจ้าของผู้ที่นำมาถวายวัดเล่าอีกว่าเห็นวิญญาณของผู้หญิงโบราณ จึงเกิดความกลัวได้นำมาถวายให้วัดบ้านโภชน์เก็บไว้ ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเก็บของเก่าของโบราณทั้งหลายตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 
 
      เนื่องจากพิพิธภัณฑ์อาวุธและมีดดาบไม่ได้มีรูปแบบของการบริหารจัดการตามแบบแผนของพิพิธภัณฑ์ทั่วๆไป เนื่องจากจัดพื้นที่ในการจัดแสดงส่วนหนึ่งอยู่ในกุฏิเจ้าอาวาส ดังนั้นการบริหารจัดการในปัจจุบันจึงเป็นหน้าที่หลักของเจ้าอาวาสในปัจจุบันคือ พระครูพัชรสุภาจาร  โดยมีโครงการปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิมให้เป็นทั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านและพิพิธภัณฑ์ประวัติพระครูพัชรธรรมาภรณ์ อดีตเจ้าอาวาสผู้ริเริ่มก่อตั้งพิพิธภัณฑ์อาวุธและมีดดาบแห่งนี้ โดยกำลังจัดหางบประมาณในการปรังปรุงพิพิธภัณฑ์ ซึ่งการปรับปรุงนี้จะทำให้พิพิธภัณฑ์มีลักษณะที่ถาวรมากขึ้น ซึ่งงบประมาณนี้อาศัยญาติโยมและลูกศิษย์ที่มีจิตศรัทธาในการระดมปัจจัยในการปรังปรุงพิพิธภัณฑ์นี้ ซึ่งอยู่ในระหว่างการระดมทุน ซึ่งถือว่าอาศัยทั้งกำลังปัจจัยและกำลังศรัทธาของประชาชนที่มีต่อวัด ซึ่งในปัจจุบันยังคงมีสภาพค่อนข้างเก่าเพราะขาดงบประมาณในการดูแลอย่างต่อเนื่อง
 
 
ว่าด้วยงานสะสมและการจัดแสดง
 
      ลักษณะและประเภทของวัตถุที่จัดแสดงส่วนมากสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทได้แก่
1. ประเภทมีดขนาดต่างๆ ทั้งใหญ่ กลางและเล็ก เช่น มีดพกเล็ก มีดดาบ มีดเหน็บ มีดเหน็บโค้ง มีดพกเล็กโค้ง
2. ประเภทดาบต่างๆ เช่น ดาบสั้นด้ามสั้น ดาบสั้นด้ามยาว ดาบซามูไร
3. ประเภทปืน ได้แก่ ปืนคาบศิลายาว 
4.  ประเภทอื่นๆ เช่น หอก ง้าว ขวาน ได้แก่ หอกขวาน หอกขนาดยักษ์ ง้าวขนาดยักษ์ กรรไกรโบราณ
 
      นอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุที่ประชาชนนำมาถวายไว้ให้จัดแสดงให้คนรุ่นหลังได้ชม เช่น วิทยุโบราณ หม้อน้ำ บาตรดิน ถ้วยดินแบบโบราณ เหรียญโบราณสมัยรัชกาลที่ 5ไม้ขีด ขวดน้ำอัดลมรุ่นเก่า เขาสัตว์ พานทองเหลือง เชี่ยนหมากทองเหลือง แก้วโบราณ จานชามกระเบื้อง โถเคลือบ เป็นต้น ซึ่งวางอย่างไม่เป็นระเบียบ
 
      ซึ่งวัตถุที่จัดแสดงมีทั้งของเก่าและของที่ทำขึ้นมาใหม่ อายุวัตถุจัดแสดงรุ่นใหม่ประมาณ 20-30 ปี ซึ่งมูลค่าทั้งหมดไม่สามารถประมาณค่าได้ เนื่องจากเป็นของที่ประชาชนมีความศรัทธานำมาถวายให้เจ้าอาวาสเพื่อให้จัดแสดงเป็นวิทยาทานแก่ผู้ที่สนใจ แต่ในส่วนของหม้อโบราณที่มีตำนานเล่าขานเกี่ยวกับวิญญาณของผู้หญิงโบราณดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ไม่ปรากฏว่าจัดแสดงไว้ภายในห้องจัดแสดง

       ในส่วนของวัตถุที่จัดแสดงที่ถือว่าเป็นจุดเด่นของพิพิธภัณฑ์นี้ คือ หอกยักษ์ และดาบยักษ์ ขนาดความยาวไม่น้อยกว่า 1.30 เมตร ซึ่งจัดแสดงอย่างโดดเด่น อยู่กลางห้องจัดแสดง
       
       ด้านการจัดการวัตถุจัดแสดง ทางพิพิธภัณฑ์ได้รับความช่วยเหลือจากหอวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์มาจัดทำทะเบียนวัตถุให้ และช่วยในการจัดรูปแบบของการจัดแสดงให้เป็นระเบียบสวยงาม มีป้ายบอกประเภทของวัตถุแต่ไม่ได้จัดทำป้ายอธิบายข้อมูลโดยละเอียด     
 
        กลุ่มคนที่เข้ามาเยี่ยมชมส่วนใหญ่จะมาจากสถานศึกษาต่างๆที่อยู่ในอำเภอใกล้เคียงกับวัด  ซึ่งติดต่อโดยตรงกับเจ้าอาวาส พิพิธภัณฑ์เปิดให้ชมบ้างเป็นครั้งคราวหากมีการแสดงความจำนงขอเข้าชม  ซึ่งแต่ก่อนมีการจัดกิจกรรมมัคคุเทศก์น้อยมาช่วยบรรยาย แต่ในปัจจุบันไม่มีแล้ว เนื่องจากเจ้าอาวาสมีภารกิจไปศึกษาต่อในระดับมหาบัณฑิตที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ และต้องไปจำวัดที่นั่น จึงไม่สะดวกในการเปิดกุฏิต้อนรับผู้ต้องการเข้าชม อีกทั้งยังไม่มีการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นรูปธรรม จึงไม่ได้มีการเปิด-ปิด อย่างเป็นกิจลักษณะ

 
ว่าด้วยเครือข่าย
       
ในปัจจุบันพิพิธภัณฑ์อาวุธและมีดดาบวัดบ้านโภชน์ มีเครือข่ายที่ชัดเจนคือหอวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ที่เข้ามาช่วยในการจัดทำทะเบียนวัตถุและการจัดแสดง นอกจากนี้ยังได้รับการติดต่อจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรในการขอเก็บข้อมูลแต่เนื่องจากท่านเจ้าอาวาสติดภารกิจในการศึกษาต่อ จึงยังไม่ได้มีการสานต่อใดๆเพิ่มเติม และองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านโภชน์ได้เข้ามาช่วยเหลือในการทำโต๊ะ ตู้โชว์ต่างๆ ที่จัดแสดงวัตถุภายในพิพิธภัณฑ์ด้วย
 
ใจสคราญ จารึกสมาน / เขียน
สำรวจข้อมูลภาคสนาม วันที่ 20 กรกฎาคม 2557
ชื่อผู้แต่ง:
-

รีวิวของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านและมีดดาบ วัดบ้านโภชน์

ฝักข้าวโพดขนาดใหญ่สร้างเมื่อปี 2539 ด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.19 เมตร ด้วยงบประมาณ 19,999 บาท ขนานไปกับกำแพงรั้วของวัดบ้านโภชน์ ประติมากรรมดังกล่าวเป็นสิ่งที่ชุมชนแห่งนี้เลือกมาอวดความภูมิใจที่พื้นที่แถบนี้ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกข้าวโพดพันธุ์ดี ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจในอันดับต้นๆ ของจังหวัดเพชรบูรณ์
วัดบ้านโภชน์สร้างในปี 2516 โดยมีพระภิกษุบุญ สนฺตจิตฺโต เป็นเจ้าอาวาส  ด้วยความสามารถด้านการเขียนแบบและแตกฉานการอ่านภาษาขอม ท่านจึงมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาวัดและชุมชน ทั้งศาสนสถาน  โรงเรียน ห้องสมุดประชาชน และพิพิธภัณฑ์  นอกจากจะได้รับการยอมรับในความเป็นพระนักพัฒนาแล้ว  ท่านยังขึ้นชื่อเรื่องวัตถุมงคลฟันแทงไม่เข้า ทำให้มีศิษยานุศิษย์มากราบไหว้อยู่เนืองๆ สมณศักดิ์ครั้งหลังสุดที่ได้รับก่อนมรณภาพเมื่อปี 2541 คือพระครูพัชรธรรมาภรณ์  รองเจ้าคณะอำเภอหนองไผ่ (ชั้นเอก) ปัจจุบันพระครูพัชรสุภาจาร (สง่า สุภาจาโร) เป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมา
 
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดบ้านโภชน์ ประกอบด้วยส่วนจัดแสดง 2 ส่วน
 
ส่วนแรก คือ พิพิธภัณฑ์มีด ดาบ หอกง้าว ปืน ตั้งอยู่ในกุฏิของหลวงพ่อบุญ สนฺตจิตฺโต  โดยแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งทำห้องจัดแสดงศาสตราอาวุธของมีคมหลากหลายประเภทที่พระครูพัชรธรรมาภรณ์เก็บรวบรวมไว้  เช่น  มีด ดาบ หอก ขอ ง้าว จำนวนกว่า 800 ชิ้น  พื้นที่ส่วนนี้ได้ลูกศิษย์ลูกหามาช่วยจัดทำ อาทิ เจ้าหน้าที่จากสรรพากรจังหวัด มาช่วยในการจัดแสดง โดยแยกตามประเภทของวัตถุ และในปี 2547 เจ้าหน้าที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นผู้จัดทำทะเบียนวัตถุให้ 
 
ส่วนที่สอง คือ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน อาคารหลังนี้สร้างเมื่อปี 2537 เก็บรวบรวมและรักษาของเก่าทุกประเภทที่มีผู้นำมาถวาย เพื่อสนองต่อวัตถุประสงค์ที่จะให้คนรุ่นหลังได้ดูและศึกษาหาความรู้ ในปี 2547 ได้รับงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนตำบลจัดทำตู้จัดแสดง เป็นเงิน 30,000 บาท วัตถุที่จัดรวบรวมไว้ ได้แก่ เงินตรา ตะเกียงเจ้าพายุ เครื่องมือจับสัตว์น้ำ เรือ เครื่องสีฝัดข้าว เครื่องปั้นดินเผา และเชี่ยนหมากไม้ที่พบเห็นได้มากทางภาคอีสานเป็นสิ่งสะท้อนคำบอกเล่าที่ว่าผู้คนส่วนใหญ่ในชุมชนบ้านโภชน์อพยพมาจากอีสาน ความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับวัฒนธรรมอีสานจึงมีให้เห็นได้เด่นชัดกว่าในพื้นที่ทางตอนบนของจังหวัด  
 
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้รับความร่วมมือจากคณะครูนักเรียนของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนที่ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัด ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนได้บรรจุงานพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงงานนักศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับการเรียนการสอน กิจกรรมที่ผ่านมาได้แก่การหาสิ่งของพื้นบ้านเข้าพิพิธภัณฑ์ ส่วนโครงการที่จะดำเนินการต่อไปคือการสืบค้นประวัติเรื่องราวของชุมชนและสิ่งของ จากนั้นจะจัดนักศึกษาประจำพิพิธภัณฑ์ให้อยู่ดูแลต่อไป
ศูนย์พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน มีด ดาบและอาวุธ เปิดอย่างเป็นทางการพร้อมกับศูนย์บูรณาการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2547 โดยความร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านโภชน์ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ แม้จะทำพิธีเปิดไปแล้วแต่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังต้องการวัตถุสิ่งของมาเพิ่มเติมอยู่เสมอ ดังข้อความตอนหนึ่งในหนังสืออนุสรณ์ครบรอบ 25 ปี วัดบ้านโภชน์ ที่กล่าวเชิญชวนผู้ที่มีของเก่าไม่มีความจำเป็นต้องใช้นำไปถวาย เพื่อเก็บรวบรวมไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ของเก่าพื้นบ้าน ให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานได้ศึกษาได้ดูได้เห็นของจริง 
 
ข้อมูลจาก :
1. การสำรวจภาคสนาม เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2550
2. หนังสืออนุสรณ์ครบรอบ 25 ปี วัดบ้านโภชน์. ห้างหุ้นส่วนจำกัด แฟนตาเซีย พริ้นท์ แอนด์ ดีไซน์. 2541.
ชื่อผู้แต่ง:
-