หอสมุดนานาชาติเขาค้อ


ที่อยู่:
หมู่ที่ 4 ต.เขาค้อ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ 67270 ตรงข้ามทางแยกขึ้นอนุสรณ์เขาค้อ
โทรศัพท์:
089-048-5412 , 081-0452384
วันและเวลาทำการ:
07.00 - 17.00 น.
ค่าเข้าชม:
ท่านละ 10 บาท
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2538
ของเด่น:
หนังสือไทยและหนังสือต่างประเทศ ตู้เก็บของใช้โบราณเก่าแก่ พระราชอาสน์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จเยี่ยมราษฎรอำเภอเขาค้อ
เนื้อหา:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของหอสมุดนานาชาติเขาค้อ

ลักษณะชุมชน 
 

หอสมุดนานาชาติ เขาค้อ ตั้งอยู่พื้นที่ หมู่บ้านกองเนียม ตำบลเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมีลักษณะกายภาพทั่วไปของชุมชน เป็นภูเขา มีลำน้ำเข็ก และอ่างเก็บน้ำโครงการในพระราชดำริ ชื่อโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยลึกซึ่งเป็นน้ำที่ใช้อุปโภค บริโภค ภายในชุมชนมีหมู่บ้านตั้งอยู่ประมาณ 100หลังคาเรือน  และบริเวณดังกล่าวมีอนุสรณ์สถานผู้เสียสละ และพระตำหนักเขาค้อ ซึ่งหอสมุดนานาชาติตั้งอยู่ระหว่างกลาง  โดยถ้าจะเดินทางไปพระตำหนักห่างจากที่นี่  8กิโลเมตร แต่ถ้าต้องการเดินทางไปอนุสรณ์สถานผู้เสียสละก็ถัดออกไปอีก 4 กิโลเมตร
 

ประวัติความเป็นมาของชุมชนเริ่มก่อตั้งโดยการสมัครเป็นราษฎรอาสาสมัคร (รอส.) จัดเป็นหมู่บ้าน มีที่ดินในการทำมาหากินคนละ 20ไร่ คนส่วนใหญ่ย้ายมาจากภาคอีสาน  ภาคเหนือ ภาคกลาง  ส่วนใหญ่เป็นคนที่มาจากพื้นที่ใกล้ๆ มาจากตำบลท่าพล ตำบลนางั่ว ขึ้นมาอยู่หมู่บ้านที่นี่ โดยคนส่วนใหญ่ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ คือเป็นคนในจังหวัดเพชรบูรณ์ ส่วนอีก 30เปอร์เซ็นต์เป็นคนจากต่างจังหวัด นอกจากนั้นคนในชุมชนนี้ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มคนชาวเขาเผ่าม้งที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านละประมาณ 5ครอบครัว
 

อาชีพของคนในพื้นที่ส่วนใหญคือปลูกผัก จำพวกกะหล่ำปลี  โดยทำรายได้ที่เป็นกอบเป็นกำ และโดยเฉพาะการปลูกยอดมะระหวาน หรือเรียกว่ายอดฟักแม้วหรือ ฟักม้ง ก็สามารถทำให้รายได้ดีให้คนแถบนี้ตลอดทั้งปี

 
มรดกวัฒนธรรมชุมชน/ภูมิปัญญา ที่โดดเด่นของชุมชน

 

ภูมิปัญญาของคนแถวนี้ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นของคนชนเผ่าม้งที่มีกิจกรรมวันปีใหม่ช่วงวันที่ 10ธันวาคมของทุกปี มีการละเล่น ศิลปวัฒนธรรมที่มีลักษณะพิเศษ มีการจับคู่  แต่ถ้าเป็นคนไทยก็จะมีประเพณีเหมือนของคนไทยทั่วไป นอกจากนั้นเขาค้อก็มีการจัดงานประจำปีที่เรียกว่า โอบหมอก กอดหนาว ดูดาวที่เขาค้อ เป็นกิจกรรมทางอำเภอที่จัดขึ้นมา
 

ลักษณะภาษาท้องถิ่นได้แก่ ภาษาท่าพล นางั่ว เป็นภาษาหลักๆ พื้นๆ หรือเรียกอีกอย่างว่าภาษาพ่อขุนผาเมือง จะมีลักษณะการพูดเพี้ยนๆ เหน่อๆ นอกจากนั้นก็จะมีภาษาไทยที่ใช้สื่อสารโดยทั่วไป แล้วแต่ที่มาของคนที่อพยพขึ้นมาตั้งรกรากที่เขาค้อ
 

ตำนานเรื่องเล่าของคนแถบนี้ มีเชื่อว่าเรื่องเล่าปู่ย่า โดยมีอยู่ว่าปู่ย่าทะเลาะกัน  ย่ารอปู่เพื่อที่จะแกงหอย แต่ปู่ยังไม่มาสักทีย่าโมโห ไม่แกงหอย จึงสาดหอยลงคลองไป โดยหอยที่สาดลงไปนั้นมีการตัดก้นหอยแล้ว ซึ่งหอยที่สาดลงคลองไปก็ยังมีอยู่ในลำน้ำเข็กแถบนี้เรียกว่า หอยก้นตัด หอยประเภทนี้ชอบอยู่ในที่มีน้ำเย็นๆ ไหลสะอาด และมีหิน ไม่สามารถนำไปปล่อยขยายพันธุ์ที่อื่นได้ ซึ่งถ้าชาวบ้านจะจับหอยมากินต้องมีการตัดก้นหอยอีกทีแล้วถึงจะจูบหอยออกมากินได้  ซึ่งหอยประเภทนี้ได้นำมาแกง  กลายเป็นอาหารพื้นบ้านโดยเรียกแกงว่าแกงหอยก้นตัดของย่า หรือแกงหอยย่า หรือแกงของย่า

 
ว่าด้วยพิพิธภัณฑ์
 

หอสมุดนานาชาติสร้างขึ้นโดยความดำริของสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (ส.ส.จรัส พั้วช่วย) และการร่วมสนับสนุนร่วมมือจากประชาชน และข้าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งได้มีพิธีเปิด เมื่อวันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน 2538โดยมีเอกอัครราชทูต ประเทศต่างๆ ให้เกียรติร่วมในพิธีเปิดหอสมุดนานาชาติแห่งนี้ โดยหอสมุดแห่งนี้มีพื้นที่ประมาณ 10ไร่ เป็นหอสมุดขนาดใหญ่ ออกแบบอย่างสวยงาม เป็นรูปเพชรคว่ำ สร้างด้วยกระจกสะท้อนแสง ด้านหน้าจัดทำเป็นสวนดอกไม้ นานาพันธ์ ส่วนมากเป็นไม้เมืองหนาว ออกดอกสวยงาม มีพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ อัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา และมีหลวงพ่อทบ ขนาดเท่าของจริงเกจิอาจารย์ ที่นับถือของชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ ประดิษฐานอยู่บริเวณหอสมุดนานาชาติเขาค้อ ภายในแบ่งพื้นที่บริการเป็น 3ส่วนคือ
 

ส่วนแรก เป็นส่วนนานาชาติ ประกอบด้วยชุดรับแขก ตู้โชว์ ทั้งหนังสือของไทยและต่างประเทศ ตู้เก็บของใช้โบราณเก่าแก่ เช่น ตาชั่งอายุ 200ปี ไหโบราณ กระบุงสมัยสุโขทัย เพื่อเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของไทยไว้ให้ได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม และส่วนนี้ยังเป็นที่เก็บรักษาพระราชอาสน์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9เสด็จเยี่ยมราษฎรอำเภอเขาค้อ เมื่อ พ.ศ. 2528
 

ส่วนที่สอง เป็นห้องสมุดประชาชาชนทั่วไป มีหนังสือแบ่งเป็นส่วนของหนังสือไทย และหนังสือต่างประเทศ เปิดให้บริการแก่นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป
 

ส่วนที่สาม ร้านค้าสวัสดิการ จำหน่ายของฝาก  อาหาร และเครื่องดื่ม
 

ปัจจุบันการบริหารจัดการในนามมูลนิธิพั้วช่วย โดยมีคุณป้าธมลวรรณ กองเนียม และครอบครัวเป็นผู้ดูแลจัดการทั้งหมด และมีบุคลากร  6 คน ที่คอยช่วยเหลือซ่อมแซม การทำนุบำรุง การตกแต่งสถานที่ การตัดต้นไม้ ถางหญ้า และงานอื่นๆ ทั้งหมด เนื่องจากว่า ผู้ก่อตั้งโดย ส.ส. จรัส พั้วช่วย ได้เสียชีวิตไปจึงทำให้ภาระและค่าใช้จ่ายทั้งหมดเป็นของคุณป้าซึ่งต้องเป็นผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์เพียงผู้เดียว  โดยไม่มีองค์กรหรือหน่วยงานใดเข้ามาช่วยเหลือ
 

จากลักษณะที่เป็นหอสมุดเพียงอย่างเดียวไม่สามารถที่จะแบกรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดได้ ซึ่งในแต่ละเดือนมีจำนวนมากและไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาช่วยเหลืออย่างจริงจัง คุณป้าจึงมีแนวคิดในการปรับปรุงสถานที่ดังกล่าวโดย ปัจจุบันได้มีการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ โดยเฉพาะดอกไม้ คือ ดอกกุหลาบ ดอกชบา ดอกไฮเดนเยีย ซึ่งเป็นดอกไม้ที่มีความสวยงาม และจัดสวนเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชม รวมทั้งการจัดที่พัก และให้ใช้อาคารหอสมุดจัดกิจกรรมต่างๆ อีกด้วย
 

ปัญหาอุปสรรคของการจัดการส่วนใหญ่คือเรื่องงบประมาณ ซึ่งเมื่อคำนวณกับค่าใช้จ่ายแล้วไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการที่นี่ เพราะค่าเข้าชมเพียง 10บาท ถ้าช่วงไหนไม่มีนักท่องเที่ยว หรือไม่ใช่ช่วงการท่องเที่ยวในเดือนตุลาคม หรือธันวาคม รายได้ก็ไม่ค่อยมี
 

สำหรับความสัมพันธ์ของชุมชนที่นี่ ทางหอสมุดไม่ค่อยได้มีกิจกรรมมากนอกจากเมื่อถึงช่วงเทศกาลคนมาท่องเที่ยว ก็จะมีการขายของที่ระลึกตลอดทางเข้า จนถึงบริเวณหอสมุดนานาชาติ รวมทั้งมีกิจกรรมมัคคุเทศก์น้อยมาคอยแนะนำรายละเอียดภายในหอสมุด และความเป็นมาของที่นี่ ด้วย
 

ว่าด้วยงานสะสมและการจัดแสดง 

 

งานแสดงที่นี่ส่วนใหญ่เป็นหนังสือ โดยภายในเก็บรักษาหนังสือทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ รวมทั้งมีวัตถุโบราณ จำพวก ไหโบราณ ไหจีนโบราณ กระบุงสมัยสุโขทัย เพื่อเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของไทย โดยการจัดแสดงที่นี่ไม่ทำป้ายทะเบียน หรือป้ายอธิบาย มีเพียงการตั้งโชว์ และดูแลรักษาปัดกวาดเช็ดถู โดยสภาพวัตถุส่วนใหญ่ของค้างทรุดโทรม และเก่ามาก
 

ส่วนกิจกรรมที่มีในพื้นที่นี่คือ การให้นักท่องเที่ยวเข้ามาประชุมสัมมนา โดยถ้าเป็นนักศึกษาเมื่อทำหนังสือขอเข้าชมจะไม่มีการเก็บค่าใช้จ่าย แต่ถ้าเป็นบริษัท หรือคนทำงานแล้ว จะมีการจัดเลี้ยง โดยคิดค่าอาหารเช้าเย็น  350 บาทต่อคนต่อวัน

 
ว่าด้วยเครือข่าย


 

ในหอสมุดนานาชาติเขาค้อไม่มีการเชื่อมโยง หรือการให้ความช่วยเหลือต่างๆ จากหน่วยงานภายนอก ไม่ว่าจะเป็น อบต. โรงเรียน มหาวิทยาลัย นักวิชาการวัฒนธรรมอำเภอ จังหวัด เลยทั้งสิ้น
 


ณัฐช์นิชา ตั้งวีรัตน์กร / เขียน
สำรวจภาคสนาม วันที่ 20 กรกฎาคม 2555
ชื่อผู้แต่ง:
-

รีวิวของหอสมุดนานาชาติเขาค้อ

หอสมุดนานาชาติเขาค้อ เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน 2538 เป็นอาคารชั้นเดียวสร้างด้วยกระจกสะท้อนแสงเป็นรูปเพชรคว่ำ ภายในแบ่งเป็นสองส่วนคือ ห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ หนังสือที่มีมากที่สุดคือหนังสือหมวดเกษตร ส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งได้รับบริจาคจากคณะทูตานุทูตที่เดินทางมาร่วมงาน "วัดนัดพบเอกอัครราชทูต ณ เขาค้อ" ที่หอสมุดแห่งนี้ในเดือนธันวาคมของทุกปี

อีกส่วนหนึ่งจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ แสดงข้าวของเครื่องใช้สมัยโบราณ ทั้งของไทยและต่างชาติ เช่น ตาชั่งอายุ 200 ปี กระบุงสมัยโบราณ เป็นต้น ด้านหน้าจัดทำเป็นส่วนดอกไม้นานาพันธ์ ส่วนมากเป็นไม้เมืองหนาว ออกดอกสวยงาม มีพระเจดีย์บรรจุพระพรมสารีริกธาตุ อันเชิญมาจาก ประเทศศรีลังกา และมีหลวงพ่อทบ ขนาดเท่าของจริงเกจิอาจารย์ ที่นับถือของชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ ประดิษฐาน



ข้อมูลจาก: ปารวี ไพบูลย์ยิ่ง. "นายรอบรู้" นักเดินทาง: เพชรบูรณ์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สารคดี, 2546. http://www.tourphetchabun.com/
ชื่อผู้แต่ง:
-
คำสำคัญ: